คุยกับ “วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์” เลิกกินเนื้อสัตว์ จากภาพความทรงจำในภาพยนตร์ที่มีตัวละครหมูรูปร่างน่ารัก หันมากินแพลนต์เบส ทำงานด้านพิทักษ์สัตว์ จนขึ้นแท่นเป็นผู้อำนวยการ Madre Brava ชวนคนบริโภคโปรตีนจากพืช ลดปริมาณโปรตีนจากเนื้อสัตว์ หวังขับเคลื่อนระบบอาหารไทยยั่งยืน
สัมภาษณ์และเขียนโดย: บุษกร สัตนาโค
ต้องยอมรับว่าทุกกิจกรรมที่มนุษย์บนโลกทำ ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย แม้แต่อาหารบนจานที่เราทานก็เป็นสาเหตุหลัก เพราะกว่าจะได้วัตถุดิบมาปรุงอาหารมีการใช้ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดินไปมากมาย
คำถามจึงเกิดขึ้นว่า แล้วจะกินอย่างไรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม? คำตอบคือต้องกินอาหารให้หมด อย่าให้เหลือเศษทิ้งขว้างไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการหมักหมมกลายเป็นมลพิษ และมีอีกหลายวิธีที่ทำได้
แต่สำหรับ “วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์” หรือ ปอ เธอมีแนวทางปกป้องโลกและปกป้องสิ่งแวดล้อมอีกขั้นด้วยการหันมาทานแพลนต์เบส หรือทานอาหารที่มาจากพืช โดยเริ่มทานมาตั้งแต่ปี 2559 ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่
น่าแปลกที่จุดเปลี่ยนอาหารการกินของเธอ เริ่มมาจากความทรงจำในวัยเด็กที่ชื่นชอบตัวละครสัตว์ในภาพยนตร์ เธอสนใจมาเรื่อย ๆ จนหาจุดเชื่อมโยงระหว่างสัตว์และสิ่งแวดล้อมเจอ และได้รับรู้ว่าทั้งสองอย่างนี้สร้างผลกระทบต่อกัน และเธอคิดว่ากว่าที่สัตว์จะมาเป็นอาหารให้ผู้คนรับประทานนั้น เขาต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทรมาน จึงไม่ควรทำร้ายสัตว์ ให้เป็นอาหาร
และนี่คือจุดเริ่มต้นทำให้เธอเลือกทานโปรตีนพืชหรือแพลนต์เบส งดทานเนื้อสัตว์อย่างจริงจัง ไม่เพียงเท่านั้น ยังทำงานในองค์กรพิทักษ์สัตว์ ก่อนจะขึ้นแท่นผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ในการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโปรตีนพืช
-ชอบดูหนังที่มีตัวละครเอกเป็นหมู รูปร่างน่ารัก
วิชญะภัทร์ เริ่มต้นบทสนทนากับ ESG UNIVERSE ถึงเรื่องราวและตัวตนของเธอว่า เธอเรียนจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่มีความสนใจเรื่องสัตว์ และสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่สมัยเรียน
“ตอนเด็ก ๆ น่าจะราว ๆ 5 ขวบ ชอบดูหนังเรื่อง Babe มาก (เบ๊บ หมูน้อยหัวใจเทวดา) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากวรรณกรรมเยาวชนขายดีในปี ค.ศ.1983 ซึ่งเรื่องนี้มีตัวเอกเป็นหมู เราก็เห็นว่าหมูน่ารักจังเลย จนกระทั่งวันนึงเรากำลังนั่งกินข้าวอยู่ เมนูหมูสะเต๊ะ พี่สาวเข้ามาแซวว่า ทำไมยังกินหมูอีกล่ะ ตอนนั้นมันก็จุดประกายเล็ก ๆ กับเราว่า หมูน่ารักจนทำให้เราไม่อยากกินเขาเลย และก็เริ่มคิดว่าทำไมความคิดของเรากับการกระทำของเราถึงไม่สอดคล้องกัน จากนั้นก็เลยพยายามพาตัวเองหันมากินแพลนต์เบส ก็คือพยายามลดกินเนื้อลง”
วิชญะภัทร์ เล่าต่อว่า แรก ๆ ก็ยากแต่พอกินมาเรื่อย ๆ ก็เกิดความชินไปเอง ระหว่างนั้นเราก็สนใจและศึกษาเพิ่มจนได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสัตว์กับสิ่งแวดล้อมว่าการปศุสัตว์ ทำให้สัตว์หลายชนิดต้องอยู่ในกรงแคบ ๆ แล้ว ก็ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก อีกทั้งการเลี้ยงสัตว์ในไทยมีการนำเข้าพืช และโปรตีนอื่น ๆ ค่อนข้างมากพอสมควร เรานำเข้าพืชกว่า 60% เลย แต่ปลูกเองในประเทศแค่ 40% เท่านั้น
“ถามว่าลำบากมั้ย เรามองว่าเหมือนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านอื่น ๆ ที่เราเอาตัวเองออกจากความเคยชินแค่นั้น การเปลี่ยนตัวเองยากอยู่แล้ว ยิ่งเปลี่ยนอาหารการกินยิ่งยาก แต่พอเราคิดถึงความทุกข์ทรมานของสัตว์ ความลำบากของเรามันเป็นอะไรที่เทียบกับชีวิตของเขาไม่ได้เลย ทั้งนี้การกินแพลนต์เบส ก็ไม่ได้เห็นความแตกต่างอะไรกับร่างกายเรามาก แต่ที่สังเกตุได้คือน้ำหนักค่อนข้างคงที่”
– ทำงานองค์กรพิทักษ์สัตว์ ปกป้องสัตว์ในฟาร์ม
วิชญะภัทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากจะหันมากินโปรตีนจากพืชเป็นหลักแล้ว จากจุดเริ่มต้นตอนเด็กๆ ไม่น่าเชื่อว่าตอนนี้เราจะได้ทำงานด้านนี้โดยตรง เพราะหลังจากที่เรียนจบ ก็ได้ทำงานหลายอย่าง และทำงานในองค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากล ได้มีโอกาสทำงานกับประเทศ บราซิล ชิลี โคลอมเบีย และอาร์เจนตินา เป้าหมายหลักของคือการสร้างโลกที่ไม่มีชีวิตสัตว์ใด ๆ ต้องเจ็บปวดในกระบวนการผลิตอาหาร โดยใช้วิธีการหลาย ๆ อย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้
-Madre Brava สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนต่อโลก
พอทำตรงนั้นก็ได้ต่อยอดมาเรื่อย ๆ จนมาอยู่ที่ Madre Brava เป็นหน่วยงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาโปรตีนจากพืช ทดแทนโปรตีนสัตว์ หรืออาจจะเรียกว่าเป็น NGO ก็ได้ เกิดขึ้นในสองประเทศคือเยอรมณีและไทย อายุเกือบ 1 ปี ต้องการจะสื่อสารเรื่องราวของคนไม่กินเนื้อสัตว์ แต่กินพืชแทนเพราะมองเห็นถึงผลกระทบจากการทำปศุสัตว์ ที่ต้องทุกข์ทรมานสัตว์ เท่านั้นไม่พอยังเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อย
“ส่วนตัวมองว่า Madre Bravo เป็นองค์กรที่ค่อนข้างบวก หรือ Positive หมายถึงเป้าหมายขององค์กรเพื่อจะสร้างระบบอาหารที่มันยั่งยืนต่อโลก ดีต่อสุขภาพ และดีต่อสัตว์ด้วย ซึ่งองค์กรนี้ในประเทศไทย มีเราคนเดียวเป็นคนทำงานคอยประสาน ถามว่าหนักไหมที่ต้องมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ ต้องยอมรับเลยว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่ต้องทำงานคนเดียว เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานคนเดียวมาเยอะ ไม่ได้รู้สึกว่างานมันหนักไป เพราะเป็นอนาคตของโลก ที่เรากำลังได้รับผลกระทบต่าง ๆ อะไรที่เอ้าซอสได้ก็ทำ ชวนพี่ ๆ น้อง ๆ มาช่วย
เพราะเราก็อยากจะเล่าเรื่องและสร้างภาพให้คนเห็นภาพชัดเจน ตระหนักรู้เกี่ยวกับการทำปศุสัตว์ที่มันมีต่อโลกเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าทำปศุสัตว์ไม่ดีนะ หรือจะรณรงค์ให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ไปเลย แต่เรากำลังพยายามจะสื่อสารว่าให้สร้างความสมดุลย์ระหว่างการกินโปรตีนจากสัตว์และโปรตีนจากพืชให้สมดุลกันแค่นั้นเอง”
วิชญะภัทร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2020 ที่เขาจัดทำไกด์ไลน์เพื่อบอกว่าคนเราควรจะกินเนื้อสัตว์ปริมาณเท่าไหร่ที่พอดี เขาก็บอกว่า เนื้อแดงกับเนื้อไก่รวมกัน ไม่ควรบริโภคเกิน 300 กรัมต่อสัปดาห์ แต่รายงานฉบับนี้ ระบุว่า คนไทยบริโภคเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ เฉลี่ยรวมกันได้ประมาณ 500 กรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งเขาบอกว่าเป็นการบริโภคที่มากเกินไป
“แต่ตัวเลขนี้ไม่ใช่ทุกคน เพราะคนกินน้อยก็มี แต่คนที่กินมากนั้น ไม่ดีต่อสุขภาพ องค์กรอนามัยโลก รายงานว่าเนื้อแดง กระบวนการในอุตสาหกรรมมีความเชื่อมโยงกับโรคมะเร็ง และเขาก็ยังบอกว่า ถ้าการบริโภคเนื้อสัตว์มากเกินไป ไม่มีการสมดุลย์กับโปรตีนพืช ก็จะมีความเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง”
ทั้งนี้สัดส่วนคนที่กินแพลนต์เบสค่อนข้างน้อยพอสมควร หลัก ๆ จะเป็น กลุ่มคนอายุ 30-40 ปี เป็นกลุ่มคนเมือง และคนที่ใส่ใจสุขภาพ แต่มองว่าทิศทางคนน่าจะหันมากินแพลนต์เบสมากขึ้น เพราะคนไทยตระหนักเรื่องการดูแลสุขภาพ
-ทำไมต้องขับเคลื่อนโปรตีนพืช แทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์?
นอกจากด้านสุขภาพ แล้วก็ด้านปศุสัตว์ ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ตอนนี้อยากให้รัฐ เอกชน ซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ผลิตจับมือกันเดินหน้าสู่การผลิตโปรตีนจากพืชมากขึ้น ค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วน และพัฒนารสชาติ กลิ่นต่าง ๆ ให้อร่อยเทียบกับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพราะเชื่อว่าคนไทยทุกคนอยากดูแลสุขภาพ แต่ว่าติดตรงที่ราคายังสูง ศักยภาพประเทศไทยพร้อมจะเป็นผู้นำโปรตีนจากพืชได้แน่นอน อย่างแรกคือเรามีบริษัทใหญ่ ๆ ที่พร้อมในด้านเทคโนโลยีการผลิต ขณะเดียวกัน เราเป็นประเทศเกษตรกรรม ผลิตอาหารส่งออก เป็นครัวของโลก ดังนั้นการเปลี่ยนไปใช้โปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากสัตว์ในประเทศไทย 50% ภายในปี 2050 เป็นไปได้แน่นอน และนี่คือความฝันและเป้าหมายของเราในฐานะผู้แทน Madre Brava
-ไม่ได้บอกให้งดกินเนื้อสัตว์
อย่างไรก็ตาม วิชญะภัทร์ กล่าวย้ำว่า ไม่ได้พยายามจะสื่อสารว่าให้คนงดกินเนื้อสัตว์ ใครที่ยังเอนจอยกับการกินโปรตีนเนื้อสัตว์ ก็กินต่อไป เพียงแค่อยากให้ค่อย ๆ ลด หมายความว่ากินให้พอดี และเพิ่มเสริมโปรตีนจากพืชมากขึ้นเท่านั้นเอง หลายคนสงสัยว่าโปรตีนจากพืชกับอาหารเจต่างกันอย่างไร ต้องบอกว่าถ้าเป็นอาหารเจ เป็นการกินเพื่องดอะไรสักอย่าง หรือกินเพื่อศาสนา แต่ถ้าเป็นโปรตีนจากพืช ไม่ใช่การงดเว้นการกิน แต่เป็นการนำเอาโปรตีนจากพืชไปประกอบอาหาร หรือเป็นการเพิ่มทางเลือกมากกว่า
“เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่ได้ผลลัพธ์คือไม่ทำลายสัตว์มากเกินไป ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม และคนได้สุขภาพที่ดี ขณะเดียวกันระบบอาหารก็จะยั่งยืนมากขึ้น”