เปลี่ยนอาหารส่วนเกิน เป็นโอกาส สตาร์บัคส์ x SOS ตั้งใจลดขยะอาหาร ด้วยกระบวนการ เก็บ-คงคุณภาพ-ส่งต่อ แปรเป็น 200,000 มื้อสู่ชุมชน
สตาร์บัคส์ ประเทศไทย เดินหน้าสร้างผลกระทบเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ผ่านความร่วมมือกับ มูลนิธิมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ( Scholars of Sustenance : SOS) ในโครงการ โครงการครัวรักษ์อาหาร (SOS Rescue Kitchen) บริหารจัดการอาหารส่วนเกินจากร้านสตาร์บัคส์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดขยะอาหารละส่งต่อมื้อคุณภาพสู่ชุมชนที่ขาดแคลน ณ วัดจันทร์ประดิษฐ์ฐาราม เพชรเกษม 48
การนำอาหารส่วนเกินส่งต่อสู่ชุมชน
สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ดำเนินธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage) โดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม หนึ่งในพันธกิจสำคัญคือการลดปริมาณขยะอาหารและนำอาหารส่วนเกินไปมอบให้กับผู้ที่ต้องการ ผ่านโครงการ Food Share ซึ่งทำร่วมกับมูลนิธิ SOS (Scholars of Sustenance)
ในอดีต อาหารที่ขายไม่หมดในแต่ละวันของสตาร์บัคส์ต้องถูกทิ้งเป็นขยะ แต่ปัจจุบัน ร้านสาขาต่าง ๆ ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานในการจัดเก็บและรักษาคุณภาพอาหารส่วนเกิน โดยนำไปแช่เย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียสเพื่อคงความสดใหม่ ก่อนที่มูลนิธิ SOS จะเข้ามารับและแจกจ่ายให้กับชุมชนที่ขาดแคลน โดยอาหารทั้งหมดจะถูกบริโภคภายในวันเดียวกันเพื่อความปลอดภัย
ตัวเลขที่สะท้อนผลกระทบเชิงบวก
ตั้งแต่เริ่มโครงการ Food Share ในปี 2562 สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ได้บริจาคอาหารไปแล้วกว่า 200,000 มื้อ คิดเป็นปริมาณขยะอาหารที่ลดลงกว่า 60,000 กิโลกรัม และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 140,000 กิโลกรัม ซึ่งหากไม่มีโครงการนี้ อาหารเหล่านี้อาจกลายเป็นขยะที่ต้องนำไปฝังกลบ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
Rescue Kitchen จากขยะอาหารสู่มื้ออาหารคุณภาพ
นอกจากการบริจาคอาหารส่วนเกิน สตาร์บัคส์ยังร่วมมือกับมูลนิธิ SOS จัดกิจกรรม “Rescue Kitchen” ซึ่งเป็นโครงการที่นำวัตถุดิบอาหารส่วนเกินมาปรุงเป็นมื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับชุมชน โดยในปี 2566 เพียงปีเดียว กิจกรรมนี้สามารถส่งมอบอาหารไปแล้วกว่า 20,170 มื้อ ลดปริมาณขยะอาหารได้กว่า 4,800 กิโลกรัม และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากถึง 12 ตัน
ในกิจกรรมอาสาสมัครของ Rescue Kitchen พนักงานสตาร์บัคส์ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมโดยการช่วยปรุงอาหาร เช่น หั่นผัก เตรียมวัตถุดิบ และจัดเตรียมมื้ออาหารให้กับชุมชน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน
การบริหารจัดการเพื่อลดขยะอาหารในธุรกิจ
แม้สตาร์บัคส์จะพยายามคำนวณความต้องการของลูกค้าเพื่อให้ผลิตอาหารได้พอดีกับการบริโภค แต่ยังคงมีปัจจัยภายนอก เช่น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจส่งผลให้ยอดขายผันผวน ร้านบางวันขายดี บางวันขายได้น้อย ทำให้เกิดอาหารส่วนเกิน การนำข้อมูล (Data) มาใช้ในการคาดการณ์และบริหารสต๊อกจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดปริมาณอาหารที่เหลือ
การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สตาร์บัคส์ได้ให้การสนับสนุนมูลนิธิ SOS เป็นมูลค่ากว่า 8,300,000 บาท เพื่อช่วยขยายขีดความสามารถของโครงการ และเพิ่มจำนวนมื้ออาหารที่สามารถแจกจ่ายไปยังชุมชน นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ยังสนับสนุนการจัดซื้อ รถตู้เย็นสำหรับขนส่งอาหาร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอาหารที่ส่งต่อไปยังชุมชนจะยังคงสดใหม่และปลอดภัยต่อการบริโภค
คัดเลือกอย่างเข้มงวด มั่นใจในคุณภาพ ลดขยะอาหาร 100% – ส่งต่อทุกมื้อให้เกิดประโยชน์
จุฑาทิพย์ เก่งมานะ ผู้จัดการด้านผลกระทบทางสังคมและความยั่งยืน สตาร์บัคส์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า สตาร์บัคส์ร่วมมือกับมูลนิธิ Scholars of Sustenance (SOS) ในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินจากร้านกาแฟไปสู่ชุมชน เพื่อลดปริมาณขยะอาหารและสนับสนุนการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพให้กับกลุ่มเปราะบาง
อาหารที่ SOS รับมาต้องอยู่ในสภาพที่รับประทานได้ ไม่มีการรับอาหารที่เน่าเสียหรือหมดอายุแล้ว เช่น ผักผลไม้จากตลาดต้องยังสด หรือเบเกอรี่จากสตาร์บัคส์ที่ขายไม่หมดจะต้องถูกเก็บรักษาตามมาตรฐานก่อนส่งต่อ
“อาหารที่เราได้รับมาไม่มีการสูญเปล่า เพราะ SOS ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับแล้วกระจายทันที ไม่มีการเก็บไว้เอง ดังนั้น อาหารทุกชิ้นจะถูกนำไปใช้ทั้งหมดโดยไม่เหลือทิ้ง”
นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ยังส่งเสริมการลดขยะจากแก้วใช้แล้ว ด้วยการรณรงค์ให้ลูกค้าใช้ Personal Cup ซึ่งช่วยลดขยะจากแก้วกระดาษไปแล้วกว่า 33 ล้านใบตั้งแต่เริ่มโครงการ โดยลูกค้าสามารถรับส่วนลด 10 บาท หรือสะสมดาวเมื่อนำแก้วมาใช้ การดำเนินงานเหล่านี้ไม่เพียงช่วยลดขยะฝังกลบ แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนที่ขาดแคลนอาหาร เปลี่ยนขยะส่วนเกินให้กลายเป็นมื้ออาหารที่มีคุณค่า
ไม่เพียงแต่สตาร์บัคส์ ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ ก็ควรให้ความสำคัญกับการลดขยะอาหารและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการ Food Share และ Rescue Kitchen เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำอาหารส่วนเกินกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยเหลือชุมชน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความยั่งยืนในภาคธุรกิจ
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อ่านคลิก
ฟื้นเมืองแผ่นดินไหว ก้าวสู่ Smart City : บทเรียน 3 เมืองที่ถูกทำลายแต่กลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิม