EGCO Group ทบทวนแผนลงทุนระยะ 3 ปี เน้นกลยุทธ์ “Triple P” ตอบโจทย์การเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติ สร้างความสมดุลทางธุรกิจ ผลการดำเนินงานที่แข็งแรงอย่างต่อเนื่อง และการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ พร้อมตั้งงบลงทุนปีละ 3 หมื่นล้านบาท มุ่งลงทุนธุรกิจไฟฟ้า และแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง
ความต้องการพลังงานไม่มีวันสิ้นสุด แต่ทิศทางของโลกมุ่งสู่เป้าหมายการใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) มากขึ้น ซึ่งก็คือพลังงานที่ใช้ไม่หมด สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะมีแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติรอบ ๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ความร้อนใต้พิภพ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ รวมถึงผลผลิตและวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย กากมันสำปะหลัง หรือมูลสัตว์ ก็สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงาน
แนวโน้มใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้น
องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) หรือ IEA พยากรณ์แนวโน้มการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3.3% ในปี 2567 หลังจากความต้องการใช้พลังงานลดลงช่วงการระบาดของโควิด 19 ขณะเดียวกันยังมองว่าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดจะเติบโตขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของแหล่งจ่ายไฟทั่วโลก
โดยปัจจุบัน 26% ของแหล่งพลังงานโลกมาจากพลังงานหมุนเวียน และในปี 2568 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% จากปัจจัยเรื่องต้นทุนการผลิตที่ถูกลงและวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เร่งให้การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพลังงานสะอาดรุดหน้ากว่าเดิม
พลังงานสะอาด สู่อนาคตที่ยั่งยืน
ข้อมูลจาก finbiz by ttb ระบุว่า พลังงานสะอาด เป็นหนึ่งในเทรนด์ธุรกิจที่จะส่งผลต่อการเติบโตในปี 2568
โดยในปี 2568 นี้พลังงานสะอาดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความต้องการในการลดคาร์บอน รวมถึงวิทยาการ นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดการใช้พลังงาน หรือผลิตพลังงานสะอาดด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ จึงทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
หลายองค์กรมีแนวทางธุรกิจ ลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อลดต้นทุนพลังงานในระยะยาว ปรับกลยุทธ์การผลิตเพื่อลดคาร์บอน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ธุรกิจใหม่ ๆ ที่ต่อเนื่องมาจากนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียน เช่น การกำจัดแบตเตอรี่ การซ่อมบำรุงยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ การกำจัดแผงโซลาร์เซลล์ หรือนวัตกรรมการรีไซเคิลต่าง ๆ
EGCO เดินหน้าขยายลงทุนพลังงานสะอาด
หนุนเป้า Energy Transition ไทย
บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด หรือ EGCO Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ของไทย กางแผน 3 ปี ทิศทางของธุรกิจ เพื่อรองรับยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
นางสาวจิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เปิดเผยว่า EGCO Group ได้ทบทวนและปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจระยะ 3 ปี (ปี 2568-2570) เพื่อรองรับยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยตั้งงบลงทุนปีละ 30,000 ล้านบาท มุ่งเน้นการต่อยอดธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
โดยการปรับกลยุทธ์ระยะ 3 ปีดังกล่าวมีเป้าหมายสร้างความแข็งแกร่ง 3 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรอย่างยั่งยืน, การบรรลุเป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ และการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวนี้จะขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ “Triple P” 3 ด้าน ได้แก่
- Profitability and Performance Energizing เพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อดูแลอัตราส่วนหนี้สินและรักษาอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ถือหุ้น ด้วยนโยบายการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
- Power and Energy-related Focus เน้นลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักและรากฐานความแข็งแกร่งของ EGCO Group ทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ผ่านการลงทุนทั้งรูปแบบ M&A (ซื้อและควบรวมกิจการ) และ Greenfield (ลงทุนเอง) ตลอดจนแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง โดยต่อยอดการลงทุนในประเทศที่มีฐานธุรกิจอยู่แล้ว 8 ประเทศ ด้วยการตั้งงบลงทุนปีละ 30,000 ล้านบาท
- .Portfolio and People Management บริหารจัดการพอร์ตการลงทุนและทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมุ่งเน้นสร้างความเป็นเลิศในกระบวนการดำเนินงาน (Operational Excellence) ให้ความสำคัญกับการบริหารสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ เพื่อนำรายได้ไปแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ (Asset Recycling) ที่จะสร้างการเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว
พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในระดับสากล ตลอดจนปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการต่าง ๆ เพื่อรองรับโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต
“EGCO Group เชื่อมั่นว่า กลยุทธ์ Triple P จะตอบโจทย์การเติบโตขององค์กรอย่างอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างโอกาสทางธุรกิจ ผลการดำเนินงานที่แข็งแรงอย่างต่อเนื่อง และการบรรลุเป้าหมายเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ ทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายระยะสั้น ภายในปี 2573 เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ของกำลังผลิตทั้งหมด เป้าหมายระยะกลาง ภายในปี 2583 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายระยะยาว ภายในปี 2593 จะบรรลุการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon)”
ปี 2568 เดินหน้าแสวงหาโอกาสลงทุน
สำหรับการดำเนินงานในปี 2568 ECGO Group เดินหน้าลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตั้งงบลงทุน 30,000 ล้านบาท
การเติบโตทางธุรกิจในปี 2568 จะมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากโครงการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ การรับรู้รายได้เต็มปีจากการเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass ในสหรัฐอเมริกา และจากการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration ส่วนขยาย จ.ระยอง
การรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin ในไต้หวัน การรับรู้รายได้จากการขายโครงการพลังงานหมุนเวียนและการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ APEX ในสหรัฐอเมริกา การเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ของโรงไฟฟ้า Quezon ในฟิลิปปินส์ ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสปิดดีลโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ในรูปแบบ M&A ทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้ทันที
นอกจากนี้ EGCO Group ยังสามารถผลักดันโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้มีความก้าวหน้าตามเป้าหมาย โดยเฉพาะ Yunlin ที่ติดตั้งเสากังหัน (Monopiles) และกังหันลม (Wind Turbine Generators – WTGs) ครบ 80 ต้น เรียบร้อยแล้ว และได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วทั้งสิ้น 68 ต้น คิดเป็นกำลังผลิต 544 เมกะวัตต์ บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบครบ 640 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปี 2567 นี้
สำหรับ EGCO Group มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 7,019 เมกะวัตต์ (รวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) โดยมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,463 เมกะวัตต์ (คิดเป็น 21% ของกำลังผลิตทั้งหมด) ทั้งจากชีวมวล พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมทั้งบนบกและนอกชายฝั่ง เซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่
ทั้งนี้โรงไฟฟ้าและโครงการต่างๆ ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ บริษัท เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด “ESCO” ให้บริการงานเดินเครื่อง บำรุงรักษา วิศวกรรม ก่อสร้าง และการฝึกอบรมแก่โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ บริษัทโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค “CDI” ในอินโดนีเซีย ระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “TPN” โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง “ERIE” บริษัทด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม “Innopower” และบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงิน “Peer Power”
ทบทวนบริษัทย่อยในเครือกว่า 100 บริษัท
นางสาวจิราพร ยังกล่าวว่า บริษัทฯ เตรียมทบทวนบริษัทย่อยที่อยู่ในเครือกว่า 100 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแล้ว 50 บริษัท และบริษัทที่จดทะเบียนไว้แล้วแต่ยังไม่ได้เปิดดำเนินการอีก 50 บริษัท ซึ่งได้จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทบทวนความเหมาะสมของธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาสแรกปี 2568 (ม.ค.-เม.ย. 2568)
นโยบายทรัมป์ ลดความสำคัญพลังงานทดแทน
ส่วนนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มีทิศทางลดความสำคัญของพลังงานทดแทนลง บริษัทฯ มองว่าพลังงานทดแทนยังสำคัญต่อโลกในปัจจุบันและหลายประเทศยังต้องการเชื้อเพลิงสะอาด ดังนั้นบริษัทฯ จะเดินหน้าลงทุนพลังงานทดแทนในสหรัฐฯ ต่อไป ผ่านโครงการ APEX รวมถึงพิจารณาขยายการลงทุนพลังงานทดแทนโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติมด้วย อย่างไรก็ตามบริษัทฯ จะติดตามนโยบายของทรัมป์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ลงทุนโครงการไฟฟ้าสีเขียว 10 โครงการในไทย
ส่วนการลงทุนพลังงานทดแทนในประเทศไทย คาดหวังจะได้รับสิทธิ์ดำเนินโครงการไฟฟ้าสีเขียว เฟส 2 ประมาณ 10 โครงการ จากที่ยื่นเสนอโครงการไปมากกว่า 10 โครงการ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยบริษัทมั่นใจว่ามีความพร้อมลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด และคาดรู้ผลประมาณภายในกลางเดือน ธ.ค. 2568
“ขณะนี้บริษัทฯ ได้เจรจาโครงการ M&A คาดว่าภายในไตรมาส 1 ปี 2568 จะรู้ผล 1 โครงการในประเทศ กำลังการผลิตประมาณ 500 เมกะวัตต์ และอีก 1 โครงการในต่างประเทศ อีกทั้งยังเจรจาโครงการในสหรัฐรัฐอีก 1-2 โครงการ”