ถ้าคิดว่าผู้บริหารธนาคาร ที่นำองค์กรให้เติบโตผ่านการปล่อยสินเชื่อ ทำผลประกอบการดี รายได้สูง มีกำไรส่งเงินเข้าคลัง มีโบนัสจ่ายลูกน้อง จะเป็นองค์กรที่มีความสุข นั้นไม่ใช่บริบทนี้อีกต่อไป นิยามความสุขในโลกยั่งยืน ต้องเริ่มจากสุขแท้ในใจซีอีโอ ผู้นำทัพ
นี่คือคำสารภาพของ ผู้บริหารเจ้าของรางวัลผู้นำองค์กรเติบโต คว้ารางวัลนักบริหาร ซีอีโอดีเด่นมามากกว่า 48 รางวัล เบื้องหลังความสำเร็จที่สังคมและองค์กรธุรกิจหยิบยื่นให้นั้น
“ชีวิตเกือบพังทลาย ได้องค์กรที่ไร้ความสุข อายุ 41 กลับมีร่างกายเทียบเท่ากับคนอายุ 55 ปี และจุดที่เข้าสู่วิกฤติที่สุด คือการฟุบกลางที่ประชุม จนต้องถูกหามส่งห้องไอซียู”
เส้นทางไล่ล่าสะสมความสำเร็จ
ตัวท็อปที่ไม่รู้จักความสุข
เรากำลังพูดถึง ‘ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร’ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ที่ยอมตีแผ่ชีวิตของนักบริหารซีอีโอมือทอง ผู้เติบโตมากับยุคเศรษฐกิจทุนนิยม ที่โลกบอกเขาว่า “ต้องเป็นผู้ชนะ” จึงจะมีที่ยืน เขาจึงมุ่งมั่นเรียนหนังสือให้ได้ดี มีตำแหน่งมีหน้าที่การงานที่มั่งคง ขึ้นไปยืนอยู่ระดับท็อปขององค์กร ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังหนุ่ม
ย้อนกลับไปฟังเส้นทางชีวิตของซีอีโอ EXIM Bank ช่างเป็นคนที่เก่ง น่าชื่นมชม จนต้องปรบมือ เรียนจบปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมจุฬา ไปเรียนต่อต่างประเทศ จบปริญญาโท มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร และปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย สแตรธไคลด์ สหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
ได้เข้าทำงานที่เชฟรอน บริษัทโกลบอล ขึ้นเป็นระดับผู้บริหาร ระดับ Top Manger ตั้งแต่อายุเพียง 31 และก้าวเข้ามาเป็นผู้บริหาร กระทรวงการคลัง ตั้งแต่ อายุ 41 ผู้ใหญ่ชื่นชมผลงาน จนถูกส่งให้เป็นผู้นำธนาคารต่างๆ ทำหน้าที่ฟื้นฟูกิจการให้กับหลายสถาบันการเงินที่มีปัญหาผลประกอบการเป็นตัวแดง กู้วิกฤติจากขาดทุนหนักให้กลับมามีกำไร
“เราเติบโตมาในวันที่โลกบอกว่า คุณต้องเป็นผู้ชนะ จึงขึ้นเป็นผู้บริหารองค์กรตั้งแต่วัย 30 ต้นๆ และ ก้าวขึ้นเป็น ผู้บริหารการคลังตั้งแต่อายุ 41 แต่ไม่เคยมีใครถามผมว่ามีความสุขหรือเปล่า เป็นชีวิตที่ไม่มีความสุขเลย”
พุ่งชนเป้าหมาย แผ่ซ่านพลังลบ
เพราะความเป็นคนเก่งมาตลอด และเป็นที่รักของผู้บังคับบัญชา จึงถูกส่งไปนั่งในองค์กรที่มีแต่โจทย์ยาก ซับซ้อนและท้าทาย ก้าวข้ามจากยุคที่เติบโตมาโดยมองผลการดำเนินงานเป็นตัวเลขเป็นหลัก จึงพร้อมพุ่งชนเป้าหมายให้บรรลุ โดยไม่สนถึงผลลัพธ์ที่ตามมา จะกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องอย่างไร จนกระทั่งมารู้ตัวอีกครั้ง ว่านี่ไม่ใช่หนทางสร้างสุขจากตัวเรา และสร้างสุขให้องค์กร ไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืนในระยะยาว ตามหลักการ ESG
“ด้วยความที่เราไม่มีความสุข เราได้แผ่ซ่าน พลังลบ (Negative) ให้กับคนรอบข้าง เป็นToxic Leadership (ผู้นำสะสมพิษ) เพราะนายจับผมไปอยู่ในองค์กรที่กำลังล่มสลาย ตัวเลขติดสีแดง ขาดทุนย่อยยับ ต้องขายหนี้ ปรับโครงสร้าง ลองคิดดูว่าจะเติบโตมาจากนรกแบบนี้ จะมี Charactor เป็นคนแบบไหน”
แน่นอนว่า ผู้นำที่คอยรีดผลงานเพื่อขับเคลื่อนคนในองค์กรให้ตอบโจท์บรรลุตามเป้าหมายที่ถูกขีดไว้นั้นจะมีแรงกดดันและส่งผ่านแรงกดดันไปสู่ลูกทีมมากแค่ไหน
“ผมพูดกับลูกน้องว่า ผมไม่ได้มีหน้าที่ให้คุณรัก แต่ผมสามารถพลิกตัวแดงเป็นตัวเขียวให้ได้ภายในหนึ่งปี แต่จริงๆ กลับไม่ใช่เป้าหมายที่ควรจะเป็น ไม่มีคำว่า ESG อยู่ตรงนั้นเลย จึงไม่นำไปสู่ ความยั่งยืน (Sustain) องค์กรที่ดีที่สุดคือองค์กรที่ต้องลืมว่าซีอีโอชื่ออะไร”
นาทีฉุกเฉิน แสงไฟห้องไอซียูเปลี่ยนชีวิต
ปฏิวัติมายด์เซ็ท เปลี่ยนร่างใหม่
ดร.รักษ์เล่าย้อนไปถึงจุดเปลี่ยนที่ไม่อยากเป็นแล้วคนเก่งที่ไม่มีคนรัก ยิ่งบริหารสุขภาพยิ่งพัง บั่นทอนความสัมพันธ์ในครอบครัว เมื่อต้องเข้าไปสัมผัส ‘นาทีชีวิต’ นอนซมให้หมอผ่าตัดอยู่ในห้องไอซียู เพราะฟุบในที่ประชุม จากการหักโหมงานหนัก จนไม่ได้ทานข้าวเที่ยงเป็นเวลานานติดต่อกันหลายวัน ทำให้ร่างกายแสดงอาการประท้วง เส้นเลือดใหญ่ในกระเพาะอาหารแตกเฉียบพลัน
“วันที่เราประสบความสำเร็จ ในการประชุมบอร์ด แต่ผมกลับหัวปักอาเจียนเป็นเลือด จนต้องถูกหามเข้าโรงพยาบาลด่วน เดชะบุญ โรงพยาบาลอยู่ใกล้แบงก์ จึงผ่าตัดภายในดูดเลือดจากกระเพาะอาหารได้ทัน เจ็บปวดขนาดไหนเมื่อต้องผ่าตัด ทั้งที่ยังมีสติ ผลจากไม่ทานข้าวติดต่อกันหลายวัน เพราะมีความเชื่อในใจว่า ถ้าเราเป็นแชร์แมน (ประธาน)ในที่ประชุม ต้องไม่ลุกไปไหน ต้องทำตัวเป็นพระพุทธรูป นั่งยาว 6 ชม. ทุกๆ วันเพื่อทำให้ลูกน้องรู้สึกเชื่อมั่น ‘เขียนเสือให้วัวกลัว’ แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ร่างกายเรา ฟื้นมาวันนั้นเห็นหน้าพ่อแม่ ลูกชาย และภรรยา จึงเป็นนาฬิกาปลุกก้าวออกจากความกลัวไม่ประสบความสำเร็จ และมายาคติ ที่คิดว่า ท็อปซีอีโอ ได้รับรางวัลมากมาย แต่สุดท้ายเบื้องหลัง องค์กรไร้ความสุข ได้ร่างกายคนอายุ 55 ทั้งที่อายุจริงแค่ 41ปี”
ปิดฉากนักดื่ม ฟื้นฟูชีวิต
เป็นคุณพ่อธรรดาขับรถส่งลูกตอนเช้า
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในห้องไอซียู เป็นระฆังเตือนเขาให้รู้ว่าการรีดศักยภาพ มาใช้อย่างหนักหน่วงเพื่อประสบความสำเร็จ ทุ่มเท เวลา สรรพกำลัง สุขภาพ และยอมสูญเสียความสัมพันธ์ในชีวิตทั้งกับเพื่อนร่วมงาน และครอบครัว จนเกิดความเครียด จุดสุดท้ายไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว
“เบื้องหลังรางวัลและความสำเร็จจาก 48 องค์กร ชีวิตที่เกือบพังทลาย ได้องค์กรที่ไร้ซึ่งความสุข ได้ร่างกายเทียบเท่ากับคนอายุ 55 ปี ทั้งที่อายุจริง 41 ปี ผมดื่มวิสกี้ ซิลเกิลมอลต์ ครึ่งขวดก่อนนอน ดื่มคนเดียว ไม่มีเพื่อน สูบบุหรี่วันละสองซองครึ่ง นี่คือ ชีวิตซีอีโอที่มีรางวัลมากมาย อยู่ข้างหลัง แต่เป็นชีวิตที่ไร้ความสุข ครอบครัวแทบพังทลาย ลูกชาย ไม่เคยเห็นหน้าพ่อเลย”
ออกจากไอซียูจึงทำให้ซีอีโออย่างดร.รักษ์ ปฏิวัติตัวเองเป็นคนใหม่ เริ่มต้นเปลี่ยนตัวเอง ตื่นแต่เช้า หันมาออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ได้อยู่กับตัวเอง เป็นเวลาในการได้ทบทวนตัวเอง ทำทุกวันจนเป็นวินัย และสร้างนิสัย วิ่งได้อย่างน้อย 7 กิโลเมตร หรือ 40 นาที ในทุกๆ เช้า โดยไม่เหนื่อย จากนั้นก็มีเวลาขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียนด้วยตัวเอง ทุกวัน จึงได้ความสุขคืนกลับมา พร้อมเผื่อแผ่ให้กับคนรอบข้าง ขับเคลื่อนชีวิตด้วยความสุข จากตัวเอง
“การได้อยู่กับตัวเองในช่วงเช้าไม่ว่าจะเป็นสวดมนต์ หรือออกกำลังกายอย่างน้อย 15 นาที เป็นช่วงที่จะได้ทบทวนตัวเอง รับพลังงานดีๆ ได้ย่อยงาน ค้นพบเคล็ดลับวิธีการดีๆ คิดวางกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหายากๆ เพราะการแก้ไขปัญหาคือการหลุดออกมาจากจุดที่เป็นปัญหา ไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ปัญหา ดึงตัวเองออกมาภายนอก จึงมองแนวทางแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ปรับไมด์เซ็ทเราต้องไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ หรือผู้ร่วมกระทำปัญหานั้น”
แรงบันดาลใจ 5 Blue Zone คนอายุยืน
ออกแบบนิเวศ โซนแผ่ความสุขใน EXIM Bank
ดร.รักษ์ เผยวิธีการบริหารงาน ด้วยความสุข ที่มาจากพื้นที่ของคนที่มีอายุยืนยาว เพราะมาจากสุขภาพจิตที่ดี ที่คนทั่วโลกเรียกว่า แถบ Blue Zone มี 5 พื้นที่ในโลก ประกอบด้วย โลมาลินดา สหรัฐ, นิโคยา เพนนินซูลา คอสตาริกา, ซาดิเนีย อิตาลี, อิคาเรีย กรีซ และ โอกินาวา ญี่ปุ่น
สิ่งที่เหมือนกันของ Blue Zone ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตดี ทำให้คนมีอายุยืนยาวที่สุดในโลก ประกอบด้วย สร้างพื้นที่เติมเต็มจิตวิญญาณ ในการตั้งเป้าหมายอยู่เสมอ ในทุกๆ วันว่าจะทำอะไร เพื่ออะไร และรู้จักปล่อยวางไม่ปล่อยให้ความเครียดมาครอบงำ มองโลกในแง่บวก หาความสุขจากงานที่ทำ และความสุขหลังเลิกงาน และให้ความสำคัญกับคนรอบตัว หมั่นใช้เวลาพูดคุยกับครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน รับฟังอย่างตั้งใจ สนับสนุนและให้กำลังใจกัน
ส่วนวิธีการเติมเต็มพลังให้กับร่างกาย ควรขยับร่างกายเป็นกิจวัตรประจำวัน จากการหากิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ทำ และบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม กินช้าๆ กินให้อิ่มเพียง 80% และยอมอดบ้าง เพื่อปรับสมดุล และเน้นอาหารดีมีประโยชน์ ทานผักผลไม้ ธัญพืช และน้ำสะอาด เป็นหลัก
องค์กรสุขภาพดี พนักงานมีแรงใจ ไฟไม่เคยหมด
สำหรับแนวทางการบริหารงานในEXIM Bank ดร.รักษ์ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ต้องไปเบ่งตัวเลขเร่งอัตราการเติบโตแบบสวิงไปมาขึ้นสูงหนักแบบความหวือหวา ไม่เป็นผลดี เพราะอีกปีถัดมาจะลงหนักอย่างปีก่อนๆ แต่ปรับเป้าหมายไม่ต้องเติบโตสูง แต่ให้เติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 7% ทุกปี ตั้งแต่ปี 2564-2566 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสม่ำเสมอและมีคุณภาพ จากที่ผ่านมาก็สามารถขับเคลื่อนให้สินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 5-7 หมื่นล้านบาท เป็น 2 แสนล้านบาท ก็ถือว่าเติบโตขึ้นสูง จากที่เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ EXIM Bank
พร้อมกับปรับโครงสร้างองค์กร ให้คนในองค์กรได้มีความสุขในตำแหน่งที่ทำงานอยู่ และมีโอกาสก้าวหน้า โดยเฉพาะพนักงานที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป จะต้องมีโอกาสเติบโตไปอยู่ในระดับผู้บริหาร จะทำให้มีความภาคภูมิใจไม่เกิดการทำงานแบบเฉื่อยๆไปวันๆ จนเกิดการหมดไฟ (Burn Out) มีการหมุนเวียนงาน มีการขยายขอบเขตงานที่รับผิดชอบให้กว้างขึ้น พัฒนาบทบาทเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
“ทำให้องค์กรมีสุขภาพดี ไม่เติบโตหวือหวา บางปีสวิงเติบโตสูง บางปีติดลบตัวแดง ไม่เอาอีกแล้ว เติบโตตามค่าเฉลี่ย มีความสม่ำเสมอ มั่นคง และมีการจัดวางโครงสร้างให้พนักงานระดับ 40 ปีขึ้นไปมีโอกาสก้าวหน้าไประดับผู้บริหาร จำระบบให้คนในที่ทำงานให้อยู่ถูกที่ หากต้องการเติบโตก็ต้องแลกเปลี่ยนบางอย่าง หรือหากอยู่กับที่จะต้องมีความสุข เพื่อเกษียณได้อย่างมั่นคง”
2 โซน EXIM Bank เปลี่ยนสนามรบ เป็นบ้านแสนสุข
องค์กรจะมีความสุขได้ จะต้องสร้างบรรยากาศในองค์กรจาก ‘สนามรบ’ ให้เป็น ‘บ้านแสนสุข’ แบ่ง โครงสร้างการทำงานเป็น 2 โซน คือ Firm Zone พื้นที่ปลอดภัยและมั่นคง ประกอบด้วย ธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง, มีเส้นทางการเติบโตให้กับพนักงานทุกตำแหน่ง ตั้งแต่ลูกจ้าง ไปจนถึงผู้บริหาร และดูแลพนักงานด้วยความเท่าเทียม เสมอภาค
Flexi Zone พื้นที่สบายใจในการทำงาน สร้างบรรยากาศอบอุ่น สบายใจ ทำงานอย่างมีความสุข จัดสรรเวลาทำงานให้ลงตัว กับชีวิตส่วนตัว โดยที่ยังรักษาประสิทธิภาพในการทำงาน, เลือกใช้สวัสดิการให้สอดคล้องกับความต้องการ และปลดล็อกจากยูนิฟอร์ม ยืดหยุ่นในการแต่งตัว เพียงแต่สุภาพในแบบตัวเอง
“เริ่มเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมในองค์กร เดิมที่เปรียบเหมือนสนามรบ ให้เป็นบ้านแสนสุข จึงปฏิวัติการทำงานไม่เป็นรูปแบบออฟฟิสเดิมๆ ยกเลิกการตอกบัตร เข้า 9โมงเช้า ออก 5 โมงเย็น เพราะบางคนมีภาระต้องดูแลพ่อแม่ป่วยติดเตียง รับส่งลูก แต่เอางานเป็นตัวตั้ง และเชื่อมั่นในความเท่าเทียม ให้โอกาสกับทุกเพศ LGBTQ แต่งตัวได้ตามสบาย เสื้อยืดกางเกงยีนส์ได้หากไม่ใช่วันที่ต้องรับผู้บริหารจากระทรวงการคลัง และยังให้โอกาสได้มีอาชีพที่สอง จึงมีการอบรมอาชีพพิเศษ เช่น วาดรูป ยูทูปเบอร์ หารายได้เสริม”
นอกจากนี้จะต้องคืนสู่สังคม (pay it forward) เติบโตคู่กับสังคม ให้พื้นที่กับ SMEs เข้ามาวางขายสินค้าได้ และยังมีผู้ต้องขัง เปิดโอกาสให้มีรายได้ก่อนหลุดพ้นโทษ รวมถึงการเข้าไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นห่างไกล อย่างเช่น การติดตั้งแผงโซลาร์ ฝายทดน้ำ ในพื้นที่ภาคเหนือ และรณรงค์ให้ความรู้ไม่เผาพืชเกษตร ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยในการปลดภาระหนี้ บริหารหนี้ครัวเรือน
ทำจิตใจให้เป็นภาชนะ เก็บสะสมแต้มความสุข
ดร.รักษ์ กล่าวทิ้งท้าย เป็นบทเรียนของการดำเนินชีวิต ใจคนเราเปรียบเหมือน ‘ภาชนะ’ เมื่อใส่อะไรก็เก็บสิ่งนั้นไว้ จึงต้องใส่ความสุขไว้ให้มาก จึงเหลือพื้นที่กลัดกลุ้มน้อยลง, ใส่ความเรียบง่าย เพื่อทิ้งความซับซ้อน ใส่ความพอเพียง เพื่อเรียนรู้ที่จะทิ้งความต้องการเกินออกไป ใส่ความเข้าใจ ลดความขัดแย้ง และให้อภัย ลดความแค้นเคือง
“สิ่งที่เราควรดูแลคือ จิตใจของเรา เหมือนภาชนะ ใส่ความทุกข์ไปเยอะมีความสุขน้อยลง จนไม่มีเวลาชื่นชม และทำความเข้าใจกับปัญหา หลายครั้งเราฟังกันน้อยเกินไป ไม่ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ พยายามชี้แจง จากความแตกต่างในองค์กร ช่องว่างระหว่างวัย ควรเปิดใจรับฟังกัน องค์กรจะแก้ไขปัญหาได้ จะต้องทำสิ่งที่ยากให้ง่าย”