สำรวจประเพณีปีใหม่ทั่วโลก เมื่อการเฉลิมฉลอง ความเชื่อและธรรมชาติหลอมรวมกัน แต่ละวัฒนธรรมจะมีรูปแบบเทศกาลที่เชื่อมโยงวิถีชีวิต สู่การเริ่มต้นความเป็นสิริมงคลให้ตนเองและชุมชนอย่างไร
เมื่อพูดถึงวันที่ 31 ธันวาคมและ 1 มกราคม หลายคนอาจนึกถึงการเฉลิมฉลองปีใหม่สากลที่เต็มไปด้วยแสงไฟ จุดพลุ และการนับถอยหลังในค่ำคืนที่อากาศเย็นสบาย วันขึ้นปีใหม่ในเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการปรับปฏิทินเกรกอเรียนในปี ค.ศ. 1582 ซึ่งกำหนดให้ 1 มกราคมเป็นวันแรกของปีตามหลักการโคจรของโลกที่สัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ ทำให้วันนี้มีความสำคัญและกลายเป็นเทศกาลที่ผู้คนทั่วโลกรอคอย
และเคยสงสัยไหมว่า มีงานปีใหม่ที่ต่างไปจากนี้หรือไม่? หลากหลายวัฒนธรรมทั่วโลก การเฉลิมฉลองปีใหม่นั้น ไม่ได้มีแค่พลุไฟหรือปาร์ตี้สุดมันส์ แต่เป็นการกลับไปหาธรรมชาติและนำใจเชื่อมโยงเข้ากับวิถีชีวิตของตนเอง ผ่านการบูชาสัตว์, การรำลึกถึงบรรพบุรุษ, การเคารพภูเขา, แม่น้ำ, ต้นไม้ ที่ถือเป็นแหล่งกำเนิด หลายพื้นที่จึงมีการจัดพิธีเรียบง่ายต่างจากที่เราเคยสัมผัส แต่ลึกซึ้งไปด้วยความหมายที่ชวนให้เราได้ทบทวน
ปีใหม่ชาวปกาเกอะญอ ขอพรจากวิญญาณธรรมชาติ
การเฉลิมฉลองปีใหม่ของชาวปกาเกอะญอ (Pakakayo) หรือที่ เรียกว่า “กี่จือหนี่ซอโค่” – เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทย วันปีใหม่ไม่ได้เป็นเพียงการเริ่มต้นปฏิทินใหม่ แต่เป็นโอกาสสำคัญที่ครอบครัวจะกลับมารวมตัวกันเพื่อทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ พวกเขาเชื่อว่าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมีบทบาทสำคัญในการปกป้องและดูแลลูกหลาน รวมถึงให้พรให้ครอบครัวและไร่นามีความอุดมสมบูรณ์ จึงมักมีการจัดโต๊ะบูชาและประกอบพิธีกรรมที่สื่อถึงความเคารพและความกตัญญู
นอกจากนี้ ชาวม้งยังมีพิธีผูกข้อมือซึ่งเป็นการขอพรจากวิญญาณธรรมชาติ เช่น ภูเขาและแม่น้ำที่พวกเขานับถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดชีวิตและความมั่งคั่ง เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ เป็นการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ได้ผลผลิตดี แม้จะต้องแบ่งพืชผล ที่เพาะปลูกให้สัตว์ตามหัวไร่ปลายนา ก็ขอให้พืชผลที่จะได้เพียงพอหล่อเลี้ยงครอบครัว
นอกจากนี้ชาวปกาเกอะญอมีข้อยืดถือปฏิบัติร่วมกัน เช่น ห้ามไปพักแรมที่อื่น ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ให้คิดดี พูดดี ทำดีอย่างเคร่งครัด ด้วยข้อปฏิบัตินี้เป็นโอกาสให้คนในครอบครัว คนในหมู่บ้านจะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีโอกาสได้พบกัน ได้พูดคุยกัน สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติและการรักษาขนบธรรมเนียมที่สืบทอดกันมายาวนาน
ปีใหม่ชนเผ่ามายา ปลูกต้นไม้เพื่อเริ่มต้นใหม่
สำหรับชนเผ่ามายา (Maya) ในเม็กซิโกและอเมริกากลาง วันปีใหม่ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการเริ่มต้นใหม่ทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ พวกเขาเชื่อว่าต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์อย่างต้นเซบา (Ceiba) ไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของชีวิต แต่ยังเป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์และโลกวิญญาณ ในช่วงปีใหม่ ชาวมายามักจัดพิธีปลูกต้นไม้เพื่อแสดงถึงการเริ่มต้นใหม่และความหวังในการฟื้นฟูธรรมชาติ ทั้งยังถือเป็นการแสดงความเคารพต่อธรรมชาติที่มอบชีวิตและความอุดมสมบูรณ์
นอกจากต้นไม้แล้ว ดวงอาทิตย์และภูเขาก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวมายาให้ความเคารพอย่างสูง ในเทศกาลปีใหม่ ผู้คนจะเดินทางไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ปิรามิดหรือภูเขา เพื่อทำพิธีขอบคุณดวงอาทิตย์ที่ให้พลังงานและความอบอุ่นในการดำรงชีวิต พิธีกรรมเหล่านี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ลึกซึ้งของชาวมายากับธรรมชาติ และการดำรงชีวิตที่เคารพสมดุลของทุกสิ่งในจักรวาล
ปีใหม่ชาวไอนุ ทำพิธีขอบคุณหมีสื่อกลางเทพเจ้า
เทศกาลปีใหม่ของชาวไอนุ (Ainu) ชนพื้นเมืองในญี่ปุ่น เต็มไปด้วยพิธีกรรมที่แสดงความเคารพต่อธรรมชาติ โดยเฉพาะ “พิธีขอบคุณหมี” หรืออิโยมันเต (Iyomante) หมีถูกมองว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าที่ดูแลป่า แม่น้ำ และภูเขา ในพิธีนี้ ชาวไอนุจะทำการบูชาหมีเพื่อส่งวิญญาณของมันกลับไปยังโลกของเทพเจ้า พร้อมขอพรให้ปีใหม่เต็มไปด้วยความสมดุลและอุดมสมบูรณ์
นอกจากการบูชาหมีแล้ว ชาวไอนุยังให้ความสำคัญกับแม่น้ำและภูเขาในฐานะศูนย์รวมพลังชีวิต ในเทศกาลปีใหม่ ผู้คนจะรวมตัวกันริมแม่น้ำหรือใกล้ภูเขาเพื่อทำพิธีขอพรให้น้ำใสสะอาดและทรัพยากรธรรมชาติคงอยู่ และร่ายรำขับร้องกันเป็นวงกลม การเฉลิมฉลองนี้มักจัดขึ้นในช่วงฤดูหนาวราวเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งยังคงมีการสืบทอดในชุมชนไอนุบางแห่ง เช่น เกาะฮอกไกโด แม้ปัจจุบันจำนวนผู้เข้าร่วมจะลดลง แต่เสน่ห์ของวัฒนธรรมนี้คือการเชื่อมโยงผู้คนกับธรรมชาติและประเพณีที่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
เทศกาลนี้เป็นมากกว่าประเพณี หากแต่เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนและความเชื่อที่หล่อหลอมจิตวิญญาณของชาวไอนุมาหลายศตวรรษ
ปีใหม่ชาวฮอกมานาย ล้างหน้าในแม่น้ำเพื่อสิริมงคล
เทศกาล ฮอกมานาย (Hogmanay) ของชาวสกอตแลนด์มีรากฐานมาจากประเพณีโบราณที่เน้นการเฉลิมฉลองปีใหม่อย่างเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยความหมาย ผู้คนจะจัดงานสังสรรค์ในบ้าน จุดไฟให้ความอบอุ่น และทำพิธีรำลึกถึงบรรพบุรุษ โดยเชื่อว่าบรรพบุรุษจะช่วยปกปักรักษาครอบครัวในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
หนึ่งในธรรมเนียมสำคัญคือ ลูนี่ดูก (loony dook) ผู้คนจะมารวมตัวกันที่ชายหาดของสกอตแลนด์ในวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี เพื่อกระโดดลงไปในน้ำเย็นจัดด้วยกัน และล้างหน้าด้วยน้ำจากแม่น้ำ ซึ่งสื่อถึงการชำระล้างพลังงานลบและเริ่มต้นปีใหม่อย่างบริสุทธิ์
ในปัจจุบันเทศกาลฮอกมานายยังคงมีความสำคัญในวัฒนธรรมสกอตแลนด์ แม้บางส่วนจะปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย เช่น การเฉลิมฉลองกลางเมืองที่มีการจุดพลุและขบวนพาเหรดยิ่งใหญ่ในเอดินบะระ (Edinburgh) แต่พิธีกรรมดั้งเดิม เช่น การล้างหน้าด้วยน้ำจากแม่น้ำ ยังคงดึงดูดผู้ที่หลงใหลในความเชื่อเก่าแก่ นอกจากนี้ การร้องเพลง Auld Lang Syne (เมื่อเนิ่นนานมา) ของเจมส์ วัตสันในปี 1711 ในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนอย่างสุดเสียง ซึ่งเนื้อเพลงส่วนใหญ่ว่าด้วยการให้อภัยและการลืมเรื่องบาดหมางที่ผ่านมาร่วมกัน กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของความรัก และความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องยาวนานในเทศกาลนี้
ปีใหม่ชาวโยรูบา จัดพิธีเต้นรำริมแม่น้ำ
ชาวโยรูบา (Yoruba) ในแอฟริกาตะวันตก การเฉลิมฉลองปีใหม่ของที่นี้ ก็ไม่ได้มีแค่การนับถอยหลังเข้าสู่วันที่ 1 มกราคม แต่ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการสานสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน ธรรมชาติ และบรรพบุรุษ หนึ่งในประเพณีสำคัญของชนเผ่าพื้นเมือง คือพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษและต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นที่สถิตของวิญญาณผู้คุ้มครอง
การเต้นรำริมแม่น้ำ ถือเป็นไฮไลต์ของเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้แม่น้ำไนเจอร์ (Niger River) ผู้คนจะมารวมตัวกันริมแม่น้ำเพื่อทำพิธีขอพรให้ปีใหม่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ การเต้นรำและขับร้องเพลงพื้นเมืองจะช่วยสร้างพลังใจและความหวังให้กับชาวโยรูบาในปีที่จะมาถึง
พิธีนี้จัดขึ้นในคืนส่งท้ายปีหรือเช้าวันที่ 1 มกราคม ขึ้นอยู่กับชุมชน บรรยากาศเต็มไปด้วยความรื่นเริง ผสมผสานกับความศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม แม้ในปัจจุบันจะมีความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต แต่หลายชุมชนยังคงรักษาขนบนี้ไว้ โดยมีคนจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาร่วมเทศกาล เพื่อสัมผัสเสน่ห์ของวัฒนธรรมดั้งเดิม
เสน่ห์ของพิธีปีใหม่นี้คือการเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องเตือนใจถึงความสัมพันธ์ลึกซึ้งที่คนยุคเก่ายึดมั่น และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงสร้างแรงบันดาลใจและคงเสน่ห์ไว้มาจนถึงยุคปัจจุบัน
ปีใหม่ชาวเซลติก ขอพรภูเขาน้ำตกป้องกันภัยพิบัติ
ชาวเซลติก (Celtic) ในยุโรปโบราณให้ความสำคัญกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่ ซึ่งถือเป็นเวลาแห่งการฟื้นฟูพลังชีวิตและสร้างความสมดุลใหม่กับธรรมชาติ พิธีบูชาป่าไม้ เป็นหนึ่งในขนบสำคัญที่ยังหลงเหลือในบางพื้นที่ พวกเขาเชื่อว่าป่าไม้เป็นที่สถิตของวิญญาณเทพเจ้า และการปลูกต้นไม้หรือจัดพิธีกรรมในป่าจะช่วยเสริมพลังให้ชุมชน
อีกหนึ่งไฮไลต์คือ การขอพรจากภูเขาและน้ำตก ซึ่งชาวเซลติกเชื่อว่าเป็นแหล่งพลังงานบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ การนำน้ำจากน้ำตกมาใช้ในพิธีล้างหน้าหรืออาบเพื่อชำระล้างความโชคร้าย และการไหว้ภูเขาเพื่อขอพรให้ปกป้องผู้คนจากภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมและลมพายุ
ในปัจจุบัน แม้ว่าประเพณีดั้งเดิมจะลดน้อยลง แต่หลายพื้นที่ในไอร์แลนด์และสกอตแลนด์ยังคงจัดกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรม เช่น การจุดคบเพลิงและทำพิธีเรียกขวัญที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เสน่ห์ของเทศกาลนี้อยู่ที่ความเรียบง่ายแต่ทรงพลัง สะท้อนวิถีชีวิตที่เคารพสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจวัฒนธรรมโบราณมาร่วมงานทุกปี
ชี้ให้เห็นว่าปีใหม่ไม่ได้เป็นเพียงการเฉลิมฉลอง แต่ยังเป็นการเชื่อมโยงมนุษย์กับความเป็นอยู่และความเชื่ออย่างลึกซึ้ง และสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างประเพณีปีใหม่กับการดูแลธรรมชาติที่ฝังรากลึกในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก
ที่มาข้อมูล : https://fa7.naxapi.com/maeusu.go.th/dnm_file/project/1724126620814_31195_center.pdf
https://lucyliveshere.com/2022/02/09/doing-the-loony-dook-everything-you-need-to-know/