ฉากวางยาแมวดำ ในละครแม่หยัว สู่ข้อถกเถียงผู้บริโภคตื่นตัวไม่ยอมรับการทารุณกรรมสัตว์เพื่อความบันเทิง กรณีศึกษาวงการบันเทิงต่างประเทศ อาทิ ฮอลลีวูด ภาพยนตร์ดัง Game of Thrones , Harry Potter และ Pirates of the Caribbean ละครไทยต้องไปก้าวสู่การถ่ายทำที่คุ้มครองสิทธิสัตว์ตามหลักมนุษยธรรม Veganism Thailand ระบุ ทางเลือกการถ่ายทำมากมายแทนการใช้สัตว์จริงถ่ายทำเพื่อความบันเทิง
คลิปวิดีโอแมวดำดื่มยาพิษแล้วดิ้น ขย้อนเศษอาหารออกมา จากละครเรื่อง แม่หยัว ทางช่องวัน 31 หลังจากที่ได้ออนแอร์ EP.5 และมีฉากหนึ่งที่มีแมวดำกินน้ำผสมยาพิษ ก่อนจะชักกระตุกและนิ่งไป ทำเอาหลายคนตกใจกับภาพที่เกิดขึ้น จนเกิดการ #แบนแม่หยัว และตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังจากที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นแมวสีดำเป็นเหยื่อของการแสดงเพื่อความบันเทิง
ภาพแมวดำสำรอกเศษอาหารออกมา ภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางและถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเรียกร้องให้คว่ำบาตรละครเรื่องนี้ ท่ามกลางกระแสข่าวเชิงลบที่โหมกระหน่ำอย่างหนักนี้
ไม่ใช่ครั้งแรกในวงการบันเทิง
เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย ก่อนหน้านี้ภาพยนตร์เรื่อง A Dog’s Purpose ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังจากที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดที่กำลังทุกข์ใจและถูกบังคับให้ลงไปในน้ำที่ปั่นป่วนเพื่อจำลองสถานการณ์น้ำเชี่ยว
แปลกตรงที่ภาพยนตร์ประเภทนี้ใช้ประโยชน์จากความรู้สึกอ่อนโยนและสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างผู้ชมภาพยนตร์กับสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือแมว ภาพยนตร์กระแสหลักสะท้อนถึงวัฒนธรรมที่โดดเด่น และเรื่องราวที่มีสัตว์เลี้ยงผู้เห็นอกเห็นใจเป็นตัวละครหลักได้กลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น เนื่องจากสถานะของสัตว์เลี้ยงในสังคมยุคปัจจุบันได้พัฒนาไปจนถึงจุดที่ส่วนใหญ่มองว่าสัตว์เลี้ยงเป็นครอบครัวมากกว่าทรัพย์สิน
แม้ว่าภาพยนตร์เหล่านี้จะมีความนิยมสูง แต่ฉากเบื้องหลังนั้นมีความขัดแย้งต่อความรู้สึกที่ทำให้ผู้ชมไม่สบายใจ
กฎหมายยังคงจัดให้สัตว์เป็นทรัพย์สิน ทำให้สัตว์ได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นอุปกรณ์ประกอบฉากเบื้องหลังในขณะที่สัตว์ได้รับการยกย่องว่าเป็นสมาชิกในครอบครัว อุตสาหกรรมภาพยนตร์มีทั้งสองอย่าง นั่นคือการแสวงกำไรจากความรักที่ผู้ชมมีต่อสัตว์ในขณะเดียวกันก็ทำร้ายสัตว์ด้วย
Veganism Thailand ไม่เห็นด้วยใช้สัตว์เพื่อความบันเทิง
พิชญพร ฤทธิ์คัมภีร์ จาก Veganism Thailand ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนที่มีความสนใจเรื่องวีแกนและสิทธิสัตว์ ให้ความเห็นว่า Veganism Thailand เชื่อมั่นในสิทธิสัตว์ เพราะสัตว์ทุกประเภทมีชีวิตเป็นของตนเองไม่ต่างจากมนุษย์ กลุ่มไม่เห็นด้วยกับการใช้สัตว์เพื่อความบันเทิงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อละครสัตว์ หรือแม้กระทั่งในปัจจุบันที่มีการใช้ในการถ่ายทำละคร หรือภาพยนตร์ต่าง ๆ เพราะเรามองว่า การที่นำสัตว์มาบางครั้งไม่ได้เป็นจุดประสงค์เพื่อสัตว์ แต่ทำเพื่อมนุษย์
ทางเลือกถ่ายทอด ไม่ประทุษร้ายสัตว์
ปัจจุบันการทำสื่อสามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ได้ โดยไม่ต้องใช้สัตว์ เพราะมีเทคโนโลยีตอนนี้เติบโตไปไกลมาก ไม่ว่าจะเป็น CGI หรือใช้เทคนิคการเล่าเรื่องต่าง ๆ แต่ถ้าต้องใช้สัตว์จริง ๆ จำเป็นต้องมีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบ ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ที่จะทำอย่างไรให้เราสามารถประเมินความเสี่ยงที่มีต่อสัตว์ได้ กำกับการดูแลในฉาก เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อทั้งคนและสัตว์
ถ้าในต่างประเทศ ก็จะมีองค์กรที่ทำงานด้านดูแลสัตว์ พร้อมกับมีสัญลักษณ์ หรือมีใบรับรอง No animals were harmed เพื่อให้ใบรับรองว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีการทำร้ายสัตว์ โดยการทำงานขององค์กรนี้เขาทำงานอย่างครอบคลุมมาก ๆ กองถ่ายต้องส่งเรื่องไปที่หน่วยงานนี้ และจะมีการเช็กลิสต์ ทำความเข้าใจกับทีมโปรดักชั่นว่าจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อที่จะการันตีว่า มีความจำเป็นต้องใช้สัตว์ในเรื่อง และเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่ได้เป็นภัยอันตรายหรือสร้างความเจ็บปวดให้กับสัตว์
แล้วเขาก็ยังระบุในรายละเอียดเช็กลิสต์อีกว่า สัตว์ไม่ใช่อุปกรณ์ประกอบฉาก แล้วก็ยังเขียนถึงฉากที่มีการวางยาสลบว่าถ้าเพื่อจุดประสงค์ถ่ายทำหนังอย่างเดียว เป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตเลย แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อเพื่อการรักษาสัตว์ เพราะมันเป็นกระบวนการวิธีที่มีความเสี่ยงสูงมาก
องค์กรนี้ก็จะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญหลาย ด้าน ทั้งด้านการถ่ายทำ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สปีชี่ส์ต่าง ๆ สัตวแพทย์ เขาจะช่วยประเมินความเสี่ยงในการถ่ายทำ เขาก็จะส่งคนของเขาไปเพื่อดูแลตรวจสอบว่า ทุกๆ ฉากมีความปลอดภัยต่อสัตว์ไหม แม้กระทั่งการนำสัตว์มามีคนให้น้ำ ให้อาหารสัตว์หรือไม่ และสภาพแวดล้อมเป็นพิษต่อสัตว์หรือไม่ ตรวจสอบจนจบการถ่ายทำ และต้องเตรียมตอบคำถามจากสังคมให้ได้ด้วยว่าแต่ละฉาก มีการทารุณกรรมสัตว์หรือไม่
ดังนั้นหน้าที่ของคนทำงานด้านสื่อภาพยนตร์ หรือละคร คือต้องรวบรวมตั้งแต่ก่อนถ่ายทำ จนถึงจบการถ่ายทำ ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้มองว่าจำเป็น ที่จะช่วยการันตีว่า สัตว์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อความบันเทิง ในการทำสื่อ ทำหนัง อย่างน้อยต้องได้รับการปฏิบัติ และมีสวัสดิภาพที่ดี ไม่เกิดอันตราย ไม่สร้างแม้แต่อุบัติเหตุทางจิตใจ
“ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้สัตว์จริงๆ มันยังมีเทคโนโลยีอีกเยอะแยะมากมาย ที่สามารถนำมาใช้แทนที่เราจะบังคับหรือใช้แรงงานสัตว์ เมืองไทยไม่มีกฏหมายควบคุมลักษณะนี้ อย่างกรณีน้องแมวดำ ไม่ใช่ครั้งแรกด้วยซ้ำ มันน่าจะเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว จนเป็นกระแสในตอนนี้ เราควรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในอุตสาหกรรม ทำให้เป็นระบบมากขึ้น มีการดูแลคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ให้มากขึ้น”
สังคมตื่นตัว ไม่สนับสนุนให้ทำร้ายสัตว์
อย่างไรก็ตาม กระแสกำลังเปลี่ยนไป และการบังคับให้สัตว์แสดงพฤติกรรมที่ผิดธรรมชาติเพื่อความบันเทิงของเราถูกปฏิเสธมากขึ้นเรื่อย ๆ การตรวจสอบจากสาธารณชนที่เพิ่มมากขึ้นและกำไรที่ลดลงทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมความบันเทิง เช่น SeaWorld และ Ringling Brothers ยุติการใช้สัตว์
วิดีโอเบื้องหลังฉากเช่นนี้ซึ่งแสดงให้เห็นสุนัขตกใจกลัวและถูกบังคับให้ “แสดง” แสดงให้เห็นว่าไม่เพียงแต่สัตว์แปลกๆ ที่ถูกกักขังเท่านั้นที่ต้องทนทุกข์ทรมานในอุตสาหกรรมบันเทิง สัตว์เลี้ยงก็ตกเป็นเหยื่อของการทารุณกรรมและการปฏิบัติที่ไม่ดีเช่นกัน
แต่สัตว์เหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองหรือได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีในกองถ่ายหรือไม่? ห่างไกลจากคำว่าคุ้มครองมาก PETA (People for the Ethical Treatment of Animals: PETA เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรด้านสิทธิสัตว์ของอเมริกา) เปิดเผยเมื่อไม่นานนี้การสืบสวน Birds and Animals Unlimited ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของ “บุคลากรด้านสัตว์” รวมถึง A Dog’s Purposeรวมถึงภาพยนตร์และรายการทีวีชื่อดังอย่าง Game of Thrones , Harry Potter และ Pirates of the Caribbeanได้เปิดเผยสภาพอันเลวร้ายและการละเลยสัตว์ในความดูแลอย่างเปิดเผย เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้สัตว์ การทารุณกรรมมักเกิดขึ้นเนื่องจากขาดความโปร่งใสและการกำกับดูแล
ผู้ชมภาพยนตร์หลายคนเชื่อว่าสัตว์ที่พวกเขาเห็นบนจอภาพยนตร์นั้นปลอดภัยจากอันตราย เนื่องจาก American Humane Association (AHA) ซึ่งเป็นองค์กรเดียวในอุตสาหกรรมที่รับรองการดูแลสัตว์อย่างมีมนุษยธรรม ในภาพยนตร์ของ Screen Actors Guild ได้ยืนยันเรื่องนี้ในตอนท้ายของภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่สัตว์ปรากฏตัว อย่างไรก็ตาม สมาคมป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แห่งอเมริกา ก็ได้อนุมัติให้ภาพยนตร์หลายเรื่องที่มีสัตว์ได้รับอันตรายจริงเข้าร่วมในฉากภาพยนต์
เพื่อให้เห็นภาพขอยกตัวอย่างเพียง 2 ตัวอย่าง ในปี 2013 (พ.ศ. 2555) ผู้สื่อข่าวเปิดเผยข้อมูลว่า สถาบันบันเทิงที่มีชื่อเสียงอย่าง ฮอลลีวูด ได้นำเสือโคร่งชื่อ“ราชา” เสือโคร่งเบงกอลที่ใช้ในภาพยนตร์เรื่อง Life of Pi ที่ได้รับรางวัลออสการ์ แต่เสือโคร่งดังกล่าวเกือบจมน้ำตายระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ แล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงได้รับเรตติ้ง ได้รับการการันตีจาก AHAว่า “ไม่มีสัตว์ได้รับอันตราย”
และในปี 2012 (พ.ศ. 2554) เราพบว่ามีสัตว์ 27 ตัวถูกฆ่าระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Hobbit ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการอนุมัติจาก AHA เช่นกัน นอกจากนี้ AHA ยังไม่ได้กล่าวถึงสภาพแวดล้อมที่สัตว์ที่ถูกบังคับให้แสดงในภาพยนตร์อาศัยอยู่นอกกองถ่าย หรือวิธีการฝึกสัตว์ให้แสดง
ใช้เทคโนโลยีแทนการนำสัตว์เข้าฉาก
ผู้คนต่างหลงใหลในสัตว์และอยากเห็นสัตว์เหล่านี้บนจอภาพยนตร์อยู่เสมอ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้สิ่งนี้เป็นไปได้โดยที่สัตว์ตัวใดตัวหนึ่งไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะบังคับให้สัตว์มีชีวิตมาแสดงบนจอภาพยนตร์ในเมื่อเรามีสัตว์อื่น ๆ มากมายให้เลือกชมอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชั่นสุดมหัศจรรย์ที่ได้รับรางวัลอย่างThe Jungle Book (2016) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากและเต็มไปด้วยสัตว์ที่น่าทึ่งและเหมือนจริง ถ่ายทำด้วยภาพที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ (CGI) ทั้งหมด ยกเว้นนักแสดงมนุษย์ที่รับบทเป็นเมาคลี
เราหวังว่าภัยพิบัติทางด้านประชาสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้สร้าง A Dog’s Purposeจะช่วยกระตุ้นการปฏิรูปในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้ ผู้สร้างในอนาคตอาจตัดสินใจว่าต้นทุนของการใช้สัตว์มีชีวิตนั้นสูงเกินไปเมื่อมีทางเลือกอื่นที่มนุษยธรรม (และสวยงามน่ามอง!) อยู่ โอกาสมากมายที่จะนำเสนอสัตว์ CGI ที่ดูสมจริงและน่าทึ่งในภาพยนตร์ในขณะที่ไม่นำสัตว์มีชีวิตเข้ามาอยู่ในกองถ่าย ลองดูThe Jungle Bookสิ ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านคำวิจารณ์และรายได้มากกว่า 966 ล้านเหรียญสหรัฐ (32,844 ล้านบาท)แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าภาพยนตร์สามารถเต็มไปด้วยสัตว์ได้ แต่จะไม่นำสัตว์มาใช้ในการผลิต
การวางยาสลบสัตว์ต้องทำโดยสัตวแพทย์เท่านั้น
มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ (Watchdog Thailand Foundation-WDT) ระบุว่า จากประเด็นกองถ่ายละครวางยาสลบสัตว์เพื่อใช้ประโยชน์ในการแสดงเป็นทารุณกรรมสัตว์ WDT รอผลการตรวจสอบจากกรมปศุสัตว์ พร้อมขอเทปรายการการถ่ายทำละครแม่หยัว และนำแมวมาตรวจสุขภาพและอัตลักษณ์
นอกจากนี้ ยังระบุว่า ประเด็นสำคัญที่จะต้องขอให้ดำเนินการสอบสวน คือ
1.การวางยาสลบในสัตว์ต้องกระทำโดยสัตวแพทย์เท่านั้น ตามกฏหมาย พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวแพทย์ และต้องเป็นไปเพื่อการรักษาชีวิตของสัตว์ ไม่ใช่นำสัตว์มาเสี่ยงกับอันตรายที่จะเกิดจากการวางยาสลบ
2.หาก “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ผู้กำกับละครชี้แจงมา มิใช่สัตวแพทย์ผู้รับผิดชอบกองถ่ายละครและเจ้าของสัตว์ จะต้องมีความผิดตามกฏหมาย พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวแพทย์
นอกจากนี้หาก “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ผู้กำกับละครชี้แจงมา เป็นสัตวแพทย์ ต้องมาดูในเรื่องจรรยาบรรณ และพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรม เพราะการวางยาสลบในสัตว์ โดยเจตนาให้สัตว์ได้รับอาหาร จนแสดงอาการขย้อน และกระตุกจนสลบแน่นิ่ง เป็นเจตนาทำให้สัตว์อยู่ในความเสี่ยงและเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการใช้ยาสลบ
เนื่องจากหลักการทางวิชาการ ในการทำให้สัตว์สลบ จะต้องงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนการใช้ยา เพื่อป้องกันมิให้สัตว์ขย้อนจนสำลักอาหารเข้าสู่หลอดลมขณะอยู่ในภาวะสลบ การใช้ยาระงับประสาท ยากลุ่มนำยาสลบ หรือยาสลบ จะใช้เพื่อต้องการระงับประสาทและความเจ็บปวด เพื่อการรักษาผ่าตัดในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
หรือจะใช้ยาระงับประสาท เพื่อทำการเคลื่อนย้ายสัตว์ อันเป็นเหตุประกอบการรักษาหรือการจัดสวัสดิภาพสัตว์เท่านั้นไม่สามารถใช้ได้ถ้าไม่มีเหตุอันควร เพราะตัวยาที่ใช้ในการเหนี่ยวนำให้เกิดการสลบ หรือกลุ่มยาสลบมีผลต่อการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด อุณหภูมิของร่างกาย การหายใจ และระยะเวลาที่สัตว์สลบแล้วทำการ recover ตัวเองจากการฟื้นจากยาสลบนั้น สัตวแพทย์ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
มีการเตรียมเครื่องมือกู้ชีพ มีการให้น้ำเกลือ หรือใส่ท่อช่วยหายใจ เพื่อแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ทันท่วงที ดังนั้น ในเมื่อมีการกระทำที่ตรงกันข้ามกับหลักการและจรรยาบรรณ เพื่อหวังประโยชน์จากการใช้งานสัตว์
ผู้รับผิดชอบกองถ่ายละคร เจ้าของสัตว์ และสัตวแพทย์ จึงมีความผิดทารุณกรรมสัตว์ ตามกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์พ.ศ.2557รอดูผลการตรวจสอบกัน เพราะไม่ว่าอย่างไร จะเป็นข้อ 1 หรือ 2 ก็ผิดและความผิดเกิดขึ้นสำเร็จแล้ว