กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) หรือ SE เป็นรูปแบบกิจการที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาสังคม แต่ในขณะเดียวกัน ยังคงมีการหารายได้และสร้างกำไรเช่นเดียวกับธุรกิจทั่วไป
ปัจจุบันผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ความสนใจในกิจการเพื่อสังคมกันมากขึ้น เนื่องจากถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างการทำธุรกิจและการทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งแนวคิดในการดำเนินธุรกิจประเภทนี้ ต้องขับเคลื่อนด้วยความรัก ความใส่ใจในกระบวนการผลิตสินค้า บริการ และแรงบันดาลใจในการแสวงหาทางแก้ปัญหาสังคม
ในพ.ศ.นี้กลุ่มนักธุรกิจจำนวนมากหันมาประกอบกิจการรูปแบบดังกล่าว และหนึ่งในกิจการเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จ โด่งดังเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ได้แก่ ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) เป็นหนึ่งในตัวอย่างการพัฒนาธุรกิจที่ดำเนินควบคู่ไปกับความพยายามแก้ปัญหาสังคมในประเทศบังคลาเทศ ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1976 โดยศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนูส (Muhammad Yunus) ผู้สร้างนวัตกรรมทางการเงินแนวใหม่ให้แก่บังคลาเทศ หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ภายใต้วิสัยทัศน์และเป้าหมายกำจัดปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นไปจากโลกใบนี้ โดยให้สินเชื่อแก่คนจนหรือมีรายได้ตำ หรือที่เรียกกันว่า สินเชื่อเพื่อผู้ยากไร้ (ไมโครเครดิต)
ในปีค.ศ. 1974 ประเทศบังคลาเทศประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ยูนุสจึงตัดสินใจค้นหาวิธีการช่วยเหลือคนจนอย่างจริงจัง โดยใช้ทักษะความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ และเริ่มต้นด้วยโครงการวิจัยภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของหมู่บ้านโจบร้า ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในบังคลาเทศ เขาสำรวจข้อมูลต่างๆ ด้วยการลงพื้นที่หลายครั้ง แล้วพบว่าหนึ่งในรากของปัญหาที่ทำให้คนในหมู่บ้านหลายแห่ง รวมทั้งโจบร้าอยู่ในระดับยากจน คือ ภัยแล้ง เนื่องจากปั๊มน้ำและบ่อน้ำบาดาลหลายแห่ง ซึ่งเป็นแหล่งรายได้เสริมของคนในชุมชนถูกปล่อยให้เหือดแห้ง ปัญหานี้เกิดจากการที่ไม่มีผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาแหล่งน้ำ
ยูนุสจึงสนับสนุนให้จัดตั้งสหกรณ์เพื่อการเกษตรรูปแบบใหม่ที่มีชื่อว่า “ฟาร์มสามหุ้น” (Tebhaga Khamar) โดยเสนอให้เจ้าของที่ดินยอมให้ชาวนาใช้ที่นาปลูกข้าวในหน้าแล้ง และเขายินดีเป็นคนออกค่าเชื้อเพลิงสำหรับปั๊มน้ำ ค่าเมล็ดพืช ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง พร้อมมอบความรู้ทางเทคนิคต่างๆ เมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวไปขาย ให้นำรายได้มาแบ่งกันฝ่ายละ 1 ใน 3 ผลลัพธ์คือโครงการฟาร์มสามหุ้นประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก โจบร้ากลายเป็นหมู่บ้านอันดับแรกๆ ในบังกลาเทศที่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูแล้งได้ และช่วยยกระดับความยากจนแบบแร้นแค้นให้ดีขึ้น พร้อมนำไปสู่การก่อตั้ง “กรามีน” ธนาคารเพื่อคนจนแห่งแรกของโลกในอีกไม่กี่ปีต่อมา เพื่อแก้ปัญหาความยากอย่างยั่งยืน
ตั้งแต่ช่วงเริ่มแรก ยูนุสตั้งใจสร้างให้กรามีนเป็นธนาคารเพื่อคนจน (กรามีน แปลว่า ชนบท หรือ หมู่บ้าน) เขาจึงต้องลงมือคิดค้นโมเดลใหม่ในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากรูปแบบของธนาคารพาณิชย์กระแสหลักต้องอยู่บนการเรียกทรัพย์สินเป็นหลักประกัน สัญญาเงินกู้ที่เป็นลายลักษณ์อักษร และรายได้ประจำอันสม่ำเสมอของลูกหนี้ ซึ่งคนจนส่วนใหญ่ไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้
โมเดลของธนาคารกรามีนจึงเปลี่ยนแนวคิดใหม่เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้และมอบสินเชื่อให้แก่คนจน โดยให้ความสำคัญกับครัวเรือนที่ยากจนที่สุด ครอบครัวที่มีที่ดินทำกินน้อยกว่า 1 ไร่ จะถูกชักชวนให้มารวมกันเป็นกลุ่ม สมาชิกกลุ่มจะมีการประชุมสัปดาห์ละครั้งในหมู่บ้านกับพนักงานของธนาคารกรามีนเพื่อจ่ายคืนเงินกู้ และสมาชิกกลุ่มต้องคอยตรวจสอบการใช้เงินกู้ของสมาชิกด้วยกัน เพื่อให้มั่นใจว่าสมาชิกแต่ละคนสามารถชำระเงินกู้ได้ภายใน 1 ปี โดยกำหนดจำนวนเงินที่ต้องชำระในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งการปล่อยกู้ของธนาคารกรามีนใช้การค้ำประกันที่เรียกว่า “หลักทรัพย์ทางสังคม” (social collateral) ทำให้ธนาคารกรามีนมีจุดแข็งอยู่ที่ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มลูกหนี้ (group solidarity)
ในปีค.ศ. 2001 ธนาคารกรามีนประกาศนโยบายใหม่ที่เรียกว่า Grameen II ซึ่งเปลี่ยนบทบาทธนาคารจากการให้สินเชื่อรายย่อยแก่คนจน มาเป็นการให้บริการด้านการเงินแก่ผู้คนรายได้ต่ำ โดยธนาคารกรามีนได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การปล่อยเงินกู้ที่เคยกำหนดไว้ 1 ปี และต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในทุกๆ สัปดาห์ มาเป็น 3 เดือน จนถึง 3 ปี เนื่องจากเล็งเห็นว่าเงื่อนไขดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาพคล่องของคนยากจน ในกรณีที่มีปัญหาการชำระเงินกู้ ยังสามารถกู้เงินเพิ่มได้ และสามารถขยายเวลาการชำระเงินกู้ให้นานออกไปได้
นอกจากนี้ธนาคารยังให้ความสำคัญกับเรื่องการออม โดยกำหนดให้สมาชิกเงินกู้ของธนาคารต้องออมเงินจำนวนหนึ่งในแต่ละสัปดาห์และฝากในบัญชีออมทรัพย์ของกลุ่มที่สังกัด สมาชิกจะสามารถถอนเงินฝากนี้ได้หลังจากออมครบ 10 ปี หรือลาออกจากการเป็นสมาชิก พร้อมจัดทำผลิตภัณฑ์การออมเงินเพื่อบำนาญ หรือ Grameen Pension Saving ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงสำหรับการฝากประจำทุกเดือน โดยมีการฝากขั้นต่ำ 1 ดอลลาร์ต่อเดือน เป็นเวลา 5 หรือ 10 ปี
ปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกรามีนประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการ คือ การปรับปรุงแก้ไขนโยบายอย่างต่อเนื่องเกือบทุกปี เพื่อพัฒนารูปแบบให้เข้ากับคุณสมบัติของกลุ่มคนยากจนส่วนใหญ่ โดยแบ่งเป็น 3 ข้อ หลักๆ ดังนี้
1. การยึดมั่นในเป้าหมายสูงสุด คือ การเป็นธนาคารพาณิชย์ที่แสวงหากำไร ไม่ใช่องค์กรการกุศล ดังคำอธิบายบนเว็บไซต์ของธนาคารกรามีนที่ว่า “เป้าหมายหลักของธนาคารกรามีนคือการนำบริการของสถาบันการเงินไปสู่คนจน” เพื่อช่วยให้พวกเขาต่อสู้กับความยากจนได้ด้วยตัวเองในระยะยาว และมีฐานะมั่นคงมากขึ้น
2. การสร้างกระบวนการและกลไกต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้คนจนมีความสามารถในการช าระหนี้ได้ ตรงตามเวลาที่กำหนด เนื่องจากธนาคารกรามีนทำธุรกิจกับคนจน ซึ่งเผชิญกับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจสูงมาก ดังนั้นธนาคารจึงต้องต้องออกแบบเงื่อนไขเงินกู้ที่ค่อนข้างยืดหยุ่นมากกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
3. การให้การศึกษาและมอบอำนาจแก่คนจน (empowerment) ยูนุสเรียกโมเดลธุรกิจของเขาว่า “trust-based banking” หมายความว่า ธนาคารมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนจนในฐานะลูกหนี้ แต่ความเชื่อมั่นเพียงอย่างเดียวไม่สามารถรับประกันความสามารถในการชำระเงินกู้คืนได้ ดังนั้นทางธนาคารจึงออกนโยบายพันธะสัญญา 16 ประการ ด้วยความเชื่อว่าหากสมาชิกปฏิบัติตามพันธะสัญญาทั้งหมดนี้ พวกเขาจะสามารถก้าวพ้นความยากจนได้อย่างยั่งยืน หลังจากได้รับเงินกู้จากธนาคารภายใน 5 ปี
นโยบายพันธะสัญญา 16 ประการ มีดังนี้
1. ผู้กู้ต้องอยู่ในระเบียบ วินัย กล้าหาญ ทำงานหนักและมีความสามัคคีกัน
2. ผู้กู้ต้องนำความมั่งคั่งมาสู่ครอบครัว
3. ผู้กู้ต้องซ่อมแซมบ้านให้น่าอยู่ ไม่อาศัยในบ้านที่เสื่อมโทรมหรือผุพัง
4. ผู้กู้ต้องปลูกผักไว้กินเองภายในรั้วบ้าน
5. ผู้กู้ต้องปลูกพืชตามฤดูกาล
6. ผู้กู้ต้องจำกัดปริมาณสมาชิกในครอบครัว
7. ผู้กู้ต้องให้การศึกษากับลูกหลาน
8. ผู้กู้ต้องรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด
9. ผู้กู้ต้องใช้ส้วมหลุม
10. ผู้กู้ต้องต้มน้ำก่อนดื่ม
11. ผู้กู้ต้องไม่ให้ลูกแต่งงานตั้งแต่ยังเล็ก
12. ผู้กู้ต้องยินดีให้ความช่วยเหลือกับผู้อื่นเสมอ
13. ผู้กู้ต้องช่วยกันรักษากฎระเบียบ
14. ผู้กู้ต้องให้ความร่วมมือกับสังคม
15. เมื่อผู้กู้มีเงินมากขึ้น ต้องรู้จักลงทุนมากขึ้น
16. ผู้กู้ต้องไม่ลงโทษคนอื่นโดยไม่ยุติธรรม
จากเนื้อหาในพันธะสัญญาของธนาคารทั้ง 16 ข้อ จะเห็นได้ว่าธนาคารกรามีนเป็นธนาคารเพื่อคนจนที่ให้ความสำคัญการสร้างขบวนการทางสังคม (Social Movement) มากกว่าการเป็นสถาบันทางการเงินที่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างกระบวนการพัฒนาคนเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน โดยใช้กลยุทธ์ด้านการเงินเป็นเครื่องมือหลักในการแก้ปัญหาทางสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
IPCC เตือนกิจกรรมของมนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนและบางครั้งก็ไม่สามารถย้อนกลับได้
https://www.thaiquote.org/content/250481
ฟางไทย แฟคทอรี่ จากการต่อยอดอาชีพบรรพบุรุษสู่ธุรกิจเพื่อสังคมแบบคนรุ่นใหม่
https://www.thaiquote.org/content/250429
เทรนด์การพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น แต่ผู้บริโภคยังไม่พร้อมหากต้องจะจ่ายเพิ่มขึ้น
https://www.thaiquote.org/content/250381