กฟผ.ชี้พลังงานสีเขียวเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ชู 3 บทบาท แผนสร้างศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
การเปลี่ยนผ่านสู่ “พลังงานสะอาด” และ “พลังงานหมุนเวียน” เป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนของพลังงาน หลายประเทศได้ผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะในภาคการผลิตไฟฟ้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเป็นอันดับต้น ๆ เพราะต้องยอมรับว่าทุกธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรม ต่างก็มีการใช้พลังงานจากไฟฟ้าทั้งสิ้น โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รายงานว่า การผลิตไฟฟ้านั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ อันดับหนึ่ง โดยแหล่งพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้ามีหลายแหล่ง เช่น ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ น้ำมันดิน น้ำ ลม ชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้หรือของเสียจากการเกษตร เป็นต้น
อย่างไรก็ตามประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ใหม่ เน้นการปรับตัวรับเทรนด์โลก เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พร้อมหนุนอุตสาหกรรมติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์ใช้เอง ถือเป็นแผนแม่บทในการจัดหาและพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
กฟผ.ชูแผนงานเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ในฐานะหน่วยงานภาคพลังงานของประเทศ จึงได้ประกาศเดินหน้าในทิศทางเดียวกันกับกระแสโลก นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ควบคู่ไปกับการนำระบบกักเก็บพลังงานมาช่วยสร้างเสถียรภาพ
ธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงาน “Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business” หัวข้อ “Green Energy for Sustainable Business Growth : พลังงานสีเขียวเพื่อการเติบโตทางธุรกิจที่ยั่งยืน” ว่า ประเทศไทยมีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ 60% และถ่านหิน (Lick Night) ราว 20% ส่วนที่เหลือเป็นพลังงานสีเขียวหรือพลังงานหมุนเวียน
ดังนั้นในอนาคต หากดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) จะพบว่า สัดส่วนของพลังงานสีเขียวหรือว่าพลังงานสะอาดวางไว้อยู่ที่ 36% และในขณะนี้ ประเทศไทยก็กำลังมุ่งสู่ในเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนนโยบายฉบับใหม่ ต่อไปสัดส่วนพลังงานสีเขียวจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 51% ในปี 2580
“ทั้งนี้ กฟผ.เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ผลิตแล้วก็ส่งไฟฟ้า มองว่าไฟฟ้าสีเขียวจะเป็นกลจักรสำคัญช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศไทยเพื่อส่งเสริมในเรื่องของการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย”
ชู 3 บทบาทเพิ่มความสามารถการแข่งขันประเทศ
ธวัชชัย กล่าวต่อว่า กฟผ. มีส่วนที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศผ่านภารกิจ 3 ด้าน ได้แก่
บทบาทแรก คือการจัดหาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสีเขียว หรือพลังงานทางเลือก โดยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียว ต้องบอกว่าเรื่องของการพัฒนาพลังงานสีเขียว คือ การพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำตามเขื่อนต่าง ๆ กฟผ.จะเพิ่มสัดส่วน Green Energy Portfolio ให้กับประเทศไทย
ทั้งยังมองหาพลังงานทางเลือกที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น เทคโนโลยีในเรื่องของไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ช่วยในเรื่องของการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียวที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนั้นยังมีแผนพัฒนาระบบ Grid Modernization ถือเป็นกุญแจสำคัญในการบริหารจัดการพลังงานสีเขียวสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟปัจจุบันมีระบบแบตเตอรีด้วยเทคโนโลยี “Battery Energy Storage System (BESS)” มาใช้ในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าของไทยที่ จ.ชัยภูมิ และลพบุรี
รวมถึงการบริหารจัดการพลังงาน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตเกินความต้องการในการใช้ไฟ ทางกฟผ.ไม่ต้องการปล่อยให้พลังงานสะอาดต้องหยุดการผลิตโดยไม่จำเป็น แต่จะนำพลังงานแสงอาทิตย์ที่เกินความต้องการมาบริหารจัดการพลังงานไปผลิตหรือไปจ่ายไฟให้กับผู้ที่ใช้ไฟในช่วงหัวค่ำถึงกลางคืน
บทบาทที่สองคือ เรื่องของการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้ยืดหยุ่น ทันสมัย เพื่อรองรับในเรื่องของพลังงานหมุนเวียนที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System) กุญแจสำคัญที่จะทำให้การผลิตพลังงานสีเขียวสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟ
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เป็นระบบกักเก็บพลังงานอีกประเภทนึง เรียกว่า แบตเตอรี่พลังน้ำ สามารถเก็บพลังงานส่วนเกินในช่วงเวลากลางวันได้เป็นปริมาณมาก และสามารถนำมาใช้ในการจ่ายไฟช่วงตอนค่ำได้อย่างแน่นอนและมั่นคง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการขยายสายส่ง และเรื่องของการบริหารจัดการพลังงานที่เรียกว่าเป็นศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า
บทบาทสุดท้าย เป็นเรื่องการสร้าง ความสมดุลไปสู่ความยั่งยืน ใน 2 บทบาทที่ถูกกล่าวมาเน้นย้ำในเรื่องการทำงานของกฟผ. แต่บทบาทที่ 3 นั้นก็สำคัญ เพราะทางองค์กรมองจากความสมดุลไปสู่ความยั่งยืน
“เรามองในเรื่องของธุรกิจการดำเนินงานในแง่ของการเป็นผู้ดูแลในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไฟฟ้าของประเทศ ร่วมกับมุมมองในเชิงสิ่งแวดล้อม โดยมองทั้ง 3 ส่วนเข้าด้วยกัน เป้าหมายคือ ทำให้ประเทศไทยมีความยั่งยืนในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถทำการแข่งขัน เพราะพลังงานสีเขียวจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำช่วยทำให้ธุรกิจของประเทศไทยตอบโจทย์ในเรื่องของความต้องการของการผลิตภัณฑ์สินค้า บริการของทั้งโลก ที่จะมุ่งสู่ในเรื่องของสีเขียว และเรื่องของพลังงานสะอาด เพราะฉะนั้นเราจะมองในมิติการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอกไดออกไซด์, การบริหารจัดการของเสียที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต รวมถึงในเรื่องการใช้พลังงานเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้าแล้วก็ส่งเสริมในเรื่องของการใช้พลังงานสีเขียว”