มียู ธาร ธีรภาสิริ ก้าวจากห้องเรียนสู่เวที COP29 ด้วยความมุ่งมั่นที่ไม่ธรรมดา ในการถ่ายทอดมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยเสียงเล็ก ๆ ที่ดังก้องไกลกว่าที่ใครคาดคิด
ในโลกที่เสียงของเยาวชนเริ่มดังก้องบนเวทีระดับโลก การก้าวขึ้นสู่เวที COP29 (การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ) ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ของ “มียู” ธาร ธีรภาสิริ เด็กไทยคนแรกที่ได้ถ่ายทอดมุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นความหวังอันเจิดจ้า ของตัวแทนเยาวชนไทยและเสียงสะท้อนของคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมในทุกลมหายใจ
จากห้องเรียน สู่เวที COP29
มียู ในวัยเพียง 12 ปี บนเวทีระดับโลก COP29 เริ่มต้นเส้นทางนี้ด้วยการเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์กับ 51 Talk ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารและการพูดในที่สาธารณะ พร้อมตอบโจทย์ตารางชีวิตที่ยุ่งของเขา การเดินทางสู่ COP29 เริ่มจากโครงการประกวดสุนทรพจน์หัวข้อ “สิ่งเล็ก ๆ เปลี่ยนโลก” ที่จัดโดย 51 Talk มียูเอาชนะผู้เข้าประกวดกว่า 200 คน และได้รับเลือกเป็นตัวแทนเด็กไทยพูดในเวทีสำคัญนี้ โดยแรงบันดาลใจของเขามาจากการเรียนรู้ว่า COP29 คือพื้นที่ที่ผู้คนทั่วโลกมารวมพลังเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
“ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับงานนี้มาก่อนเลย จนกระทั่งได้รู้จักผ่านการประกวดสุนทรพจน์ แต่เมื่อผมเริ่มค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ผมก็รู้สึกว่ามันยอดเยี่ยมมากที่ผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกันเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในการปกป้องโลกของเรา และจริง ๆ แล้วผมรู้สึกประทับใจอย่างลึกซึ้งกับเสียงเหล่านั้นที่เปรียบเหมือนบทเพลง เพลงแห่งความงดงามและความสง่างาม เพลงที่พูดถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อมของเรา”
ความฝันที่เป็นจริง
แรงบันดาลใจสำคัญของมียูมาจากการเรียนรู้เรื่องราวของ เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดัง มียูเปิดเผยว่า เคยใฝ่ฝันที่จะได้พูดบนเวทีระดับโลก แต่คิดว่าโอกาสนั้นคงมาถึงเมื่ออายุ 20 หรือ 30 ปี ไม่ใช่ในวัยเพียง 12 ปี
“ตอนเด็ก ๆ ผมเคยฝันมาตลอดว่าอยากพูดบนเวทีระดับโลก แต่ผมคิดว่าโอกาสนั้นคงจะมาถึงตอนที่ผมอายุสัก 20 หรือ 30 ปี ผมไม่เคยคาดคิดเลยว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้ ซึ่งมันทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นมาก เหมือนกับลอยอยู่ในความฝัน ผมถึงกับคิดอยู่ในใจเลยว่า นี่ผมฝันไปหรือเปล่า เพราะมันยากจะเชื่อได้ว่านี่คือความจริงที่ผมเองกำลังจะได้พูดบนเวทีระดับโลกจริง ๆ”
การส่งต่อแรงบันดาลใจหลังจาก COP29
หลังกลับมาประเทศไทย มียูได้เข้าร่วมชมรม Eco-Representatives ของโรงเรียน และเล่าถึงประสบการณ์ว่า “ทำงานร่วมกันเพื่อลดของเสีย ลดการใช้น้ำและไฟฟ้าเกินความจำเป็น ผมประทับใจมากที่ได้เห็นเพื่อนๆ รวมตัวกันทุกวันพุธเพื่อระดมความคิดว่าเราจะช่วยโลกของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไรจากจุดเล็กๆ ในโรงเรียน” ซึ่งโครงการเหล่านี้เริ่มต้นในโรงเรียน แต่สามารถขยายออกไปสู่ชุมชนที่ใหญ่ขึ้น เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากแรงบันดาลใจของเด็กๆ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ความหวังต่อโลกของมียู
เมื่อถามถึงมุมมองต่อโลกในปัจจุบัน มียูเปรียบเทียบว่าโลกตอนนี้เหมือนอยู่ในไฟไหม้ แต่ไฟนั้นสามารถดับได้ หากเราร่วมมือกัน เชื่อว่าโลกเราได้รับความเสียหาย แต่ไม่ถึงขั้นที่จะแก้ไขไม่ได้ เราสามารถทำงานร่วมกันเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ทำให้โลกของเรากลับมาน่าอยู่ยิ่งขึ้น
พร้อมนำเสนอแนวคิดสำคัญในการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมของโลก ผ่านแนวคิด “SEEDS” ซึ่งเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่ทุกคนสามารถปลูกและดูแล เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นต้นไม้แห่งการปกป้องโลกใบนี้ โดย SEEDS เป็นตัวอักษรย่อที่สื่อถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนสามารถเริ่มได้ ด้วย
- S: Save
การเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว ด้วยการประหยัดพลังงาน น้ำ และไฟฟ้า รวมถึงลดการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น เพราะการประหยัดคือจุดเริ่มต้นของการปกป้องโลก - E: Earth
ทุกการกระทำในชีวิตประจำวันควรคำนึงถึงผลกระทบต่อโลก เช่น การลด ละ เลิก พฤติกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปฏิบัติตามหลัก 3Rs: Reduce, Reuse, Recycle - E: Encourage
การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง จึงจำเป็นต้องสร้างแรงบันดาลใจให้คนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือคนในชุมชน ให้หันมาร่วมมือกันเพื่ออนุรักษ์โลก - D: Don’t Wait
ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่สามารถรอได้อีกต่อไป เราทุกคนต้องเริ่มลงมือทำทันที ตั้งแต่วันนี้ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะ การลดการใช้น้ำหรือไฟ หรือการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม - S: Sustainability
การเปลี่ยนแปลงโลกต้องมุ่งสู่ความยั่งยืน ด้วยการเลือกใช้พลังงานทดแทน เช่น แผงโซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเดินทางร่วมกันหรือปิดไฟเมื่อไม่ใช้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนเช่นกัน
3 วิธีลดโลกร้อนสไตล์มียู
มียูเสนอ 3 วิธีง่ายๆ ที่ช่วยลดโลกร้อนและสามารถทำได้ทุกคนในชีวิตประจำวัน
“ผมคิดว่าขั้นตอนแรกคือการสร้างความตระหนักรู้ (Advocacy) เพราะเมื่อเราทำงานร่วมกันในจำนวนมาก ๆ เราจะสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ถ้าคนเพียงคนเดียวลงมือทำ ผลกระทบอาจจะไม่ได้ใหญ่โตนัก แต่ถ้าทุกคนช่วยกัน เราจะสร้างคลื่นยักษ์แห่งการเปลี่ยนแปลงได้”
“ขั้นตอนที่สองคือการทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าเราทำเพียงครั้งเดียว มันก็จะเป็นแค่ครั้งเดียว ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลกระทบมากมายต่อโลก แต่ถ้าเราทำทุกวัน ซ้ำแล้วซ้ำอีก เราจะสามารถช่วยโลกได้อย่างต่อเนื่อง”
“และขั้นตอนสุดท้ายคือการประหยัด ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำ หรือไฟฟ้า เราทุกคนสามารถประหยัดบางสิ่งได้ ถ้าสามารถประหยัดได้ แล้วทำไมเราถึงไม่ทำล่ะ? เราสามารถรีไซเคิล ใช้ซ้ำ ลดการใช้ ทดแทนด้วยการปลูกต้นไม้ และปิดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อไม่ได้ใช้งาน”
ต้องร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้
ในอีก 6 ปีข้างหน้า โลกของเราอาจร้อนขึ้นหรือน้อยลง ขึ้นอยู่กับการกระทำของมนุษย์ในวันนี้ แม้ว่าอนาคตจะดูท้าทาย แต่มียูเชื่อว่ายังมีความหวัง หากทุกคนร่วมมือกันและลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ โลกของเราอาจเย็นลง และเราจะมีโอกาสสร้างชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่หากละเลยที่จะร่วมมือกัน โลกอาจจมดิ่งสู่หายนะ อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันได้ด้วยการเริ่มต้นใช้หลัก S E E D S ตั้งแต่วันนี้
“แต่ถ้าเราไม่ช่วยกัน ผมว่ามันน่ากลัวนะครับ เพราะโลกเราอาจเดินไปสู่จุดที่ถูกทำลาย เราทุกคนสามารถหยุดมันได้เลยนะ ตั้งแต่ตอนนี้ แค่เริ่มลงมือทำอะไรเล็ก ๆ อย่างปลูกต้นไม้หรือเปลี่ยนวิถีชีวิต ถ้าเราไม่ร่วมมือกัน ไม่ช่วยกันรักษาโลก อีกแค่ร้อยปี โลกอาจกลายเป็นที่รกร้าง ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำ ขาดแคลนไปหมด แล้วยังต้องเจอทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมทุกที่”
“แต่ผมเชื่อนะครับว่าเราหยุดมันได้ ถ้าทุกคนช่วยกันจริง ๆ และเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ครับ”
ถ้าทะเลเป็นซุป รสชาติจะเป็นยังไง?
อย่างที่รู้กันว่าตอนนี้โลกเราร้อนมาก และส่งผลต่อน้ำอุณภูมิน้ำทะเล ถ้าเปรียบให้ทะเลเป็นซุป ในจิตนาการของมียู คิดว่าตอนนี้รสชาติของมันคงเค็มสุดๆ ถ้าคนเราต้องกินซุปนี้เข้าไป ก็คงจะไม่สบาย กินไม่ได้ และต้องเกิดอาการปั่นป่วนแน่นอน
“ผมรู้สึกว่าในซุปน่าจะเค็มมาก ๆ แต่ในซุปนี้ส่วนผสมคงไม่ได้มีแค่สาหร่ายหรือปะการังแน่ ๆ เพราะมันคงเต็มไปด้วยพลาสติก จำนวนมากเลยครับ ถ้ามีคนลองกินซุปนี้เข้าไป มันคงย่อยไม่ได้ แถมกินไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะปริมาณพลาสติกที่มีอยู่ในนั้นมันเยอะเกินไปจริง ๆ”
และถ้าขยะพูดได้ มันอยากบอกอะไรกับเรา?
มียูคิดว่าถ้าขยะพูดได้ มันคงจะบอกว่า “หยุดทิ้งฉันลงพื้น! หยุดโยนฉันลงในแหล่งน้ำหรือทะเลเถอะ! ได้โปรดเอาฉันไปทิ้งในที่ที่ถูกต้อง เพราะรู้ไหมว่าถ้าคุณทิ้งฉันลงน้ำหรือทะเล สัตว์ทะเลจะเผลอกินฉันเข้าไป แล้วสุดท้ายคุณก็จะกินสัตว์ทะเลที่ปนเปื้อนขยะนั้นเข้าไปอีกที มันอันตรายนะ! มันไม่ดีต่อสุขภาพของคุณเลย ดังนั้น หยุดทิ้งฉันไม่เป็นที่ได้แล้ว!” (หัวเราะ) มียูว่านี่แหละสิ่งที่ขยะคงอยากจะบอกกับพวกเรา!
ถ้ามียูเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่ช่วยโลก มียูอยากมีพลังวิเศษอะไรน่ะเหรอ?
จริงๆ มียูคิดว่า…พลังที่มียูอยากมีก็คือพลังที่มียูเป็นอยู่ตอนนี้นี่แหละ มียูอยากใช้เสียงของตัวเองเป็น “กระบอกเสียง” ที่สามารถส่งความหมายและพลังบวกออกไปให้ผู้คนจำนวนมากรับรู้ หันมาร่วมเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่คือทุกๆ เรื่องที่ช่วยสร้างโลกให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น “ซุปเปอร์ฮีโร่” ในแบบของมียูก็คือการที่เราสามารถใช้เสียงของเรา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในใจของคนอื่น และในโลกใบนี้ได้
โปรเจกต์จากหัวใจดวงเล็ก
นอกจากการเรียนแล้ว มียูยังมีโครงการศิลปะที่ใช้ความสามารถด้านการวาดภาพ ในการสร้างผลิตภัณฑ์ เช่น กระเป๋า เสื้อยืด และของใช้ต่าง ๆ ซึ่งรายได้จากผลงานเหล่านี้จะถูกนำไปช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในหลากหลายด้าน ทั้งการบริจาคให้โรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลมะเร็งระยอง การสนับสนุนเด็กกำพร้าในกรุงเทพฯ ระยอง และพัทยา รวมถึงการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกปะการังเทียมและการปล่อยสัตว์ทะเลที่เกาะสีชัง
โดยคุณแม่ของมียูเป็นกำลังใจสำคัญ คอยสนับสนุนในทุกก้าวเดิน ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ผลักดัน โครงการนี้จึงกลายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างความฝันเล็ก ๆ ของมียูกับการส่งต่อความหวังให้สังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้างอย่างแท้จริง
ทิ้งท้าย โลกที่ยั่งยืนในมุมมองของมียู คือการที่มนุษย์และธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล โดยไม่ใช่เพียงการ “Take Always” หรือการเอาจากโลกมากเกินไปจนธรรมชาติต้องสูญเสีย แต่มนุษย์ควรเรียนรู้ที่จะ “Keep and Take” รักษาและดูแลโลกให้สมดุลไปพร้อมกัน ไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปถึงยุคหิน แต่อยู่ในโลกสมัยใหม่ที่เรายังคงผสานธรรมชาติไว้กับการดำรงชีวิต ต้นไม้ที่เติบโตบนตึก ความเขียวขจีในเมือง และการอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ คือภาพของโลกที่มนุษย์หยุดคิดถึงเพียงตัวเอง แต่หันมามองโลกทั้งใบในฐานะบ้านของทุกชีวิต เพื่อความยั่งยืนที่แท้จริงของเราและสิ่งแวดล้อมในอนาคต
ที่มาภาพ : ThanhprankArts