ทะเลคือหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจโลก แต่กำลังเผชิญวิกฤตจากมลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธุรกิจยุคใหม่จึงต้องปรับตัวสู่ความยั่งยืนด้วยหลัก ESG เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ทะเลเป็นมากกว่าแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เพราะมันคือพื้นฐานของเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่การขนส่ง การประมง ไปจนถึงการท่องเที่ยวและพลังงานสะอาด แต่ทะเลก็ต้องแบกรับผลกระทบจากมนุษย์ ทั้งมลพิษ ขยะพลาสติก และอุณหภูมิที่สูงขึ้น ถ้าทะเลเสียสมดุล ผลกระทบจะย้อนกลับมาสู่เรา ไม่ว่าจะเป็นการประมงที่ล่มสลายหรือโลจิสติกส์ที่ชะงัก
ด้วยความสำคัญของทะเลต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจในยุคปัจจุบันจึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่ยั่งยืน โดยใช้หลัก ESG (Environmental, Social, Governance) เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตและการปกป้องสิ่งแวดล้อม
ไม่เพียงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังเพิ่มความน่าเชื่อถือและเสริมสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจในระยะยาว ธุรกิจที่ปรับตัวเข้าสู่แนวทางนี้จึงไม่เพียงตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้บริโภคยุคใหม่ที่อยากให้โลกนี้เพื่อทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก
-โลกร้อนกระทบทะเล
ระบบนิเวศล่มสลาย-ปะการังฟอกขาว-เต่าทะเลเสี่ยงสูญพันธุ์
ดร. อุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยข้อมูลว่าการปลดปล่อยคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น นำไปสู่ปัญหาปะการังฟอกขาวที่เกิดซ้ำทุกปี ทำลายระบบนิเวศในทะเลจนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง
“กราฟการปลดปล่อยคาร์บอนที่เปลี่ยนจากสีฟ้าสดใสในอดีตมาเป็นสีเหลืองเข้มในปัจจุบัน บ่งชี้ถึงปริมาณมลพิษที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” ดร.อุกกฤตกล่าวและว่า ปะการังฟอกขาว ซึ่งอาจดูงดงามในสายตาบางคน แท้จริงแล้วเป็นสัญญาณอันตรายว่าปะการังกำลังจะตาย ความเสียหายนี้ส่งผลต่อระบบนิเวศโดยรวม ทำให้สิ่งมีชีวิตที่พึ่งพาปะการัง เช่น ปลาและสัตว์ทะเลอื่น ๆ สูญเสียที่อยู่อาศัย
-ระบบนิเวศทางทะเลล่มสลาย กระทบทั้งธรรมชาติและมนุษย์
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้หยุดอยู่ที่ปะการัง แต่ลามไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น เต่าทะเล ซึ่งเพศของลูกเต่าถูกกำหนดโดยอุณหภูมิ เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น อัตราการเกิดของเต่าตัวผู้ลดลงจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นอกจากนี้ หญ้าทะเลและพะยูนก็พบการตายเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศโดยรวม
“คนไม่รับผิดชอบต่อธรรมชาติ และขาดการบริหารจัดการที่ดี คือสาเหตุสำคัญของวิกฤตนี้” ดร.อุกกฤตกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่าการจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมาภิบาลคือทางออก แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่เป็นหนทางเดียวที่จะฟื้นฟูสมดุลธรรมชาติที่กำลังล่มสลาย
ความหวังในการฟื้นฟูสมดุลทะเล
ดร.อุกกฤตชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องเริ่มต้นที่การลดการปลดปล่อยคาร์บอน การฟื้นฟูปะการัง และการปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือประชาชนทั่วไป เพราะวิกฤตินี้ไม่ได้กระทบเฉพาะทะเลหรือสัตว์น้ำเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงโดยตรงกับการอยู่รอดของมนุษย์ที่พึ่งพาทรัพยากรจากทะเล
“โลกร้อนส่งผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งต่อมนุษย์และธรรมชาติ เราจำเป็นต้องตระหนักและลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องสมดุลของระบบนิเวศที่เหลืออยู่ ก่อนจะสายเกินไป” ดร.อุกกฤตกล่าวสรุป พร้อมฝากความหวังให้กับความร่วมมือของทุกคนที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง
-ทะเลไทย โอกาสใหญ่ทางเศรษฐกิจและความยั่งยืน
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ทะเลไม่ใช่แค่การจูงลูกจูงภรรยาไปทะเลเหมือนวันวาน แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว จากวิกฤติทางทะเล แต่ทะเลยังคงเป็นแหล่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) สำคัญของโลก และ 1 ใน 3 ของมนุษย์ก็ต้องพึ่งพาทะเล ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางทะเล หรือธุรกิจ SME ที่เติบโต เช่น การแปรรูปอาหารทะเล การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการจัดการขยะ
“Go Green Go Blue” ทะเลก็ต้องรักษา สิ่งแวดล้อมก็ต้องดูแล โลกต้องการเม็ดเงินมหาศาลเพื่อพัฒนาความยั่งยืนทางทะเล ซึ่งตลาด ESG และสิ่งแวดล้อมเติบโตถึงปีละ 30% แต่มีเพียง 20% ที่พร้อมลงทุน เช่น การบำบัดน้ำเสียและลดขยะพลาสติก รัฐบาลทั่วโลก รวมถึงมหาอำนาจอย่างรัสเซียและสหรัฐฯ ยังไม่จริงจังกับปัญหาโลกร้อน ทำให้เป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่เกิน 1.5°C ภายในปี 2030 อาจล้มเหลว
“Climate change to Climate shock” การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ตอนนี้ไม่ใช่แค่ขั้นเปลี่ยนแปลง แต่เข้าขั้นวิกฤตแล้ว จะเห็นได้ว่าโลกร้อนสังเกตได้ง่าย ๆ และถี่ขึ้น จากการเดินทางด้วยเครื่องบิน จากการที่เครื่องบินตกหลุมอากาศรุนแรงเพิ่มขึ้น บางครั้งอัตราความสูงเหมือนปีนภูเขาภูกระดึง นี่คือตัวอย่างผลกระทบที่ทุกคนเริ่มสัมผัสได้
โดยย้ำว่าความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องไกลตัว แม้จะเป็นธุรกิจเล็กๆ หรือกระจุกกระจิกก็เริ่มต้นได้ พร้อมแนะนำถ้าคิดอะไรไม่ออก ให้เริ่มจากการติดตั้ง โซลาร์รูฟ หรือการใช้พลังงานสะอาดที่มีคุณภาพ เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนในแบบที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายก่อน เพื่อลดการใช้พลังงานที่กระทบกับโลกทั้งบนบกและทะเล
-ความยั่งยืนคือจักรวาล ปรับตัวเพื่ออนาคต ESG
ดร.เพ็ชร ประภากิตติกุล ผู้อำนวยการโครงการยั่งยืนนิยม เปิดเผยว่าแนวคิด ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) ไม่ใช่เพียงแค่แนวทางการพัฒนา แต่เป็นส่วนหนึ่งของ “จักรวาลแห่งความยั่งยืน” ที่ทุกองค์กรจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัว โดยเฉพาะในปี 2569 ที่กฎหมายด้านความยั่งยืนจะเริ่มเข้มงวดมากขึ้น การดำเนินธุรกิจในอนาคตไม่ใช่เพียงแค่การทำกำไร แต่ต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
แนวทางสำคัญ คือการปรับกลยุทธ์ให้ธุรกิจน่าเชื่อถือมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบโครงการที่มีคุณค่า การใช้คำสำคัญ (Keywords) เช่น ความยั่งยืน หรือ ESG ใน SEO และการตลาดดิจิทัล เพื่อให้นักลงทุนและพันธมิตรเข้าถึงธุรกิจได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ การรายงานความยั่งยืนจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น
นอกจากนี้ การดำเนินงานด้าน ESG ไม่ควรถูกมองว่าเป็นการแก้ปัญหาแยกส่วน แต่ควรผสานเข้ากับทุกกระบวนการ เช่น การลงพื้นที่ร่วมกับพันธมิตร การพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างความเข้าใจใน ESG และการใช้สื่อขององค์กรในการแสดงความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืน
“ESG ไม่ใช่เพียงคำฮิต แต่เป็นแก่นสำคัญของอนาคตที่เราทุกคนต้องเตรียมพร้อม” ดร.เพ็ชร กล่าว
– ชวนไทย Go Green Go Blue หนุนธุรกิจยั่งยืนด้วยสินเชื่อรักษ์โลก
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เดินหน้าสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด Go Green Go Blue พร้อมเผยว่าปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนกว่า 70,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย และในปีหน้าจะขยายบทบาทในการสนับสนุนมากขึ้น “เราตั้งใจช่วยให้ธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมเติบโตไปได้ด้วยดี อย่างธุรกิจรีไซเคิลขยะพลาสติก การเดินเรือที่ลดการปล่อยของเสียสู่ทะเล หรือโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น คอสโร้ดที่มัลดีฟส์ ซึ่งช่วยให้จำนวนปลากลับมาเพิ่มขึ้น” ผู้บริหารกล่าวเสริม นอกจากนี้ EXIM Bank ยังมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อ Sustainability Linked Loan ที่ช่วยลดดอกเบี้ยได้สูงสุด 1.5% ที่ช่วยลดดอกเบี้ยให้ธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม