ไขปัญหา ‘โกโก้’ พืชเศรษฐกิจใหม่ ทำอย่างไรธุรกิจที่เกี่ยวข้องโตได้อย่างยั่งยืน

ไขปัญหา ‘โกโก้’ พืชเศรษฐกิจใหม่ ทำอย่างไรธุรกิจที่เกี่ยวข้องโตได้อย่างยั่งยืน

ไขปัญหา ‘โกโก้ พืชเศรษฐกิจใหม่’ ทำอย่างไรธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะโตได้อย่างยั่งยืน จุฬาฯ แนะเกษตรกร แก้วิกฤตราคาตกต่ำ อยากได้ผลผลิตดี ราคาสูง ต้องดูแล ด้านแบรนด์ช็อกโกแลตสัญชาติไทย ปักธงเป็นเมืองหลวงช็อกโกแลตแห่งเอเชีย พร้อมเสิร์ฟความอร่อยรสชาติโกโก้ไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก 

 

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โกโก้ (CaCao) กลายเป็น พืชเศรษฐกิจใหม่ มีอนาคตที่เกษตรกรไทยให้ความสนใจหันมาปลูกกันอย่างแพร่หลาย อยเช่น ที่จังหวัดน่าน เกษตรกรทำสวนโกโก้กันแทบทุกอำเภอ จนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดแห่งโกโก้ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญศิภรณ์ ณ น่าน ผู้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน (The Innovation Center for Research and Development of Sustainable Thai Cacao (ISTC) สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า โกโก้ยังคงเป็นพืชที่มีอนาคต มีบริษัทที่รับซื้อผลผลิต และสินค้าแปรรูปจากโกโก้จำนวนมาก 

แต่จะทำอย่างไรที่จะให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโกโก้โตได้อย่างยั่งยืน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นหลัก ๆ มาจากการที่เกษตรกรส่วนหนึ่งที่ยังขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโกโก้ ตั้งแต่เรื่องการเพาะปลูกดูแล การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการหมัก เรียกได้ว่า ทำบนความไม่รู้ เช่น อยากได้ผลผลิตดี ราคาสูง แต่ไม่ดูแลต้นพันธุ์ ผลผลิตจึงออกมาไม่ดี ไม่เป็นที่ต้องการของผู้รับซื้อ โกโก้ก็ขายไม่ได้ เป็นเหตุให้เกิดวิกฤตราคาตกต่ำ

 

 

ย้อนวิกฤตโกโก้

จ.น่านปลูกโกโก้มากสุดในไทย  

ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์ กล่าวว่า ‘โกโก้คือพืชราคาดีและมีอนาคต’ เป็นข้อความรณรงค์ที่จูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกโกโก้ ซึ่งจากการสำรวจของศูนย์ ISTC พบว่าเกษตรกรตัดสินใจหันมาปลูกโกโก้ด้วยข้อมูลจูงใจ 4 ประการ คือ 

1.โกโก้เป็นพืชอายุยาว 70 ปี 

2.ให้ผลผลิตทั้งปี 

3.โรคและแมลงน้อย-ดูแลง่าย ไม่ต้องเอาใจใส่มาก 

4.การประกันราคาที่ 5 บาท และมีตลาดรองรับ 

 

แรงจูงใจเหล่านี้โดยเฉพาะด้านราคาทำให้เกษตรกรหันมาปลูกโกโก้กันแทบทั่วประเทศ ซึ่งตอนที่ผลผลิตล็อตแรกออกมา มีการปั่นราคาโกโก้ขึ้นไปถึง 7 เท่าของราคาประกัน มีการรับซื้อผลโกโก้ในราคากิโลกรัมละ 35 บาท ราคาดีจนทำให้เกษตรกรหันมาปลูกกันมาก โดยโค่นไร่สวนเกษตรอื่น เพื่อที่จะเอาพื้นที่มาปลูกโกโก้ 

เช่น ที่จังหวัดน่าน เกษตรกรหันมาปลูกโกโก้กันแทบทั้งจังหวัดจนกลายเป็นจังหวัดที่มีโกโก้มากที่สุดในไทย แต่ไม่นานหลังจากนั้น โกโก้ก็ราคาตกอย่างหนัก ไม่มีคนรับซื้อ ผลผลิตขายไม่ออกและโดนคัดทิ้งเนื่องจากผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจากการสุ่มผลโกโก้จากเกษตรกรจำนวน 100 กิโลกรัม ปรากฎว่าผลที่ใช้ได้ มีไม่ถึง 15% 

“คนรับซื้อต้องทิ้งผลผลิต 85% คนรับซื้อก็เสี่ยงจากการรับซื้อผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ คนปลูกก็เสี่ยงที่จะขายไม่ได้ทั้งหมด จากความไม่รู้ ในการส่งเสริมการปลูก การเก็บผลผลิต และการทำธุรกิจ ทำให้เกษตรกร ผู้รับซื้อและใครก็ตามที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจนี้ เริ่มต้นก็เจ๊งแล้ว” 

 

 

ปลูกโกโก้ เติบโตอย่างยั่งยืน 

ต้องเริ่มต้น ตั้งแต่ความรู้และเลือกพื้นที่

ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์ ย้ำว่า ไทยปลูกโกโก้มานานกว่า 40 ปีแต่องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับโกโก้ตั้งแต่กระบวนการผลิต เก็บเกี่ยว หมัก ยังเป็นเรื่องใหม่ในหมู่เกษตรกร ดังนั้น การแก้วิกฤตโกโก้จึงต้องกลับมาที่องค์ความรู้ งานวิจัย และเริ่มต้นใหม่ ด้วยการปลูกความรู้ที่ถูกต้องให้เกษตรกร ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของศูนย์ ISTC 

“เวลาและความรู้เป็นสิ่งที่เกษตรกรผู้สนใจปลูกโกโก้ต้องมี เกษตรกรต้องมีความรู้ในการเลือกพื้นที่ที่เหมาะจะปลูกโกโก้ เช่น พื้นที่นั้นต้องมีระบบน้ำ เกษตรกรต้องมีเวลาดูแลเอาใจใส่โกโก้ ให้น้ำและปุ๋ย และมีความรู้ความเข้าใจในการปลูกการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ถูกต้อง จากนั้นก็ต้องเสริมความรู้ด้านการสร้างมาตรฐาน พันธุ์ต่าง ๆ การปรรูป ตลอดจนสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่” 

 

 

หลายแบรนด์หนุนโกโก้ไทย ไปไกลระดับโลก

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายังมีหลายแบรนด์โกโก้ไทย ที่ประสบความสำเร็จทางการตลาด อาทิ ‘กานเวลา (KanVela)’ แบรนด์ช็อกโกแลตสายเลือดไทย จากเชียงใหม่ ซึ่ง การบินไทย นำแบรนด์นี้ขึ้นไปเสิร์ฟบนเครื่อง ช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ กานเวลา เป็น ธุรกิจ ‘คราฟท์ช็อคโกแลต’ สายพันธุ์ไทยครบวงจร ตั้งแต่การปลูกต้นโกโก้ จนถึงการแปรรูปทำช็อคโกแลตบาร์, ช็อคโกแลตสอดไส้, ผงโกโก้ และเครื่องดื่มช็อคโกแลต โดยมีรางวัลการันตีจากเวทีสากลหลายแห่ง ด้วยความตั้งใจของ ‘ธนา คุณารักษ์วงศ์’ ที่อยากยกระดับเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรไทย โดยเฉพาะโกโก้ กลายเป็นพลังขับเคลื่อนมหาศาล สร้างธุรกิจคราฟท์ช็อกโกแลตระดับพรีเมียมสัญลักษณ์ไทยแท้ ซึ่งใช้เวลาทุ่มเท ศึกษาและพัฒนาคราฟท์ช็อกโกแลต ให้ความสำคัญตั้งแต่แหล่งปลูก เพื่อจะได้ผลผลิตดีที่สุด

โดยลงทุนสร้างสวนเกษตรของตัวเองที่ จ.เชียงใหม่ อีกทั้งไปให้ความรู้สนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ปลูกโกโก้ปลอดสารพิษ ส่งต่อประโยชน์ไปสู่ภาคการเกษตร จนมีเครือข่ายลูกฟาร์มปลูกโกโก้หลายร้อยครัวเรือนกระจายตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยจะรับซื้อผลผลิตโกโก้ในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด เพื่อจูงใจให้เกษตรกรปลูกโกโก้คุณภาพดี และเมื่อมีวัตถุดิบดีนำไปแปรรูปเป็นคราฟท์ช็อกโกแลตคุณภาพ ภายใต้แบรนด์เป็นที่ยอมรับระดับสากล มั่นใจว่า จะช่วยเพิ่มมูลค่ายกระดับโกโก้ไทย สามารถปักธงในเวทีโลกได้สำเร็จ

 

 

Cacao Everywhere 

เปิดโลกคราฟท์ช็อกโกแลต กลางกรุง

ขณะที่ Cacao Everywhere เป็นอีกหนึ่งแบรนด์น้องใหม่ที่เกิดจากความหลงใหลในคราฟท์ช็อกโกแลตของ ‘บดินทร์ เจริญพงศ์ชัย’ กว่า 20 ปี ทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Yellow Chocolate ที่หวังว่าจะกระตุ้นการปลูกโกโก้ และยกระดับช็อกโกแลตในเมืองไทยให้มีชื่อเสียงทำกิจกรรมส่งเสริมการปลูกโกโก้ และยกระดับช็อกโกแลตในไทยให้เป็นที่รู้จัก 

แบรนด์ Cacao Everywhere เป็นคาเฟ่แห่งใหม่ที่จะมาเปิดโลกของคราฟท์ ช็อกโกแลต (Craft Chocolate) ซึ่งเป็นช็อกโกแลตที่มีการพัฒนารสชาติ และการร่วมทำงานกับเกษตรกรตั้งแต่ต้นทาง ตั้งอยู่ที่ Art4C ข้างสามย่านมิตรทาวน์ เป็น Flagship Store คาเฟ่ และ Grocery ศูนย์รวมผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ทำจากเมล็ดโกโก้จากเกษตรกรและรัฐวิสาหกิจชุมชนทั่วทุกพื้นที่ของไทยมาวางจำหน่าย โดยเปิดตัวครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 

 

 

 

บรรยากาศภายในร้าน ดีไซน์ให้เป็นทั้งคาเฟ่เครื่องดื่มจากช็อกโกแลตสัญญาติไทย ชา และ ไอศกรีม ที่สร้างสรรค์เมนูที่คิดค้นมาเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น Iced Roasted Almond Choc Heaven การชูกลิ่นหอมของอัลมอนด์ทั้งเปลือกที่คั่วสุกแล้ว มาเพิ่มรสชาติให้ช็อกโกแลตไทย 

บดินทร์ บอกว่า ความน่าสนใจของ Cacao Everywhere ก็คือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโกโก้ ที่มีมากกว่า 50 รายการ ไม่ว่าจะเป็น  ต่างหู กระเป๋า เครื่องสำอาง เซรั่ม โพรไบโอติกส์ โกโก้นิปส์ สินค้าด้านสุขภาพที่เน้นกระบวนการผลิต Waste Management เป็นการใช้ประโยชน์จากโก้โก้ให้ได้มากที่สุด โดยมีของเหลือทิ้งน้อยที่สุด เพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน 

ความตั้งใจในการปั้น CacaoEverywhere แห่งนี้ขึ้นมาไม่ได้เป็นแค่คาเฟ่ แต่เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ และหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญที่จะสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้ คราฟท์ ช็อกโกแลตของไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ เสน่ห์ของช็อกโกแลตไทยในแต่ละแหล่งผลิต (Destination) มีความแตกต่างกันของรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เมื่อได้ชิมแล้วจะรับรู้ได้ถึงรสชาติของผลไม้เมืองร้อน คือ มีความเปรี้ยว มีความหอมหวาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่หาไม่ได้ในประเทศอื่น เช่น ผลิตจากจังหวัดน่านจะมีความเป็นฟรุตตี้

หากเป็นที่นครศรีธรรมราชจะมีเสน่ห์ไปอีกแบบ ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกโกโก้ พร้อมให้คำแนะนำ เพิ่มความรู้ด้านการหมัก และตาก การกะเทาะเปลือกและคัดสรร เพื่อให้ได้มาซึ่ง คราฟท์ ช็อกโกแลตแท้ รสชาติดี ส่งถึงแหล่งจำหน่าย และผู้บริโภค 

Cacao Everywhere หวังเป็นฟันเฟือง ‘กลางน้ำ’ สำคัญที่จะรับซื้อจากเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เบื้องต้นรับจากแหล่งผลิตที่จังหวัดน่านเป็นหลัก เพื่อมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม และเค้ก พร้อมเสิร์ฟให้กับทุกคน

“สเต็ปต่อไปในเป้าหมาย 3 ปีต่อจากนี้ เตรียมขยายผลสู่การเติบโตรูปแบบของแฟรนไชส์ 10 สาขาตามเมืองท่องเที่ยวทั่วไทย ทั้งพัทยา ภูเก็ต และอื่น ๆ จุดหมายสำคัญของผลผลิตช็อกโกแลตจากทั่วประเทศที่จะส่งถึงคนที่รักการบริโภคช็อกโกแลต ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ใช่แค่แหล่งรับซื้อ แปรรูป และขายเท่านั้นบดินทร์ ยังมองไกลถึงการพัฒนาด้านความยั่งยืนให้เกิดขึ้นด้วยการส่งเสริมเกษตรกรปลูกโกโก้ได้มากเท่าไหร่ยิ่งจะเข้าไปเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับป่าหัวโล้นได้มากเท่านั้น”  

 

 

หนึ่งเมล็ดโกโก้ บอกเรื่องราว ‘ผู้คน-เศรษฐกิจ’

บดินทร์ ยังเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งที่ปลูกโกโก้ได้ดีไม่แพ้ประเทศอื่น เพราะได้เตรียมแผนพา คราฟท์ ช็อกโกแลตไทยออกไปโลดแล่นในประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย ถือเป็นโจทย์ที่ใหญ่ไม่แพ้กัน 

“ผมคิดถึงการวาดภาพลงบนผ้าใบฝืนใหญ่ (Canvas) เพื่อทำให้เห็นว่าแต่ละก้าวนั้นจะไปได้ไกลแค่ไหน ตั้งแต่ส่งเสริมเกษตรกร สร้างผลผลิตที่ได้คุณภาพ จากนั้นมีกลไกการตลาดและขายรองรับอย่าง Cacao Everywhere รวมถึงแบรนด์อื่น ๆ ที่ใช้ช็อกโกแลตเป็นวัตถุดิบหลัก ไปจนถึงสร้างแบรนด์คราฟท์ ช็อกโกแลต ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อให้ได้คำตอบสุดท้ายที่ว่า ‘หนึ่งเมล็ดโกโก้’ หรือ ‘ช็อกโกแลตหนึ่งแก้ว’ คุณค่า หรือ ประโยชน์ที่ได้จะส่งตรงถึงใครได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นรายได้ต่อครอบครัวเกษตรกรดีขึ้น ธุรกิจเติบโต และจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นจากพืชเศรษฐกิจที่ชื่อช็อกโกแลต”

อย่างไรก็ดี จากการเริ่มลงมือทำมาตลอด 20 ปี ในการยกระดับศักยภาพ โกโก้และคราฟท์ ช็อกโกแลตของไทย พบว่า ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมปักธงพาประเทศไทยให้ก้าวไปเป็นเมืองหลวงช็อกโกแลตของภูมิภาคเอเชียในอนาคต “บดินทร์” ทิ้งท้าย 

 

ที่มาข้อมูล : ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน (The Innovation Center for Research and Development of Sustainable Thai Cacao (ISTC) สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย