จากการตระหนักถึงพิษภัยของขยะพลาสติก สู่ไอเดียผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ช้อนส้อมกินได้ ที่ปัจจุบันอาจยังไม่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง แต่ดีต่อสุขภาพ-ธรรมชาติ และน่าลิ้มลอง
ช้อมและส้อม เป็นเครื่องมือคู่ใจในการรับประทานอาหาร แต่บางกรณีผู้บริโภคอาจหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารนอกบ้านไม่ได้ พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) จึงมาทดแทนช้อนส้อมสแตนเลส เพื่อช่วยในเรื่องความสะดวกสบาย ไม่ต้องพกพาและทำความสะอาด ซึ่งการใช้ครั้งเดียวทิ้ง ถือว่าเป็นทรัพยากรที่สิ้นเปลือง และเป็นพิษกับธรรมชาติ จากระยะเวลาย่อยสลายนับร้อยปี
นารายานา (Narayana Peesapaty) นักวิจัยจากเมืองไฮเดอราบาด ประเทศอินเดีย มองเห็นปัญหาในการใช้ช้อนพลาสติกมากถึงปีละ 1.2 แสนชิ้นในอินเดีย จึงตั้งบริษัท สตาร์ทอัพ Bakeys ผลิตช้อนส้อมกินได้ รวมทั้งมีดและตะเกียบ ซึ่งทำมาจากข้าว 3 ชนิดและมี 3 รสชาติ โดยหลังจากใช้งานเสร็จ หากไม่รับประทาน ช้อนส้อมจะสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติภายใน 4-5 วัน
ปิ๊งไอเดีย ช้อนส้อมกินได้ บนเครื่องบิน
นักวิจัยรายนี้เล่าว่า ระหว่างที่กำลังเดินทางบนเที่ยวบินหนึ่ง เห็นว่าผู้โดยสารรอบตัวเขาใช้คาคระ (ขนมกรุบกรอบแผ่นบาง ทำจากแป้งสาลี) มาทำเป็นช้อนตักข้าวและแกง ทำให้เขาจุดประกายในการทดลองทำโรตีโจวาร์แข็ง ๆ (ขนมปังข้าวฟ่างแบน ๆ) เพื่อนำมาแทนช้อนส้อม กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ Bakeys Narayana Peesapaty ซึ่งเขาใช้เวลาถึงเจ็ดปีในการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สมบูรณ์แบบ
จนในที่สุด ช้อนส้อมกินได้ เริ่มออกกขายสู่ตลาดแต่ต้องเผชิญกับความท้าทาย เมื่อผู้คนส่วนใหญ่ยังสงสัยถึงคุณภาพ สุดท้ายการตลาดแบบปากต่อปากก็ช่วยโครงการนี้ไว้ได้
ผลิตจากพืชผลของเกษตรกร
นารายานา ระบุว่า ช้อนส้อมที่กินได้ของเขามีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำจากแป้งสาลี โจวาร์ และแป้งข้าว ที่มีลักษณะกรุบกรอบ อีกทั้งมอบ 3 รสชาติให้ได้เลือก หวาน เค็ม และธรรมดา ผสมเครื่องเทศ เช่น เกลือหิน เมล็ดยี่หร่า และพริกไทยดำเข้ากับแป้งเพื่อให้ช้อนมีรสชาติอร่อย
โดยความตั้งใจของเขา เมื่อฐานผู้ใช้งานมากขึ้น เกิดกระบวนการผลิตตามมา บริษัทจะสามารถลดต้นทุนการผลิตให้ถูกลง เกิดการจ้างงานชาวบ้าน ส่งเสริมเกษตรกรท้องถิ่น (Local community)โดยตรง ในการผลิตข้าวเพื่อใช้ในการทำช้อน เป็นการทำกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability)
ทั้งนี้ นารายานามุ่งมั่นที่จะหักล้างขนบธรรมเนียมที่ว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ทำกำไร
คำแนะนำการใช้งาน จับอย่างระมัดระวัง!
ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็น single-use organic มีคำแนะนำการใช้งานว่าเป็นผลิตภัณฑ์แบบ ‘ใช้ครั้งเดียวทิ้ง’ โดยเลือกทานก็ได้ ทิ้งก็ดี ไม่มีสารกันบูด อยู่ได้นาน 2 ปี และควรเปิดซองเมื่อพร้อมจะกินอาหาร เพราะหากเปิดก่อนอาจกรอบน้อยลงเพราะสัมผัสกับความชื้นในอากาศ อย่าล้างและนำกลับมาใช้ใหม่ ถ้าไม่กินก็ให้โยนลงในโคลนหรือในกระถางต้นไม้เพื่อให้สลายตัวหลังใช้งาน
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ของบริษัท Bakeys ราคาค่อนข้างสูงถึง 300 รูปี คิดเป็นเงินไทยประมาณ 118 บาท ถือว่าเป็นข้อจำกัดในเรื่องของความคงทนและราคา เนื่องจากมีค่าวัตถุดิบและการแปรรูปที่สูงกว่าช้อนส้อมพลาสติก จากข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้ตลาดช้อนส้อมที่กินได้จึงยังมีน้อย ทำให้ช้อนส้อมพลาสติกเป็นที่นิยมมากกว่ามาก
กลับมาที่ประเทศไทย กรมอนามัย สำรวจ ‘พฤติกรรมการใช้พลาสติก’ เมื่อเดือน พฤษภาคม 2567 พบว่า พฤติกรรมการใช้ช้อนส้อมพลาสติกของคนไทยคิดเป็น 66% ด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของคนไทยในปัจจุบัน เข้าครัวน้อยลง เน้นทานอาหารนอกบ้าน หรือสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น
หากประเทศไทยมีช้อนส้อมทานได้ อาจกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ห่วงใยธรรมชาติและสุขภาพของตัวเอง แต่การใช้งานอย่างต่อเนื่องและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อต่ำคงเป็นเรื่องยากเช่นเดียวกัน ทำให้ธุรกิจต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ให้มีต้นทุนที่จับต้องได้ ไปพร้อมประโยชน์การใช้งานที่ดี จึงจะได้รับการตอบรับจากตลาดในวงกว้าง
นักวิจัยชาวอินเดีย คิดค้น ‘ช้อนส้อมกินได้’ หนึ่งในวิธีแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก
จากการตระหนักถึงพิษภัยของขยะพลาสติก สู่ไอเดียผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ช้อนส้อมกินได้ ที่ปัจจุบันอาจยังไม่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง แต่ดีต่อสุขภาพ-ธรรมชาติ และน่าลิ้มลอง