กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก เกิดจากการผสมยางธรรมชาติและพลาสติก ทดแทนกรวยจราจรแบบเดิมที่ผลิตจากพลาสติก ลดเวลาการฉีดขึ้นรูป กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ไม่แตกหักง่าย ช่วยลดของเสียจากกระบวนการผลิต และลดการใช้พลาสติก
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เอ็มเทคได้ส่งต่องานวิจัย การผลิตกรวยจราจรที่มียางธรรมชาติเป็นส่วนประกอบ เพื่อผลิตเป็นกรวยจราจรเกรดพิเศษ
โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic Natural Rubber, TPNR) จากเดิมที่ผลิตจากพลาสติกประเภทเอทิลีนไวนิลแอซีเทตโคพอลิเมอร์ (Ethylene Vinyl Acetate Copolymer, EVA)
ปัจจุบันรัฐบาลมีการส่งเสริมให้ใช้ ยางพาราหรือยางธรรมชาติมา เป็นวัตถุดิบในการพัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางสำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เพิ่มชนิดและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้มากขึ้น
ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ได้ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นกรวยจราจรที่มีส่วนผสมของยางธรรมชาติ มีสมบัติยืดหยุ่น ไม่แตกหักง่ายเมื่อถูกรถเหยียบ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ตอบโจทย์ภาคเอกชนและต่อยอดไปจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้
นายวษุวัต บุญวิทย์ ผู้บริหาร บริษัท ธนัทธร จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวทช. ในการเตรียมยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก สำหรับผลิตกรวยจราจร และจดแจ้งผลิตภัณฑ์ “กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” ให้อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย
ดร.ภาสรี เล้ากิจเจริญ นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. กล่าวถึงเทคโนโลยีการผลิตยางผสมพลาสติก หรือ ‘ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก’ (Thermoplastic Natural Rubber, TPNR) ว่าเป็นการผสมยางธรรมชาติและพลาสติกเข้าด้วยกันในเครื่องอัดรีดสกรูคู่ (Twin Screw Extruder) ร่วมกับเทคนิคไดนามิกวัลคาไนเซชัน
ก่อนนำไปฉีดขึ้นรูปด้วยเครื่องฉีดพลาสติก (Injection Molding Machine) จึงได้ผลิตภัณฑ์กรวยจราจรที่มีลักษณะและผิวสัมผัสเหมือนยางซึ่งมาจากส่วนผสมยางธรรมชาติ 30% ต่อมาได้ร่วมทดสอบสมบัติเบื้องต้นและสมบัติการใช้งานจริง กับ บริษัท ธนัทธร จำกัด ประมาณ 1 ปี ขณะนี้ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับบริษัทแล้ว
และบริษัทฯ ได้นำไปผลิตตามมาตรฐานทันทีอีกกว่า 7 ตัน โดยผู้ประกอบการได้ซื้อยางแท่งจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการใช้งานและแปรรูปยางพาราในประเทศไทย
กรวยจราจรดังกล่าว ทนต่อการฉีกขาด และทนทานต่อการแตกหักได้สูงขึ้น เนื่องจากมีส่วนผสมของยางพารา นอกนั้นยังสามารถขึ้นรูปได้สะดวก รวดเร็วขึ้น แกะชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ได้ง่าย ส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น และยังเกิดของเสียในกระบวนการผลิตน้อยลง
ขณะเดียวกันยังยึดเกาะพื้นผิวถนนได้ดีขึ้น เพราะน้ำหนักที่มากขึ้นราว 0.2 กม./ชิ้น และมียางพาราหรือยางธรรมชาติที่ยืดหยุ่นเป็นส่วนผสม
อีกประเด็นที่สำคัญคือ การเลือกใช้งานวัสดุประเภท “ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” นี้ ยังสามารถทำให้ขึ้นรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ได้เหมือนพลาสติก ถือว่าสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ตามนโยบาย BCG Economy Model ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าการใช้ยางพาราในประเทศ โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากยางพารา และส่งเสริมอุตสาหกรรมปลายน้ำอีกด้วย