มุมมอง ‘ซีเค เจิง’ ไอดอล ทางความคิดคนรุ่นใหม่ ผู้ที่ยอมตาย เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ชูกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ใช้พลังซอฟต์พาวเวอร์เป็นอาวุธทรงพลังของไทยไปบุกโลก แทนตั้งภาษีกันของถูกจากจีน ไขเคล็ดลับความสำเร็จธุรกิจ ที่ต้องแลกมาด้วยความเสียสมดุลชีวิต ค้นหาทางแยกระหว่าง ความมั่นคง-ความฝัน-เวลา และนิยามความยั่งยืนของคนรุ่นใหม่
ชื่อ ซีเค เจิง (CK Cheong) เด็กหนุ่มเชื้อสายไทย-จีน ที่มียอดวิวคลิปเกินหลักล้านในหลายคลิป แม้พูดไทยคำอังกฤษคำ และภาษาไทย ยังไม่ชัดเจนแตกฉาน ทว่าเขาก็ได้กลายเป็นขวัญใจไอดอล ทางความคิดในเด็กเจเนอเรชั่นวาย และซี หลังจากที่เขากล้าวิพากษ์วิจารณ์ในแบบหักล้างความคิดของคนรุ่นเก่าในหลายด้าน อาทิ การไม่จำเป็นต้องมีบ้าน ยอมจ่ายเงินแพงๆ ซื้อความสุขและประสบการณ์เพื่อตัวเอง และต้องการประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ขัดแย้งกับคนรุ่นเก่าที่ยอมอดทน สะสมเงินเพื่อซื้อบ้าน เพื่อความมั่งคงยั่งยืนในอนาคต เมื่อทัศนคติใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงแล้วแนวคิดคความยั่งยืนของคนรุ่นใหม่จะเป็นอย่างไร
เป็นที่รู้กันว่าประวัติของเขาเคยถูกส่งตัวไปเรียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนที่อายุเพียง 13 ปี เมื่อเรียนจบสายบัญชี ได้ทำงาน CPA สะสมเงินทุนสักพัก จนก่อตั้งธุรกิจ จากนั้นจึงตัดสินใจบินมาอยู่เมืองไทย เพราะหลงใหล ความน่าอยู่และมีน้ำใจคนไทยที่มีมากกว่าคนชาติใดในโลก
ปัจจุบันซีเค หนุ่มเชื้อสายไทย-จีน เป็นผู้ก่อตั้ง บริษัทฟาสเวิร์ค (Fastwork Technologies) แพลตฟอร์มจ้างงานสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการค้นหาฟรีแลนซ์รับงาน ผู้ที่วางเป้าหมายความสำเร็จคือ ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย
เขายอมรับว่า เส้นทางนี้ ต้องยอมมีชีวิตที่ไม่สมดุล (Unbalance) เพราะความสำเร็จต่างก็แลกมาด้วยการสูญเสียบางสิ่ง ทำให้ชีวิตต้อง Unbalance เป้าหมายของชีวิตแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน และนิยามความสำเร็จนั้นก็แตกต่างกัน บางคนต้องการควบคุมบางอย่าง บางคนต้องการมีธุรกิจที่ขยายใหญ่ เติบโต เป้าหมายแตกต่าง วิธีการนำไปสู่ความสมบูรณ์แบบจึงต่างกัน บางคนต้องการธุรกิจ บางคนต้องการครอบครัว
“หากคุณอยากจะสร้างธุรกิจใหญ่โตคุณก็ต้องอันบาลานซ์ เพราะเราทุกคนถูกจํากัดด้วยเวลา สตีฟ จ็อบ (steve job) ถามหน่อย เป็นคนสําเร็จไหม สําเร็จแต่เขาเป็นพ่อที่แย่มาก หากคุณวัดเขาด้วยไม้บรรทัดเรื่องครอบครัวเขาคือพ่อที่แย่มาก หากดูสารคดี จะมีฉากที่พูดถึงแม่ต้องจูงลูกเข้ามาในห้องประชุมเพื่อขอเงิน”
กรุงเทพฯ ต้องไม่ใช่ศูนย์กลางทุกสิ่ง
ลดเหลื่อมล้ำ เริ่มจากกระจายความเจริญสู่ ต่างจังหวัด
เป้าหมายสำคัญที่เป็นดั่ง ‘ความฝัน’ ของ ซีเค ที่ตั้งใจ คือการ เปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้ประเทศไทยดีขึ้นกว่าวันนี้ เพราะประเทศไทยคือบ้านของเขา ต้องการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่ต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทุกสิ่ง ทุกจังหวัดจะต้องมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว
“ผมอยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เป็นสิ่งที่วางจุดยืนไว้ชัดเจนในสิ่งที่คิดและทำมาตลอด การหวังให้ประเทศไทยเปลี่ยนไปจากเดิม ก่อนผมตายต้องทําให้ประเทศไทยดีขึ้น ประเทศไทยคือ อันดับหนึ่งเพราะ ประเทศไทยก็บ้านของผม “
เขาจะยอมทำทุกอย่าง ทุกทางที่จะแลกกับทำให้ประเทศไทยดีขึ้น อย่างสู้สุดใจ จนแม้กระทั่งยอมตายระหว่างทาง จึงถือว่าภารกิจนี้สำเร็จแล้ว
“ต้องยอมตายระหว่างทาง คือความสำเร็จ คนที่ปีนเขาไม่ได้อยากถึงยอดเขานะ คนที่ปีนเขาชอบยอดเขา แต่พอถึงยอดเขาเขาถ่ายรูปแป๊บนึง 20 นาทีแล้วเขาก็หาภูเขาลูกใหม่ เพราะคนที่ปีนเขาไม่ได้รักยอดเขา แต่เขารักในกระบวนการในการปีนเขา ผมมีความสุขที่สุดคือระหว่างทางผมมาตายระหว่างทางครับอยากให้ประเทศไทยดีขึ้น ถ้ามันไม่มีวันเกิดขึ้น ผมก็ยอมตายระหว่างทาง เพราะประเทศไทย ไม่มีวันเพอร์เฟค” เขากล่าวถึงภารกิจที่ยอมแลก
ธุรกิจสำเร็จ ได้ด้วย ไมด์เซ็ท ‘ทำเพื่อคนอื่น’
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการประสบความสำเร็จ จึงต้องเริ่มต้นจากอยากทำอะไรก่อน เพราะความสำเร็จไม่มีสูตรตายตัว A B C แต่หากมองถึงประสบความสำเร็จทางธุรกิจ
“ทำธุรกิจให้สำเร็จ ต้องเริ่มจากเหตุผล อยากช่วยทำเพื่ออยากช่วยคนอื่น ไม่ใช่เริ่มต้นจากธุรกิจ ไม่ใช่เริ่มต้นจากตัวเอง เพราะธุรกิจเรากำลังทำสิ่งนี้เพื่อให้คนอยากใช้ของเรา เราเข้าไปช่วยชีวิตเค้า ยกตัวอย่าง คุณซื้อรถเพื่อเติมน้ำมัน ไม่นะครับ เราซื้อรถเพื่อการเดินทาง เมื่อเราเดินทางน้ำมันจะมาเอง ธุรกิจมีไว้ช่วยคนถ้าเขาช่วยคนได้เงินก็จะมาเอง”
ทางแลก ระหว่าง ‘ความมั่นคง’ กับ ‘ความฝัน’
ชีวิตคนเรามันขัดแย้งกันตลอดเวลา จำเป็นต้องเลือกสิ่งที่เราต้องการเพราะเวลาเรามีไม่มาก ดังนั้น หากชีวิตต้องแลกระหว่าง มีเงิน 100 ล้านบาท อายุสั้น 10 ปี ไม่มีทางยอมแลก เพราะสิ่งที่ทุกคนต้องการคือ ‘เวลา’ เราทุกคนต้องขัดแย้งและแข่งกับตัวเอง ทั้งความต้องการภายนอก และภายในตลอดเวลา ดังนั้นจะต้องฟังเสียงเรียกร้องในใจตัวเองให้ชัด ระหว่าง ‘ความมั่นคง’ กับ ‘ความฝัน’
“เวลาคือสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ หากถาม วอร์เรน บัปเฟตต์ เขาจะยอมเสียเงินทุกบาททุกสตางค์เพื่อให้มีเวลาเพิ่มอีก 30 ปี นั่นคือมุมกว้าง แต่มุมแคบ เราต้องเข้าใจชีวิต เรายอมทํางานที่เราเกลียด ทําสิ่งที่เราไม่ชอบ เพื่อเงินเรายอมเสียเวลา เพื่อเงิน การจะหาคำตอบว่าเราต้องการอะไรให้ชัดเจน เราจึงต้องคุยกับตัวเองให้มาก จึงเข้าใจความเป็นเรา แต่แน่นอน สุดท้ายเราจะไม่เลือกเงินเป็นเป้าหมาย ต่อให้มีเงินพันล้าน แต่อายุ 96 ปี จะมีพันล้านไปทำไม การตัดสินใจนั้นมันยากจึงต้องเลือกระหว่างทางแยก และความขัดแย้งให้เจอ ระหว่างความมั่นคงกับความฝัน”
ลดภาษี จูงใจเงินลงทุนสู่ ต่างจังหวัด
วิธีการที่จะลดความเหลื่อมล้ำ คือมาตรการเก็บภาษี จะต้องปรับโครงสร้าง ลดภาษี จูงใจให้คนนำเงินมาลงทุนในต่างจังหวัด ที่ต้องการความเจริญ เช่นเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา ที่พัฒนาเมืองที่ไม่ใช่เมืองหลวงให้โดดเด่นมีอัตลักษณ์ เช่น บอสตัน มีโรงเรียนที่ดีที่สุด เมืองการศึกษา หรือ นิวยอร์ก คือ เมืองที่เป็นศูนย์กลางการเงิน แคลิฟอร์เนีย กลายเป็น ฮอลลีวูด และลาสเวกัส เป็น เมืองแห่งราตรี และธุรกิจพนัน
“ทำให้เมืองที่อยู่นอกกรุงเทพฯเติบโต หากผมหาเงินในขอนแก่น แต่คุณโดนภาษีน้อยลงก็ดีขึ้น เติบโตขึ้น ยกตัวอย่างนิวยอร์ก ฟลอริดา ต่างเติบโตจากการจูงใจด้วยการปรับโครงสร้างภาษี”
กรุงเทพฯไม่ใช่ประเทศไทย ต้องกระจายความเจริญ สู่ภูมิภาค
วิธีการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย คือการทำให้ประเทศไทย ไม่ใช่เพียง แค่กระจุกตัวใน กรุงเทพฯ ทุกอย่างรวมศูนย์ ต้องแก้ไข กระจายความเจริญ ออกจากรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง รวมถึงรถติด ดังนั้น ประเทศไทยไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ หลายเมืองในสหรัฐอเมริกา มีความเจริญมากกว่าเมืองหลวง เช่น บอสตัน ชิคาโก ลอสแอนเจลีส ล้วนเป็นบ้านนอกมาก่อน แต่เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่เป็น ต่างจังหวัด ที่มีการเติบโต มีเอกลักษณ์ประจำรัฐ แต่ประเทศไทย กรุงเทพฯ เป็นทุกสิ่ง (Everything)
คำว่าคนเมือง มีเอาไว้ดูถูก คนนอกกรุงเทพฯ เมืองลูกทุ่ง เป็นเพลงที่ทำให้คนเมืองกรุง เพราะมีความเจริญ ตึกหรู อาหารมิชลิน โรงแรมห้าดาว ล้วนอยู่ในกรุงเทพฯ มีห้าง นี่คือความจริงประเทศไทย”
“หากมองว่าประเทศไทย คือกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่น่าละอายมากที่สุด วิธีแก้ไขปัญหา คือการต้องกระจายรายได้สู่คนนอกกรุงเทพฯ มีการจ้างงาน จึงมีคนรุ่นใหม่กลับบ้านต่างจังหวัดและพัฒนาความเจริญ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนทันโลก กระจายได้รายได้โดยการเป็นฟรีแลนซ์นอกกรุงเทพฯ ผ่านการจ้างงาน แอปพลิเคชั่น เพราะวิธีการเดิมไม่เวิร์ค สิ่งที่ประเทศไทย ทำมาร้อยปี มันผิด ส่งลูกหลานมาเรียน ทำงานที่กรุงเทพฯ แล้วให้ส่งเงินกลับบ้าน เพราะปู่ย่า ตายาย เอาเงินจากลูกหลาน มาผ่อนบ้านผ่อนรถ และซื้อหวย สุดท้ายไม่ได้สร้างความเจริญ”
ซอฟต์พาวเวอร์ อาวุธลับ ที่คนไทยไม่ต้องกลัวของถูกจากจีน
เขาแนะว่า ผู้ประกอบการไทย ต้องใช้พลังละมุน (Soft power) ส่งออกสินค้าไทยไปบุกโลก ส่งเสริมให้คนต่างชาติใช้ของไทย หากวันใด เห็นคนญี่ปุ่น ใช้สินค้าของไทย นั่นคือซอฟต์พาวเวอร์ โดยไม่ต้องมาตั้งกำแพงภาษีเพื่อป้องกันสินค้าราคาถูกจากจีน สินค้าจีนผลิตจำนวนมาก แต่กลับไม่มีแหล่งกำเนิดสินค้า ไม่มีแบรนด์ที่คนมองหา
“ซอฟต์พาวเวอร์เราต้องไปบุกบ้านคนอื่น ไปยิงประตูคนอื่น เราจึงต้องสร้างขบวนรถใหม่ จุดขายใหม่ที่แตกต่าง อย่าไปตามคนอื่น แข่งของถูกจากจีน เช่น ส่งออก การบริการ เป็นสิ่งที่คนไทยเก่ง”
สิ่งที่ภาครัฐจะต้องผลักดันคือการ จับมือกับ แอปพลิเคชั่นต่างชาติ ในการสื่อสาร และพัฒนาการซื้อขายเป็นสองทาง นำสินค้าเข้ามา และนำสินค้าไทยออกไปจำหน่าย สร้างแบรนด์ให้สินค้าไทย เพราะคนจีนรู้จักสินค้าไทยเป็นอย่างดี
ประเทศไทย ต้องกล้าฝันใหญ่ สร้างซอฟต์พาวเวอร์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้คนนอกประเทศเห็นความเป็นไทย ผ่านหมูเด้ง ลิซ่า ทำให้คนพูดถึงทั่วโลก ขณะเดียวกัน ภาคเอกชน ร่วมมือกับภาครัฐ ยกระดับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่งออกธุรกิจไปบุกโลก เช่น ที่เกาหลี ส่งออกวัฒนธรรม กลายเป็นอัจฉริยะ ด้านไอที ขายรถยนต์ฮุนไดได้มหาศาล เพราะไม่วิ่งตามคนอื่น ต้องสร้างขบวนใหม่ขึ้นมา
“คนไทยจะประสบความสำเร็จได้ จึงต้องสร้างจุดขายใหม่ สร้างรถไฟขบวนใหม่ขึ้นมา ส่งออกภาคบริการ ฝีมือคนไทย เช่น ช่างภาพ ตัดต่อ ทนาย บัญชี ดูดวง ดูฮวงจุ้ย คนไทยโดดเด่นและในทักษะหลายด้าน จึงต้องพัฒนาแอปพลิเคชั่นขึ้นมาเพื่อให้คนทั่วโลกมาจ้างคนไทย”
สร้างแบรนด์ไทย สร้างความลำเอียงให้ผู้บริโภค
“จุดอ่อนของสินค้าจีน ผลิตจำนวนมาก แต่ไม่มีแบรนด์ ราคาถูกอย่างเดียว แต่สุดท้าย สำหรับสินค้าไทย คนรู้จักในความเป็นคนไทย จึงสามารถขายความเป็นสินค้าจากไทย เช่น อิตาลี เป็นประเทศที่ไม่เคยส่งสินค้าไปให้จีน เพราะเชื่อมั่นในอัตลักษณ์ความเป็นอิตาลี ทูตอิตาลี ไม่เคยแคร์สินค้าจีน อิตาลี มีชื่อเสียงในการเป็น Supply Chain การผลิตที่โลกยอมรับ เหงื่อของคนอิตาลี ผ้าคนอิตาลี ขายเสื้ออิตาลี ตัวละ 10,000 บาท คุณก็ยอมซื้อเป็นเพราะว่ามันมาจากอิตาลีมันคือ “แบรนด์” ดังนั้นไม่ต้องไปแข่งของถูกจากจีน เราแข่งไมไ่ด้ เราต้องสร้างความลําเลียง ให้ผู้บริโภคยอมรับสินค้าจากไทย”
เศรษฐกิจสีเขียว และความยั่งยืนในสายตาซีเค
ส่วนการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ตอบโจทย์เทรนด์โลก เป็นสิ่งที่ทุกบริษัทจะต้องขับเคลื่อนด้วย เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) ที่กำลังจะเป็นกฎหมายบังคับใช้ ให้ผลิตภัณฑ์ระบุถึงส่วนผสม และกระบวนการผลิต ที่มีปริมาณการปล่อยคาร์บอน
‘ความยั่งยืน’ อยู่ที่การเพิ่มลูก ทายาทเจเนอเรชั่นใหม่
เขายังบอกว่า ความยั่งยืน คือ คนต้องมีลูกมากขึ้น ไม่เช่นนั้น มนุษย์จะสูญพันธุ์ จินตนาเหมือนในหนัง หากมีสงคราม ไม่มีลูก เกิดการสูญพันธ์ุเราจึงต้องเริ่มต้นจากการมีลูก รัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้มีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้น ถ้าคนไม่มีลูกมนุษย์ก็จะสูญพันธุ์
google search กำลังจะ out ไม่ต่างจากสมุดหน้าเหลือง
ในอดีต ที่เมื่อต้องการค้นหาบางอย่าง เข้าไปในสมุดหน้าเหลือง ในปัจจุบัน เด็กเจเนอเรชั่นใหม่ เริ่มใช้ทุกอย่างผ่านทางแชท จีพีที ปรับตัวเข้าทำงานร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI ) เพราะเป็นการค้นหาข้อมูลที่ตอบโจทย์เกือบทุกเรื่อง ย่อและสรุปให้อย่างเข้าใจถึง 80%
กูเกิล ยอมฆ่าตัวเอง โยนรายได้ 2.5แสนเหรียญ ทิ้ง
เพื่อเติบโตในโลกใหม่ AI
นี่คือความท้าทายครั้งใหม่ของกูเกิล (Google) ที่ต้องเร่งปรับตัว จะเพลิดเพลิน (Enjoy) อยู่กับจำนวนผู้ใช้งานปัจจุบัน หรือ จะยอมเร่งเปลี่ยนผ่านโดยการทำลายล้าง (Disrupt) ตัวเอง ผ่านการสร้างนวัตกรรมที่เหนือกว่ากูเกิลเสิร์ซ นั่นก็คือ Gemini ต้องยอมเจ็บเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ หากไม่ทำ ก็จะถูกคนอื่นมาแทนที่ ทำลายล้างเช่นกัน จึงต้องเริ่มแผนสอง ก่อนที่จะรอให้กูเกิลแทนที่ด้วยสิ่งอื่น
“Gemini เป็นของ Google ที่ต้องยอมแอบเจ็บ กับการพัฒนาโปรแกรมแชทใหม่ ที่ไม่มีลิงค์ไปยังที่มา ที่หมายถึง รายได้มหาศาล จากสปอนเซอร์ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่กดลิงค์เข้าไปมีสินค้า ราคา ที่กูเกิลเป็นเจ้าตลาดและสร้างมรดกกูเกิลที่ไม่มีใครดิสรัปได้มายาวนาน เมื่อการค้นหาข้อมูลที่ไม่มีลิงค์ กูเกิลจึงเจ็บ เพราะต้องโยนรายได้มาจากสิ่งนี้ถึง 250,000 ล้านเหรียญต่อปีทิ้ง”
โลกในยุคหน้า ต้องพัฒนาให้เหนือกว่า AI ก่อนที่ AI จะเข้ามาทดแทน เช่น นักข่าว หากไม่รู้จักใช้ AI ก็จะมีตัวแทนมาทำงานได้ ปรับความคิดง่ายในการฝึกใช้ AI มองให้เหมือนตู้เย็น ที่เก็บสิ่งของต่างๆ นวัตกรรม การพัฒนาตู้เย็นไม่ใช่ผู้ร่ำรวยที่สุด แต่ผู้ร่ำรวยในการขายสินค้าคือ โค้ก , นม และเบียร์ ที่รู้จัก ที่ทำให้ความต้องการสินค้าที่อยู่ในตู้เย็นร่ำรวย ตู้เย็นเป็นเพียงนวัตกรรม ดังนั้น หากมนุษย์เราทำงานได้ล้ำกว่านวัตกรรม ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้
โมเดลธุรกิจที่จะอยู่รอดได้ ต้องเป็นโมเดลที่ AI ไม่สามารถทำแทนได้
เทรนด์โลกธุรกิจในยุคหน้า ไม่ได้ต้องการสินค้ามีจำนวนมาก ต้องการสินค้าเฉพาะ (Niche Product are Winning)
ต้นแบบที่เห็นชัดเจนคือ ในอดีตไนกี้จะได้รับการยอมรับแพร่หลาย เป็นเจ้าตลาดรองเท้า เพราะมีจุดขายของรองเท้าที่สร้างแรงบันดาลใจ แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว มีรองเท้าหลากหลายแบรนด์ เช่น HOKA เป็นรองเท้าที่ได้รับการยอมรับยอดเยี่ยมในการใส่ปีนเขา คนจะซื้อรองเท้าเพื่อตอบโจทย์เฉพาะของฟังก์ชั่นการใช้งานมากขึ้น
“มนุษย์เราสวมหลายหมวก อยากปีนเขา นั่งชิล คนคนหนึ่งมีรองเท้าได้หลายคู่ หรือ ยาสระผมก็มีตั้งหลากหลายรูปแบบเพื่อความต้องการ สิ่งเดียวที่ทำให้ชนะคือการ ทำแพคเกจจิ้งโดดเด่นทำให้รู้สึกต้องซื้อ
กรณีศึกษาที่น่าสนใจ ของ Stanley (สแตนลีย์) มีความเชี่ยวชาญด้านแก้วน้ำ ที่ช่วยลดอุณหภุมิที่เกือบจะปิดตัว หรือ เจ๊ง เพราะขายไม่ออก จนกระทั่งส่งต่อไปยังกลุ่มแม่บ้านพร้อมกันกับคอลเลกชั่นใหม่ เป็นแก้วน้ำเก็บความร้อนเย็น สีพาสเทล ปรากฎว่าภายใน 5 นาที ขายหมด ซีอีโอ จึงรู้ทันทีว่า ทางที่ถูกต้องของเขาคือการขายสีพาสเทล เจาะนิชมาร์เก็ต”
ความหรูหราน้อย แต่มาก (Small Luxury)
หลายสิ่งที่พัฒนาขึ้นมาในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการจะสะท้อนความมีคุณค่า มีราคาฐานะ จะต้องเป็นความแพงที่ไม่ต้องแสดงออกแบบตะโกน เพราะในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง ยังมีคนหลายกลุ่มเข้าไม่ถึงการซื้อบ้าน ที่ราคาพุ่งสูงขึ้น ดังนั้น คนทั่วไปที่ทำงานหนัก แต่ไม่สามารถมีบ้านได้ จึงให้รางวัลตัวเองด้วยการซื้อประสบการณ์ และให้รางวัลกับตัวเอง เป็นเจ้าของสินค้าราคาสูง ที่มีน้อยชิ้น มีความพิเศษ ออกแบบมาเฉพาะ
“ทำงานหนักแล้วให้รางวัลตัวเองเลย จากเมื่อก่อนทำงานหนัก เพื่อซื้อบ้าน วันนี้ทำงานหนัก แล้วยังซื้อบ้านไม่ได้ ก็เอาเงินมาซื้อกระเป๋าเดินทางใบละ 6 หมื่นบาท, ซื้อครีมกระปุกละหมื่น เทรนด์ที่เกิดขึ้นนยุคนี้ ไม่ได้เก็บเงินซื้อบ้านซื้อรถ เพราะไม่อยากเป็นหนี้ จึงซื้อของซื้อประสบการณ์เป็นรางวัลความสุขกับตัวเองแทน”
โดยธุรกิจที่สร้างประสบการณ์ ทำให้ทุกคนพูดถึง สร้างรสชาติใหม่ๆ ในชีวิตทำแล้วมีคนพูดถึง เช่น แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ที่พัฒนาบ้านบาร์บี้ให้เช่า หรือบ้านในหนังดังฮอลลีวูด จนถึงบ้านกลางอากาศ หรือ เลย์ ออกรสชาติใหม่ๆ เช่น รสคิวคัมเบอร์ (แตงกวา) คาปูชิโน่ หมูกรอบ และอาจจะมีหมูเด้งในอนาคต
“มีคนต้องการอยากลองรสชาติ หรือสิ่งแปลกใหม่ ถ้ามีโอกาสจะเข้าไปลองสักครั้งเพื่อประสบการณ์ เช่น เลย์ มีการออกรสใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือก แต่ยังเก็บรสออริจินัลไว้ เพราะเป็นรายได้หลักดั้งเดิม เป็นสิ่งที่ยังต้องเก็บรักษาไว้”
เขาบอกว่า เรากำลังทำธุรกิจที่ขายให้กับมนุษย์ไม่ใช่โรบอท ไมโครซอฟต์ ไม่มีใครจำกล่องโลโก้ สี่เหลี่ยม แต่จำบิลเกตได้ ยุคก่อน มีการเติบโตอย่างออแกนิก แต่ในยุคปัจจุบัน ไม่มี
“เราอยู่ในยุคที่คนมีเงิน มีคอนเน็กชั่น ไม่ได้เปรียบอีกต่อไป ซีเค มีชื่อเสียงขึ้นมาเพราะเฟซบุ๊ก โดยที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีการยิงโฆษณา แต่ทำให้คนจดจำได้ เพราะมีความสม่ำเสมอในการทำคอนเทนท์”
กล้าแสดงจุดยืน ท่ามกลางคนเกลียด มีศัตรูคือสิ่งที่ดี
บ่อยครั้งที่ซีเค โดนทัวร์ลงเกี่ยวกับแนวคิด เพราะมั่นใจว่า การเป็นคนมีจุดยืน ทำให้เกิดความเป็นตัวตนชัดเจน กล้าพูด ไม่กลัวคนเกลียด หลายคนอยากให้คนรักทำให้สูญเสียจุดยืน การมีศัตรูจึงเป็นเรื่องที่ดี เพราะสะท้อนว่าเรามีจุดยืน เขาเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดคนรุ่นใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีค่านิยมมีบ้าน ด้วยการหาข้อมูลการซื้อบ้าน บ้านที่เหลือขายจำนวนมาก ทำให้คนที่ซื้อบ้าน และคนขายบ้านอาจจะไม่พอใจได้
“การโพสต์บ่อย ๆ ถี่ ๆ ก็ทำให้คนจดจำ เพื่อดึงให้คนเข้ามาหาเรา จากเรื่องราวต่าง ๆ กันแต่ละฟีดที่แตกต่างกัน บางคนชอบอาหาร เอไอต้องทำความเข้าใจ คนแล้วดึงให้คนเข้ามาเห็นคอนเทนท์ และยิ่งมีคนเซฟคอนเทนท์แสดงว่ามีคุณค่า มีราคา“