ผู้ว่าฯ กทม. สั่งการด่วน กำชับเร่งดูแลประชาชนใกล้ชิดจากเหตุแผ่นดินไหว

ผู้ว่าฯ กทม. สั่งการด่วน กำชับเร่งดูแลประชาชนใกล้ชิดจากเหตุแผ่นดินไหว

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ไลฟ์สด แถลงข่าวเหตุแผ่นดินไหว และการดำเนินการในส่วนของ กทม. ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อรายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ โดยย้ำว่าประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก และกรุงเทพมหานครกำลังดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

มาตรการเร่งด่วนของโรงพยาบาล

ผู้ว่าฯ ชัชชาติระบุว่า “อย่างแรกเลย โรงพยาบาลต้องอพยพผู้ป่วยออกมา โดยเฉพาะผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินที่ต้องการการช่วยชีวิต และให้สำรวจโครงสร้างว่ามีความเสียหายหรือไม่” หากพบว่าอาคารไม่ได้รับความเสียหายร้ายแรง ผู้ป่วยสามารถกลับเข้าสู่อาคารได้ และผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นสามารถกลับบ้านได้เพื่อลดภาระของโรงพยาบาล

โรงพยาบาลหลายแห่งได้ประเมินโครงสร้างอาคารของตนเอง และพบว่าส่วนใหญ่ยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่พบเห็นรอยร้าวตามอาคารสามารถแจ้งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน ฟองดู” หรือโทรแจ้งที่หมายเลข 1555 เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ

ประชาชนพบอาคารเสียหาย มีรอยร้าวที่เสาและคาน ส่งภาพแจ้ง ได้ที่ LINE@traffyfondue หรือ คลิกลิงก์ https://landing.traffy.in.th?key=ywOorVMv เพื่อวิศวกรอาสาตรวจสอบต่อไป

ที่มา : Traffy Fondue  

 

ผลกระทบต่อการคมนาคม

จากผลกระทบของแผ่นดินไหว ระบบขนส่งมวลชนหลักของกรุงเทพฯ อย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) และรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) ได้หยุดให้บริการชั่วคราวเพื่อประเมินความปลอดภัย “รถไฟฟ้าหลักคือบีทีเอสกับเอ็มอาร์ทีหยุดให้บริการเพื่อประเมินความปลอดภัย แต่เท่าที่ดู ตัวโครงสร้างไม่ได้มีการเสียหาย” ผู้ว่าฯ กล่าว

เบื้องต้น ทางการคาดว่า MRT และ BTS จะกลับมาให้บริการในช่วงเช้าวันถัดไป ขณะเดียวกัน ทางด่วนดินแดงได้เปิดให้บริการแล้ว เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดจากการหยุดให้บริการของระบบขนส่งมวลชน

 

ความมั่นคงของอาคารและมาตรการเฝ้าระวัง

นายชัชชาติยืนยันว่ามาตรฐานโครงสร้างอาคารของกรุงเทพมหานครสามารถรองรับแรงแผ่นดินไหวได้ “ตามกฎหมายควบคุมอาคาร กรุงเทพมหานครสามารถรองรับแรงแผ่นดินไหวได้ และจากการตรวจสอบ อัตราการสั่นสะเทือนที่กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบยังต่ำกว่าที่ประเมินไว้มาก”

อย่างไรก็ตาม ภาพและวิดีโอที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อาจทำให้ประชาชนกังวล โดยเฉพาะอาคารที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว “แต่อาคารที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือนมากกว่าอาคารที่สร้างเสร็จแล้ว”

 

 

การประกาศภาวะฉุกเฉินและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

กรุงเทพมหานครได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้สามารถประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ผู้ว่าฯ ชัชชาติเปิดเผยว่า “การประกาศให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัยทำให้เราประสานความร่วมมือต่างๆ ได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งได้เสนอมอบอุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น บริษัท เอไอเอส ที่เสนออุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณมือถือ เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต และบริษัทเชฟรอนที่มีอุปกรณ์ไฮเทคพร้อมให้การสนับสนุน

 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เรียกประชุมออนไลน์ผู้อำนวยการเขต 50 เขต รายงานเหตุการณ์ในพื้นที่จากเหตุแผ่นดินไหว กำชับเร่งดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด

แนวทางป้องกันและรับมือในอนาคต

เพื่อป้องกันความเสียหายในอนาคต กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการพัฒนามาตรฐานอาคารและระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว “ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทยยังไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ เนื่องจากแผ่นดินไหวเกิดขึ้นฉับพลันและต้องแจ้งเตือนทันที” นายชัชชาติกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันให้เกิดการซ้อมรับมือเหตุแผ่นดินไหวมากขึ้น เช่น การฝึกซ้อมหนีภัยในอาคารสูง และการวางแผนเส้นทางหลบหนี “การซ้อมหนีภัยจะคล้ายกับการซ้อมหนีไฟ โดยจะต้องมีเส้นทางหลบหนีที่ชัดเจนและสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้”

 

สรุปสถานการณ์

แม้ว่าจะมีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบางอาคารได้รับความเสียหาย แต่ภาพรวมของสถานการณ์ยังอยู่ในการควบคุมของทางการ อาคารที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และโครงสร้างของอาคารหลักยังมีความมั่นคง ผู้ว่าฯ ชัชชาติเน้นย้ำว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้รุนแรงมาก ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก”

ขณะนี้ ทางการกำลังเร่งดำเนินมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร โรงพยาบาล และโรงงานต่างๆ รวมถึงพัฒนาระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ในอนาคต

 

ที่มาภาพ และอ้างอิง :

 Traffy Fondue

กรุงเทพมหานคร

 

เนื้อหาอื่นๆ  : 

อัปเดตล่าสุด! แผ่นดินไหว 7.7 เมียนมา สะเทือนไทย จตุจักรตึกถล่ม ตาย 3 ราย ติดอยู่ในซากตึกอย่างน้อย 81 คน