น้ำท่วมภาคใต้ไทยรุนแรง จากฝนตกหนักเกินค่าเฉลี่ย ส่งผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศหนักสุดในรอบ 5 ปี สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ปัจจัยเร่งเกิดน้ำท่วมบ่อยและรุนแรง
สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ ของไทยสร้างความเสียหายต่อชุมชนและธรรมชาติอย่างรุนแรงในหลายจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพัทลุง ซึ่งต้องเผชิญกับฝนตกหนักติดต่อกันในช่วงปลายปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำเกินระดับที่ระบบจัดการน้ำในพื้นที่จะรองรับได้ ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ยาก กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจท้องถิ่นในพื้นที่น้ำท่วม
ภาพสะท้อนนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ชั่วคราว แต่เป็นผลกระทบระยะยาวที่มาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาแนวทางจัดการน้ำและโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมตัวและลดความเสี่ยงในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วม ซึ่งครั้งนี้ถือว่ารุนแรงหนักในรอบหลายสิบปี และรุนแรงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
ดร.รอยล ประเมินผลกระทบปรากฏการณ์เอนโซ่
พายุหมุนรุนแรงหนักกว่าปี 2553
ดร.รอยล จิตรดอน ที่ปรึกษาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) มองปรากฎการณ์ น้ำท่วมหนักภาคใต้ขณะนี้ว่า เกิดจากลมหนาวจากจีนมาแรงมากขึ้น และมรสุมจากจีนทะเลตอนใต้ก็รุนแรงขึ้น จึงส่งผลกระทบเกิดปรากฎการณ์ผันผวน ที่ฝนลมอากาศแปรปรวน หรือเรียกว่า เอนโซ่ (ENSO) ที่มหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลกระทบมาถึงประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตร รวมถึงประเทศไทย จึงเกิดน้ำท่วมหนักทางภาคใต้
ไม่เพียงเท่านั้น ยังเผชิญปัญหาหย่อมกดอากาศต่ำ ที่อยู่นาน 3-4 วัน ทั้งที่จีนและไทยต่างไม่เคยเจอมาก่อน ส่วนใหญ่ทุกคนจะกลัวพายุ แต่ปรากฏการณ์นี้ เป็นหย่อมกดอากาศ ซึ่งคาดการณ์ว่าแนวโน้มความผันผวนเหล่านี้จะรุนแรงขึ้น ถี่ขึ้น เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรับมือ
ดร.รอยล กล่าวต่อว่า ปริมาณฝนมากเกินกว่า 500 มิลลิเมตร ที่ภาคใต้ถือว่ารุนแรงที่สุดนับจากปี 2553 ที่เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่ความรุนแรง และความสูงของน้ำยังถือว่าเตรียมรับมือได้ดีซึ่งทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องเตรียมพร้อมกับการรองรับน้ำหลากให้มากขึ้นต่อไป พร้อมกันกับเร่งช่วยเหลือผู้เสียหายและได้รับผลกระทบกลุ่มคนเปราะบาง
“เหตุการณ์นี้ไม่ง่ายเพราะเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมากกว่าที่เคยเกิดขึ้น ปริมาณน้ำฝนมากขึ้น จึงต้องเตรียมพร้อมถี่ขึ้น โครงสร้างของประเทศไม่ได้ออกแบบเตรียมรองรับปริมาณน้ำมากขนาดนี้ ดังนั้นจึงต้องเตรียมพร้อมให้มากขึ้น”
น้ำหลาก พรากธุรกิจ 80-90 % กระทบรายได้
นายจักรพรรณ วัลแอ เลขาธิการสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยภาคใต้ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ขณะนี้เท่าที่ประเมิน จังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือจังหวัดแถบชายแดน 5 จังหวัด ได้แก่ (สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) โดยคนที่ประกอบธุรกิจที่นั่นซึ่งกระทบเกือบ 80-90%
โดยเฉพาะยะลา เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่ม มีน้ำป่าไหลหลากลงมา กระทบพื้นที่ทั้งหมด ไม่ว่าจะชาวบ้าน ต้องบอกว่ายะลาเป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาเยอะในช่วงหลัง ๆ แต่ในขณะเดียวกัน พอมาเจอมรสุมแบบนี้เศรษฐกิจชะงักแน่นอน จึงอยากให้ภาครัฐลงมาช่วยมากขึ้น ทั้งส่วนกลาง หรือส่วนท้องถิ่นก็ตาม รวมถึงภาคเอกชนที่มีการกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจฐานราก เพราะตอนนี้ทางสมาพันธ์ฯ บริหารจัดการกันเองค่อนข้างยากลำบาก ไม่ใช่แค่ตอนนี้ แต่ในอนาคตแน่นอนว่าภัยธรรมชาติอาจมีมาเรื่อย ๆ ก็ต้องเสริมองค์ความรู้แนวทางป้องกัน พัฒนาเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการท้องถิ่น ชาวบ้านมากขึ้น
เนื่องจากเป็นภัยฉุกเฉินที่เราไม่สามารถรู้ได้ เพราะอนาคตทางจังหวัดภาคใต้กำลังพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยการโฟกัสไปที่อุตสาหกรรมฮาลาล การผลิตสินค้าและการให้บริการ การแปรรูปต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาด้าน Wellness และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่ด้วย
9 จังหวัด น้ำท่วมภาคใต้
เร่งอพยพชุมชนริมแม่น้ำ
ขณะนี้ (29 พ.ย. 2567) น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ส่งผลกระทบต่อ 9 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, ตรัง, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และระนอง หลังเกิดฝนตกหนักและต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 26-27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับน้ำหลากจากปริมาณฝนที่เกินความสามารถในการระบายน้ำ โดยบางพื้นที่มีฝนตกซ้ำอีก ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบัน มวลน้ำได้เริ่มไหลเข้าสู่เขตชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลา โดยในบางพื้นที่ที่มีระบบจัดการน้ำดีสามารถลดผลกระทบได้บ้าง แต่พื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ น้ำได้ไหลเข้าสู่ตัวเมืองและชุมชนริมแม่น้ำสายหลักทั้ง 4 สายแล้ว เจ้าหน้าที่เร่งอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงออกสู่จุดพักพิงชั่วคราว พร้อมเตือนให้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดในอีก 2-3 วันนี้ ขณะที่น้ำจะทยอยไหลลงทะเลในบางพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาได้บางส่วน
ยะลา ท่วมหนักสุดในรอบหลายสิบปี
ฝนถล่มหนัก น้ำทะลักจาก 4 ลุ่มน้ำ
จังหวัดยะลาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากฝนที่ตกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. 67 และตกหนักที่สุดในวันที่ 27 พ.ย. 67 น้ำจากแม่น้ำทั้ง 4 สาย ได้แก่ ปัตตานี, สายบุรี, โกลก และตันหยงมัส ได้หลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครยะลา
นายอิสมาอีล ฮายีแวจิ ประธานชุมชนมุสลิมสัมพันธ์ ระบุว่า น้ำเริ่มเอ่อจากท่อระบายน้ำและท่วมขังท้ายซอย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างมาก
ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา สถิติฝนตกในภาคใต้สูงถึง 1,138 มิลลิเมตร โดยวันที่ 26 พ.ย. จ.นราธิวาสมีปริมาณฝน 400 มิลลิเมตร และ จ.ปัตตานี 380 มิลลิเมตรในวันที่ 27 พ.ย. ส่งผลให้น้ำปริมาณมหาศาลไหลลงพื้นที่ลุ่มต่ำอย่างรวดเร็ว คาดว่าระดับน้ำในพื้นที่ภาคใต้จะเริ่มลดลงและไหลลงสู่ทะเลหมดในช่วงวันที่ 10 ธ.ค. นี้ เจ้าหน้าที่กำลังเร่งช่วยเหลือประชาชน พร้อมจัดตั้งศูนย์พักพิงและเตรียมความพร้อมรับมือฝนที่อาจตกซ้ำในบางพื้นที่
น้ำท่วมภาคใต้หนักสุดในรอบ 5 ปี
ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ทั้งนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะน้ำท่วมครั้งล่าสุดในปี 2567 ที่จัดว่าหนักที่สุดในรอบ 5 ปี หลายพื้นที่ เช่น พัทลุงและนครศรีธรรมราช ได้รับปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่า 300 มิลลิเมตรภายใน 24 ชั่วโมง
สภาพฝนตกต่อเนื่องและฝนหนักเฉียบพลันทำให้ระบบระบายน้ำและพื้นที่รับน้ำไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ทัน ส่งผลให้น้ำหลากท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรเป็นวงกว้าง
แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของความรุนแรงเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาวะโลกร้อนและเอลนีโญ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนปลายปีที่ปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยชี้ให้เห็นถึงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (extreme weather) ที่ไทยกำลังเผชิญ อ้างอิงกราฟระดับน้ำของแม่น้ำสายบุรี จังหวัดยะลา จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) อธิบายว่าฝนตกหนักสะสมหลายร้อยมิลลิเมตร ทำให้น้ำจากทุกทิศไหลมารวมกันจนเพิ่มขึ้นฉับพลัน โดยระบุว่า
“ฝนตกภาคใต้ในช่วงนี้เป็นประจำทุกปี แต่โลกร้อนทำให้น้ำในทะเลระเหยมากขึ้น อากาศยิ่งร้อนเพิ่มทุก 1 องศา จุไอน้ำเพิ่ม 7% เมฆยุคโลกร้อนจึงเต็มไปด้วยน้ำ ฝนตกในช่วงเวลาเท่า ๆ เดิม แต่ปริมาณน้ำจากฟ้ามากกว่าเดิม เราจะเห็นข่าวว่าปริมาณน้ำฝนสะสมหลายแห่งเกิน 300 มม. เยอะมากจนผิดปรกติ”
สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว
ปัจจัยเร่งน้ำท่วมรุนแรงในไทย
รายงานแห่งชาติฉบับที่ 4 (NC4) เผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ทำให้อากาศร้อนจัด แต่ยังเปลี่ยนวงจรน้ำฝนจนเกิดฝนตกหนักเกินค่าเฉลี่ยทุกปี
ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจาก “โลกร้อน” ที่ทำให้น้ำในทะเลระเหยมากขึ้น เมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นทุก 1 องศา ไอน้ำในอากาศจะเพิ่มขึ้นถึง 7% ทำให้เมฆในยุคโลกร้อนเต็มไปด้วยน้ำที่ตกลงมาในปริมาณมหาศาล
นอกจากน้ำท่วม ฝนที่ตกกระหน่ำยังทำให้เกิดความเสี่ยงจากภัยแล้งในระยะยาว เนื่องจากน้ำที่ไหลหลากส่วนใหญ่ไม่สามารถกักเก็บไว้ใช้งานได้
มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ พบว่าภาวะโลกร้อนมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความถี่และความรุนแรงของน้ำท่วมทั่วโลก สาเหตุหลักมาจากการที่อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้อากาศสามารถกักเก็บไอน้ำได้มากขึ้น ส่งผลให้มีฝนตกหนักและน้ำท่วมเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศยังทำให้ธารน้ำแข็งละลายเร็วยิ่งขึ้น เพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำและทะเลสาบที่อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมแบบเฉียบพลันในพื้นที่เสี่ยง
ความคืบหน้า
การช่วยเหลือและรับมือ
เจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรท้องถิ่นได้ร่วมกันอพยพประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พร้อมตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อดูแลผู้ประสบภัย โดยมีการจัดส่งอาหาร น้ำดื่ม และอุปกรณ์ยังชีพไปยังครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ กรมชลประทานกำลังเร่งระบายน้ำผ่านประตูน้ำและทางธรรมชาติ เพื่อลดระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสายบุรี ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศฉบับที่ 8 (315/2567) เตือนประชาชนระวังฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาและลุ่มต่ำ
“ขอให้ประชาชนในภาคใต้ตอนล่างเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลันและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” กรมอุตุนิยมวิทยากล่าวในประกาศเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาหรือสายด่วน 1182 และ 0-2399-4012-13 ซึ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออัพเดตสถานการณ์และข้อมูลคำแนะนำในช่วงวิกฤตนี้
สถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ยังถือเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับระบบเตือนภัยและการรับมือภัยพิบัติของประเทศเช่นเคย และสะท้อนความเปราะบางของพื้นที่ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชัดเจน
ทั้งฝนตกหนักเกินค่าเฉลี่ยและการจัดการน้ำที่ยังไม่เพียงพอทำให้ผลกระทบรุนแรงขึ้น การวางแผนระบบน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับภัยธรรมชาติ และการเตรียมพร้อมในระดับชุมชนเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอย
ข้อมูล : royalsociety.org
ที่มาภาพ : สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จ.ยะลา