ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ตัวแทนเยาวชน ขึ้นกล่าวบนเวทีระดับประเทศ GCNT Forum ส่งเสียงถึงภาคธุรกิจ เสนอกรอบ CEL ธุรกิจสร้างคุณค่าและความยั่งยืนให้กับสังคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
คนรุ่นใหม่ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสังคมในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่โลกอยู่ท่ามกลางประเด็นท้าทายมากมายทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันยิ่งเสื่อมโทรม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นเสียงของคนรุ่นใหม่จึงมีความหมายที่จะช่วยสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคม
เหมือนอย่าง ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ผู้ก่อตั้งโครงการเมนทัลมี ตัวแทนเยาวชน ที่ได้ขึ้นกล่าวบนเวที GCNT Forum 2024 Inclusive Business Society พลิกธุรกิจแห่งอนาคต สร้างสังคมที่เท่าเทียม และยั่งยืน” โดยความร่วมมือการจัดงานโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยและสหประชาติ ในประเทศไทย
โดยปราชญาได้ส่งเสียงถึงคนทุกคนลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมว่า ในฐานะคนรุ่นใหม่ เรามองเห็นปัญหาหลายอย่างในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกเดือด หรือปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม หรือไม่ว่าจะเป็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากภาคธุรกิจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้นับเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้
พร้อมกับกล่าวถึงประเด็นแนวคิดและมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อการทำงานยุคปัจจุบัน อันสอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืนของทุกองค์กรที่ต้องให้ความสำคัญกับคนในองค์กร โดย ปราชญา ยกผลการศึกษาจากองค์การยูนิเซฟ ที่ระบุว่า สิ่งที่คนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญนอกจากค่าตอบแทนที่ยุติธรรมแล้ว ยังมีเรื่องความสมดุลย์ระหว่างชีวิตและการทำงาน วัฒนธรรมในที่ทำงาน รวมถึงความหมายในงานที่ทำ
“ซึ่งหมายความว่าสำหรับเยาวชนและคนรุ่นใหม่นั้น นอกจากค่าตอบแทนที่ยุติธรรม องค์กร บริษัท ไม่ได้เป็นแค่สถานที่ทำงาน แต่ยังเป็นพื้นที่ที่แสดงถึงเป้าหมาย พันธกิจ และค่านิยมที่เชื่อมั่น”
ธุรกิจสามารถสร้างคุณค่า และการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้
ปราชญา กล่าวต่อว่า ย้อนกลับไปตอนที่เรียนมัธยมปลายเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เป็นเด็กคนหนึ่งที่เรียนไปด้วย ทำงานเพื่อสังคมไปด้วยได้ทำงานในสังคมหลายด้าน หนึ่งในนั้นคืองานที่เกี่ยวข้องกับสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และยังได้มีโอกาสร่วมงานกับยูนิเซฟ และสถานเลี้ยงเด็กและเยาวชน ตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร หลังจากที่เข้าร่วมเวิร์กช็อป ทำกิจกรรม พร้อมเสนอนโยบายหลายอย่างจุดนี้จึงเกิดแนวคิดในใจของตัวเราเองว่า ธุรกิจสามาราถสร้างคุณค่า สร้างความเปลี่ยนแปลง และความยั่งยืนให้กับสังคมได้
ในฐานะตัวแทนเยาวชนเราก็สามารถกลับมาทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคมได้เช่นกัน จากนั้นจึงกลับบ้านพร้อมกับความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจครอบครัว ให้กลายเป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืน สร้างคุณค่าและโอบรับทุกคนมากขึ้น
“จึงได้เสนอแผนงานกับครอบครัว โชคดีที่ได้รับโอกาสให้ทำสิ่งใหม่เกิดขึ้นจริง ก็เลยทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มตั้งแต่การนำพลังงานสะอาดมาใช้ เพื่อให้กระบวนการผลิต ปล่อยมลพิษสู่บรรยากาศน้อยลง
พร้อมเพิ่มพลังงานสะอาดใช้ในโรงงาน จนวันนี้เกือบ 100% ของธุรกิจเป็นพลังงานสะอาดทั้งหมดแล้ว นอกเหนือจากนี้ ก็มีการติดต่อกับเกษตรกรโดยตรง จากการที่เรามีโอกาส สั่งผลผลิตมาจากพ่อค้าคนกลาง ก็เลยมีการติดต่อกับเกษตรกรโดยตรง จนเราได้พบปัญหา ได้นั่งคุยกับพวกเขา พร้อมกับเข้าไปช่วยเหลือ ให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมต่อเกษตรกร “
ทำงานกับผู้พิการ
นอกจากนั้นยังตั้งเป้าหมายทำงานร่วมกับผู้พิการ ซึ่งถือเป็นโจทย์ท้าทายมาก เพราะการทำงานร่วมกับพี่ ๆ ผู้พิการ ทำให้กังวลว่า มีประเด็นไหนที่เราต้องคำนึงบ้าง แต่พอได้ทำงานร่วมกันจริง ๆ เขาสามารถทำงานได้กับพวกเรา และได้เห็นว่าประสิทธิภาพการทำงานดีมาก ๆ นี่กลายเป็นเรื่องสำคัญที่บริษัทเรามีการจ้างงานผู้พิการเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังมีการวางแผนเพิ่มตำแหน่งด้วย”
ปราชญา กล่าวอีกว่า จากสิ่งที่ทำ สุดท้ายทำให้เรามีการสร้างอาชีพให้กับผู้คน ชุมชน และสังคม โดยที่ เรามีการสร้างอาชีพให้กับผู้คนรอบข้าง มีการให้ผู้คนในชุมชนที่อยู่ใกล้ๆ กับบริษัทและโรงงานได้หารายได้เสริม โดยที่นอกเหนือจากนี้เรายังสามารถพูดคุยหรืออินไซด์เชิงลึกว่า บริษัทของเราสร้างผลกระทบอะไรต่อชีวิตของพวกเขา เพื่อที่เราจะได้สามารถอยู่ร่วมกันได้
เสนอกรอบ CEL เพื่อให้เกิด Inclusive Business
อย่างไรก็ตาม ตนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมาก จึงเสนอกรอบ CEL เพื่อให้เกิด Inclusive Business
C คือ Connect คือการเชื่อมโยงธุรกิจกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
E คือ Empower การเปิดโอกาสให้กลุ่มเปราะบางได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนเศรษฐกิจแบะการทำงานกับเรามากขึ้น
L คือ Listen การรับฟังของทุกฝ่ายโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นสิ่งที่สำคัญ
ทั้งนี้ Inclusive Business ความสำคัญของมันไม่ได้อยู่ที่ว่า มันสามารถเปลี่ยนแปลงธุรกิจของเราได้มากน้อยเพียงใด แต่เชื่อว่าสำคัญตรงที่ว่ามันสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนรอบข้างและประชาชนในประเทศนั้น ๆ และโลกของเราได้หลาย ๆทาง และเชื่อว่า ทุกสิ่งที่เราทำจะเป็นพลังอีนยิ่งวใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้น”
“เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ธุรกิจที่โอบรับผู้คน ธุรกิจที่สร้างคุณค่าและความยั่งยืนให้กับสังคมจะมีอยู่จริงไหม และในวันนี้ดิฉันยืนยันว่าวันนี้เป็นไปได้จริง ดังนั้นธุรกิจจึงไม่ใช่การสร้างผลกำไรอย่างเดียว แต่เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้ และวันนี้คุณสร้างธุรกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือยัง?” ปราชญา กล่าวทิ้งท้าย