ยายหนิง-วารี หน่อแก้ว ต้นแบบการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มองว่าความสุขคือการได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติและแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้กับลูกหลาน จากการปลูกผักปลอดสารพิษ นำมาปรุงอาหาร และแบ่งปันเทคนิคทำสวน เชื่อว่าการมีความสุขนั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินทองเสมอไป
เรื่องโดย : จุฑาทิพย์ สมสุข
‘ยายหนิง-วารี หน่อแก้ว’ วัย 70 ปี ที่คนส่วนใหญ่รู้จักอาจเป็นแม่ของดาราสาวชื่อดัง ‘ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต’ แต่อีกหนึ่งตัวตนที่ยายหนิงกำลังแสดงออกถึงความชอบและการได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง คือการได้เข้าครัวทำอาหารไทยผ่านรายการ ‘ครัวยายหนิง’ ทางช่องยูทูป My Material World ที่มีผู้ติดตามราว 3 แสนราย รายการนี้ได้ ยังแบ่งปันสูตรอาหารรสไทยแท้ และเรื่องราวการทำสวนที่เธอหลงรัก
โดยยายหนิงมองว่าอยากให้ลูกหลานได้กินอาหารดี ๆ ปลอดสารเคมี และได้สัมผัสประสบการณ์การใช้ชีวิตบนธรรมชาติที่เธอเคยเติบโตมา ต่างจากยุคนี้ที่เต็มไปด้วยตึกสูงและความวุ่นวาย จึงเลือกสร้างบ้านทำสวน ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และใช้ชีวิตเรียบง่าย โดยไม่พึ่งพิงวัตถุดิบที่ต้องซื้อเสมอไป เพื่อปรับรับธรรมชาติมาอยู่ในทุกชั่วขณะของชีวิตบั้นปลาย
-วัยตั้งตัวเริ่มรู้จักทำนา ทำสวน จับปลา แต่ชีวิตเปลี่ยนเมื่อเริ่มเข้าเมือง
ยายหนิง-วารี หน่อแก้ว เล่าว่า บ้านเกิดพื้นเพเป็นคนจังหวัดนครพนม จนเมื่อตอนอายุ 3-4 ขวบ ได้ย้ายไปอยู่ที่ท่าแขก แขวงคำม่วน ในสปป.ลาว ก่อนที่จะต้องกลับมาเมืองไทยเพราะลี้ภัยจากสงครามอินโดจีน ในช่วงเวลานั้น ยายหนิงได้พบกับคุณตาเจมส์ ทหารอเมริกัน ที่ดูแลเรื่องบำบัดน้ำ หรือที่ยายเรียกว่า “หมอน้ำ” เป็นครั้งแรก
เมื่อเริ่มตั้งตัวได้ ยายหนิงเริ่มทำงานหลายอย่างเพื่อช่วยครอบครัว ตั้งแต่ทำนา ทำสวน จับปลา ไปจนถึงทำงานเป็นแม่บ้านในฐานทัพทหารอเมริกัน ด้วยความที่ยังเด็ก เห็นเพื่อนเข้ามาทำงานในเมืองหลวง ตัวเองก็อยากลองเข้ามาบ้าง พยายามจนได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ จากนั้นเริ่มเรียนทำผมและตัดเสื้อ และได้พบกับคุณตาเจมส์อีกครั้งหลังจากห่างหายกันไปหลายปี จากความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นด้วยความเห็นอกเห็นใจกลายเป็นความรัก และตัดสินใจเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน
-เมื่อใช้ชีวิตในเมืองคุ้มแล้วก็โหยหาธรรมชาติ
ชีวิตเป็นการเดินทางที่น่าตื่นเต้น ยายหนิงย้ายไปอยู่ประเทศอเมริกากับตาเจมส์ ได้เดินทางไปหลากหลายประเทศจนกระทั่งมีลูกสาว “ชมพู่-อารยา” เมื่อเริ่มต้นสร้างครอบครัวก็มีห้องพักไว้อาศัย ยายหนิงขอแค่มีพื้นที่เล็ก ๆ ไว้ทำครัว ก่อนที่ครอบครัวจะขยับขยายมาอยู่ในห้องที่มีดาดฟ้าและระเบียงสำหรับปลูกพืชผัก
จนสุดท้าย เมื่อคุณตาเจมส์เสียชีวิต จึงตัดสินใจซื้อบ้านหลังใหม่และตั้งใจว่านี่จะเป็นบ้านหลังสุดท้ายที่ขอมีสวนผักไว้ปลูก มีครัวแบบเปิดไว้ทำอาหารแบบไทย ๆ รวมถึงขุดบ่อเลี้ยงปลา สร้างเล้าไก่ ในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่
“เหตุผลที่ทำให้ยายเริ่มปลูกผักเองอย่างจริงจัง เพราะมีครั้งนึงกำลังล้างผักอยู่ในกะลามัง เห็นปรากฏการณ์ผักย้อมสี จากสีเข้มกลายเป็นสีซีดลง ก็เลยตั้งคำถามว่าที่เห็นนี้คืออะไร สิ่งที่เราบริโภคอยู่นั้นมันอาจจะมีพิษหรือสารเคมีปนเปื้อนหรือไม่ การใส่ใจเรื่องนี้จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการปลูกผักเองเพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของคนในครอบครัว”
– เริ่มต้นปลูกผักเป็นงานอดิเรก เพราะอยากให้ลูกหลานได้กินของปลอดภัย
ยายหนิงเล่าว่า เริ่มต้นเล็กๆ จากการทำสวนเป็นงานอดิเรก โดยใช้เวลาแค่วันละสามชั่วโมง จะทำช่วงเช้าหรือเย็น เธอเน้นว่าไม่ได้ยากเกินไป เพราะเราเลือกได้เอง เริ่มจากตัวเองก่อนแล้วค่อยขยายไปเรื่อยๆ ยากให้ลูกหลานได้กินของดีและได้สัมผัสกับธรรมชาติที่แท้จริง อยากมีที่ดินสักแปลงไว้ให้ลูกหลานได้เหยียบดิน เพราะว่าอยู่ในตึกในบ้านที่หาดินไม่เจอเลย เวลาที่หลานมาบ้านยายก็จะมีความสุขมากที่ได้เห็นเขาวิ่งเล่น
-ในอดีตที่เต็มไปด้วยทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม
ยายหนิง บอกว่า เมื่อมองย้อนกลับมาดูปัจจุบันก็รู้สึกเศร้านิดหน่อย เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก จากช่วงที่ยายเติบโตขึ้นมา ในสมัยก่อน การทำการเกษตรเป็นเรื่องง่ายมาก แค่หว่านเมล็ดลงดินก็เติบโตขึ้นมาได้งดงาม โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี แต่ทุกวันนี้ ทุกอย่างต้องดูแลมากขึ้น แม้แต่ดินสำหรับปลูกก็ต้องคอยหมักและปรุงเพราะดินในปัจจุบันเสียคุณภาพไปแล้ว ไม่มีจุลินทรีย์ ไม่มีแร่ธาตุที่เคยมี เนื่องจากปัญหามลพิษ ฝุ่นควัน และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
“ธรรมชาติในสมัยก่อนแตกต่างจากตอนนี้มาก เพราะตอนที่ยายหนิงเป็นเด็ก มีต้นไม้เยอะมาก อากาศไม่ร้อน หายใจโล่ง หายใจคล่อง และมีอาหารป่าเยอะไม่ต้องกลัวอดยากเลย แม้จะไม่มีตลาด ไม่มีไฟฟ้าอยู่ในป่าเขา”
-วิธีฟื้นฟูดินที่แห้งแล้งและขาดแร่ธาตุ
ยายหนิงยังแนะเทคนิคการทำปุ๋ยหมักจากใบไม้ หน้าดิน และปุ๋ยคอก โดยเริ่มจากการรวบรวมใบไม้แห้ง หน้าดิน และปุ๋ยคอกมาผสมเข้าด้วยกัน แล้วรดน้ำเพื่อให้ความชื้นพอเหมาะ ก่อนเก็บไว้ในที่ร่มเพื่อหลีกเลี่ยงการตากแดดและฝน ซึ่งอาจทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นตัวช่วยสำคัญในการย่อยสลายอินทรียวัตถุ ทำให้ดินกลับมามีชีวิตและอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
นอกจากนั้น ยายหนิงยังแนะนำวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพจากพืชผักผลไม้ที่ย่อยสลายได้ โดยนำมาหมักกับน้ำตาลจนได้เป็นสารอาหารที่เข้มข้นสำหรับพืช ซึ่งน้ำหมักนี้สามารถใช้เป็นปุ๋ยน้ำรดพืชผักได้ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและลดการใช้สารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
-เริ่มต้นด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากกระถางเล็ก ๆ ที่บ้าน
สำหรับคนที่อยากมีพื้นที่สีเขียวในบ้านแม้จะอยู่ในเมืองใหญ่ ก็สามารถปลูกผักสวนครัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ในครัวเรือน เช่น ปลูกพืชผักเล็ก ๆ ในกระถางบนระเบียง หรือมุมบ้านก็สามารถเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีได้ โดยเพียงแค่มีต้นไม้หนึ่งหรือสองต้น ผักที่ชอบนำไปทำอาหารหรือรับประทาน
“เริ่มต้นจากการปลูกเล็ก ๆ น้อย ๆ ในกระถาง ถ้าปลูกไม่สำเร็จ ก็ลองใหม่ ต้องมีเป้าหมายชัดเจน อย่างน้อยก็เพื่อให้โลกร้อนน้อยลง อีกอย่างคือทำเพื่อตัวเอง ตอนนี้ยายหนิงไม่เคยเสียเงินซื้อผักเลยสักบาท ผักที่ปลูกยังสามารถแบ่งปันให้เพื่อนบ้านในซอยได้อีกด้วย บางครั้งก็โทรชวนเพื่อนมาเอาผักไป”
-เพราะความสุขช่างเรียบง่าย เราต้องค้นพบให้เจอ
อย่างสมัยก่อนที่บ้านเปิดแค่พัดลม เงินก็ไม่ค่อยมี หางานทำก็ลำบาก แต่เมื่อได้ลองคิดใหม่ก็รู้สึกว่าอยู่บ้านดีกว่า อยู่กับสิ่งที่เรามี มองย้อนไปเมื่อก่อน พ่อแม่ก็มีชีวิตที่มั่นคงมากแม้ไม่ได้มีความสะดวกสบายหรือมีเงินทอง
ยายหนิงไม่ได้แอนตี้เงิน แต่เธอกล่าวว่า เงินไม่สามารถซื้อทุกอย่างได้ บางคนมีเงินร้อยล้านก็ยังไม่พอใช้ ในขณะที่บางคนมีอยู่แค่ 3,000 บาท ก็ยังมีความสุข โดยอยากบอกคนรุ่นใหม่ว่า หลังจากใช้ชีวิตในเมืองอิ่มพอแล้ว สามารถนำทักษะความรู้กลับไปพัฒนาต่อยอดที่บ้านเกิดได้ และยังย้ำว่าอย่าขายที่ดินที่มี เพราะในอนาคตมันจะมีราคาแพงขึ้นทุกวัน สิ่งที่ยายหนิงสื่อสารคือการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแต่มีคุณค่า และการหาความสุขจากสิ่งที่เรามีอยู่ มากกว่าการมองหาความสำเร็จจากเงินทองเพียงอย่างเดียว
“เราเข้าใจคนรุ่นใหม่นะ เหมือนที่เราเข้าใจตัวเองเมื่อตอนยังเป็นเด็ก เราอยู่ในป่าในธรรมชาติ เราเห็นเพื่อนฝูงเข้าไปในเมือง ก็อยากลองอยากไป อยากจะไปใช้ชีวิตที่แตกต่าง แบบว่าโอ้ย..อยากไปมากเลย และเราก็พยายามจนเราได้เข้ามาในเมือง หลังจากลองเข้ามาในเมือง สักพักเราโหยหาของที่เคยได้กิน ของที่เราเคยใช้ และอากาศดี ๆ ที่อยู่แล้วสุขสบาย ไม่ร้อน”
ที่มาภาพ : เพจครัวยายหนิง , งาน GC Sustainable Living Symposium 2024