“กลุ่มไทยออยล์” ส่งมอบโครงการ Smart Farming นำทักษะการใช้เทคโนโลยี สู่เกษตรกรและผู้ต้องขังพ้นโทษ ติวเข้มสู่การทำธุรกิจเกษตร สร้างตลาดในจ.อุบล และชลบุรี
นายวิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่-ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มไทยออยล์เห็นถึงความสำคัญในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับการดำเนินงานในด้านต่างๆ รวมถึงการนำมาสร้างประโยชน์ให้กับสังคม จึงดึงพันธมิตรองค์กรต่างๆ ส่งมอบค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เข้ามาช่วยการทำงานของในยุคปัจจุบัน เช่น การติดตั้งระบบ IoT (Internet of thing) ทักษะทางด้านธุรกิจและการตลาด และความเข้าใจการติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในการเกษตร ผ่านโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม ที่มุ่งเน้นเกษตรกรอัจฉริยะ และรู้จักการทำงานการตลาดอัจฉริยะ ( Smart Farming และ Smart Marketing)
กลุ่มเป้าหมายที่จะส่งมอบองคความรู้ คือ กลุ่มคนเปราะบาง อย่างเช่น เกษตรกร และผู้เคยต้องโทษที่กลับมาใช้ชีวิตในสังคม มีความจำเป็นต้องมีการยกระดับพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ เพื่อสร้างโอกาสในการทำงาน มีอาชีพสามารถสร้างรายได้
ทั้งนี้ โครงการจะเข้าไปอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ใน 3 พื้นที่ชุมชนตำบลท่าช้าง (ศูนย์สารภีท่าช้าง) จ.อุบลราชธานี พื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ และพื้นที่เรือนจำกลางชลบุรี จ.ชลบุรี โดยมีเป้าหมายพัฒนาโครงการ เพื่อให้เป็นวิสาหกิจชุมชน สร้างโอกาสให้เกษตรกร และผู้ต้องขังนำไปต่อยอดความรู้ หาวิธีการสร้างรายได้ จากการเพาะปลูกพืช การทำการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม
ดร. ปัทมา ธรรมดี คณบดีคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่บางพระ กล่าวว่า รู้สึกยินดีและขอบคุณกลุ่มไทยออยล์เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมพัฒนาแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมีคณาจารย์จากคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ เข้าร่วมให้องค์ความรู้ ด้านการจัดการปัจจัยการผลิตและการเพาะปลูกพืชอินทรีย์ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไทยราชมงคลฟาร์ม
นายสมพงศ์ สนิทมัจโร รักษาการแทนผู้บัญชาการเรือนจำกลางชลบุรี กล่าวถึงความร่วมมือในการสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้พ้นโทษว่า สอดคล้องกับเรือนจำกลางชลบุรีมีแนวทางการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างการยอมรับ เป็นคนดีเมื่อพ้นโทษให้แก่ผู้ต้องขัง ซึ่งครอบคลุมการฝึกวิชาชีพด้านการเกษตรอินทรีย์ ให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ได้จริง การอบรมครั้งนี้ ยังได้รับการสนับสนุนโรงเรือนอัจฉริยะ โรงเรือนอเนกประสงค์ พร้อมกับพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ถือเป็นศูนย์กลางแบ่งปันความรู้ที่สำคัญในอนาคต
นางทับทิม แท่งคำ ผู้อำนวยการศูนย์สารภีอุบลราชธานี ภายใต้เครือข่ายศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน อุบลราชธานี กล่าวว่า หลังจากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ท่าช้างน้อย ได้เข้าร่วมโครงการ ทำให้มีพื้นที่เรียนรู้และต่อยอดช่องทางการสร้างรายได้ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญให้กับชุมชนและเกษตรกร
โครงการ Smart Farming เป็นโครงการส่งเสริมความรู้ด้านเกษตรกรรมด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ ให้แก่เกษตรกรเป็น “แหล่งเรียนรู้ต้นแบบ เกษตรอัจฉริยะ” ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับ ไปปรับใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเอง และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป.