คนทะเล โมเดลประมงพื้นบ้านแห่งทุ่งน้อย สร้างรายได้-ฟื้นฟูทะเล เปิดชุมชนให้บริการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

คนทะเล โมเดลประมงพื้นบ้านแห่งทุ่งน้อย สร้างรายได้-ฟื้นฟูทะเล เปิดชุมชนให้บริการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

คนทะเล ธุรกิจเพื่อสังคมจากประจวบคีรีขันธ์ คว้ารางวัล BC4C ปีที่ 13 ด้วยโมเดลบ้านปลาออร์แกนิคที่ช่วยเพิ่มสัตว์น้ำในทะเล 3 เท่า พร้อมเชื่อมโยงวิถีประมงพื้นบ้านกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

 

 

ในยุคที่ทรัพยากรทางทะเลกำลังถูกบั่นทอน คนทะเล – Khontalay คือแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่สายเลือดประมงแห่ง บ้านทุ่งน้อย ตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการนำเสนออาหารทะเลคุณภาพสูงปลอดสาร และการทำประมงพื้นบ้านที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันชุมชนชาวประมงให้กลับมามีรายได้มั่นคง 

โมเดลธุรกิจคนทะเล จึงกลายเป็นหนึ่งในผู้ชนะ โครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” หรือ BC4C (Banpu Champions for Change) ปีที่ 13 จากแนวคิดนวัตกรรมบ้านปลาออร์แกนิค ซึ่งช่วยเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำได้มากกว่า 3 เท่า และเชื่อมโยงวิถีประมงพื้นบ้านเข้ากับแพ็กเกจท่องเที่ยว  

 

 

 

 

ใต้ทะเลเหมือนพื้นทราย สัตว์น้ำลด 80%

จากปัญหาสัตว์น้ำในทะเลลดลงถึง 80% ระหว่างปี 2554-2563 ชาวบ้านทุ่งน้อยในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ต้องเผชิญความท้าทายในการประมงใกล้ฝั่งที่มีทรัพยากรน้อยลงเรื่อย ๆ สาเหตุหลักมาจากปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนและน้ำทะเลอุ่นขึ้น ทำให้ปลาเคลื่อนตัวไปยังพื้นที่น้ำลึก บวกกับปัญหาขยะทะเล โดยเฉพาะไมโครพลาสติก ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศในทะเลอย่างหนัก อีกทั้งการทำประมงด้วยเครื่องมือที่ทำลายระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ขูดครากจนเปรียบเสมือนทะเลทราย

 

 

เมื่อทะเลคือชีวิต ชุมชนคือหัวใจ 

กิตติเดช เทศแย้ม ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมคนทะเล เปิดเผย การพัฒนา คือการทำความเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือที่จะใช้ ไม่ใช่แค่พูดถึงคำว่ายั่งยืนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรู้ว่าวิธีที่ถูกต้องคืออะไร เช่น การจับสัตว์น้ำให้เหมาะสม พร้อมกับการฟื้นฟูทะเลให้สมบูรณ์ไปพร้อมกัน วิถีของชาวประมงพื้นบ้านในทุ่งน้อยนั้นยึดหลักจับสัตว์น้ำแบบแยกประเภท เช่น ต้องการจับปูม้าก็จะใช้อุปกรณ์เฉพาะ เพื่อไม่กระทบกับพันธุ์สัตว์น้ำชนิดอื่น รวมถึงปล่อยแม่ปูหรือสัตว์น้ำที่ยังไม่ถึงวัยเพื่อให้ระบบนิเวศหมุนเวียนอย่างสมดุลที่นับว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก

“ทุกวันนี้ปัญหาสัตว์น้ำลดลง ไม่ว่าจะ ปลาทู หมึกกล้วย กุ้งแช่บ๊วย ที่ลดลงกว่า 80% เนื่องจากการทำเครื่องมือประมงเกินขนาด และไม่ทำตามกฎหมาย กลายเป็นว่าคนในชุมชนต้องไปประกอบอาชีพอื่น แทนที่จะสืบทอดให้รุ่นหลัง”

 

 

ต่อยอดธนาคารปู และบ้านปลา 

ด้วยวิถีชาวประมงพื้นบ้านที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น คนทะเลมองเห็นปัญหาที่ฝังรากลึก ไม่ว่าจะเป็นการจับสัตว์น้ำเกินขนาด เทคโนโลยีที่ไม่รับผิดชอบ หรือการบริโภคที่ขาดการควบคุม พวกเขาจึงเริ่มต้นกิจการเพื่อสังคมที่สร้างทั้งงาน สร้างทั้งการตระหนักรู้ ด้วยการจำหน่ายอาหารทะเลแบบมีคุณค่าและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ พร้อมทั้งต้องสร้างรายได้ให้คนในชุมชน พาคนรุ่นใหม่กลับบ้าน

หนึ่งในแนวคิดที่เกิดขึ้นคือการสร้าง ซั้งกอ-บ้านปลาออร์แกนิค 100% จากทางมะพร้าว ที่เข้ามาช่วยฟื้นฟูจำนวนสัตว์น้ำได้อย่างมหาศาล และสามารถเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำจากเดิม 15 กิโลกรัมต่อวันเป็น 20-50 กิโลกรัมต่อวัน หรือมากกว่า 3 เท่า

อีกทั้ง ธนาคารปูม้า  โดยกำไรจากร้านคนทะเล ถูกนำมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายของธนาคารปู เช่น ค่าไฟเดือน รวมถึงค่าลมออกซิเจนและอุปกรณ์อื่น ๆ แม้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอาจแตะ 300,000-500,000 บาทต่อปี แต่เพื่อให้ธนาคารปูอยู่รอดอย่างยั่งยืน ชุมชนและการท่องเที่ยวจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วม ธนาคารปูมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ปูม้า 

เมื่อชาวบ้านได้ปูแม่ที่มีไข่มา หรือบางคนก็จะซื้อต่อมา แล้วเอามาขังไว้ในธนาคารปูขังไว้ประมาณ 10-15 วัน ปูก็จะสลัดไข่ออกหมด หลังจากนั้นจึงนำปูตัวนั้นไปขายในตลาดต่อไป นั่นคือแม้จะกินแม่ปู ขณะที่คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ว่าปูที่จับและกินควรมีขนาดเกิน 11 เซนติเมตร ซึ่งจะช่วยให้ปูมีโอกาสวางไข่และเพิ่มจำนวนในธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ นี้ตั้งแต่คนจับ คนซื้อ จนถึงคนกิน จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารในไทยอย่างยั่งยืนได้จริง

 

 

สองพี่น้อง ผู้ประกอบการ กิจการคนทะเล

 

 

จับปลาเมื่อวาน ปรุงมาเมื่อกี้ !

นอกจากธนาคารปูบ้านปลา ยังมีเปิดแพ็จเกจท่องเที่ยววิถีชุมชน ที่ให้สัมผัสกับธรรมชาติที่ชาวประมงรักษาและปกป้องไว้ เช่น เวิร์กช็อปสร้างบ้านปลาออแกนิค  ปล่อยปูม้ากลับสู่ธรรมชาติ บริการที่พักเวิร์กชอปทำกับข้าวกับชาวเล ล่องเรือ ชมถ้ำ ตกหมึก ตกปลา (ตามฤดู) พร้อมรับประทานอาหารทะเลสดใหม่ ปลอดภัย ไร้สารฟอร์มาลีน จากฝีมือแม่ๆ ในชุมชน 

นายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion เผยถึงความท้าทายของระบบนิเวศใต้ทะเลไทยที่ถูกทำลายจากการใช้อวนคราก จนพื้นที่ทะเลกลายสภาพคล้ายทะเลทราย การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องสร้าง ซั้งปลา ซึ่งทำหน้าที่คล้ายเขตอนุรักษ์ทางทะเล ให้กลายเป็นต้นแบบการจัดการทรัพยากรเชิงฟื้นฟู โดยเน้นการทำให้ชุมชนในพื้นที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน

สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนแนวคิดจากการตักตวงมาเป็นธุรกิจเชิงฟื้นฟู ซึ่งไม่เพียงลดการทำลาย แต่ต้องฟื้นฟูธรรมชาติให้มากขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงฟื้นฟูในภาคประมงพื้นบ้าน เช่น การส่งเสริม ท่องเที่ยวเชิงฟื้นสร้าง ที่ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้กระบวนการอนุรักษ์ การเลี้ยงปลา และการอนุบาลปู ไม่เพียงสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อระบบนิเวศ แต่ยังเพิ่มรายได้และความมั่นคงให้กับชุมชนท้องถิ่น “การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงคุณค่าของกิจกรรมนี้เป็นกุญแจสำคัญ เพราะทุกการตัดสินใจซื้อคือพลังที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจฐานราก” 

 

 

สร้างอิมแพคอย่างยั่งยืน

นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง คนทะเล ว่าเป็นโมเดลกิจการเพื่อสังคมที่นำวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรธรรมชาติมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะจากองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการ BC4C (Banpu Champions for Change) คนทะเลได้นำความรู้นี้มาพัฒนาเป็นโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน ตั้งแต่การวิเคราะห์ราคาที่สะท้อนต้นทุน การศึกษาโมเดลธุรกิจของคู่แข่ง ไปจนถึงการออกแบบแผนการตลาดที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเฉพาะ การดำเนินโครงการได้ทดลองกิจการจริงในระยะเวลา 3 เดือน พร้อมตัวชี้วัดที่ชัดเจน ทั้งด้านสังคม รายได้ และความโปร่งใส โดยความสำเร็จของทีมนั้นมาจาก 3 ปัจจัยหลัก

  1. การสร้างผลกระทบเชิงสังคมที่จับต้องได้
  2. การเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง
  3. การใช้สื่อนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งเหล่านี้ทำให้ คนทะเล สามารถสร้างอิมแพคในวงกว้าง ครอบคลุมกว่า 200 ชุมชน และส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 2.5 ล้านคนทั่วประเทศ

 

 

เป้าหมายในอนาคต สร้างเครือข่ายประมงเพื่อทะเล

กลุ่มคนทะเล ตั้งเป้าหมายสร้างเครือข่าย 17 ชุมชนรอบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยมุ่งเน้นการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เช่น การเพิ่มจำนวนปูม้าและปลา โดยใช้วิธีสร้างบ้านปลาแบบออร์แกนิกและลดการสร้างขยะ เช่น ไมโครพลาสติก นอกจากนี้ยังวางแผนต่อยอดอาชีพประมงด้วยการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ผ่านเรือนำเที่ยว 130 ลำในพื้นที่ ควบคู่กับวิถีการประมงดั้งเดิม ภายใต้แนวคิด คนละเท ทราเวล 

ซึ่งนิยามของคนรุ่นใหม่ในการพัฒนา มุมมองของคนทะเลไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่หมายถึงการใช้วิธีคิดและการพัฒนากิจการอย่างทันสมัย โดยมุ่งเน้นการทำงานเพื่อสังคมควบคู่กับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ การปรับตัวและความเข้าใจในเครื่องมือใหม่ๆ ที่ช่วยให้ชุมชนเติบโตไปพร้อมกับการรักษาสมดุลของธรรมชาติ