จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการปลูกฝังเยาวชนให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ รียูส รีไซเคิล อัพไซเคิล นำมาสู่โมเดลธุรกิจใหม่ ‘ทับสะแก กรีนคาเฟ่’ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่สร้างรายได้ และรักษ์โลกไปพร้อมกัน
“โครงการต้นกล้าไร้ถัง” จุดตั้งต้นการพัฒนาแนวคิดจัดการขยะชุมชนอย่างยั่งยืน “ทับสะแกโมเดล” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กับความสำเร็จ 3 ต่อ ขยะลดลงจาก 15 ตัน/เดือนเหลือเพียง 2 กิโลกรัม/เดือน ติดอาวุธความรู้สิ่งแวดล้อม และสุดท้ายสร้างรายได้ให้ชุมชน รวมถึงน้องๆ เยาวชน
มาวันนี้ “ทับสะแกโมเดล” กำลังต่อยอดไปอีกขั้นกับ “ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก” ร้านกาแฟกรีนดีไซน์จากวัสดุอัพไซเคิล ที่กำลังจะถูกยกให้เป็นต้นแบบเครือข่ายจัดการขยะสู่ทุกภูมิภาค
“ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก” พื้นที่ประมาณ 72 ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่โซนอินดอร์ ประมาณ 24 ตร.ม. และโซนเอาท์ดอร์ ประมาณ 48 ตร.ม. ตั้งอยู่ติดถนนใหญ่ บนถนนที่ว่าการอำเภอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม (Green Concept) 5 ด้าน
1.Green Design การออกแบบร้านให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ประตูหน้าต่างเปิดมุมมองโดยรอบให้แสงสว่างส่องผ่านทั่วถึงลดการใช้ไฟฟ้าแสงสว่างและใช้แสงจากธรรมชาติแทน และเปิดช่องให้ลมสามารถผ่านประตูหน้าต่างได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ
2.Green Material & Equipment การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล อาทิ หลังคาและกระเบื้องผนังทำจากการอัพไซเคิลกล่องนมยูเอชที เคาน์เตอร์ชงเครื่องดื่มที่ปูด้วยแผ่นไม้อัพไซเคิลจากเยื่อกระดาษ ส่งผลให้ภาพรวมร้านทำจากวัสดุรีไซเคิล อัพไซเคิลมากกว่า 30%
นอกจากนี้ ยังได้นำโต๊ะเก้าอี้จากกระดาษรีไซเคิล และโต๊ะเก้าอี้ที่อัพไซเคิลจากถุงนม มาใช้ในการตกแต่งร้าน อีกทั้งยังเลือกใช้อุปกรณ์ภายในร้านที่เป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ประหยัดไฟ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3.Green Food Good Taste ออกแบบเมนูที่ใส่ใจต่อสุขภาพ รสชาติดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย และมีเอกลักษณ์จากท้องถิ่น เช่น นำมะพร้าว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาพัฒนาเป็นเมนูซิกเนเจอร์ ทั้งเบเกอรี่และเครื่องดื่ม อาทิ ชิฟฟ่อนมะพร้าว บ้าบิ่นมะพร้าว วาฟเฟิลมะพร้าว น้ำมะพร้าว คาเฟ่โคโค่นัทมิลค์
4.Green Packaging เลือกใช้ภาชนะ อาทิ แก้ว จาน ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Compostable) ไม่ใช่แค่ย่อยสลาย (Degradable) โดยนำภาชนะเหล่านี้บางส่วนจากโรงเรียน CONNEXT ED ที่ดำเนินการผลิตภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งสายคล้องหูหิ้วแก้วกาแฟจากต้นกก หลอดกระดาษ
5.Green People เปิดทางให้นักเรียนที่มีใจรักสิ่งแวดล้อม และผ่านหลักสูตรต้นกล้าไร้ถัง เข้ามาเรียนรู้ทักษะการบริหารร้านกาแฟทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ พร้อมทั้งช่วยเป็นกระบอกเสียง ส่งเสริมให้ร้านกาแฟกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะ และเป็นทั้งสถานที่พักผ่อนอย่างมีไลฟ์สไตล์ รวมทั้งส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
“น้องพี” ด.ช.พีรวิชญ์ มีชูเกตุ และ “น้องภูผา” และ ด.ช.ปิยกร จิตจำนง นักเรียนชั้น ป.5/2 เล่าให้ฟังว่า สนใจงานคหกรรมและงานบริการมาก ๆ จึงอาสาเข้ามาช่วยงานที่ร้าน ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก โดยจะมาช่วยในส่วนของการชงเครื่องดื่ม และบริการเสิร์ฟ ในช่วงพักเที่ยงและตอนเย็นหลังเลิกเรียน ทำให้มีผู้ปกครอง ครู และนักเรียนในโรงเรียนเข้ามาใช้บริการ
สิ่งที่ได้จากการมาเป็นจิตอาสา คือ ได้เรียนรู้ระบบการจัดการร้านกาแฟ และได้เห็นว่าขยะต่างๆ ที่พวกเราช่วยกันคัดแยก นำมาอัพไซเคิลเป็นโต๊ะ เก้าอี้ เคาเตอร์ ที่สวยแปลกตาไปอีกแบบ ตอนนี้อยากช่วยให้ร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น แล้วมีคนต่างถิ่นมาเรียนรู้ร้านแฟรักษ์โลกของเราเยอะๆ
ซีพี ออลล์ หนึ่งในหน่วยงานที่สนับสนุนโรงเรียนภายใต้ CONNEXT ED และเป็นแรงผลักดันให้เกิด “โครงการต้นกล้าไร้ถัง” และต่อยอดมาถึง “ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก”
นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ให้การสนับสนุนโรงเรียนอนุบาลทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีการบูรณาการหลักสูตรการศึกษาเข้ากับการจัดการขยะในโรงเรียนภายใต้โครงการต้นกล้าไร้ถัง และต่อยอดสู่โครงการใหม่ “ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก” ร้านกาแฟกรีนดีไซน์ที่ใช้วัสดุรีไซเคิล-อัพไซเคิลมาร่วมในการออกแบบตกแต่งร้าน รวมถึงใช้วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและภาชนะย่อยสลายได้
โดยโครงการต้นกล้าไร้ถังของอนุบาลทับสะแก สามารถลดขยะจากเดือนละ 15 ตัน เหลือเพียง 2 กิโลกรัมต่อเดือน จนกลายเป็นโมเดลที่เราเข้าไปช่วยขยายผลสู่กว่า 750 โรงเรียนทั่วประเทศ
“การรีไซเคิล อัพไซเคิล สร้างประโยชน์อย่างไรบ้าง และเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้บ่มเพาะมุมมองวิชาชีพการทำร้านกาแฟ ฝึกทักษะอาชีพให้แก่เยาวชน พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้โรงเรียนและชุมชนอย่างยั่งยืน” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ใน 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ให้การสนับสนุนการยกระดับคุณภาพการจัดการการศึกษาไทย ทั้งด้านงบประมาณ องค์ความรู้ และเครื่องมือที่จำเป็นให้แก่โรงเรียนภายใต้มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED จำนวนมากกว่า 563 โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และมีแนวคิดสร้างอีโคซิสเท็มเครือข่ายจัดการขยะ ในโมเดลกรีนคาเฟ่ กรีนทอยเล็ท กรีนฟิลด์ กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคต่อไป
ด้าน นายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะทำงานโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า การสนับสนุนจากเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนในภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง อาทิ ยูนิลีเวอร์, เอสไอจี คอมบลิบลอก, เทคแคร์โซลูชั่น, เอสซีจี เคมิคอลส์ และ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จนทำให้เกิดร้านกาแฟแฟล็กชิพแห่งแรกขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การขยายผลออกไปอย่างน้อยภูมิภาคละ 1 แห่ง รวมถึงมีแนวคิดจะทำ Green Toilet และ Green Field กับโรงเรียนต่างๆ เพิ่มเติม
โดยโครงการต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นจะช่วยปลูกฝังเยาวชนให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ รียูส รีไซเคิล อัพไซเคิล และมีส่วนร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางภายในโรงเรียน
โรงเรียนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะไปยังชุมชนใกล้เคียงโรงเรียน ปลูกฝังให้คนในท้องถิ่นร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยทางภาคีจะสนับสนุนงบประมาณ และองค์ความรู้ มีคู่มือการดำเนินงาน การจัดฝึกอบรม การลงพื้นที่ และการติดตามผลอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ ชุมชน สามารถสร้างรายได้จากการคัดแยกขยะ จากนั้นนำวัสดุอินทรีย์ วัสดุรีไซเคิล ส่งต่อไปยังหน่วยงานและกระบวนการจัดการขยะที่เหมาะสม และสุดท้าย รายได้กลับเข้าสู่โรงเรียนและชุมชน