วิกฤตโครงสร้างประชากร อัตราเด็กเกิดใหม่ลดลงในหลายประเทศ สะท้อนค่านิยมคนยุคใหม่ไม่นิยมแต่งงานสร้างครอบครัว เน้นใช้ชีวิตแบบ YOLO โดยเฉพาะเกาหลีใต้ แนวโน้มเลี้ยงสัตว์แทนลูกเพิ่มมากขึ้น รถเข็นสัตว์ขายดียิ่งกว่ารถเข็นเด็ก
อัตราการเจริญพันธุ์หรือการมีบุตรกำลังตกฮวบในทุกแห่งทั่วโลก หลายประเทศประสบภาวะอัตราการเกิดต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะในจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่มีอัตราการเกิดต่ำติดอันดับโลก
โดย รศ.ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า จากการศึกษาข้อมูลด้านแนวโน้มโครงสร้างประชากร พบว่าประเทศในเอเชียที่ประชากรมีแนวโน้มลดลงมากที่สุดในอีก 30 ปีข้างหน้า อันดับหนึ่งคือจีนที่คาดว่าประชากรจะลดลงกว่า 36.9 ล้านคน ตามด้วยญี่ปุ่นลดลง 20.7 ล้านคน เกาหลีใต้ลดลง 4.4 ล้านคน และไทยลดลง 3.9 ล้านคน ซึ่งบางประเทศโดยเฉพาะไทยในปี 2593 จะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากกว่า
เทรนด์เลี้ยงสัตว์แทนลูกมาแรง
ประเทศเกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในประเทศที่นับว่าอัตราการเกิดของเด็กลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยจำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงแต่จำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ยอดขายรถเข็นสัตว์มากกว่ารถเข็นเด็กเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศเกาหลีใต้
ก่อนหน้านี้ Gmarket แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์เกาหลีใต้ มีการเปิดเผยตัวเลขจากไตรมาสแรกของปี 2566 พบว่า ยอดขายของสินค้าประเภทรถเข็นใน Gmarket นับเป็นรถเข็นเด็ก 43% ซึ่งน้อยกว่ารถเข็นสัตว์เลี้ยงที่มีอัตราการซื้อมากถึง 57% โดยอัตราการซื้อรถเข็นสัตว์เลี้ยงเหล่านี้พุ่งสูงขึ้นจากปี 2564 และ 2565 ที่มีอัตราการซื้อเพียงแค่ 33% และ 36%
อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงสัตว์แทนลูกไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเกาหลีใต้ แต่ยังเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์เป็นลูกเสมือนคนในครอบครัว กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แทนที่การเลี้ยงสัตว์ที่แค่อยากเลี้ยงเพราะรัก หรืออยากมีแค่สัตว์เลี้ยงเท่านั้น
เมื่อค่านิยมของคนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนไป ประชากรในวัยทำงานมีแนวโน้มอยู่เป็นโสดและไม่แต่งงานกันมากขึ้น หรือแต่งงานแล้วไม่มีบุตร เมื่อเป็นผู้สูงอายุจึงมีแนวโน้มที่จะอยู่ตามลำพังคนเดียวหรือสองคนต่อไป
เกาหลีใต้เผชิญอัตราเกิดต่ำที่สุดในโลก
พอร์ทัลข่าว รายงานโดยอ้างข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลี (Statistics Korea) ว่าอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate) หรือจำนวนเฉลี่ยของบุตรต่อผู้หญิงหนึ่งคน อยู่ที่ 0.78 ในปี 2565 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในโลก และคาดการณ์ว่าอัตราดังกล่าวจะลดลงอีก โดยในปีนี้ (2567) อัตราเจริญพันธุ์คาดว่าจะอยู่ที่ 0.72 และจะลดลงต่ำกว่า 0.7 เหลือเพียง 0.68 ในปีหน้า ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
ในขณะเดียวกัน จำนวนครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงกลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากกระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบทของเกาหลีใต้ (Ministry of Agriculture, Food, and Rural Affairs) ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา มีครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากกว่า 6 ล้านครัวเรือน เทียบกับเพียง 3.6 ล้านครัวเรือนในปี 2555
สถานการณ์ในเกาหลีใต้สะท้อนถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่กว้างขึ้น เช่น ค่าครองชีพและค่าที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราการเกิดลดลง
นอกจากนี้ การที่รถเข็นสุนัขได้รับความนิยมมากกว่ารถเข็นเด็กยังเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญในสังคมและวิกฤตประชากรที่ประเทศกำลังเผชิญ
เช่นเดียวกับสถาบันประชากรเพื่ออนาคตคาบสมุทรเกาหลี (Korean Peninsula Population Institute for the Future) ที่ระบุว่า ประชากรวัยทำงานของเกาหลีใต้มีแนวโน้มลดลงเกือบ 10 ล้านคนภายในปี พ.ศ.2587 ท่ามกลางปัญหาอัตราการเกิดต่ำอย่างมาก จำนวนประชากรวัยทำงานอายุระหว่าง 15-64 ปี ซึ่งอยู่ที่ 36.57 ล้านคนในปี 2566 มีแนวโน้มว่าจะลดลงสู่ระดับ 27.17 ล้านคนในปี 2587
นโยบายฟื้นฟูโครงสร้างประชากรเกาหลีใต้
ทั้งนี้การลดลงของอัตราเจริญพันธุ์ในเกาหลีใต้ถือเป็นความท้าทายระดับชาติที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามอัดฉีดงบประมาณมากกว่า 360 ล้านล้านวอน หรือมากกว่า 9 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นการมีบุตรและสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา แต่ก็ยังไม่สามารถพลิกสถานการณ์นี้ได้ การส่งเสริมให้ประชาชนมีลูกมากขึ้น รวมถึงการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและครอบครัว อาจเป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูโครงสร้างประชากรในระยะยาว
ในปี 2567 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ดำเนินนโยบายหลายประการเพื่อส่งเสริมการมีบุตรและแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง นโยบายสำคัญที่ถูกนำมาใช้หรือวางแผนมีดังนี้
1.การจัดตั้งกระทรวงใหม่เพื่อแก้ปัญหาประชากร รัฐบาลของประธานาธิบดียุน ซอกยอล ได้ประกาศแผนจัดตั้งกระทรวงใหม่ที่มุ่งเน้นการจัดทำนโยบายเพิ่มจำนวนประชากร เพื่อรับมือกับวิกฤติอัตราการเกิดที่ลดลงในประเทศ
2.การสนับสนุนจากภาคเอกชน: บริษัทเอกชนหลายแห่งได้เข้าร่วมในการสนับสนุนการมีบุตรของพนักงาน เช่น บริษัทบูยังกรุ๊ป (Booyoung Group) มอบเงินสนับสนุน 100 ล้านวอน (ประมาณ 2.6 ล้านบาท) ต่อพนักงานที่มีบุตรหนึ่งคน เพื่อเป็นแรงจูงใจในการมีลูก
3.การเพิ่มสิทธิการลาคลอดและลาเลี้ยงดูบุตร: รัฐบาลได้ขยายระยะเวลาการลาคลอดและลาเลี้ยงดูบุตร โดยพ่อแม่สามารถลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ถึง 1 ปีครึ่ง เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรและลดภาระของครอบครัว
4.การสนับสนุนการรักษาภาวะมีบุตรยาก: รัฐบาลกรุงโซลได้เพิ่มงบประมาณสนับสนุนการรักษาภาวะมีบุตรยาก เพื่อช่วยให้คู่สมรสที่ประสบปัญหาสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น
5.การสนับสนุนการมีบุตรโดยไม่ต้องแต่งงาน: สังคมเกาหลีใต้เริ่มเปิดรับแนวคิดการมีบุตรโดยไม่ต้องแต่งงานมากขึ้น โดยสัดส่วนของผู้ที่สนับสนุนแนวคิดนี้เพิ่มขึ้นจาก 5.7% ในปี 2557 เป็นเกือบ 15% ในปัจจุบัน
เน้นใช้ชีวิตแบบ YOLO เพราะชีวิตเกิดมาเพียงครั้งเดียว
แม้ว่ารัฐบาลและภาคเอกชนจะพยายามดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการมีบุตร แต่ยังคงเผชิญกับความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความสุขส่วนบุคคลและการใช้ชีวิตแบบ YOLO (You Only Live Once) มากขึ้น
โดย YOLO หมายถึงการใช้ชีวิตให้คุ้มค่าที่สุด เพราะชีวิตเกิดมาเพียงครั้งเดียว พฤติกรรมการใช้ชีวิตของกลุ่มนี้จะเริ้มต้นมาจากการยอมรับความจริงที่ว่าคนมีชีวิตเดียว จึงใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพที่สุดเพื่อทำให้ตัวเองมีความสุขและสนุกที่สุด ส่งผลให้กลุ่มนี้จะมีนิสัยที่กล้าได้กล้าเสีย อยากทำอะไรต้องรีบทำเลยก่อนที่จะเสียโอกาสนั่นไป ไม่กังวลกับปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผ่านเข้ามา มุ่งมั่นทำในสิ่งที่ตัวเองหลงใหล เพราะจะรู้สึกสนุกและมีความสุขที่ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
ที่มาข่าว : ndtvworld
ที่มาความหมายของ YOLO : Learn