ครรชิต รองไชย อาจารย์หนุ่มแห่งอีสาน ผู้มีความหวังอยากลบภาพเหลื่อมล้ำคนไทยด้วย AI

ครรชิต รองไชย อาจารย์หนุ่มแห่งอีสาน ผู้มีความหวังอยากลบภาพเหลื่อมล้ำคนไทยด้วย AI

ครรชิต รองไชย จากเด็กอีสาน ได้ทุนเรียนแคมบริดจ์ เปิดโลกกว้าง สั่งสมประสบการณ์ สู่การเป็นอาจารย์วิศวะ มทร.อีสาน (วิทยาเขตขอนแก่น) และก่อตั้ง AI and Sustainability Laboratory แหล่งความรู้ บริการสังคม เพราะเชื่อว่า AI จะเข้าช่วยยกระดับไทยแก้ปัญหา SDGs ได้เร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมความหวังอยากลบภาพความเหลื่อมล้ำในอีสาน พาพ่อแม่พี่น้องยกระดับเกษตรกรรมด้วยเทคโนโลยี AI 

 

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกร่วมมือกันแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญ ทั้งด้านความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ รวม ๆ แล้ว 17 เป้าหมาย ภายในปี 2030 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 6 ปีเท่านั้น ความคืบหน้ากลับเป็นไปอย่างเชื่องช้ากว่าที่คาดการณ์ และคาดว่าโลกอาจไม่สามารถทำได้สำเร็จตามกรอบเวลากำหนด จึงเป็นเหตุผลที่ “ครรชิต รองไชย” อาจารย์หนุ่มแห่งมหาวิทยาลัยในภาคอีสาน เชื่อว่าการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาปรับใช้จะทำให้แต่ละประเทศสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

จากความคิดดังกล่าว ทำให้ ครรชิต ได้ก่อตั้ง AI and Sustainability Laboratory ขึ้นมาเพื่อเป็นห้องปฏิบัติการ หรือที่เรียกกันว่าห้องแลป ที่ใช้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า และให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี AI กับความยั่งยืน และให้บริการสังคมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนด้วยเทคโนโลยัสมัยใหม่ โดยที่ห้องแลปนี้ตั้งอยู่ภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) วิทยาเขตขอนแก่น ซึ่งเป็นสถาบันที่เขาเป็นอาจารย์สอนหนังสือนั่นเอง

 

 

-เด็กหนุ่มอีสาน ได้ทุนเรียนที่อังกฤษ มุ่งหน้าไฝ่หาความรู้ 

สำหรับครรชิต เป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาตร์ อยู่ที่ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เขาเป็นเด็กหนุ่มที่เกิดและเติบโตในจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีโอกาสได้รับทุนไปศึกษาร่ำเรียนที่ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) สหราชอาณาจักร 

ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทำให้เขาได้เปิดหูเปิดตา และได้ความรู้ใหม่ ๆ ที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน เช่นการเรียนรู้เกี่ยวกับโลก และสิ่งแวดล้อม ไม่เท่านั้นยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ AI ต่าง ๆ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เขาเรียนที่นั่น ได้ซึมซับความรู้มากมาย พร้อมทั้งได้เข้าร่วมโปรแกรม Cambridge Zero ซึ่งเป็นโครงการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในโครงการก็จะเป็นการฝึกพัฒนา แก้ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาพอากาศ ชีวิต สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เห็นว่าในต่างประเทศมีการตื่นตัวต่อเรื่องนี้มาก แต่เข้มข้นขึ้นช่วงโควิด-19 

“หลังจากที่ผมเรียนจบ ก็มีโอกาสได้ทำงานต่ออีก 2 ปี ทำเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ พอทำไปสักพัก ผมก็มีความรู้สึกว่าอยากกลับมาประเทศไทย มาพัฒนาบ้านเกิดตัวเองดีกว่า โดยเฉพาะบ้านเกิดภาคอีสาน จึงตัดสินใจกลับมาเป็นอาจาย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น”

 

 

-ตั้งห้องแลป AI เพราะอยากให้พี่น้องชาวอีสานเข้าถึงเทคโนโลยี 

ครรชิต เล่าให้ฟังอีกว่า พอได้เป็นอาจารย์ที่นี่ ก็ได้พบกับอาจารย์ท่านอื่น ๆ ได้พบเจอผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากมาย ก็เลยเกิดแนวคิดตั้งห้องแลป AI Sustainable ขึ้นมา เพราะเห็นว่าคนที่ทำงานด้าน AI ในไทยน้อยมาก แล้วยิ่งเป็น AI ด้านความยั่งยืนยิ่งน้อยกว่า

 

-AI มีความสำคัญกับความยั่งยืนยังไง

เมื่อถามว่า AI มีความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนอย่างไร? ครรชิต บอกว่า AI คือเทคโนโลยีตัวหนึ่ง ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนทำงานได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมอยากเอา AI มาช่วยแก้ปัญหา SDGs เพราะเราเหลือเวลาอีกไม่นานที่จะต้องบรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย การเท่าเทียม และการเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ 

ภาพที่ผมเห็นคือในภาคอีสาน พ่อแม่พี่น้องที่เป็นเกษตรกร ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเลย เขาไม่ได้ใช้จอโทรศัพท์มือถือบ่อยเหมือนเรา ผมจึงอยากทำให้พวกเขาได้เข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ ดังนั้นการก่อตั้งห้องแลป AI Sustainable ขึ้นมา บทบาทหลักคือเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษามหาวิทยาลัย เป็นสถานที่ให้คนได้มาทำงานร่วมกัน มาใช้ช่วยคิดค้นนวัตกรรมเชื่อมโยงกับความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ เช่น นวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพ ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีบทบาทช่วยสังคมด้วย อย่างที่ผ่านมา ได้ร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัด ร่วมกันพัฒนา AI เพื่อนำไปประยุกต์ใช้อุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนั้นยังให้บริการทางสัมคมที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าร่วมด้วย เพื่อให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ยกตัวอย่างโครงการที่ทำ เช่น ร่วมกับเทศบาลตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เอา AI ไปใช้ทำเรื่องพยากรณ์อากาศ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยและนวัตกรรม 

 

 

“ถือเป็นเทศบาลแห่งแรกของไทยที่มีการใช้ AI ทำระบบแจ้งเตือนฝนฟ้าอากาศ ช่วยเกษตรกร เข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศได้มากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรที่ไม่เชี่ยวชาญการใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งก็พยายามพัฒนาให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น ๆ ซึ่งต้องยอมรับว่า โดยปกติแล้วการพยากรณ์อากาศไม่ตรงอยู่แล้ว เพราะใช้ความน่าจะเป็น เพื่อบริหารความเสี่ยง ส่วนเครื่องไม้เครื่องมือก็ใช้แบบง่าย ๆ เป็นอุปกรณ์ซอฟท์แวร์ที่ทางมหาวิทยาลัยมีอยู่แล้ว ตรงนี้ก็จะตอบโจทย์ความยั่งยืน คือใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด” 

ผมมองว่า ที่ผมสนใจเรื่อง AI ปัญหาที่อยู่ในใจของผมคือความเหลื่อมล้ำในสังคม ผมอยู่ในภาคอีสานผมเห็นความเป็นอยู่ของพ่อแม่พี่น้องที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี จึงอยากเห็นเทคโนโลยีเข้าถึงชุมชนรากหญ้า ชุมชนต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อทำให้สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจของเรายั่งยืนมากขึ้น ผมเชื่อว่า AI จะเข้ามายกระดับตรงนี้ได้ อีกอย่างคือ ผมเป็นลูกคนอีสาน พ่อแม่ผมก็อยู่ที่นี่ จึงเป็นการจัดสินใจทิ้งทุกอย่างในต่างประเทศ กลับมาเป็นอาจารย์ที่บ้านเกิด และเอาความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี AI มาบริการสังคม ทำให้ผมได้สร้างคุณค่าบางอย่างให้กับสังคม”

 

 

การใช้ AI เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนและโลกที่ดีขึ้น

ครรชิต กล่าวย้ำอีกว่า ในเรื่อง Sustainable AI มีหนทางมากมายที่ AI จะช่วยเรื่องความยั่งยืนได้ เช่น การใช้ AI ช่วยนักวิจัยระบุชนิดของสัตว์ การพยากรณ์อากาศให้เกษตรกร การจัดการน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพในระบบผลิต การลดคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร การแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ ฯลฯ ต่อมา ในเชิง Human in the Loop เพื่อที่จะใช้ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

 

โดยหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบ เช่น สหภาพยุโรปจึงออกกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ (AI Act) เพื่อกำหนดการใช้งานอย่างถูกต้องเหมาะสม หนึ่งในนั้นคือการกำหนดให้มีมนุษย์อยู่ในศูนย์กลางของการพัฒนา AI รวมทั้งมีบทบาทในการกำหนด กำกับ ควบคุม และในกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าว ยังได้แบ่งกิจกรรมที่ใช้ AI เป็น 4 ระดับความเสี่ยง ซึ่งมีมาตรการควบคุมต่างกัน เช่น กิจกรรมที่ไม่มีความเสี่ยง เช่น ใช้ AI กรองอีเมลสแปม, กิจกรรมที่มีความเสี่ยงเล็กน้อย เช่น ใช้ AI เขียนรายงาน, กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เครื่องมือแพทย์ หรือการใช้ AI สัมภาษณ์งาน และกิจกรรมที่ห้ามใช้ AI (เช่น การใช้กล้อง CCTV ประเมินพฤติกรรมประชากรและให้คะแนน หรือตรวจจับความรู้สึกพนักงาน) ทั้งนี้ก็เพื่อให้การใช้งาน AI ไม่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ หรือการละเมิดสิทธิต่าง ๆ เป็นต้น

 

By : บุษกร สัตนาโค

เครดิตภาพ : เฟซบุ๊ก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน (วิทยาเขตขอนแก่น) 

อ่านข่าวที่เขี่ยวข้อง