ส่องไอเดีย เด็กมัธยมปลาย จังหวัดกาญจนบุรี พัฒนาเครื่องดักจับคาร์บอนจากเครื่องฟอกอากาศ มองเห็นปัญหาโลกเดือด แค่ปลูกต้นไม้อย่างเดียว ไม่พอแล้ว
ภาวะโลกเดือดที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ทั่วโลกต้องร่วมกันเร่งหาแนวทางป้องกันและแก้ปัญหา โดยเฉพาะการลดปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ มีการตั้งเป้าหมายการบรรลุ Net Zero ทั่วโลกภายในปี 2050 (พ.ศ.2593)
โดยเป้าหมาย Net Zero ดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และอีกไม่นานประเทศไทยก็จะเริ่มพูดถึงมาตรการภาษีคาร์บอนเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคลอดออกมา เป็นข้อบังคับทำให้ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องเร่งลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่ง ณ ตอนนี้การปลูกต้นไม้ เป็นนโยบายที่เรียบง่ายที่สุด และเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำควบคู่กับมาตรการอื่น ๆ
เด็ก ม.ปลาย คิดเครื่องดักจับคาร์บอนจากเครื่องปรับอากาศ
สำหรับเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี กลับมองว่า ตอนนี้ปลูกต้นไม้อย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว จึงได้คิดค้นนวัตกรรมดักจับคาร์บอน Direct Air Capture (DAC) Technology ขึ้นมา จากการหยิบขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเครื่องฟอกอากาศมาแปลงโฉมใหม่ ด้วยการใช้ความรู้จากห้องเรียนในวิชาคอมพิวเตอร์ และวิชาเคมีมาประยุกต์ใช้ จนได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากโครงการ ‘e-Waste HACK BKK 2024’ ที่เป็นกิจกรรมชวนเด็ก ๆ ช่วยคิดวิธีพลิกฟื้นขยะอิเล็กทรอนิกส์ในกรุงเทพฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ทรู คอร์ปอเรชั่น, สถานเอกอัครราชทูตสวีเดน ประจำประเทศไทย, กรุงเทพมหานคร, คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ บริษัท เอสเค เทส ไทยแลนด์ จำกัด
โดยที่น้อง ๆ มัธยมกลุ่มนี้ประกอบด้วยสมาชิก 3 คน คือ นันท์นภัส อุปละ, พัทธ์ธีรา จงเจริญธนกิจ และศิริวภา พรหมห้อง โดยมีครูที่ปรึกษาคือ ครูธนวรรณ อนุสนธิ
ปัญหามลพิษในกรุงเทพฯ เกิดจาก e-Waste
โดยน้อง ๆ ทั้ง 3 คน เล่าว่า ได้รวมกลุ่มกันขึ้นมาในชื่อทีม One Day Miracle plus+ ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 4 แสนตัน ทั้งยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 43 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไป โดยที่ 19.2 ล้านตัน พบว่ามาจากภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด แต่ว่าเรากักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คืนมาได้เพียง 4.5 หมื่นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีเท่านั้น ซึ่งถ้าได้กักเก็บเพิ่มก็ต้องปลูกต้นไม้เพิ่มประมาณ 1-2 เท่า ของพื้นที่ประเทศไทย จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้คนกรุงเทพต้องสูดดมมลพิษ PM 2.5 ซึ่งอาจเท่ากับสูบบุหรี่ 2,300 มวน ถ้าไม่ทำอะไรเลย กรุงเทพฯ จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกมากขึ้น
“นวัตกรรมของพวกเราสามารถเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ เป็นเอทาลีนได้ จึงได้พัฒนาเครื่องฟอกอากาศ มาเป็นเครื่องดักจับคาร์บอน โดยที่เครื่องนี้จะดูดคาร์บอนฯ แล้วก็จะนำเข้าสู่คอมเพรสเซอร์พร้อมกับไฮโดรเจน เพื่อทำการปรับเปลี่ยนอุณหภูมิให้เป็น 100 องศาเซลเซียส แล้วส่งไปที่ X-Ray Tube เพื่อทำปฏิกริยา เป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ และส่งไปปรับอุณหภูมิที่ Condenser แล้วส่งกลับมาที่ MEA เพื่อให้ทำปฏิกริยาอีกรอบหนึ่ง จนได้ผลผลิตเป็น เอทิลีน (Ethylene) หรือก๊าซเอทีลีน C2H4 (Ethene) จัดเป็นก๊าซไฮโดรคาร์บอนรูปแบบนึ่ง และเมื่อกลายเป็นเอทิลีนแล้ว เอทิลีนเหล่านี้จะส่งคืนให้เรา เพื่อจะนำไปจำหน่ายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิต เช่นภาคอุตสาหกรรมเคมีและพลาสติก”
ทั้ง 3 ยังเล่าอีกว่า เป้าหมายของการพัฒนาเครื่องดักจับคาร์บอนฯ นี้ พัฒนาเพื่อให้โรงงานที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง และบริษัทขนาดเล็กนำไปใช้ เพราะจะเห็นว่าตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงฯ คาดว่านวัตกรรมของพวกเราหากถูกนำไปต่อยอดน่าจะเป็นส่วนหนึ่งช่วยแก้ปัญหาได้
องค์ความรู้จากห้องเรียนได้ใช้งานจริง
ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการได้นำความรู้วิชาเคมี แล้วก็วิชาคอมพิวเตอร์มาใช้ โดยที่วิชาเคมีได้นำความรู้เรื่องของการเกิดปฏิกริยาเคมีมาใช้ ในส่วนของวิชาคอมพิเตอร์ ก็ได้ใช้เทคนิคทางไอที เพราะในตัวเครื่องจะมีตัว Module ในการตรวจวัดอุณหภูมิของน้ำ ก็เป็นองค์ความรู้ในห้องเรียนที่เราได้นำมาปรับใช้ในการทำงานเสริมสร้างประสบการณ์ของเราจริง ๆ อย่างไรก็ตามนวัตกรรมนี้มีประโยชน์ช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์และการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาด้วย
เรื่องโดย : บุษกร สัตนาโค
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี