สรุปภัยพิบัติเดือนมกรา-ธันวา 2024 จากภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งน้ำท่วม ไฟป่า และคลื่นความร้อน ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล
ผู้เขียน: จุฑาทิพย์ สมสุข
ปี 2024 เป็นปีที่โลกเผชิญวิกฤตภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย คลื่นความร้อนทำลายสถิติในยุโรป ไปจนถึงไฟป่ารุนแรงในแคนาดาและภูเขาไฟปะทุในอินโดนีเซีย
เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังสร้างความสูญเสียอย่างหนักทั้งต่อชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงผลพวงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมส่งสัญญาณเตือนว่าโลกกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่ต้องเร่งปรับตัวและหามาตรการป้องกันอย่างจริงจัง
-มกราคม
เริ่มต้นปี 2024 ด้วยวิกฤตครั้งใหญ่ที่สะท้อนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเปราะบางของมนุษยชาติ สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ยังคงดำเนินอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่ต่อชีวิตผู้คน แต่ยังทำลายธรรมชาติด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาล ซึ่งยิ่งซ้ำเติมปัญหาสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญ
วันที่ 1 มกราคม ประเทศญี่ปุ่นประสบเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ที่จังหวัดอิชิคาวะ สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ต่อบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนในสหรัฐอเมริกา พายุหิมะรุนแรงพัดถล่มหลายรัฐ ส่งผลให้การคมนาคมหยุดชะงักและไฟฟ้าดับในวงกว้าง
-กุมภาพันธ์
เดือนกุมภาพันธ์ไม่ต่างจากเดือนแรกของปี ด้วยภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก อินโดนีเซียประสบเหตุน้ำท่วมใหญ่จากฝนตกหนัก ทำให้กรุงจาการ์ตาจมอยู่ใต้น้ำ ประชาชนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย
ด้านมาดากัสการ์ต้องเผชิญพายุไซโคลนเฟรดดี้ ที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 50 ราย
นอกจากนี้ ไฟป่ารุนแรงยังสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ในชิลีและแคนาดา โดยไฟป่าในแคนาดาถูกบันทึกว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในศตวรรษ เผาทำลายพื้นที่ป่าและกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับโลก
-มีนาคม
ในประเทศเปรู เกิดดินถล่มที่สร้างความเสียหายแก่ชุมชนและโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนในประเทศไทย พื้นที่ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน เผชิญกับไฟป่ารุนแรงและปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม อุณหภูมิในแม่ฮ่องสอนในช่วงเดือนมีนาคม 2024 มีค่าสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 38-39 องศาเซลเซียส ซึ่งสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งนี้เอื้อต่อการเกิดไฟป่าและทำให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้น
-เมษายน
สหรัฐอเมริกาในรัฐโอคลาโฮมาและเท็กซัส เผชิญพายุทอร์นาโดรุนแรง ส่งผลให้บ้านเรือนเสียหาย การคมนาคมหยุดชะงัก และมีผู้บาดเจ็บ หลักๆ เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวนและความรุนแรงของธรรมชาติในช่วงเวลาดังกล่าว
-พฤษภาคม
ตุรกีตอนใต้ เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 จากรอยเลื่อนใต้เปลือกโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่จีนประสบกับน้ำท่วมใหญ่จากแม่น้ำแยงซีที่เอ่อล้น เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องและการจัดการน้ำที่ไม่เพียงพอ ส่วนบราซิลเผชิญน้ำท่วมครั้งใหญ่สุดในรอบ 80 ปี เพราะคลื่นความร้อนทำให้อากาศแปรปรวน กระตุ้นฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มต่ำ สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวาง
-มิถุนายน
ประเทศไทยพบว่าพะยูน ตายมากกว่า 20 ตัว จากรายงานในปีนี้ และสถิติการตายของพระยูนไทยในปีนี้พุ่งสูงถึง 41 ตัว เสี่ยงเกิดการสูญพันธ์จากการตายที่เพิ่มขึ้นและหญ้าทะเลลดลง จากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่ออุณหูมิน้ำทะเล
ทางด้านยุโรปเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 48°C สาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ชั้นบรรยากาศร้อนขึ้น ส่งผลให้เกิดไฟป่าหลายจุดและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ขณะเดียวกัน บังคลาเทศถูกพายุไซโคลน “มอคา” พัดถล่ม ชายฝั่งได้รับผลกระทบหนักจากลมแรงและน้ำท่วมใหญ่ ทำลายหมู่บ้านและพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลให้ชาวบ้านหลายพันคนต้องอพยพออกจากพื้นที่
-กรกฎาคม
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับปลาหมอคางดำ เอเลี่ยนสปีชีส์ที่รุกรานน่านน้ำของเราอย่างหนัก ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศเป็นวงกว้าง ใกล้กับเรานั้นเอง ประเทศญี่ปุ่นก็พบพายุฝนทำให้เกิดน้ำท่วมในจังหวัดฟุกุโอกะและฮิโรชิมา ส่งผลให้มีการอพยพประชาชนจำนวนมาก
-สิงหาคม
ในเดือนสิงหาคม 2024 โลกเข้าสู่ “วันใช้ทรัพยากรเกินขนาด” ไวที่สุดเป็นประวัติการณ์ หมายความว่ามนุษยชาติใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่โลกสามารถผลิตได้ในหนึ่งปีจนหมดภายในเวลาเพียง 8 เดือน สถานการณ์นี้สะท้อนถึงผลกระทบของการบริโภคเกินขนาดและการจัดการทรัพยากรที่ขาดความยั่งยืน
ในเดือนเดียวกัน ภัยพิบัติทางธรรมชาติยังคงสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง พายุไต้ฝุ่น ซาโอลา พัดถล่มฟิลิปปินส์และไต้หวัน ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ ขณะที่ในประเทศไทย ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในภาคเหนือและอีสานทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและการดำรงชีวิตของประชาชนจำนวนมาก
-กันยายน
ในเดือนกันยายน 2024 ประเทศโมร็อกโกเผชิญแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.2 ริกเตอร์ ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกตามแนวรอยเลื่อนในภูมิภาค ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน และสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเมืองและชุมชน ขณะเดียวกัน พายุเฮอริเคนลี ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติกที่สูงขึ้น ส่งผลให้พายุทวีความรุนแรงพัดถล่มแคริบเบียนและชายฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในพายุที่รุนแรงที่สุดของปี 2024
-ตุลาคม
ในเดือนตุลาคม เวียดนามกำลังเผชิญน้ำท่วมหนักจากพายุมรสุมที่นำฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ น้ำท่วมครั้งนี้สร้างความเสียหายรุนแรงต่อบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร และถนนหลายสาย ประชาชนหลายหมื่นคนต้องอพยพ และมีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำป่าหลาก
ขณะเดียวกัน บนโลกมีควันไฟพวยพุ่งอย่างรุนแรง เมื่อภูเขาไฟมายอนที่ฟิลิปปินส์เกิดปะทุ จนปล่อยเถ้าถ่านและลาวาจำนวนมาก สาเหตุมาจากการสะสมแรงดันใต้พื้นผิวโลกที่เพิ่มขึ้นจนเกิดการปะทุอย่างฉับพลัน ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงต้องอพยพมากกว่า 20,000 คน พื้นที่การเกษตรถูกปกคลุมด้วยเถ้าถ่านและได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทั้งสองเหตุการณ์นี้สะท้อนถึงผลกระทบจากธรรมชาติที่รุนแรงและไม่อาจคาดการณ์
-พฤศจิกายน
ทั้งโลกจับตามองกับการเลือกตั้งประธาธิบดีคนใหม่ในสหรัฐอเมริกา และได้ Donald John Trump (โดนัลด์ ทรัมป์) ผู้ชายที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนขึ้นรับตำแหน่งขึ้นเป็นประธาธิบดีคนล่าสุด ทำให้หลายคนเริ่มกังวลกับข้อกฎหมายสภาพภูมิอากาศ ในเดือนเดียวกันนี้เอง ได้เกิดเหตุการณ์ธรรมชาติรุนแรงในสองประเทศใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อผู้คนนับหมื่น
ที่อินเดีย รัฐเกรละต้องเผชิญกับฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจากมรสุม ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน บ้านเรือนและพื้นที่เกษตรจมอยู่ใต้น้ำ ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพไปยังศูนย์พักพิง ขณะที่ในฟิลิปปินส์ เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ในพื้นที่ทางใต้ สั่นสะเทือนจนทำให้อาคารบ้านเรือนพังเสียหาย ถนนบางเส้นทางไม่สามารถใช้งานได้
-ธันวาคม
เดือนสุดท้ายส่งท้ายปี 2024 ทั่วเอเชียต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว ในญี่ปุ่น ภูมิภาคโฮคุริคุโดนพายุหิมะถล่มหนัก หิมะตกหนาจนการคมนาคมต้องหยุดชะงัก ทั้งรถไฟและถนนในพื้นที่ไม่สามารถใช้งานได้ ผู้คนหลายพันคนติดอยู่ในบ้านหรือสถานีรถไฟ
ส่วนในมาเลเซีย ฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวันทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายรัฐ ประชาชนหลายหมื่นคนต้องรีบอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ขณะเดียวกัน ในภาคใต้ของไทยเอง ก็เกิดน้ำท่วมฉับพลันจากฝนที่ตกไม่หยุดในช่วงเดือนเดียวกัน
นับว่าปี 2024 เป็นบทเรียนสำคัญจากสภาวะโลกรวน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โลกกำลังส่งสัญญาณเตือนถึงขีดจำกัดที่มนุษย์จะใช้ทรัพยากรโดยไม่คิดถึงผลกระทบ เราไม่สามารถชะลอการแก้ปัญหาได้อีกต่อไป ถึงเวลาที่ต้องร่วมมือกันทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อสร้างมาตรการป้องกันให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ในอนาคต