ESG Symposium 2024 ตัวแทนรัฐบาลรับสมุดปกขาว ยกระดับสังคมไทย มีภูมิคุ้มกันสู้โลกรวน ผ่าน 4 ข้อเสนอ ก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียว ปลดล็อกกฎหมาย ขยายเงินทุน พัฒนานวัตกรรม หนุนSMEs พร้อมเสรีพลังงาน ด้านรัฐบาล รับวิกฤติโลกเดือดลามความมั่นคงเศรษฐกิจ
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องการผู้ที่ปรับตัวยืดหยุ่น พร้อมรับทุกสภาวะการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวสู่โอกาส ไปพร้อมกัน ก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียว นำความยั่งยืน ทุกประเทศกำลังมุ่งมั่นหนทางในการปรับตัวเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ข้ามว้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน
ภายในงาน “ESG Symposium2024” ซึ่งจัดขึ้นมากกว่า 10 ครั้ง โดยมีการระดมสมองทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ธุรกิจ และภาคประชาสังคม รวบรวมข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก
ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี กล่าวรายงานในการยื่นสมุดปกขาว เสนอรัฐบาลว่า เห็นถึงความตั้งใจ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการผลักดันประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาโลกเดือดระยะยาว ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลมีความห่วงใยช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบภัยน้ำท่วม พิษจากการเผชิญปัญหาภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง PM 2.5 ซึ่งเกิดจากวิกฤติโลกเดือด
1 ปี สระบุรี โมเดลสังคมคาร์บอนต่ำ
เปลี่ยนผ่านเกษตรกรสู่ความยั่งยืน
ทั้งนี้ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ได้มีการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ที่ร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวในการทำภารกิจที่ท้าทาย เพื่อร่วมเร่งเปลี่ยนประเทศไทยสู่งสังคมคาร์บอนต่ำ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือ ในการสร้างโอกาสให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนเกษตรกร มีอาชีพ มีรายได้เพิ่ม ผ่านโครงการสระบุรีแซนด์บอกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ ด้วยการส่งเสริมชุมชนให้ปลูกหญ้า เนเปียร์ กว่าร้อยไร่ นำมาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนได้กว่า 2,500 ตันคาร์บอน สร้างรายได้ให้เกษตรกร 2.5 ล้านบาทต่อปี
รวมถึงการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศไทย ให้เป็นปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้คาดน่าจะสูงถึง 80% ลดการปล่อยคาร์บอนได้ 1.7 ล้านตันคาร์บอน และตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ไม่ใช้ปูนปล่อยคาร์บอนสูงภายในปี 2568
การยกระดับนวัตกรรม รีไซเคิลที่สร้างรายได้ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น มีการทำโครงการเครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลกที่เป็นความร่วมมือระหว่างโฮมโปรและเอสซีจี นำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว มารีไซเคิลในรูปแบบ Closed Loop สามารถสร้างรายได้และตอบเทรนด์ผู้บริโภค
เปิด 4 ข้อเสนอ สมุดปกขาว
เสรีพลังาน-ติดอาวุธสังคมไทยสู้โลกเดือด
ปีนี้ได้ระดมพลังและสมองกว่า 3,500 คน เป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน ร่วมกันถอดบทเรียนจาก 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อค้นหาศักยภาพในการเร่งเปลี่ยนผ่าน และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยสรุป 4 แนวทางได้แก่
1.ปลดล็อกกฎหมาย และข้อกำหนด (Law & Regulation) เพื่อให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เช่น การเปิดเสรี การเร่งซื้อขายพลังงานสะอาด หรือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือระบบสมาร์ทกริด จะทำให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่าย สำหรับโครงการพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ที่มีหลายภาคส่วนกังวลว่า จะทำให้เกิดระบบสายส่งไม่เสถียร กำหนดให้มีการติดระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าเข้าไปด้วย เพื่อสร้างเสถียรภาพของระบบ โดยรัฐบาลสามารถให้การสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจในการลงทุน
ต่อมาคือการจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ครอบคลุมทั้งระบบกำหนดมาตรการจูงใจเช่น การลดภาษี การให้เงินสนับสนุน รวมทั้งวการสนับสนุนการวิจัยพัฒนานวัตกรรม การจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมนโยบายสีเขียว รวมถึงให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภาครัฐสามารถนำร่องจัดซื้อจัดจ้างเพื่อส่งเสริมการใช้สินค้ากรีน เพื่อจะสร้างระบบนิเวศน์ให้เข้มแข็ง
- ผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว (Green Finance) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าสามารถได้รับการสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบการและภาครัฐ ส่งเสริมการขึ้นทะเบียนคาร์บอนที่เป็นมาตรฐานสากล และจัดตั้งหน่วยงานในประเทศเพื่อรองรับมาตรฐานดังกล่าว เพื่อจะช่วยลดต้นทุนในการทำคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปขอสินเชื่อสีเขียว ซึ่งเอสซีจีก็มีความพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยง SMEs และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ
3.การพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างสีเขียว (Technology & Green Infrastructure) การสนับสนุนการใช้กักเก็บพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกักเก็บพลังงานความร้อน หรือแบตเตอรี่ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงานหมุนเวียน ควรมีการสนับสนุนเรื่องการวิจัย ด้านการผลิต และการสนับสนุนการใช้ พร้อมปรับปรุงโครงการสร้างการใช้ โครงสร้างสีเขียวที่มีอยู่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่่อให้วสามารถนำที่ว่างมาใช้พลังงานสะอาด และปรับปรุงโครงสร้าง พื้นฐานระบบสายส่ง ให้เพียงพอสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด และเร่งปรับปรุงระบบกรีนโลจิสติกส์ เช่น สามารถใช้ระบบวิเคราะห์เส้นทาง การบรรทุกสินค้าที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุน เวลา และทรัพยากร และต้นทุนการทำธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะ ส่งเสริมแยกขยะเปียก ออกจากขยะแห้ง เพื่อเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุนในการรีไซเคิล พร้อมจัดตั้งศูนย์คัดแยก และนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการ เพื่อความเหมาะสม และหนุนธุรกิจ Circular Economy
4.การสนับสนุนส่งเสริมศักยภาพ SMEs รีสกิล อัพสกิล ให้ความรู้ความเข้าใจในการใช้พลังงานสะอาดเพื่อการลดต้นทุน นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์อัตโนมัติ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs
ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน และมีศักยภาพทางการแข่งขัน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาตลอด เอสซีจี และพันธมิตรทุกภาคส่วนหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อให้การขับเคลื่อนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง
โลกรวนภัยพิบัติ137ครั้งในไทย
ลามระบบเศรษฐกิจ
ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในหัวข้อ “Driving Inclusive Green Transiton” ว่า ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมาเกิดการแปรปรวน สภาพอากาศ ส่งผลกระทบเกิดภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง เกิดขึ้นในไทยถึง 137 ครั้ง ไทยจึงเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงทางด้านภัยภิบัติอันดับที่ 9 ของโลก ในปี 2567 เป็นปีที่เห็นชัดเจนมีในเดือนเมษายน เกิดอากาศร้อนจัดอุณหภูมิไม่น้อยกว่า 40 องศาเซลเซียส และยังมีฝนตกหนักในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะเกิดร่องมรสุมพัดผ่าน
ทางรัฐบาลได้ประกาศขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาวิกฤติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งจากพายุดินโคลน ที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และระบบเศรษฐกิจ สังคม จึงต้องกำหนดเป็นวาระเร่งด่วน ในการแก้ไขปัญหาใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นำสังคมไทยไปสู่คาร์บอนเป็นศูนย์ ในปี 2065 (พ.ศ.2608) และเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 (พ.ศ.2593)
“รัฐบาลตระหนักดีว่า เป็นวาระสำคัญในการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงภายใน 10 ปีข้างหน้า จึงต้องมีการรวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อให้เกษตรกรไทย ได้มีความมั่นคงทางอาหาร ท่องเที่ยว เพราะเป็นรายได้หลักของประเทศ”
วางยุทธศาสตร์เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสีเขียว
นอกจากนี้จะต้องศึกษาการวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถแข่งขัน พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันโรคที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการย้ายถิ่นฐานของประชากร พร้อมกันกับทำงานร่วมกันกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัย นอกจากนี้จะต้องมีการปลดล็อกกฎหมาย ผลักดันร่างพระราชบัญญัติเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อทำให้เกิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการพัฒนากองทุนการปรับตัวของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)
“รัฐบาลมีเป้าหมายในการขับเคลื่อน Green Economy เป็นสิ่งสำคัญของระบบเศรษฐกิจ อย่างยั่งยืน ที่สอดคล้องกับทิศทางของโลก และเป็นการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมกันกับส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ในการพร้อมปรับตัวเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ทำให้มีตลาด เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นพลังสร้างภูมิคุ้มกัน จึงจะเป็นปัจจัยไปสู่ความสำเร็จ สร้างสังคมไทยสู่เศรษฐกิจยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้่างหลัง”