ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋ เคล็ดลับฟื้นฟูและพัฒนาสังคมเมืองเก่า สู่ “สุขศาลา” ศูนย์สุขตรวจสุขภาพปอด

ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋ เคล็ดลับฟื้นฟูและพัฒนาสังคมเมืองเก่า สู่ “สุขศาลา” ศูนย์สุขตรวจสุขภาพปอด

โครงการ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” มุ่งพัฒนาย่านเมืองเก่าให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ และยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน เปิดตัว “สุขศาลา” ศูนย์สุขภาพชุมชนถนนรถแก้ว รณรงค์ตรวจสุขภาพปอดเพื่อรับมือปัญหาฝุ่น PM 2.5 หนึ่งในมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

 

 

‘จังหวัดลำพูน’ เมืองเล็กที่กำลังเผชิญปัญหาผู้สูงอายุและตึกร้างกว่า 100 แห่งทั่วเมือง ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ PM2.5 ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพปอดและทางเดินหายใจของชาวลำพูน เพื่อรับมือกับปัญหานี้ เทศบาลเมืองลำพูนจึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนและชุมชน ดัดแปลงอาคารร้างบนถนนรถแก้วให้กลายเป็นสุขศาลา ศูนย์สุขภาพชุมชนที่มุ่งเน้นการตรวจสุขภาพปอดและการคัดกรองโรคระบบทางเดินหายใจ ภายใต้โครงการ ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋ (Lamphun Healing Town)

สุขศาลา จึงเป็นศูนย์รวมของบริการด้านสุขภาพที่เข้าถึงง่ายและมีประสิทธิภาพ โดยมีทีมบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครชุมชน (อสม.) คอยให้คำปรึกษาในการดูแลสุขภาพปอดและการป้องกันผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 อีกทั้งยังเป็นต้นแบบการใช้ตึกร้างให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีและลดผลกระทบทางสุขภาพให้กับชาวลำพูนในระยะยาว 

 

 

 

 

-ลำพูนเสี่ยงสูง มะเร็งปอดพุ่ง เหตุฝุ่น PM2.5 สะสม

จังหวัดลำพูนที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ จังหวัดลำพูนมีอัตราการเกิดมะเร็งปอดสูงที่สุดในภาคเหนือ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่และการสะสมของฝุ่นละออง PM2.5 ในอากาศ โดยสถิติล่าสุดจากโรงพยาบาลมะเร็งและสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี 2566 แสดงให้เห็นว่าภาคเหนือยังคงมีอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งปอดที่สูงมาก โดยลำพูนเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีอัตราสูงสุด รองจากแม่ฮ่องสอนและลำปาง นอกจากนี้ มลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ยังทำให้มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อสุขภาพปอดในระยะยาว

รองศาสตราจารย์เฉลิม ลิ่วสีสกุล จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่าปริมาณ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นในภาคเหนือในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เผชิญกับความเสี่ยงสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีอัตราการเกิดมะเร็งปอดสูงขึ้น อาจารย์เฉลิมกล่าวว่า “การสัมผัสกับ PM2.5 เป็นเวลานานส่งผลกระทบต่อสุขภาพปอดและเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็ง”

 

 

-ลำพูนมุ่งสู่เมืองสุขภาพดี ต้นแบบสุขภาวะและความสุขของชุมชน

รองศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ อินทรชูโต ผู้ร่วมก่อตั้งลำพูน ซิตี้แลป เล่าถึงที่มาของโครงการ  “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” หรือ Lamphun Healing Town เริ่มต้นขึ้นเมื่อสองปีที่แล้ว เพื่อเปลี่ยนให้ลำพูนเป็นต้นแบบเมืองที่เน้นสุขภาวะและความสุขของชุมชน จากลำพูนมีจุดแข็งหลายประการ ได้แก่

  1. เมืองมีขนาดเล็ก เดินทางสะดวกและครอบคลุมด้วยบริการสุขภาพที่เพียงพอ
  2. การผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนในการดูแลชุมชนอย่างครบวงจร
  3. ตำแหน่งที่ตั้งใกล้เชียงใหม่ ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
  4. วัฒนธรรมล้านนาที่เป็นเอกลักษณ์และประชาชนที่เป็นมิตร

โดยมุ่งสร้างพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเดินได้สะดวก และมีสุขภาพดี รวมถึงมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อลดผลกระทบปัญหาที่เกิดขึ้น คือ 

  1. สุขภาพ จากฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาหนักในพื้นที่ และมีอัตราการเป็นมะเร็งปอด และฆ่าตัวตายสูง อีกทั้งมีอัตราผู้สูงอายุประมาณ 32% 
  2. ปัญหาเรื่องเศษฐกิจ เมืองหด คนหาย เพราะออกไปทำงานต่างจังหวัด
  3. ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะโลกร้อนกว่าแต่ก่อน และมีอาคารถูกทิ้งร้างเยอะ ทำให้สภาพแวดล้อมในบางพื้นที่เปลี่ยว

 

 

 

 

-ตอบโจทย์ปัญหาทั้ง 3 ด้าน

สุขศาลา ชาวหละปูนฮักปอด บนถนนรถแก้วได้กลายมาเป็นศูนย์กลางสำคัญของชุมชน โดยมีบทบาทครบทั้ง 3 ด้านในการพัฒนาพื้นที่และสร้างสุขภาวะให้กับชาวลำพูน เริ่มจากการคัดกรองและตรวจสุขภาพปอดเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยศูนย์นี้มีการตรวจและประเมินสุขภาพให้แก่ชาวบ้านโดยเฉพาะผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ชาวบ้านกว่า 10 ครัวเรือนยังร่วมกันปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับถนนรถแก้ว เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สดชื่นและเป็นที่ร่มรื่นของชุมชน และเปลี่ยนอาคารดับเพลิงในย่านเมืองเก่าที่ถูกทิ้งร้าง ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ครั้ง

อีกทั้งยังปรับปรุงพื้นที่ให้กลายเป็นตลาดนัดที่จัดขึ้นทุกวันเสาร์บริเวณถนนรถแก้ว ซึ่งจะเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้มีรายได้เสริมจากการขายสินค้าและอาหารพื้นบ้าน ทำให้ถนนเส้นนี้กลายเป็นสถานที่ที่ทั้งน่าอยู่และสร้างความคึกคักให้กับชุมชน

นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน กล่าวว่า การพัฒนา ‘สุขศาลา’ นี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุในพื้นที่ ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง ทีมแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขจะคอยให้คำแนะนำในการตรวจสุขภาพปอดและการป้องกันโรคจากฝุ่นพิษ เชิญชวนชาวลำพูนมาร่วมดูแลสุขภาพที่ ‘สุขศาลา’ เพื่อพร้อมรับมือกับปัญหาฝุ่น PM2.5 และป้องกันโรคปอดในอนาคต

 

 

 

 

– เปิดให้บริการตรวจปอดฟรี ทุกวันเสาร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน

รศ. นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) เน้นความสำคัญของการตรวจสมรรถภาพปอดด้วยเครื่อง Peak Flow Meter โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจเรื้อรังที่มักไม่มีอาการในระยะแรก การตรวจนี้ช่วยพบโรคหืดหรือภาวะปอดอุดกั้นตั้งแต่เนิ่น ๆ ป้องกันและลดความรุนแรงของโรค โดยหวังให้ประชาชนตรวจสุขภาพปอดปีละ 1 ครั้ง 

“โรคเหล่านี้มักไม่แสดงอาการ กว่าจะรู้ปอดก็เสียหายไปถึง 50% วิธีตรวจง่าย ๆ ด้วยเครื่อง  Peak Flow Meter เพียงสูดลมให้เต็มปอดและเป่า 3 ครั้งเพื่อวัดค่า ซึ่งต้องอ้างอิงกับเพศ อายุ และส่วนสูง”

ทั้งนี้ ศูนย์สุขภาพชุมชน “สุขศาลา” ถนนรถแก้ว เปิดให้บริการตรวจปอดฟรี ทุกวันเสาร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน เวลา 8.00-12.00 น. ประชาชนที่สนใจสามารถเข้ารับบริการได้ตั้งแต่วันนี้

 

 

 

 

-ผนึกกำลังทุกภาคส่วน ร่วมมือร่วมใจ

นางมาเรีย คริสติช กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) เปิดเผยว่า ในฐานะผู้นำด้านชีวเภสัช (Biopharma) มีเป้าหมายในการยกระดับสุขภาพ คุณภาพชีวิตของผู้คน และฟื้นฟูธรรมชาติ โดยเน้นหลัก ESG องค์รวม ในการดูแลสุขภาพของผู้คนและดูแลโลกให้น่าอยู่ “Healthier People, Healthier Planet” โดยเล็งเห็นการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว 

“ความยั่งยืนไม่ได้เริ่มจากการบริจาคเงิน แต่เริ่มจากการดึงผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานร่วมกันในบทบาทที่แตกต่าง เช่น การให้องค์ความรู้ สนับสนุนข้อมูล ความร่วมมือจึงต้องมีทุกภาคส่วน และต้องทำให้ประชาชนได้รับสิ่งที่พวกเขาต้องการจริง ๆ”

โดยมีการประเมินผลในระยะ 3 ปี ปีแรกเน้นการหาพาร์ทเนอร์ที่เข้มแข็งในชุมชนและนักวิจัย 

ปีที่สองเน้นการเปลี่ยนแปลงในด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจ ที่พบว่าปีนี้ชุมชนเริ่มขายของได้และคนในชุมชนเริ่มปลูกต้นไม้บริเวณโดยล้อมด้วยตนเอง

ส่วนปีที่สามจะต่อยอดเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานตามลูกหลานไปยังเมืองใหญ่

 

แหล่งข้อมูล : https://www.globe.co.th/news/thailand/northern-thailand-faces-rising-lung-cancer-due-to-air-pollution/