เทศบาลนครนครราชสีมา เร่งยกระดับเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน อำนวยความสะดวกผู้คน เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเพิ่มคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม แนะงาน Thailand Smart City Expo 2024 เปิดเวทีบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ลดอุปสรรคการทำงานของผู้พัฒนาเมืองอัจฉริยะ
‘การพัฒนาเมือง’ ไม่เพียงการสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือสาธารณูปโภคเท่านั้น หากแต่ต้องเชื่อมสิ่งก่อสร้างและบริการเหล่านั้น ให้สอดคล้องกับผู้อยู่อาศัยอย่างไร้รอยต่อ เมื่อใดที่ผู้คนมีความสุข ความสะดวกสบายในการอยู่อาศัย จึงเรียกว่าเป็น เมืองที่สมาร์ท อย่างแท้จริง
โดยในประเทศไทย ‘โคราชสมาร์ทซิตี้’ นับเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาของการพัฒนาเมือง สู่เมืองอัจฉริยะ เนื่องจากมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่เริ่มโครงการในปี 2564 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 37.5 ตารางกิโลเมตร และมีเป้าหมายชัดเจน ที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะใน 7 ด้าน ได้แก่ การจราจรอัจฉริยะ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ บริหารภาครัฐอัจฉริยะ เศรษฐกิจอัจฉริยะ ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ ด้านพลังงานอัจฉริยะ และด้านพลเมืองอัจฉริยะ
โดยในปี 2566 เทศบาลนครนครราชสีมา ยังได้รับประกาศเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)
ชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า เป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน ที่ระบุไว้ สอดคล้องกับกรอบตามที่ภาครัฐกำหนด โดยด้านการจราจรอัจฉริยะ , สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ และบริหารภาครัฐอัจฉริยะ จะเป็น 3 ด้านหลัก ที่จะช่วยผลักดันให้อีก 4 ด้านที่เหลือ ได้แก่ เดินหน้าด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ ด้านพลังงานอัจฉริยะ และด้านพลเมืองอัจฉริยะ เดินหน้าไปพร้อมกัน
โดยมีสิ่งนี้เน้นย้ำของการเมืองสมาร์ท คือ ต้องมี ‘ระบบข้อมูล (DATA)’ ที่ชัดเจน ทั้งการจัดการ จัดเรียง และบูรณาการ จึงจะช่วยยกระดับการดำเนินชีวิตของประชากรในเมืองทุกด้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และปรับตัวรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ในอนาคต
พัฒนาแอปโคราชสมาร์ทซิตี้
ให้คนร้องเรียนปัญหา
รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครนครราชสีมา ยังกล่าวถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในช่วงเริ่มต้นโครงการฯในปี 2564 ว่า เทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนในการดำเนินการ ผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชันโคราชสมาร์ทซิตี้ใน Line และ Application เพื่อให้ประชาชนสามารถร้องเรียนเรื่องร้องทุกข์ได้โดยตรงและตรวจสอบสถานะร้องเรียนได้ มีสายด่วนถึงเจ้าหน้าที่ ติดตามความเคลื่อนไหวของจุดต่าง ๆ ในเมืองผ่านกล้อง ซีซีทีวี การแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ สถานที่น่าสนใจ และจุดจำหน่ายสินค้า OTOP เป็นต้น
จัดทำโปรแกรมอัจฉริยะ
อำนวยความสะดวกประชาชน
ต่อมาในปี 2565 ได้จัดทำโปรแกรมจัดเก็บรายได้ค่าน้ำประปาอัจฉริยะ เพื่อความสะดวกในการชำระค่าน้ำประปา ตรวจสอบสถิติการใช้น้ำ ประวัติการจ่ายบิล และในปี 2566 ได้จัดทำระบบร้องเรียนอัจฉริยะ และระบบกล้อง ซีซีทีวี เฟส 1 และในปี 2567 ได้จัดทำระบบเชื่อมต่อธนาคารและชำระค่าน้ำออนไลน์ , โคมไฟอัจฉริยะ ที่ช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบจุดที่เสาไฟเกิดขัดข้อง , ระบบตรวจสอบระบบน้ำอัจฉริยะ ทำให้ตรวจสอบสถานะระดับน้ำแบบเรียลไทม์ จัดเก็บสถิติ เพื่อป้องกันภัยพิบัติทางน้ำ , โปรแกรมวิเคราะห์ปริมาณน้ำสูญเสียและข้อมูลทางภูมิศาสตร์ประปาอัจฉริยะ , รวมถึงที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งระบบกรองน้ำคูเมืองอัจฉริยะ ที่ตรวจสอบคุณภาพของน้ำใน 6 ค่าที่สำคัญ และยังได้ศึกษาการจัดทำระบบจัดการโครงการไฟส่องสว่างอัจฉริยะ และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ GIS และบริหารข้อมูลกลางอัจฉริยะ
เตรียมจัดทำระบบบริการ
เอกสารออนไลน์ – วิเคราะห์น้ำเสียออนไลน์
ชาตรี ยังกล่าวถึงโครงการที่อยู่ระหว่างการจัดทำในปี 2568 คือ ระบบบริการประชาชนอัจฉริยะ , ระบบการขอรับบริการภาคประชาชนออนไลน์ , ระบบจัดการเอกสารออนไลน์ , ระบบจัดการบุคลากรออนไลน์ , ระบบแสดงและวิเคราะห์ปริมาณน้ำเสียออนไลน์ และระบบสำรวจข้อมูลที่ดินและทรัพย์สินสำหรับการพัฒนาเมืองและพัฒนาการจัดเก็บรายได้อัจฉริยะระบบจัดการเมือง (city data platform) เป็นต้น
“ระบบต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และจัดเก็บข้อมูลในทุกด้าน เพื่อให้เทศบาลสามารถนำไปประกอบการตัดสินใจ วางแผนพัฒนาการให้บริการ การป้องกันภัยพิบัติ และเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในขณะที่ภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวางแผนจัดหาพื้นที่การลงทุน และการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนทุกด้านในอนาคต”
องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
ต้องอัพเดทความรู้สมาร์ทซิตี้
นอกจากนี้ ทางเทศบาลนครราชสีมา ยังได้อัพเดทความรู้ด้านสมาร์ทซิตี้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยจะเข้าร่วมงาน Thailand Smart City Expo 2024 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6–8 พฤศจิกายน 2567 ฮอลล์ 3–4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และพบปะกับภาคส่วนที่เกี่ยวกับด้านสมาร์ทซิตี้ ทำให้ทางเทศบาลสามารถปรับปรุงระบบอัจฉริยะต่างๆ ให้สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างตรงจุด
อย่างไรก็ตามในระหว่างการจัดงาน Thailand Smart City Expo ในทุกปี อยากให้มีเวที หรือช่องทางที่เปิดให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเทศบาลเมือง ประชุมหารือและบูรณาการทำงานร่วมกัน เนื่องจากในขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะประสบปัญหาติดขัดในด้านกฎระเบียบของหน่วยงานต่างๆ อยู่มาก โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้ควบคุมการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ดูแลหน่วยงานดีป้า ที่เป็นเจ้าภาพหลักในการส่งเสริมด้านสมาร์ทซิตี้
ประสานการทำงานรัฐ กับ ท้องถิ่น เป็นเนื้อเดียวกัน
“ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยมีกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างหลายอย่าง อาจยังไม่สอดประสานกับการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เช่น หากเทศบาลต้องการซื้อซอฟต์แวร์ที่มีความเฉพาะเจาะจงในบางเรื่อง หรือเป็นซอฟต์แวร์ที่มีคุณลักษณะพิเศษแต่ไม่ตรงกับระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ก็ยังไม่มีช่องทางเพื่อหาทางออก ทำให้เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินงานของสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น”