ถอดความสำเร็จ สิงคโปร์ แก้ปัญหา PM2.5 ได้อย่างไร ให้หมอกฝุ่นพิษหายไปอย่างยั่งยืน

ถอดความสำเร็จ สิงคโปร์ แก้ปัญหา PM2.5 ได้อย่างไร ให้หมอกฝุ่นพิษหายไปอย่างยั่งยืน

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วเอเชียมาเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะในประเทศไทย พบว่าปัจจุบัน ปัญหานี้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่รู้หรือไม่? ประเทศที่มีคุณภาพอากาศดีอย่างสิงคโปร์ก็เคยต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันพิษที่รุนแรงเช่นกัน โดยมีต้นกำเนิดฝุ่นพิษมาจากการเผาป่าและพืชไร่ บนเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวของประเทศอินโดนีเซีย แต่เขาสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างถาวร อะไรที่ทำให้สิงคโปร์แก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามได้ในบทความนี้

บทเรียนจากสิงคโปร์ การแก้ปัญหาฝุ่น หมอกควันพิษข้ามพรมแดน

สิงคโปร์เคยเผชิญวิกฤตหมอกควันข้ามพรมแดนอย่างรุนแรงมาเป็นเวลานานหลายสิบปี โดยในปี 2013 ระดับ PM2.5 พุ่งสูงถึง 471 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก รัฐบาลสิงคโปร์จึงมีการสืบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงจนพบว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเผาป่าสำหรับเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมีบริษัทใหญ่หลายแห่งในสิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในบริษัทปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ จึงเป็นที่มาให้ต้องออก กฎหมายควบคุมมลพิษข้ามพรมแดน เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ


ทำความรู้จัก “กฎหมายควบคุมมลพิษข้ามพรมแดน”

จากปัญหา PM 2.5 ในปี 2013 ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศของสิงคโปร์อย่างรุนแรง ทำให้ปี 2014 รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินมาตรการสำคัญ 3 ประการ ดังนี้
1. การออก “กฎหมายควบคุมมลพิษข้ามพรมแดน” หรือ Transboundary Haze Pollution Act ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที โดยกำหนดบทลงโทษปรับสูงสุด 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับบริษัทที่ก่อมลพิษข้ามพรมแดน
2. การสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านข้อตกลงอาเซียน ว่าด้วย “มลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน”
3. การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและทรัพยากรแก่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การฝึกอบรม การแบ่งปันเทคโนโลยี และการส่งทีมผู้เชี่ยวชาญช่วยดับไฟป่า

“กฎหมายเข้ม + ความร่วมมือระหว่างประเทศ + เทคโนโลยี = สูตรสำเร็จสิงคโปร์”

จากผลของกฎหมายฉบับนี้ส่งผลให้องค์กรใดหรือบุคคลใดเผาป่าหรือพื้นที่ทางเกษตรจนเกิดมลภาวะที่กระทบต่อคุณภาพอากาศของสิงคโปร์ จะต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินสูงสุด 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 3.5 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งมีเพดานค่าปรับสูงสุดอยู่ที่ 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 70 ล้านบาท และยังมีโทษจำคุกตามความรุนแรงของการกระทำผิดอีกด้วย

ทั้งนี้ ซึ่งสิงคโปร์ใช้เกณฑ์วัดคุณภาพอากาศกำหนดให้ค่ามลภาวะสูงตั้งแต่ 101 AQI ขึ้นไป และอยู่ในระดับสูงติดต่อเป็นเวลา 24 ชั่วโมงขึ้นไป ให้ถือว่า “คุณภาพอากาศย่ำแย่” สำหรับค่าปรับนั้นจะคิดตามจำนวนวันที่ก่อให้เกิดมลพิษ เพื่อให้แหล่งสร้างมลพิษควบคุมและดับไฟให้เร็วที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าปรับในจำนวนมาก

สะท้อนให้เห็นว่า แม้ปัญหาจะเกิดในประเทศเพื่อนบ้าน แต่สิงคโปร์ไม่ได้ปล่อยผ่าน ออกมาตรการกดดันและบังคับบริษัทสิงคโปร์เหล่านี้ให้ยกเลิกการตัดไม้เผาป่า โดยใช้เครื่องมือสำคัญคือ การออกกฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน หรือ Transboundary Haze Pollution Act เพื่อเป็นกลไกทางกฎหมายสำหรับควบคุมการดำเนินธุรกิจสวนปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียของบริษัทที่มีที่ตั้งในสิงคโปร์ ไม่ให้เผาป่าเพื่อบุกเบิกพื้นที่การเกษตร อันเป็นการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนที่ต้นเหตุ

กฎหมายฉบับนี้ ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้มีส่วนในการสร้างควันพิษต้องรับผิดชอบทั้งในทางอาญาและแพ่ง และกฎหมายนี้ยังครอบคลุมไปถึงบริษัทที่แม้จะไม่ได้เผาซากปาล์มน้ำมันโดยตรง แต่หากพิสูจน์ได้ว่า รับซื้อปาล์มน้ำมันหรือมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ประชาชนชาวสิงคโปร์ก็สามารถฟ้องร้องได้

นอกจากนี้สิงคโปร์ยังใช้มาตรการคว่ำบาตรสินค้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยสภาสิ่งแวดล้อมแห่งสิงคโปร์ได้ระงับการใช้ฉลากเขียวของ Universal Sovereign Trading ผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวของบริษัท Asia Pulp & Paper Group (APP) ผู้ผลิตเยื่อและกระดาษของอินโดนีเซีย เนื่องจากต้องสงสัยว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำการเกษตรด้วยการเผาป่าในอินโดนีเซีย ทำให้ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในสิงคโปร์ดำเนินการในการนำผลิตภัณฑ์ของ APP ออกจากชั้นวางภายใน 2 สัปดาห์อย่างรวดเร็ว

ทุกวันนี้การเผาป่าในเกาะบอร์เนียวและสุมาตราแม้จะมีอยู่แต่ก็น้อยลง ปัญหาหมอกควันพิษในประเทศสิงคโปร์ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาหมอกควันพิษทั้งภาครัฐบาลและพลังของผู้บริโภคนั่นเอง


ทำไม? การควบคุมฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ในไทย จึงไม่ได้ผล

เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย ต้องยอมรับว่า ไทยยังไม่มีกฎหมายที่ตราขึ้นมาเพื่อควบคุมฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะ แต่มีการบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยมีกรมควบคุมมลพิษดูแลเป็นหลัก
โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาในที่โล่ง เช่น พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ 2535
ขณะที่ มลภาวะที่เกิดจากการคมนาคมขนส่ง มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ที่มุ่งควบคุมการปล่อยควันจากท่อไอเสียของพาหนะบนท้องถนนเป็นหลัก หรือกฎหมายที่ควบคุมมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม เช่น พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นต้น
สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายด้านการควบคุมมลพิษของไทยอาจจะไม่สอดรับกับสถานการณ์หมอกควันพิษที่นับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน จึงไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนัก สังเกตได้จากการที่กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่ประสบกับปัญหาฝุ่นละอองและมีค่าฝุ่นมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้นรัฐบาลอาจจะต้องบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งปล่อยมลภาวะให้เข้มงวดมากขึ้น หรืออาจจะต้องร่างกฎหมายใหม่เพื่อจัดการกับคุณภาพอากาศโดยเฉพาะแทนการฉีดน้ำหรือการขอความร่วมมือให้ประชาชนทำงานที่บ้านแทนเมื่อมีค่าฝุ่นสูงซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

จากแนวคิด “สิงคโปร์” สู่แนวทางปรับใช้แก้ปัญหา PM2.5 ของไทย

สำหรับประเทศไทย ก็เผชิญปัญหาผลกระทบ PM2.5 ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นเดียวกัน จึงมีการออกมาตรการสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

1.ความร่วมมือระดับภูมิภาค
ไทยร่วมมือกับลาวและเมียนมาผ่าน “ยุทธศาสตร์ท้องฟ้าใส” (Clear Sky Strategy) 2024-2030 โดยตั้งเป้าหมายลดมลพิษ PM2.5 ที่เกิดจากอุตสาหกรรม การขนส่ง การเกษตร และไฟป่า เป็นสำคัญ โดยมีการวางแผนการจัดการมลพิษตามฤดูกาลที่จะมาช่วยลดผลกระทบจาก PM2.5 ข้ามแดนได้

2.มาตรการภาคการเกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกมาตรการเข้มงวด เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ภาคการเกษตร โดย เกษตรกรเผาเศษวัสดุในพื้นที่การเกษตร ถูกตัดสิทธิช่วยความเหลือจากรัฐ วัตถุประสงค์หลัก เพื่อลดการเผาพื้นที่เกษตรอย่างจริงจัง ซึ่งหากพบว่าเกษตรกรมีการเผาในพื้นที่เกษตร จะถูกตัดสิทธิการได้รับความช่วยเหลือชดเชยต่างๆ จากภาครัฐ เช่น ชะลอการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ (กสน.3) และชะลอการได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) ซึ่งเป็นเอกสารที่สามารถนำไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ เป็นต้น

3.พ.ร.บ. อากาศสะอาด

กฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยมีสาระสำคัญ:
•จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด นำโดยนายกรัฐมนตรี
•กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดทุกรูปแบบ
•สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
•คาดว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเดือนมีนาคม 2568
โดยพ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เป็นความหวังของคนไทยในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน ตลอดจนมีเครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน
โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2568 และจะเสนอร่างกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อทำการลงมติในวาระ 2 และ 3 ต่อไป จากนั้นจะนำร่างกฎหมายส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาวาระ 1-3 หากขั้นตอนทั้งหมดเสร็จสิ้น จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป


มาตรการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า หากรัฐบาลไทยถอดบทเรียนจากตัวอย่างดังกล่าว เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมของบ้านเรา โดยต้องมีความเด็ดขาดในการจัดการกับบริษัทใหญ่ และกล้าที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยให้มากขึ้น

ซึ่งหากมองในภาพรวม อาจจะยังไม่ครอบคลุมวิกฤตฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นอย่างหนักทางภาคเหนือของไทยในปัจจุบันสักเท่าไหร่ เมื่อหากเปรียบเทียบกับวิธีการจัดการปัญหาฝุ่นพิษที่รัฐบาลสิงคโปร์ ที่ลงมือทำจนได้ผลลัพธ์เป็นน่าพอใจ ดังนั้น รัฐบาลต้องมีความเด็ดขาดในการจัดการกับบริษัทใหญ่ และกล้าที่จะต่อสู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน

อ้างอิง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/PM25-CIS3546-FB-2025-01-17.aspx
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
https://www.moac.go.th/news-preview-471891792917
ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ…. https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=323
https://policywatch.thaipbs.or.th/article/environment-63
https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1060977