เซล – พงศ์ภูนาถ รุ่งเรือง เจ้าของฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง อำเภอโนนสูง จ.นครราชสีมา เคยวิ่งตามความฝันทำหลายสิ่ง นักวิจัย ธุรกิจร้านอาหาร จนกระทั่งอยากหยุดชีวิตไว้ที่วิถีเรียบง่าย ยอมขายร้านอาหาร แล้วหันไปบวชพระศึกษาธรรม จนตกผลึกค้นพบชีวิต ก้าวเดินด้วยความสุขสงบเป็นที่ตั้ง ถึงเวลาหันหลังให้เมืองใหญ่พาครอบครัวไปตั้งรกรากใหม่ เป็นรังนอน ปลูกอาหาร ต่อยอดฟาร์มเกษตรยั่งยืนสู่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร วิถีชีวิตที่ยั่งยืน คือความเข้าใจสัจธรรมแห่งความสุขแท้จริงอยู่ที่ใจ ระเบิดจากภายใน ใช้ชีวิตให้เรียบง่าย ความสุขก็รายล้อมตัวเอง
โดย: จุฑาทิพย์ สมสุข
ความสุขอาจไม่ได้ยากเกินไป หากเราเข้าใจว่าชีวิตของเราว่าต้องการอะไรกันแน่ เหมือนกับเจ้าของฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง “เซล” ผู้มีเรื่องราวชีวิตมากมายเป็นเหมือนจุดเล็ก ๆ ที่ค่อยๆ เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนสถาปัตย์ การเปิดร้านอาหาร การบวชตามสัญญาที่ให้ไว้กับพ่อแม่ และการลงมือทำเกษตรยั่งยืน แม้แต่ละจุดอาจดูแตกต่าง แต่เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว กลับหลอมรวมเป็นภาพชีวิตสะท้อนตัวตนของเซล ที่คอลัมน์ Iner ESG Idol จะขอพาไปทำความรู้จัก สิ่งที่เขาค้นพบผ่านประสบการณ์
และเบื้องหลังภาพความฝันของใครหลายๆ คน ที่อยากอยู่ท่ามกลางวิถีเกษตร เลี้ยงไก่ เก็บไข่ ปลูกผัก จับปลา อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา และมีความสุขจากการแบ่งปันเรื่องราวกับคนในชุมชน แต่บั้นปลายชีวิติเราจะเป็นแบบนั้นได้หรือไม่ ลองมาสำรวจว่าอะไร จะนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นได้บ้าง
-จุดเริ่มต้นของเซล จากความวุ่นวายสู่ความสงบ
พงศ์ภูนาถ รุ่งเรือง หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “เซล” เจ้าของฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง (RKR Farmstay) ในอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ขนาด 23 ไร่ ที่ไม่ใช่แค่ฟาร์มธรรมดา แต่เป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสการใช้ชีวิตเรียบง่ายแบบชาวไร่ ตั้งแต่การเก็บผักปลอดสารพิษในสวน การเลี้ยงไก่ไข่ หรือการลงมือทำปุ๋ยหมักเอง พร้อมการใช้พลังงานสะอาด เช่น เตาชีวมวลและระบบโซลาร์เซลล์ รวมถึงการทำเกษตรที่ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติและการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนในฟาร์ม
เซลเล่าย้อนจุดเริ่มต้นที่นำพาเขามาสู่ชีวิตที่เรียบง่ายและเต็มไปด้วยการค้นพบเรื่องราวใหม่ๆ หลังจากเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเริ่มทำงานในเมืองชลบุรีไปเป็นนักวิจัยอยู่สัก 2 ปี แล้วจึงหันมาช่วยดูแลธุรกิจ เปิดร้านอาหารกับครอบครัว ธุรกิจกำลังไปได้สวยตลอด 14 ปีแม้จะมีรายได้และกำไรเติบโต แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็รู้ว่า เป็นชีวิตที่ต้องวิ่งแข่งขันไม่รู้มีพัก โลกที่ต้องแข่งขันตลอดเวลาจนทำให้เกิดความทุกข์ เขาจึงตัดสินใจทำตามคำสัญญาที่เคยให้ไว้กับพ่อแม่ และแม้จะผ่านวัยนั้นมาถึง 3 ปี แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่
“เริ่มต้นด้วยความตั้งใจจะบวชเพียงหนึ่งเดือน แต่ทุกอย่างกลับพาเขาไปสู่การเรียนรู้ใหม่ การบวชกลายเป็นการ ได้ทบทวนตนเอง (relearn) ซ้ำไปมา จากการปฏิบัติที่เน้นความเรียบง่ายในทุกๆ วัน ตั้งแต่การทำสมาธิ การทำกิจวัตร และการรับฟังคำสอนที่สะท้อนสติและความเข้าใจในตัวเองมากขึ้น จนบวชยาวมาถึง 6 เดือน”
-จุดเชื่อมโยง และแล้วก็ถึงวันที่ได้เจอ
การบวชแต่ละเดือนที่ผ่านมา ทำให้ดึงกลับสู่ชีวิตที่เคยวุ่นวาย วิ่งตามยอดขาย บริการลูกคา พัฒนาสิ่งใหม่ แข่งขันกับธุรกิจด้วยกันตลอดเวลา ได้หวนกลับมาดูแลจิตใจความคิด การนั่งสมาธิในทุกๆ วันค่อยๆ ปลอกเปลือกความสุขภายในที่ฉาบไว้ของธุรกิจ จนตึกผลึกกลับมาค้นพบความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ภายในใจ
เซลบอกว่า หลวงปู่ชาผู้เป็นเจ้าอาวาส วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี สอนว่า ไม่ต้องมองคนอื่นว่าผิดหรือถูก ให้มองตัวเองเป็นหลักและทำให้ดีที่สุด
“ไม่ต้องรู้ว่าคนอื่นทำผิดกฎยังไง ให้ดูเรื่องของตัวเอง 90% รู้เรื่องคนอื่นแค่ 10% ” หลังจากใช้เวลาสร้างสติและสมาธิ เซลก็พบว่าชีวิตที่เขาต้องการคือความสงบและเรียบง่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าห้อง ค่าข้าว หรือปัญหาอะไรหลายๆ อย่างเช่น โทรศัพท์จะพัง ก็ต้องเลือกแบรนด์ไอโฟน กลายเป็นว่าเขายอมรับเรื่องต่าง ๆ ได้มากขึ้น สิ่งสำคัญสุดสุดคือ การยอมรับความเป็นตัวตนของตัวเอง
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเข้าใจตัวเองก็เกิดการเข้าใจและเมตตา เกิดความรู้สึก เชื่อมโยง ระหว่างจุดต่าง ๆ ในชีวิตที่ค่อย ๆ ชัดเจน เป็นการ “คอนเน็คเดอะดอท” (connect the dots) ที่ทำให้เซลเห็นความเรียบง่ายและสิ่งสำคัญในชีวิต ที่เชื่อมโยงกับโลกภายใน
“ตั้งแต่เด็กๆ เรามีโอกาสได้ไปวัดบ่อยๆ ไปเจอหลวงปู่ชา ที่วัดญาณวัดหลวง ท่านก็มักเทศน์เรื่องเดิมๆ ตั้งแต่เรื่องชีวิต เรื่องธรรมชาติของทุกข์และสุข พอกลับมาคิดแล้วก็เหมือนทุกอย่างที่ท่านพูดไว้มันเริ่มเชื่อมโยงกัน เหมือนการคอนเน็คจุดต่างๆ เข้าเป็นภาพเดียวกัน เราเห็นว่าชีวิตมันมีแค่นี้เอง วนเวียนอยู่เรื่องเดิมๆ ไม่ต้องไปค้นหาสิ่งใดไกลอีกแล้ว”
-จุดหมายทาง กลับสู่วิถีชีวิตเรียบง่าย อยู่ใกล้คนที่รัก
การย้ายบ้านจากชลบุรีไปสู่นครราชสีมา ของครอบครัวและตัวเขา หลังสึก เป็นการเริ่มชีวิตกับการเป็นเกษตรกรแบบเรียบง่าย หลังจากขายกิจการร้านอาหาร ก่อนบวช นำเงินเก็บก้อนสุดท้ายของครอบครัว มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ กับการเปิดฟาร์มสเตย์เล็กๆ ชื่อว่า “ไร่คืนรัง” หมายถึง การกลับคืนสู่ชีวิตเรียบง่าย ในรังของตัวเองมีที่พัก อาหาร และพ่อ กับแม่ และที่เบาใจได้ที่สุดคือการ การขายร้านอาหารทำให้ปลดล็อกหนี้สิน จึงไม่ต้องติดลบชดใช้หนี้
ฟาร์มสเตย์ถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ ของพ่อแม่ลูกสามคนช่วยกันสร้างฟาร์ม เลี้ยงชีพจากการปลูกผัก หาปลา ใช้เวลาปีหนึ่งเต็มๆ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตร เข้าใจสิ่งที่ต้องทำอย่างละเอียด สุดท้าย ได้พบคำตอบของชีวิตนั้น คือ ความเรียบง่ายและการใช้ชีวิตที่พอดี จนรู้สึกว่าอยากแบ่งปันแนวทางนี้ให้คนรอบข้าง เลยหันไปทำเพจ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์การทำเกษตรในแบบตัวเอง และเล่าเรื่องเพื่อนบ้าน ไร่นาข้างเคียง รวมถึงการคิดต่อยอดเป็นทริปท่องเที่ยวเชิงเกษตร
“จากนั้นผมเริ่มหาทุนไปเรียนรู้เพิ่มเติม ที่กระทรวงเกษตรฯบ้าง และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นและอเมริกา ซึ่งทำให้ยิ่งเห็นคุณค่าของการทำเกษตรแบบยั่งยืน ได้ฝึกฝนการจับจอบจับเสียมจริงจัง นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผมเข้าใจว่าความสุขจริงๆ อาจเรียบง่ายกว่าที่คิด”
คืนรัง ที่นำมาตั้งเป็นชื่อไร่ เกิดจากแนวคิดของคุณพ่อที่ได้ตกผลึกว่า สุดท้ายแล้ว คนเราก็ต้องกลับคืนสู่ถิ่นที่จากมา เหมือนนกที่บินกลับสู่รัง ถึงแม้การกลับมาครั้งนี้อาจเร็วกว่าที่คาด
– เรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ก็เป็นแค่ ‘ . ’ เล็ก ๆ
เซล มองว่าจุดเด่นของตนเอง น่าจะอยู่ที่การเล่าเรื่องราว การนำเรื่องราวของพี่ๆ ในชุมชนแต่ละคนมาขยายผลให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น นี่อาจเป็นจุดแข็งที่มี และเรื่องของทักษะการเล่าเรื่อง (Storytelling) ที่พอมีติดตัวมานิดหน่อย
ซึ่งตอนนี้กำลังเริ่มต้น ต่อจุดไปหาพี่ๆ ในชุมชนที่มองเห็นศักยภาพว่าแต่ละคนจะมาช่วยเขาได้อย่างไรบ้าง สิ่งแรกที่เขากำลังทำก็คือเชื่อมโยงเครือข่าย สร้างความร่วมมือกับพี่ๆ เพื่อผนึกกำลัง และช่วยกันพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นโรลโมเดล หรือเป็นตัวอย่างให้พื้นที่แถวนั้นโดยเริ่มจากตัวอำเภอโนนสูง ที่เซลพยายามเชื่อมโยงแต่ละตำบลเข้าด้วยกัน และเอาเรื่องราวของพวกแต่ละชุมชนมาขยายต่อ
“เหมือนภาพใหญ่ เอาจุดเล็กๆมาต่อกัน มันจะสวยงามในเวอร์ชั่นของมัน ไม่จำเป็นจะต้องมีภาพใหญ่ไปครอบแต่ละคนแต่ละจุดเป็นอย่างไรและระบายสีอะไรยังไงภาพใหญ่มันเกิดจากเส้นหลายเส้นรวมกัน เส้นหลายเส้นมันเกิดจากจุดหลายจุดร่วมกัน เพราะฉะนั้นผมเองเชื่อเสมอว่า Small but beautiful ทำอะไรก็ได้เล็กๆแต่ว่าทุกคน จะได้ยิน ได้สัมผัสมันเอง แล้วทุกคนจะได้เอาไปใช้ต่อเอง”
-จุดของปัญหา การเกษตรที่เซลมอง
ปัญหาของประเทศไทยอาจเริ่มต้นจากการที่คนไทยหลายคนยังมองว่าตัวเองไม่ใช่ พลเมืองโลก ทั้งที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร คนไร้บ้าน หรือใครก็ตาม ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ การที่เราทิ้งขยะหนึ่งชิ้นหรือทำเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน หากมีคนทำพร้อมกันเป็นล้านคน มันจะสร้างผลกระทบมหาศาลต่อโลก ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการตระหนักรู้ว่า ทุกการกระทำของเราเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโลก การที่เราคิดว่าเราเป็นพลเมืองโลก จะทำให้เรามองเรื่องอาหาร การกิน ชีวิตประจำวัน และสิ่งแวดล้อมในมุมที่กว้างขึ้น เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นระดับโลก ล้วนสะท้อนกลับมาสู่ประเทศไทยและตัวเราทั้งหมด
สิ่งที่เซลเรียนรู้จากญี่ปุ่นและอเมริกาคือ การให้คุณค่ากับสิ่งใกล้ตัว ญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างนวัตกรรม เช่น บ้านที่อยู่ใกล้สาหร่ายใช้สาหร่ายมาทำยาให้สัตว์ หรือบ้านใกล้โรงเบียร์นำกากเบียร์มาทำอาหารสัตว์ ทุกสิ่งถูกเชื่อมโยงจากท้องถิ่นสู่ท้องถิ่นจริงๆ ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ประเทศไทยมีและคนทั่วโลกชื่นชมมากที่สุดคือวิถีชีวิตแบบไทยๆ อาหารสดๆ ที่เราผลิตได้ตลอดปี และความอุดมสมบูรณ์ที่เราอาจมองข้าม
“เลยอยากชวนทุกคน กลับมามองว่า รากของเราอยู่ตรงไหน ภูมิใจกับมันเถอะ แล้วพอเราภูมิใจข้างในตัวเรา ระเบิดมาจากข้างในปุ๊บ มันจะเป็นสิ่งที่ยั่งยืน ไปตลอด”
ที่มาภาพ : ฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง-Rkr Farmstay