Whoscall เผยรายงานองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก พบกว่า 1 ใน 4 คนไทยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

Whoscall เผยรายงานองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก พบกว่า 1 ใน 4 คนไทยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

บริษัท โกโกลุก ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall ร่วมกับองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก Global Anti-Scam Alliance (GASA) และ ScamAdviser เปิดรายงานสถานการณ์การหลอกลวงจากมิจฉาชีพในประเทศไทย (State of Scams in Thailand) ประจำปี 2567 เผยถึงรูปแบบการหลอกลวงที่เปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อคนไทย ผ่านการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยกว่า 9,360 คนจากหลากหลายอาชีพ พบกว่า 1 ใน 4 คนไทยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ โดยมีมูลค่าความเสียหายที่เหยื่อถูกหลอก สูงถึง 1,106 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 36,000 บาทต่อคนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

 

 

แม้จะมีความพยายามในการป้องกัน ภัยมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่องทั้งจากภาครัฐ และเอกชน แต่ประเทศไทยยังคงประสบกับปัญหาจากการหลอกลวง และความพยายามในการหลอกกลวงจากมิจฉาชีพ 

ทั้งนี้ตามรายงานสถานการณ์การหลอกลวงจากมิจฉาชีพในประเทศไทย (State of Scams in Thailand) ประจำปี 2567 ที่บริษัท โกโกลุก (Gogolook) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall ร่วมกับองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก Global Anti-Scam Alliance (GASA) และ ScamAdviser จัดทำขึ้น โดยการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยกว่า 9,360 คนจากหลากหลายอาชีพ  แสดงให้เห็นถึงระดับความถี่ของการหลอกลวงที่เพิ่มขึ้นรวมไปถึง ข้อมูลเชิงลึกกลลวงใหม่ๆ จากมิจฉาชีพ และผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยพบว่ามูลค่าความเสียหายที่เหยื่อถูกหลอก จากมิจฉาชีพเฉลี่ยสูงถึง 1,106 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 36,000 บาทต่อคนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

 

 

แมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) กล่าวว่า การหลอกลวงเกิดบ่อยขึ้น และมีมูลค่าความเสียหายมากขึ้นแม้ว่าคนจะรู้ทันมิจฉาชีพ โดยรายงานระบุว่า คนไทยมีความระมัดระวังในการป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพมากขึ้น โดย 55% มั่นใจว่ารู้ทันกลลวงมิจฉาชีพด้วยการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ 44% และใช้แอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบความถูก ต้องของข้อมูลที่ได้รับ 37% 

89% ต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละครั้ง 

อย่างไรก็ตาม 89% เผยว่ายังต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละครั้ง และ 58% ระบุว่าต้องรับมือกับมิจฉาชีพบ่อยขึ้น โดยเกือบ 10% ระบุว่าถูกก่อกวนจากมิจฉาชีพถี่ขึ้นต่อเดือน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ 35% ได้รับโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงหลายครั้งต่อสัปดาห์

 

 

‘โทรเข้า – ส่งข้อความผ่านมือถือ’ เป็นวิธีหลอกลวงที่ใช้มากที่สุด

รายงานยังพบว่า การโทรเข้าและส่งข้อความผ่านมือถือยังเป็นวิธีการหลอกลวงที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุด ตามด้วย โฆษณาออนไลน์ การใช้แอปพลิเคชันต่างๆสำหรับส่งข้อความ และโพสต์บนโซเชียลมีเดีย โดย 5 ช่องทางที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุดในการหลอกลวง ได้แก่ Facebook 50% ตามด้วย Line 43%, Messenger 39%, TikTok 25% และ Gmail 20%

 

 

 

 

 

การได้รับเงินคืนหลังจากถูกหลอก ทำได้ยากขึ้น 

ทั้งนี้การได้รับคืนเงินที่ถูกมิจฉาชีพหลอกไปนั้นทำได้ยากขึ้นเมื่อเทียบกับปีผ่านมา ผลสำรวจจพบว่ากว่า 1 ใน 3 หรือ 39% สูญเสียเงินภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพ โดยมีเหยื่อเพียง 2% ได้เงินที่ถูกหลอกไปคืนทั้งหมด แต่มีเหยื่อมากถึง 71% ไม่สามารถนำเงินที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ และ 73% ระบุว่าได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงหลังจากถูกหลอก

 

 

การหลอกเหยื่อว่าเป็นตำรวจ แซงหน้าหลอกลวงซื้อสินค้า

ขณะที่การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล (Identity Thef) และการใช้เทคโนโลยี AI เป็นรูปแบบกลโกงที่มิจฉาชีพใช้มากขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ ผลสำรวจระบุว่าการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลโดยการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อหลอก ให้เหยื่อโอนเงิน เป็นกลลวงที่พบมากที่สุดถึง 22%  แซงหน้าการหลอกลวงให้ซื้อสินค้า (shopping scams) 19%  ตามมาด้วยการออกใบแจ้งหนี้ปลอม หรือการหลอกให้ชำระหนี้16% และการหลอกให้ลงทุน14% ตามลำดับ

 

 

คนไทยตระหนักรู้ การใช้ AI เลียนแบบเสียง สร้างบทสนทนา

นอกจากนี้ รายงานระบุว่าคนไทยมีความตระหนักรู้มากขึ้นว่ามิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาเป็นเทคนิคใหม่ในการ เขียนข้อความสร้างบทสนทนาเลียนแบบเสียง รวมถึงสร้างภาพของบุคคลหรือสถานการณ์หลอกลวงในรูปแบบ ต่างๆ โดย 66 % ของผู้ตอบแบบสอบถามมั่นใจว่าเคยได้รับข้อความที่เขียนโดยใช้เทคโนโลยี AI

 

รายงานสะท้อนความเร่งด่วนแก้ปัญหาหลอกลวงมิจฉาชีพ

นายจอริจ อับบราฮัม (Jorij Abraham) ผู้จัดการทั่วไปGlobal Anti-Scam Alliance (GASA) กล่าวว่า รายงานสถานการณ์การหลอกลวงจากมิจฉาชีพในประเทศไทยฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อปรับปรุงมาตรการป้องกัน เพิ่มการดำเนินการที่เข้มงวดและสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยจาก มิจฉาชีพ  จากความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลและผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นต่อผู้เสียหายทำให้เรา จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อปกป้องประชาชนและฟื้นความเชื่อมั่นในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล”

สรุปข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานฯ

  • กว่า 1 ใน 4 หรือ 28% ของผู้ตอบแบบสอบถามตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
  • 58% รับมือกับมิจฉาชีพบ่อยขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 โดย  89% ต้องรับมือกับมิจฉาชีพ อย่างน้อยเดือนละครั้ง
  • กว่า 1 ใน 3 หรือ 39% สูญเสียเงินให้มิจฉาชีพภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพ และมีเพียง 2% ที่ได้ทรัพย์สินคืนทั้งหมดหลังจากถูกหลอก
  • มูลค่าความเสียหายจากการถูกหลอกเฉลี่ยอยู่ที่ 1,106 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 36,000 บาทต่อคน
  • การขโมยข้อมูลส่วนบุคคลและการหลอกลวงที่ใช้เทคโนโลยี AI  เป็นรูปแบบกลโกงที่ถูกพบมากที่สุด