ส่องเกณฑ์ใหม่ ESG บริษัทมหาชน หวังนักลงทุนเชื่อมั่นตลาดทุนไทยยั่งยืน

ส่องเกณฑ์ใหม่ ESG บริษัทมหาชน หวังนักลงทุนเชื่อมั่นตลาดทุนไทยยั่งยืน

ทำไมการจัดอันดับความยั่งยืน จึงมีความสำคัญกับภาคธุรกิจในปัจจุบัน ความแตกต่างการให้คะแนน ESG แต่ละหน่วยงานสะท้อนอะไรบ้าง? ตลาดทุนไทยล้างไพ่เกณฑ์ให้คะแนน บทเรียนธรรมาภิบาลไม่โปร่งใส EA และ วิกฤตหุ้น STARK 

 

 

ESG (Environmental, Social, Governance) เป็นกรอบแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน (Sustainability) ที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญในปัจจุบัน เพราะการมุ่งหน้าทำธุรกิจเพื่อหวังผลกำไรอย่างเดียว โดยไม่ดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ไม่อาจทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในปัจจุบัน เนื่องจากนักลงทุนจะดูปัจจัยเหล่านี้เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน 

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ESG เปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัท ให้ความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง เพราะนั่นแปลว่าธุรกิจมีรูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ได้มาตรฐานสากล จึงมีแนวโน้มที่ธุรกิจจะเติบโตยั่งยืน

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า เรื่องของ ESG มีความสำคัญมากขึ้นต่อเนื่อง โดยหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างมีดัชนีจัดอันดับและให้คะแนนความยั่งยืนกับธุรกิจทั่วโลก เช่น ESG Index, Dow Jones Sustainability Indices (DJSI), MSCI ESG Index, Boomberg, REFINITIV, Morningstar Sustainability Rating ฯลฯ 

สำหรับประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้จัดดัชนี ESG Rating หรือ การประเมินการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน โดยมีเป้าหมายเพื่อวัดความยั่งยืนและผลกระทบทางสังคมของธุรกิจ ฯลฯ 

 

 

ทำไมการจัดอันดับความยั่งยืนจึงมีความสำคัญ?

การจัดอันดับความยั่งยืน โดยเฉพาะ ESG Rating มีความสำคัญต่อธุรกิจในปัจจุบัน เนื่องจากส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งการดึงดูดนักลงทุน บริษัทที่มี ESG Rating สูงมีแนวโน้มที่จะดึงดูดนักลงทุนได้มากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน

โดยนักลงทุนมักใช้ ESG Rating เป็นเครื่องมือประเมินความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะบริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดีย่อมมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นและอาจได้รับเงื่อนไขทางการเงินที่ดีกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสำหรับเงินกู้ยืมทั่วไป

นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อการปรับตัวเข้าสู่ตลาดใหม่ เพราะเรตติ้งที่ดีจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของบริษัท ทำให้สามารถขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดใหม่ได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญการให้ความสำคัญกับ ESG จะช่วยให้บริษัทมีความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายในอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ฯลฯ

 

 

 

ESG Rating ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการวัดผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จและความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว

โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนการประเมิน ESG แบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลงทุนในพลังงานสะอาดและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน การลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การประหยัดน้ำ การใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ และการนำกลับมาใช้ใหม่ การจัดการขยะและมลพิษ

ต่อมาคือด้านสังคม คือ การดูแลแรงงานและสิทธิแรงงาน นโยบายค่าจ้างที่เป็นธรรม สวัสดิการที่เหมาะสม และการเคารพสิทธิแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญ ความหลากหลายและความเท่าเทียมในองค์กร การมีส่วนร่วมของชุมชนและกิจกรรมเพื่อสังคม 

ขณะที่ การกำกับดูแลกิจการ คือ การมีโครงสร้างคณะกรรมการที่มีความหลากหลายและเป็นอิสระ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ไม่มีความทุจริต เป็นต้น

 

บทเรียน EA-STARKตลาดทุนไทยปรับเกณฑ์ ESG Rating ฟื้นความเชื่อมั่น 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตลาดทุนไทย ได้จัดทำดัชนี SET ESG Index และการประเมิน SET ESG Rating เพื่อประเมินบริษัทจดทะเบียนที่มีความยั่งยืน รวมถึงจัดตั้งกองทุน Thai ESG ซึ่งเป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมระยะยาว และสนับสนุนการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศ

แต่กรณีของข้อสงสัยต่อหลักเกณฑ์ ESG ด้านความยั่งยืน ในบริษัทจดทะเบียน จากประเด็นของการทุจริต หรือไม่โปร่งใส ของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA หลังกลต.กล่าวโทษผู้บริหารถึงความไม่โปร่งใสในการบริหาร

“ความเชื่อมั่นในตัวชี้วัด ‘ความยั่งยืน’ ต่างๆ ของนักลงทุน ถูกกดดันอย่างหนักจากประเด็นของการทุจริต หรือไม่โปร่งใส ของ STARK ที่เคยมีมูลค่าความเสียหายสูงสุด ถึง 60,000 ล้านบาท บริษัทแห่งนี้ยังเคยถูกจัดให้อยู่ในดัชนี SET100 หรือเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย 100 อันดับแรก เมื่อ STARK เผชิญวิกฤตทางการเงิน เป็นหนี้สูงกระทั่งปี 2565 ถึงกำหนดส่งงบการเงิน ประจำปี 2565 บริษัทกลับไม่ส่งงบการเงินตามกำหนด ทำให้หุ้นถูกขึ้นเครื่องหมาย SP และถูกพักการซื้อขายเป็นเวลา 3 เดือน และผู้บริหารหลายคนต่างทยอยลาออก ส่วน EA  กลต. กล่าวโทษผู้บริหารกรณีร่วมกันทุจริตรวมกว่า 3,400 ล้านบาท กลายเป็นประเด็นใหญ่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในแวดวงตลาดทุนไทย“

 

 

 

 

ปรับเกณฑ์ ESG rating สู่ FTSE

ใน 2 ปี ฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน 

จากกรณีดังกล่าว ทำให้ตลท.เตรียมยกระดับมาตรฐาน SET ESG Rating สู่ระดับสากล ​ร่วมกับพันธมิตรผู้ประเมิน ESG ระดับโลกอย่าง FTSE Russell ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (LSEG : London Stock Exchange Group) ในการเป็นผู้ประเมินมาตรฐาน ESG ให้กับบริษัทจดทะเบียนตามเกณฑ์ ​Global Standard ที่คาดว่าจะใช้เวลาเปลี่ยนผ่านและเตรียมความพร้อมบริษัทจดทะเบียนไทย 2 ปี ก่อนเปลี่ยนไปใช้ชื่อ FTSE ​​ESG Scores 

เพื่อสร้างการยอมรับและดึงดูดนักลงทุนได้จากทั่วโลกต่อบริษัทจดทะเบียนฯไทย

 

 4 มิติโลกยอมรับทุนไทย

สำหรับหลีกเกณฑ์ FTSE สร้างผลประโยชน์เชิงบวกให้ตลาดทุนไทยใน  4 มิติ สำคัญคือ 

 

1.ก​ารเพิ่มความโปร่งใสและลดภาระให้ บริษัทจดทะเบียน เนื่องจากเปลี่ยนวิธีในการประเมินจากเดิมที่ใช้การตอบแบบสอบถามโดย บริษัทจดทะเบียนที่ต้องการเข้ารับการประเมินเป็นผู้ตอบเอง​​ มาเป็นการใช้ข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะ ทั้งจากการเปิดเผยของแต่ละธุรกิจเอง (Self-Declare) รวมถึงข้อร้องเรียนจากภาคส่วนต่างๆ  จากการมอนิเตอร์ของผู้ประเมิน ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ Global Standard ใช้ประเมิน รวมทั้งลดภาระในการจัดเก็บและส่งข้อมูลของภาคธุรกิจ​

 

2.เพิ่มการยอมรับในมาตรฐานการดำเนินงานของภาคธุรกิจไทยในสากล เนื่องจาก​ประเมินโดยผู้ประเมิน​ที่มีมาตรฐานระดับโลก ทำให้เพิ่มโอกาสของหุ้นจากตลาดทุนไทยได้รับการยอมรับและพิจารณาการลงทุนจากทั่วโลกมากขึ้น

 

3.เพิ่ม Best Practice ให้ภาคธุรกิจไทย จากแนวทางการประเมินของ FTSE Russell ที่มีการพิจารณาปัจจัยที่ธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญอย่างละเอียด ทั้งกรอบโดยรวม และเฉพาะเจาะจงของแต่ละกลุ่ม ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ประเมินในบริษัทกว่า 8,000 แห่ง จาก 47 ประเทศทั่วโลก

 

4.ยกระดับมาตรฐานความยั่งยืนในประเทศไทยให้เป็นสากล จากการประเมินที่สอดคล้องกับโมเดลของ FTSE ESG Scores ภายใต้การกำกับดูแลจากหน่วยงานอิสระในหลายแขนงทั้งภาคธุรกิจ นักลงทุน องค์กรไม่แสวงหากำไร และนักวิชาการ ภายใต้การประเมินที่สอดคล้องกับมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายกลุ่ม

 

ทั้งนี้ในปีแรกจะนำร่องด้วยการประเมิน 192 บริษัทที่อยู่ใน SET ESG Rating รวมท้ังอีก 35 บริษัทใน SET 100 ที่ยังไม่ได้เข้าประเมิน ​รวมทั้งบริษัทขนาดกลางหรือเล็กที่สมัครใจเข้าร่วมประเมินโดยในปี 2568 ตั้งเป้าจะสามารถเพิ่มการประเมินมาตรฐาน ESG เพิ่มขึ้นจาก 192 บริษัท เป็น 300-400 บริษัท หรือประมาณ 50% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์

 

 

 

 

ตลาดทุนฯ ชี้การจัดเรตติ้งความยั่งยืนมาจากหลายหน่วยงาน

ใช้เกณฑ์วัดต่างกัน

เมื้อเร็วๆนี้ ตลท. ยังจัดงาน SET: Capital Market Research Forum “ESG and Sustainability in Emerging Markets: Shaping Thailand’s Future” เพื่อถ่ายทอดมุมมองการให้ความสำคัญกับปัจจัยด้าน ESG ในการดำเนินธุรกิจและการลงทุน 

ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดอันดับ หรือการให้คะแนนบริษัทต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีความหลากหลายมาก แต่บางครั้งอาจทำให้เกิดความสับสนได้ถึงความเชื่อมั่น เพราะแต่ละหน่วยงานมีตัวชี้วัดแตกต่างกัน จุดเน้นแต่ละหน่วยงานขึ้นอยู่กับว่าจะให้ความสำคัญกับ ESG มิติไหนบ้าง เพราะมีหลักการหลายเรื่อง ต่อจากนี้ความสำคัญเกี่ยวกับการให้เรตติ้ง หรือจัดอันดับจะใช้ ESG เป็นข้อมูลประกอบมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ มีสมการเยอะมาก

เช่นเดียวกับ ฟลอเรียน เบิร์ก Professsor Florian Berk กล่าวว่า ความหลากหลายของการประเมินด้าน ESG มาจากหลายปัจจัย เช่น แนวคิดและวิธีการของผู้ประเมิน รวมถึงการให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดด้าน ESG ที่แตกต่างกัน อีกทั้งระบุว่า ผู้ลงทุนควรนำ ESG rating ของค่ายต่างๆ มาพิจารณาร่วมกันก่อนตัดสินใจลงทุน

“ความแตกต่างของการให้คะแนน ESG อาจทำให้เกิดความสับสน เพราะแต่ละแห่งที่เป็นผู้จัดอันดับ ล้วนมีน้ำหนัก ขอบเขต การวัดที่ต่างกัน บางแห่งให้น้ำหนักไปที่ด้านสิ่งแวดล้อม ดูการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ บางแห่งดูเรื่องธรรมาภิบาล ดูประเด็นทุจริต ความแตกต่างของขอบเขตและการวัดเป็นปัจจัยหลัก บางครั้งก็เป็นเพียงความชอบส่วนบุคคล ทุกคนมีสิทธิ์ในความชอบของตนเอง การสำรวจแบบรวดเร็วที่ไม่ใช่เชิงวิทยาศาสตร์ แสดงให้เห็นว่ามีชุดความชอบที่แตกต่างกันมากกว่า

ความแตกต่างของการวัด ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการวัดว่าผู้หญิงได้รับการปฏิบัติอย่างไรในบริษัท หน่วยงานจัดอันดับมักจะใช้ข้อมูลตัวแทน เช่น ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศเป็นข้อมูล อย่างไรก็ตาม ช่องว่างที่เป็นศูนย์ไม่ได้รับประกันการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ความแตกต่างของการวัดบ่งชี้ถึงความพยายามที่แตกต่างในการวัดปัญหาเดียวกัน เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหา ESG เรามักจะไม่สามารถสังเกตการกระจายในภายหลังได้ ตัวอย่างเช่น หกเดือนหลังจากวัดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ ไม่มีการพัฒนาขึ้นในการปฏิบัติต่อผู้หญิงในกำลังแรงงาน ในกรณีนี้ ไม่มีทางที่เราจะปรับปรุงคะแนน ESG ได้โดยผ่านการทดสอบย้อนหลัง” 

 

 

ESG ไทยในมิติกลยุทธ์  และการเปิดเผยข้อมูล

ผศ.ดร.วศิน ศิวสฤษดิ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการให้คะแนน ESG ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากจะนำไปต่อยอดการพัฒนา การศึกษาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการศึกษาความสัมพันธ์ของ ESG กับบริษัทที่จะได้จากการทำสิ่งนี้ ในมิติที่สนใจไม่ว่าจะเป็นกำไรของบริษัท หรือระดับของราคาที่จะได้รับผลกระทบ สมมติบริษัทๆหนึ่งได้คะแนน ESG สูงขึ้น มันจะส่งสัญญาณอะไรบางอย่างในตลาด และ fund flow จนถึงเรื่องของระดับราคาที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

จากการศึกษา ESG Score ของสหรัฐอมริกา พบว่าถ้านำ เฟคเตอร์ 2-3 เฟคเตอร์มาแล้วดูว่าไปด้วยกันอย่างดี แต่ก็มีหลายบริษัทที่พอนำ ESG Score มา ปรากฏว่ามันไม่ไปด้วยกัน คำถามที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป ผู้จัดการกองทุน หรือแม้แต่ฝั่งวิชาการ อยากรู้ว่าแล้วทำอย่างไร ใช้กับใคร

ไทยมีเฟกเตอร์ค่อนข้างเยอะ แต่ละเฟกเตอร์เก็บได้ยากมาก อยากรู้ว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร ก็เลยลองจับข้อมูล เป็นหน่วยงานทั้งหมด 3 ค่ายด้วยกัน เป็นบิ๊กเนมหมดเลย ซึ่งตั้งแต่ปี 2015-ปี 2022 เอาตัวข้อมูลทั้งหมดเอามาหา ESG Score หาค่าเฉลี่ยประเทศไทยว่าอยู่ประมาณเท่าไหร่ ถ้าย้อนหลังกลับไป

อย่าง REFINITIV ค่าเฉลี่ยอยู่ประมาณ 64 แต่ Boomberg สเกลต่างกันอยู่ประมาณ 3.65 จาก 0-10 แต่ S&P Global ค่าเฉลี่ยอยู่ประมาณ 66 มีประมาณ 70 บริษัท แต่ไม่สามารถประเมินได้ในหลักเกณฑ์เดียว จึงต้องใช่เวลาปรับฐานข้อมูล

“บางบริษัทอาจมี Rating Score แค่ค่ายเดียว ก็ทำงานต่อไม่ได้ เพราะงานต่อไปที่ต้องทำก็คือเราต้องเปรียบเทียบข้อมูลกัน ทำไปทำมาคลีนซึ่งดาต้าทั้งหมดแล้ว เหลือบริษัทที่สามารรถเอามาวิเคราะห์ในเบื้องต้นได้ ประมาณ 30 บริษัท ณ ตอนนี้ 

มีหลายบริษัทมาก ที่คะแนนสูงจากหนึ่งค่าย แต่คะแนนตกอีกค่าย เหตุผลคือ การให้คุณค่า เกณฑ์วัดมันต่างกันค่อนข้างเยอะ ก็เลยเกิดคำว่า Noise ในทางเศรษฐศาสตร์ก็หมายถึงตัวรบกวน เรตติ้งสกอร์มีการรบกวน แต่ภายใต้การรบกวน มันมีข้อมูลที่มีค่า ซึ่งโดยสรุปแล้วถ้าเพื่อนเรามีตัวรบกวนเยอะ เราจะจัดการกับเพื่อนเราอย่างไร เรียกว่าเป็นกระบี่มือเอกของฝั่งเศรษฐศาสตร์ ถ้าเราเชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีโอกาสรบกวน เพราะฉะนั้นเราจะเอาข้อมูลอีกตัวนึงบ ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับสิ่งที่เราจะเชื่อ แล้วมันไม่สัมพันธ์กับตัวปัจจัยอื่น ๆ ที่ใช้ในการศึกษา เอามาถมหนัก หลักการตัวนี้เป็นการหา”

ผศ.ดร.สัมพันธ์ เนตยานันท์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า เรื่องความยั่งยืน เป็นการมองระยะยาว งานวิจัยส่วนใหญ่ระบุว่า การเก็บข้อมูลด้านให้คะแนน ESG ต้องมีสโคปที่กว้างขึ้น บางธุรกิจอาจจะกำลังลงทุนอะไรบางอย่าง แล้วกำไรปัจจุบันอาจไม่ได้ดีนัก แต่ในระยะยาวไม่แน่ หุ้นแบบนี้อาจเป็นหุ้นที่สามารถลงทุน ในระยะยาวให้ผลตอบแทนที่ดีได้ 

“ถ้าเราพูดถึง ESG อาจจะพูดว่าเป็นต้นทุนหรือไม่ หรือเป็นค่าใช้จ่ายอย่างเดียวหรือไม่ในบริษัท แต่ผมอยากให้เห็นอีกมุมนึงว่า ESG คล้ายการลงทุน หรือเป็นกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงในเวลาเดียวกันได้

ผมค่อนข้างอินกับกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง (Strategy Risk Management) เพราะผมอยากรู้ว่าบริษัทเหล่านี้มีการบริหารความเสี่ยงอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าเราบูรณาการความเสี่ยงกับกลยุทธ์ไปด้วยกัน เนื่องจากปัจจุบันเราพูดถึง ESG กันเยอะ เลยคิดว่า ถ้าเราทำ ESG ไปด้วย แล้วบริหารความเสี่ยงโดยใช้ ESG เป็นเครื่องมือ ในนี้เราจะมีตัวแปรที่เปรียบเทียบตัวเอง ใน ESG positioning ว่าเราทำ E เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับเพื่อนของเราในอุตสาหกรรม มันมากหรือน้อย หรือห่างจากเขามากหรือน้อยแค่ไหน หรือถ้าเทียบ E หรือ S และ G ในอุตสาหกรรมแล้ว เป็นอย่างไร ถ้าเราห่างจากเขามากแสดงว่าเรามีความเสี่ยงมากหรือไม่ งานวิจัยก็อยากเป็นส่วนที่อยากให้เปิดมุมมองในส่วนนี้”

 

 

 

 

วิจัยนี้ยังใช้ข้อมูลจากทั่วโลก ถ้าพูดถึงความเสี่ยงมันมีความเสี่ยงหลายแบบที่สามารถวัดได้ มาตราวัดความเสี่ยงไม่ได้ดูแค่ความผันผวนกำไร เงิน อย่างเดียว แต่ต้องดูความเสี่ยงที่มาจากการตัดสินใจผู้บริหาร ซึ่งการตัดสินใจของผู้บริหาร ก็จะเชื่อมโยงถึงโพสิชั่นนิ่งของ ESG ซึ่วต้องมาดูว่ามีนิยามอะไรบ้างที่สามารถวัดความเสี่ยงได้ มาดูโครงสร้างของหนี้ว่าจะมากหรือน้อย 

รวมถึงโพสิชั่นนิ่งของเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่นำมาใช้ในงานนี้ ดูว่าการลงทุนในเทคโนโลยี มีมากหรือน้อยเรากว่าคนอื่น ถ้าต่างจากคนอื่น ในนั้นควรจะมีหนี้น้อยลงเพื่อที่จะสร้างสมดุล ปรับใช้ในโพสิชันนิ่ง ESG ว่าแทนที่จะคิด ESG เป็นการลงทุนระยะยาว ถ้าลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม นักลงทุนและประชาชน หรือลูกค้าจะชอบบริษัทนี้ 

“จะเห็นว่า ESG กับความเสี่ยงมันเชื่อมโยงกัน มีหลายมิติ หรือในงานวิทยานิพนธ์ของผม ข้อมูลของบริษัทประกันวินาศภัยในอเมริกา เป็นทั้งบริษัทที่เป็นพับบลิก และไพรเวท เราดูการวัดความเสี่ยงในนั้นก็ดูว่า บริษัท ประกันลงทุนในหุ้น เมื่อเทียบกับตราสารหนี้มากหรือน้อย ถ้าเกิดมากก็เป็นไปได้ว่าบริษัทนี้ ความเสี่ยงมากขึ้น ก็เป็นอีกมาตราวัดนึง บริษัทขุดเหมืองทองคำ ถ้าเราจะวัดความเสี่ยงอาจจะดูที่ดาต้าก็ได้ ถ้าใคร ที่ค่อนข้างสันทัดด้านนี้ ถ้าราคาเพิ่มสักนิดนี้ พอร์ตฟลอริโอจะเคลื่อนไปเท่าไหร่ ก็เป็นการวัดความเสี่ยงอีกแบบนึง บริษัทขุดทอง ถ้าดูในกลยุทธ์บริษัทขุดทองนั้น ความจริงแล้วในแวลูเชนจ์นั้น จะมีการโอเปอเรชั่นขุดทองขึ้นมา แล้วจะเอาทองนั้นไปเทรดหรือขายเมื่อไหร่ ดังนีั้นในโมเดลนี้ เราก็จะปรับความเสี่ยงโดยดูจากโพสิชั่นนิ่งว่า ESG ของเราอยู่ห่างจากเพื่อนมากหรือน้อย ถ้าเราห่างมาก ก็อาจต้องลดความเสี่ยงให้น้อยลง”