ภาษีคาร์บอนกำลังมาถึง! เช็กความพร้อมภาคธุรกิจไทยพร้อมรับมือแค่ไหน?ในการลดโลกเดือด

ภาษีคาร์บอนกำลังมาถึง! เช็กความพร้อมภาคธุรกิจไทยพร้อมรับมือแค่ไหน?ในการลดโลกเดือด

ภาษีคาร์บอนถือเป็นเครื่องมือสําคัญ ที่จะมาช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ผ่านกลไก Carbon Pricing ตามหลักทางเศรษฐศาสตร์ เพราะทําให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีราคาที่ต้องจ่าย ไม่ใช่ของฟรีที่จะปล่อยตามใจได้อีกต่อไป ซึ่งภาษีคาร์บอนเป็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ โรงงานหรือบริษัทใดผลิตคาร์บอนไดออกไซด์มากก็ต้องจ่ายภาษีมาก เป็นการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กำลังต้องการการเยียวยาและดูแลรักษาอย่างเร่งด่วน

 

 

ภาษีคาร์บอนคืออะไร ?

ภาษีคาร์บอน คือ ภาษีที่เก็บจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน การเก็บภาษีคาร์บอน เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนหันมาใส่ใจและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยหลายประเทศทั่วโลกเริ่มนำภาษีชนิดนี้มาใช้ เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่กำลังวิกฤตอย่างรุนแรง

 


ประเทศที่นำกลไกภาษีคาร์บอนมาใช้

สำหรับประเทศที่นำกลไกภาษีคาร์บอนมาใช้ ขณะนี้มี 36 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกประมาณ 5 % โดยไทย เป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียน ต่อจากสิงคโปร์ที่เริ่มเก็บตั้งแต่ปี 2019 เป็นแบบขั้นบันได ล่าสุดในอัตรา 630บาท/ตันCO2 (อัตราปี 2024) ขณะที่ญี่ปุ่น เป็นประเทศแรกในเอเชีย โดยเริ่มเก็บตั้งแต่ปี 2012 ในอัตรา 66 บาท/ตันCO2

 

 

รูปแบบการจัดเก็บภาษี

1.ทางตรงจากการผลิต การผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล การเผาไหม้ของเครื่องจักรโรงงานและยานพาหนะ
2.ทางอ้อมจากการบริโภค การซื้อผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก อาทิ เหล็ก กระดาษ บรรจุภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า

สำหรับอัตราภาษีจะมีแต่ราคาเฉลี่ยประมาณ 0.08 – 160 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันCO2 โดย อุรุกวัย เป็นประเทศที่จัดเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราสูงที่สุดในโลก เริ่มในปี 2022 มีราคาประมาณ 160 ดอลลาร์ หรือประมาณ 5,512 บาท รองลงมาคือ ประเทศสวีเดน ลิกเตนสไตน์ และสวิสเซอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม ประเทศส่วนใหญ่ที่นำภาษีคาร์บอนมาใช้มักเลือกเก็บภาษีคาร์บอนกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงชนิดเดียว ทั้งนี้ อัตราภาษีนี้เป็นหัวใจสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่จะกำหนดว่าสังคมจะสามารถบรรลุจุดที่มีต้นทุนโดยรวมต่ำที่สุดได้หรือไม่ “ในทางเศรษฐศาสตร์ อัตราภาษีที่เหมาะสม คือระดับที่ทำให้ต้นทุนการบำบัดก๊าซเรือนกระจกส่วนเพิ่ม (Marginal Abatement Cost) เท่ากับ ต้นทุนความเสียหายของสังคมส่วนเพิ่ม (Marginal Damage Cost)”

 

Cr. ภาพ : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

 

แล้วภาษีคาร์บอนของไทย จะเริ่มบังคับใช้เมื่อไหร่

สำหรับการจัดเก็บภาษีคาร์บอนของไทย กรมสรรพสามิตเตรียมใช้ภาษีคาร์บอนเป็นกลไกภาคบังคับเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หวังให้ผู้ส่งออกใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียม CBAM

ทั้งนี้ การกำหนดอัตราภาษีคาร์บอนในรูปแบบภาคบังคับจะสามารถนำไปใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียม Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่อียูจะเรียกเก็บจากผู้นำเข้าสินค้าไปยังอียูในปี 2569 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกในระยะแรก

คาดว่า ภาษีคาร์บอนของไทยสามารถบังคับใช้อย่างเร็วสุด ภายในปีงบประมาณ 2568 เพื่อให้ทันการเก็บค่าธรรมเนียม CBAM ในปี 2569 ขณะที่ พ.ร.บ. Climate Change ที่จะเป็นกฎหมายเพื่อกำหนดกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับในรูปแบบ ระบบ Emission Trading Scheme (ETS) น่าจะบังคับใช้ได้ในปี 2572

ดังนั้น ในระยะแรกจึงเป็นเรื่องที่ดี หากมีการปรับใช้ภาษีคาร์บอนโดยใช้หลักการแปลงภาษีสรรพสามิตที่เดิมมีการผูกกับปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่แล้ว เช่น ภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ ให้อยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน เพื่อไม่สร้างภาระทางภาษีเพิ่มแก่ประชาชน และสามารถให้ผู้ส่งออกใช้ประโยชน์ในระหว่างรอกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับจาก พ.ร.บ. Climate Change ในภายหลัง โดยกำหนดราคากลางที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งน้อยกว่าราคาคาร์บอนของอียู (EU ETS) ที่มีราคาประมาณ 2,700 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Tax ของสิงคโปร์อยู่ที่ประมาณ 700 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การมีกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ในรูปแบบภาคบังคับจะช่วยผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปยัง EU หรือประเทศที่มีการใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ลดหย่อนค่าธรรมเนียมที่จะต้องจ่ายให้แก่ประเทศที่บังคับใช้ได้

 

โดยผลกระทบอาจแบ่งเป็น 2 ระยะ

ระยะแรก ผู้ส่งออกใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียม CBAM โดยไม่มีภาระภาษีภายในประเทศเพิ่ม เนื่องจากใช้ภาษีสรรพสามิตแปลงมาเป็นภาษีคาร์บอน ในช่วงก่อนมี พ.ร.บ. Climate Change ทั้งนี้ภาครัฐควรจัดหากลไกกองทุนเพื่อนำรายได้ดังกล่าวสนับสนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดด้วย

ระยะหลังจากที่ พ.ร.บ. Climate Change บังคับใช้ จะมีกลไก Emission Trading Scheme และการกำหนดพิกัดอัตราภาษีคาร์บอนที่ยังไม่เก็บอยู่เดิม จะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมภายในประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นไปตามบริบทการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของโลก

 

 

แล้วคนไทยต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้นหรือไม่

ในเรื่องนี้ รัฐบาลยืนยันว่า ภาษีคาร์บอนจะไม่ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น เพราะในระยะแรกจะใช้วิธีการ “แปลงภาษี” โดยนำภาษีสรรพสามิตน้ำมันส่วนหนึ่งมาเป็นภาษีคาร์บอนแทน

ยกตัวอย่างการคำนวณภาษีคาร์บอนสำหรับน้ำมัน เช่น แก๊สโซฮอล์ E85 มีค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 0.00034364 tonCO₂eq ซึ่งเมื่อนำมาคูณกับ 200 บาทต่อตันคาร์บอน ก็จะได้ค่าอยู่ที่ 0.07 บาท หรือ 7 สตางค์นั่นเอง

ทั้งนี้ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ภาษีคาร์บอนจะไม่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในระยะแรก เนื่องจากในช่วงแรกจะใช้วิธีการ “แปลง” ภาษีสรรพสามิตน้ำมันส่วนหนึ่งมาเป็นภาษีคาร์บอน โดยไม่เพิ่มภาระให้กับประชาชน เช่น ปกติเติมน้ำมันดีเซล ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต 6.44 บาทต่อลิตร (อัตราสูงสุด) เมื่อภาษีคาร์บอนของน้ำมันดีเซลเท่ากับ 0.54 บาท ก็จะรวมภาษีคาร์บอน 0.54 บาท นี้ ไว้ใน 6.44 บาทนั้นเลย ดังนั้น ราคาน้ำมันก็จะไม่เปลี่ยนแปลง

 

 

ต่อไปนี้ เติมน้ำมัน ก็รู้ว่าปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่

กรมสรรพสามิตวางแผนจะร่วมมือกับผู้ประกอบการปั๊มน้ำมัน เพื่อแสดงข้อมูลปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากการเติมน้ำมันทุกครั้ง ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภค

 

 

ผู้ประกอบการ SME ต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร

1. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน และติดตามข่าวสารและนโยบายภาษีคาร์บอนอย่างสม่ำเสมอ ร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น ใช้รถยนต์น้อยลง ประหยัดพลังงาน

2. การประเมินคาร์บอนฟุตพริ๊นต์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการดำเนินธุรกิจ ถึงแม้ว่าปัจจุบันการตรวจวัด GHG จะเป็นการดำเนินการภาคสมัครใจ แต่แนวโน้มในอนาคตการตรวจวัด GHG ขององค์กรจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของที่จะต้องมีการรายงานเช่นเดียวกับการรายงานงบการเงิน มีชื่อว่า IFRS S1 และ S2 จัดทำโดย International Sustainability Standards Board (ISSB) ในปัจจุบันประเทศสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น แคนนาดา และออสเตรเลียกำลังศึกษาแนวทางในการนำมาตรฐานดังกล่าวมาบังคับใช้

3. การลด GHG ในกระบวนการผลิตและการดำเนินกิจการจะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยแนวโน้มนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตจะทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ที่ปล่อย GHG สูงเพิ่มขึ้น และจะสูญเสียความสามารถในการแข่งกันต่อผู้ประกอบการที่ปล่อย GHG ต่ำ ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อลด GHG ทั้งในกระบวนการผลิตและการดำเนินกิจการอื่น ๆ

4. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นตลอดเวลา ผู้ประกอบการควรติดตามพัฒนาการของกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ นโยบาย EU-CBAM ที่จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2026 และจะขยายประเภทสินค้ามากขึ้น มาตรการ US-CBAM ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ที่อาจส่งผลต่อความสามารถในรแข่งขันของผู้ผลิตในระยะยาว

 

 

แล้ว SME ไทย จะได้อะไรจากภาษีคาร์บอน?

1. ช่วยลดโลกร้อน
2. ไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียน (ถัดจากสิงคโปร์) ที่มีภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นการแสดงถึง ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับสากล และสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อีกมาก
3. ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยุโรปหรือประเทศอื่นๆ ในอนาคต สามารถนำภาษีคาร์บอนที่จ่ายในไทยไปลดหย่อนภาษีคาร์บอนที่ต้องจ่าย ณ ต่างประเทศได้ (CBAM)

4. สำหรับผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่เก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน เช่น สหภาพยุโรป (EU) และสหราชอาณาจักร (UK) สามารถนำภาษีคาร์บอนที่จ่ายในไทยไปใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือ กลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน ได้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาษีคาร์บอนเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของไทยในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ SME ไทยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

อ้างอิง

ข้อมูลจาก: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และ Global Compact Network Thailand
https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/SBU312-FB-2024-06-18.aspx