ขยะล้นเกาะ กำลังเป็นปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆในไทย ที่มีจำนวนเกาะมากถึง 936 เกาะ ทั้งในฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาก่อนสาย โดย ‘เกาะเต่า’ ถือเป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ที่เตรียมขยายผลการดำเนินการไปสู่เกาะช้างในปีหน้าและเกาะอื่นๆในอนาคต
ขยะบนเกาะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะตกค้างและขยะใต้ทะเล กลายเป็นปัญหาหนักมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ซึ่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งโรงแรมที่พัก โครงสร้างพื้นฐาน บริการร้านอาหาร และร้านค้า รวมทั้งผู้คนจากต่างถิ่นที่โยกย้ายมาทำงาน และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งผลให้เกาะหลายแห่งกำลังเผชิญกับวิกฤตในการจัดการขยะ ดังนั้น จึงมีความพยายามจากหลายภาคส่วนที่จะสร้าง ‘เกาะพื้นที่ต้นแบบ’ ในการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
‘โครงการแก้ปัญหาขยะเกาะเต่า’ เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่เกิดขึ้นในปีนี้ จากการผนึกกำลังของ 3 องค์กร คือ เครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทย, OGGA Idea บริษัทรับผลิตสินค้าพรีเมียมจากวัสดุรีไซเคิล และบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก PET และรีไซเคิลพลาสติก PET รายใหญ่ของโลก เพื่อสร้างกระบวนการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง
ทั้งนั้ผู้บริหารทั้ง 3 องค์กร ดังกล่าวได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การแก้ปัญหาขยะในงานเสวนา ‘Social Impact Creation Through CSR: PET collection and closing the loop’ ซึ่งจัดขึ้นภายในงานมหกรรมด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability Expo 2024 โดยมุ่งหวังให้เป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาขยะบนเกาะอื่นๆ ในอนาคต
ร่วมมือลดขยะกำพร้าให้เหลือน้อยที่สุด
รัฎดา ลาภหนุน ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทย เล่าว่า เกาะเต่ามีประชากรอยู่อาศัย 2,500 คน แต่มีประชากรแฝงรวมถึงแรงงานต่างด้าวเกือบ 10,000 คน มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 6-7 แสนคนต่อปี โดยมีปริมาณขยะ 15-20 ตันต่อวัน ขณะที่มีพื้นที่ฝังกลบขยะเพียง 4 ไร่ และลักษณะภูมิประเทศที่ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหิน ทำให้มีข้อจำกัดในการขุดเพื่อฝังกลบขยะอย่างถูกต้อง ดังนั้นความร่วมมือนี้ถือเป็นการริเริ่มการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อลดปริมาณขยะกำพร้าให้เหลือน้อยที่สุด โดยเริ่มจากขวด PET ซึ่งจะถูกนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลของอินโดรามา จากนั้นจะแปรรูปเป็นวัตถุดิบป้อนให้กับ OGGA Idea นำไปสร้างสรรค์เป็นสินค้าพรีเมียมสำหรับองค์กรภาคธุรกิจ
รณรงค์ลดใช้ขวดแก้ว
ลดอันตรายเศษแก้วชายหาด
ก่อนหน้านี้ เครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ และอีกหลายองค์กร รณรงค์ให้ลดการใช้ขวดแก้ว ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายจากเศษแก้วที่กระจายอยู่ตามชายหาด โดยขอให้เปลี่ยนมาใช้กระป๋องอลูมิเนียมแทน ผลปรากฏว่า ภายในระยะเวลาไม่ถึงปี สามารถลดปริมาณขวดแก้วบนเกาะจาก 70 ตันต่อเดือน เหลือแค่ 8 ตันในปัจจุบัน
ให้ความรู้ชุมชน คัดแยกขยะให้ถูกต้อง
ด้าน นวีนสุดา กระบวนรัตน์ รองประธานร่วมฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้ทำให้ได้เชื่อมโยงกับชุมชนโดยตรง ซึ่งอินโดรามาจะให้ความรู้ในการคัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกต้อง เพราะมีพลาสติกหลายประเภท โดยขวด PET ที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% จะมีสัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยมใต้ขวด และระบุว่า PET 1 นอกจากนี้ ผู้บริโภคหลายคนยังไม่เข้าใจในการจัดการขยะ ที่พบมาก เช่น นำเศษบุหรี่ หรือไม้เสียบลูกชิ้นมาใส่ในขวด ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างมากในการนำไปรีไซเคิล
ตั้งเป้ารับขวด PET จากเกาะเต่ารีไซเคิล เดือนละ 5 ตัน
ทั้งนี้ตามแผนในการดำเนินงาน อินโดรามาตั้งเป้ารับซื้อขวด PET จากเกาะเต่าให้ได้เดือนละ 5 ตัน โดยรับมาแล้ว 10 ตัน (ณ เดือนกันยายน 2567) และจะมีรายงานกลับไปยังต้นทางว่า ขวดที่เก็บมามีคุณภาพเป็นอย่างไร จะต้องมีการปรับปรุงอะไรบ้าง เนื่องจากโรงงานรีไซเคิลของอินโดรามาเป็นมาตรฐาน Food Grade ซึ่งประเทศไทยเพิ่งปลดล็อกกฎหมายให้สามารถนำขวด PET ที่ใช้งานแล้วมารีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มอีกครั้ง นอกจากนี้ ขวด PET ยังถูกนำไปรีไซเคิลเป็นเส้นด้าย เส้นใย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย
ปัจจุบัน อินโดรามา มีโรงงานรีไซเคิล 23 แห่งทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2554 และรีไซเคิลไปแล้ว 100,000 ล้านขวด (ณ ปี 2566) พร้อมตั้งเป้าว่า หลังจากปี 2025 อินโดรามาจะรีไซเคิล PET ให้ได้ 50,000 ล้านขวดต่อปี
จัดทำคู่มือแยกขยะ 3 ภาษา ‘ไทย อังกฤษ เมียนมาร์’
ขณะที่ ธีรยาฏ์ วิทย์วัฒน์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาและดำเนินการ OGGA Circlular เล่าว่า OGGA Idea ได้ร่วมกับเทศบาลเกาะเต่า สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า โรงเรียนบ้านเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน เปิดตัวโครงการ OGGA CIRCULAR: Recycling with Koh Tao เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้ในการจัดการขยะ จัดทำคู่มือการแยกขยะเป็น 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และเมียนมาร์ มีการจัดตั้งชุมชนชาวเมียนมาร์ โดยมีตัวแทนจากรีสอร์ท และร้านอาหาร เข้าร่วมเป็นสมาชิก ทำหน้าที่รวบรวม คัดแยก และนำขยะไปขายที่ร้านรับซื้อขยะรีไซเคิลเดือนละ 4 ครั้ง
หนุนโรงเรียนบนเกาะเต่า
ตั้งบริษัทจำลอง ‘ธนาคารขยะ’
นอกจากนี้ OGGA สนับสนุนโรงเรียนเกาะเต่า ให้มีการจัดตั้งบริษัทจำลอง ชื่อว่า บริษัท ฮีโร่น้อยเกาะเต่า เพื่อให้น้องๆ บริหารจัดการธนาคารขยะตั้งแต่ต้นทางไปจนปลายทาง เด็กทุกคนจะมีสมุดธนาคารขยะ และมีรุ่นพี่ทำหน้าที่รับซื้อขยะจากรุ่นน้องทุกวันอังคาร และพุธ โดยโรงเรียนมีห้องจัดเก็บ มีระบบการคัดแยก ช่างน้ำหนัก และควบคุมคุณภาพก่อนส่งไปยังผู้รับซื้อในชุมชน การปลูกฝังการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ระดับอนุบาล จะเป็นการวางรากฐานให้มีการสานต่อจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปในอนาคต ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาขยะบนเกาะได้อย่างยั่งยืน
เตรียมขยายผลโมเดล
ไปยังเกาะช้างในปี 2568
ขณะนี้ ทั้ง 3 องค์กร กำลังศึกษาเรียนรู้กระบวนการจัดการ รวมถึงความท้าทายต่างๆ เพื่อใช้เกาะเต่าเป็นโมเดลสำหรับการจัดการขยะบนเกาะอื่นๆ โดยคาดว่าจะขยายไปยังเกาะช้าง ในปีหน้า
รวมพลังเก็บขยะวันทะเลโลก
นอกจากนี้เครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทย ได้เตรียมจัดกิจกรรมสำคัญเพื่อร่วมฉลองวันทะเลโลก One World Ocean Day 2025 ในวันที่ 8 มิถุนายน 2568 โดยจะเชิญชวนอาสาสมัครทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาร่วมเก็บขยะบน 30 เกาะพร้อมกัน ทั้งทีมดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเล ทีมเก็บขยะชายหาด และป่าชายเลน ซึ่งจะประสานกับผู้ประกอบการต่างๆ ที่จะมารับไปเข้าสู่กระบวนการรีไซคลิ่ง โดยจะเชิญอาสาสมัครจากทั่วโลกมาร่วมด้วย
ปัจจุบันเครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทย มี 35 เกาะเข้าร่วมภาค และมีอีกหลายเกาะที่สนใจจะเข้าร่วม เพื่อพัฒนาการบริการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ประเทศไทยมีจำนวนเกาะทั้งสิ้น 936 เกาะ เป็นเกาะในฝั่งอ่าวไทย 374 เกาะ และฝั่งอันดามัน 562 เกาะ กระจายตัวใน 19 จังหวัด โดยพังงามีจำนวนเกาะมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ กระบี่ และสุราษฎร์ธานี เกาะส่วนใหญ่ 52% อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล ดูแลรับผิดชอบโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รองลงมา 45% เป็นเกาะที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกรองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ รับผิดชอบดูแล
นอกจากนี้ มี 26 เกาะ หรือ 3% อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ เพื่อกิจการด้านความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้ เกือบ 100 เกาะ ถูกนำมาพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยว