ทำก่อนได้เปรียบ! Carbon Footprint สำคัญอย่างไร? พร้อมวิธีคำนวณที่ธุรกิจต้องรู้ เพื่อไปสู่ความยั่งยืน

ทำก่อนได้เปรียบ! Carbon Footprint สำคัญอย่างไร? พร้อมวิธีคำนวณที่ธุรกิจต้องรู้ เพื่อไปสู่ความยั่งยืน

ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การวัดและจัดการ Carbon Footprint ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นสำหรับทุกธุรกิจ

องค์กรที่เข้าใจและเริ่มต้นวางแผนตั้งแต่วันนี้ จะกลายเป็นผู้นำในโลกธุรกิจยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่ไม่สามารถควบคุม Carbon Footprint ของตัวเองได้ อาจต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นและโอกาสทางธุรกิจที่หดหาย แต่สำหรับองค์กรที่เริ่มต้นวัดและจัดการ Carbon Footprint ตั้งแต่วันนี้ นี่คือโอกาสในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน

 

ผู้ประกอบการไทยพร้อมเรียนรู้วิธีการวัดและจัดการ Carbon Footprint ที่จะเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสทางธุรกิจหรือยัง?

 

 

Carbon Footprint (คาร์บอน ฟุตพริ้นท์) คืออะไร?

Carbon footprint (คาร์บอนฟุตพริ้นท์) การวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases, GHG) ที่ถูกปลดปล่อยออกมาทั้งทางจากกระบวนการผลิต หรือที่เกิดขึ้นทางอ้อมจากองค์กร บุคคล ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ในแต่ละจุดของวัฏจักรชีวิตของสินค้า ซึ่งถือเป็นมาตรวัดสำคัญสำหรับธุรกิจในยุคที่โลกกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ Net Zero โดยจะถูกคำนวณจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น พลังงานที่ใช้ในกระบวนการการให้ความร้อน ระบบการให้แสงสว่าง ระบบการขนส่ง กระบวนการต่าง ๆ ทั้งทางภาคอุตสาหกรรม และเชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจรวมไปถึงการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนต่าง ๆ ของซัพพลายเชนด้วย

 

ทำไมต้องวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์?

การวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับการที่เราต้องติดตามน้ำหนักและคุณค่าทางโภชนาการของอาหารเพื่อดูแลสุขภาพ การวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ช่วยให้องค์กรเข้าใจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของตนเองได้อย่างชัดเจน
โดยการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก

 

1. Carbon Footprint for Organization (CFO)
– วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทั้งหมดขององค์กร
– ครอบคลุมทั้งการใช้พลังงาน การขนส่ง และกระบวนการผลิต
– ช่วยในการวางแผนกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมระดับองค์กร

 

2. Carbon Footprint of Product (CFP)
– วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์
– ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การใช้งาน จนถึงการกำจัดซาก
– เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

ประโยชน์สำคัญของการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์

1. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
– ช่วยระบุแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญในองค์กร
– สามารถกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุด
– ติดตามความคืบหน้าและประเมินประสิทธิผลของมาตรการต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ

 

2. การเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์องค์กร
– สร้างความโปร่งใสในการรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
– เพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยเฉพาะในตลาดที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
– สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและพันธมิตรทางธุรกิจ

 

3. การเตรียมความพร้อมสู่มาตรฐานระดับสากล
– เป็นพื้นฐานสำคัญในการขอรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
– ช่วยให้องค์กรปรับตัวรับมือกับข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นในอนาคต
– เพิ่มโอกาสทางธุรกิจกับคู่ค้าที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ดังนั้น การวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จึงไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในยุคที่ผู้บริโภคและสังคมให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

 

‘CBAM’ ผลกระทบต้นทุนทางคาร์บอนที่ผู้ส่งออกต้องรู้

CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) คือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนสหภาพยุโรป ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับ CBAM Certificate เป็นระบบการคิดต้นทุนคาร์บอนที่สหภาพยุโรป (EU) นำมาใช้กับสินค้านำเข้า โดยผู้ส่งออกจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM Certificate ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตสินค้า

ตัวอย่างการคำนวณต้นทุน CBAM เช่น กรณีการผลิตเหล็กเส้น 1 ชิ้น ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ตันคาร์บอนเทียบเท่า ผู้ผลิตต้องจ่ายค่า CBAM Certificate 85 ยูโร (ประมาณ 3,270 บาท) ต่อตันคาร์บอนเทียบเท่า ต้นทุนนี้จะเพิ่มเติมจากต้นทุนการผลิตปกติ โดยมีต้นทุนทางค่าปรับคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ดังนั้น ผู้ผลิตจะต้องวางแผนกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อป้องกันต้นทุนทางภาษีคาร์บอนที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต

 

 

แนวทางการรับมือสำหรับผู้ประกอบการไทย

1. การเตรียมความพร้อมเชิงระบบ
– ประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด
– พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพ
– จัดทำเอกสารและการรายงานให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ CBAM

2. การปรับปรุงกระบวนการผลิต
– ลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
– ปรับเปลี่ยนแหล่งพลังงานสู่พลังงานสะอาด
– พัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

3. การวางแผนธุรกิจระยะยาว
– คำนวณและประเมินผลกระทบด้านต้นทุนจาก CBAM
– พัฒนากลยุทธ์การตลาดที่คำนึงถึงต้นทุนคาร์บอน
– แสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากการเป็นผู้ผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 


การบังคับใช้และขอบเขตของ CBAM

ระยะที่ 1 (ปัจจุบัน)
• ครอบคลุมสินค้า 6 ประเภท: เหล็ก อลูมิเนียม ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย พลังงานไฟฟ้า และไฮโดรเจน

ระยะที่ 2 (2026-2027)
• ขยายขอบเขตครอบคลุมสินค้าเคมีภัณฑ์และพอลิเมอร์

ระยะที่ 3 (2030)
• คาดการณ์ว่าจะครอบคลุมสินค้าทุกประเภทที่นำเข้าสู่สหภาพยุโรป

จะเห็นได้ว่า CBAM ไม่เพียงเป็นความท้าทายด้านต้นทุน แต่ยังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งพัฒนากระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การเตรียมความพร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

 

 

อยากประเมิน Carbon Footprint ของธุรกิจเริ่มต้นอย่างไร?

การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของธุรกิจนั้นถูกจัดออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน

Scope 1 การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางตรงขององค์กร (Direct Emissions)

เช่น การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากองค์กร เช่น การใช้เชื้อเพลิงต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต, การใช้ยานยนต์ขนส่งภายในองค์กร, การรั่วไหลของสารทำความเย็น

Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Indirect Emissions)

เช่น การซื้อไฟฟ้า ไอน้ำ ความร้อน หรือความเย็น เพื่อนำมาใช้ภายในองค์กร หรือโรงงานอุตสาหกรรม

Scope 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (Other Indirect Emissions)

เช่น การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นตามจุดต่าง ๆ ตลอดทั้งซัพพลายเชนที่นอกเหนือจาก 2 สโคปข้างต้น อาทิ การซื้อวัตถุดิบจากผู้ผลิตต้นน้ำ ซึ่งคิดจากการได้มาซึ่งวัตถุดิบ แปรรูป และขนส่งมายังสถานที่ผลิตของเรา รวมถึงการเดินทางทางธุรกิจที่เกิดขึ้น หรือการเดินทางของพนักงานด้วย

 

 

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การวัดประเมิน Carbon Footprint เป็นกลไกที่ไม่เพียงช่วยให้องค์กรมองเห็น ‘ผลกระทบต่อโลก’ ที่สร้างขึ้นผ่านปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยออกมาในทุก ๆ จุดตลอดทั้งซัพพลายเชน แต่ยังเป็นเข็มทิศให้กับองค์กรในการปรับแผนกลยุทธ์สำหรับการเปลี่ยนวิถีการทำธุรกิจของตน มองหาโซลูชั่นใหม่ ๆ ทั้งด้านพลังงาน กระบวนการผลิต รวมถึงจัดหาวัตถุดิบทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อตัวองค์กรเอง คู่ค้า ผู้บริโภค และยังส่งผลดีต่อโลกด้วย

 

อ้างอิง
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน): TGO

https://shorturl.asia/FtpTV
https://www.nstda.or.th/home/news_post/bcg-implementation-cbam/
https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2566/220866.pdf
https://blog.carbonwize.io/carbon_footprint/
https://www.pier.or.th/abridged/2024/13/