ฟาสต์ รีเทลลิ่ง หนึ่งในบริษัทค้าปลีกสินค้าเครื่องแต่งกายที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นบริษัทแม่ของยูนิโคล่ แถลงความคืบหน้าวิสัยทัศน์ LifeWear = a New Industry ขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจและความยั่งยืนด้วยโครงการ อาริอาเกะ เปลี่ยนผ่านสู่โมเดลธุรกิจแบบไร้ขยะเต็มตัว เน้นผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
ที่ผ่านมาการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่น ราคาจับต้องได้ ทำให้ผู้คนซื้อหามาบริโภคได้บ่อยครั้ง เปลี่ยนไปตามแฟชั่น ทำให้ปริมาณการผลิตออกมาจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า ‘ฟาสต์แฟชั่น’ (Fast Fashion)
จากการวางคอนเซ็ปต์ทางการตลาดดังกล่าว ทำให้ถูกจับตาว่า แฟชั่นแบบด่วนๆ เหล่านี้ เป็นตัวการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างขยะมหาศาล ทำให้โลกร้อน จากการผลิตที่ล้นเกินความต้องการหากประเมินจากสภาพการใช้งาน ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับโลก
-สภาพัฒน์ฯ ชี้ ฟาสต์แฟชั่น ปัญหาสังคม ทำลายสิ่งแวดล้อม
โดยในประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้ออกรายงาน “ภาวะสังคมไทย ไตรมาส 2 ปี 2567” ระบุว่า ฟาสต์แฟชั่น ถือสถานการณ์ทางสังคมสำคัญที่สามารถทำลายสิ่งแวดล้อม บางแบรนด์ออกสินค้าใหม่กว่า 10,000 รายการในทุกสัปดาห์ เพื่อให้คนสามารถหาซื้อได้บ่อยครั้ง ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้าจำนวนมาก
-มูลค่าตลาดฟาสต์แฟชั่นโลกสูงถึง 142,060 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ข้อมูลของ Research and Markets ยังระบุว่า ในปี 2567 มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น อยู่ที่ 142,060 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 15.5% และคาดว่าในปี 2571 จะมีมูลค่าสูงถึง 197,050 ล้านดอลลาร์
-อุตสาหกรรมแฟชั่นปล่อยมลพิษ 10% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก
นอกจากนี้ยังมีข้อมูล ระบุว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1,700 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก และคาดว่าภายในปี 2573 อาจเพิ่มขึ้นเกือบ 50% เนื่องจากในกระบวนการผลิตต้องใช้พลังงาน และทรัพยากรสูงมาก
-ฟาสต์แฟชั่น จุดจบอยู่ที่หลุมฝังกลบ มีสัดส่วน 1% เท่าน้ันที่นำกลับมารีไซเคิล
ขณะที่ ‘ปัญหาขยะ’ ยังเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น โดยข้อมูลการวิจัยขององค์กร Earth.org ปี 2566 ระบุว่า เสื้อผ้าราว 1 แสนล้านตัว หรือคิดเป็น 92 ล้านตันที่ผลิตขึ้นในแต่ละปี จะมีจุดจบเป็นขยะในหลุมฝังกลบ และคาดว่าภายในปี 2576 ขยะเสื้อผ้าจะเพิ่มจำนวนเป็น 134 ล้านตันต่อปี และมีเพียง 1% เท่านั้นที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้บริษัทผลิตเสื้อผ้าที่มักถูกระบุว่าเป็น ฟาสต์แฟชั่น ต่างเร่งปรับตัวเดินสู่การดำเนินธุรกิจที่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืน หนึ่งในนั้น คือแบรนด์ ยูนิโคล่ แบรนด์ที่ถือกำเนิดในญี่ปุ่น โดยปัจจุบันมีจำนวนร้านสาขากว่า 2,500 ทั่วโลก ทั้งในญี่ปุ่น ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ โดยจำนวนรวมของร้านสาขาในกลุ่มฟาสต์ รีเทลลิ่ง (บริษัทแม่ของยูนิโคล่ โดยยูนิโคล่เป็นแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มฟาสต์ รีเทลลิ่ง) อยู่ที่ราว 3,600 ร้านทั่วโลก
-ยูนิโคล่ รุกโมเดลธุรกิจ เชื่อมเป้าหมายความยั่งยืน
ล่าสุด ฟาสต์ รีเทลลิ่ง (Fast Retailing) บริษัทแม่ของยูนิโคล่ จัดงานแถลง ความคืบหน้าของวิสัยทัศน์ LifeWear = a New Industry โดยระบุว่าจะมุ่งมั่นที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว ด้วยการพัฒนา ‘โมเดลธุรกิจ’ ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายทั้งทางด้านการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ และทางด้านความยั่งยืน ภายใต้โครงการ ‘อาริอาเกะ’ (โครงการปฏิรูปธุรกิจซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560) ในการเปลี่ยนผ่านสู่โมเดลธุรกิจแบบไร้ขยะเต็มตัว เน้นผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
พร้อมทั้งระบุความคืบหน้าด้านเป้าหมายความยั่งยืนหลัก ๆ อาทิ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังรวบรวมและวิเคราะห์ความคิดเห็นของลูกค้าผ่านกว่า 30 ล้านข้อคิดเห็นจากทั่วโลกต่อปี ส่งผลให้ได้รับข้อมูลเบื้องลึกที่ช่วยให้บริษัทฯ สามารถตอบสนองต่อความต้องการตลอดจนไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม ในการผลิต ขนส่งและจัดจำหน่ายเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการ พร้อมส่งมอบ ณ เวลาที่พวกลูกค้าต้องการ นับเป็นกระบวนการทางธุรกิจที่ช่วยป้องกันการก่อขยะที่ไม่จำเป็นได้อย่างสมบูรณ์แบบ
-เป้าหมายขายเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ห่วงโซ่อุปทานดูแลสิ่งแวดล้อม
โคจิ ยาไน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะผลิตและขายเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริง ๆ เท่านั้น ด้วยห่วงโซ่อุปทานที่ดูแลทั้งสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ลูกค้าทุกคนสบายใจ
นอกจากนี้ยังมีหลายโครงการเพื่อดูแลสังคม เช่น โครงการเสื้อยืดการกุศล PEACE FOR ALL หรือ The Heart of LifeWear ซึ่งแจกเสื้อยืดผ้าพิเศษแบบ HEATTECH และ AIRism ให้กลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้อพยพ เด็กและผู้ประสบภัยพิบัติไปแล้วกว่า 1 ล้านตัว โดยยูนิโคล่สามารถขยายผลโครงการได้อย่างเต็มที่ผ่านความร่วมมือกับทั้งพันธมิตรและลูกค้า รวมถึงหน่วยธุรกิจทั่วโลก
โดยผลงานเด่นของโครงการและกิจกรรมที่ฟาสต์ รีเทลลิ่งจัดทำขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนภายในปีงบประมาณ 2573 มีดังนี้
-พัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์รวมถึง ส่วนประสมของผลิตภัณฑ์ ตามความคิดเห็นจากลูกค้า
- ในปีงบประมาณ 2567 (สิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2567) ฟาสต์ รีเทลลิ่ง รวบรวมความคิดเห็นของลูกค้า (Voice of Customer) 31.4 ล้านข้อคิดเห็นจากทั่วโลก โดยนำข้อเสนอแนะที่ได้รับผ่านศูนย์บริการลูกค้ามาวิเคราะห์ร่วมกับความคิดเห็นต่อผลิตภัณฑ์ตามหน้าเพจร้านค้าออนไลน์และความคิดเห็นที่ลูกค้าแสดงต่อพนักงานประจำร้านโดยตรงจนได้รับข้อมูลเบื้องลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ บริษัทฯ จัดทำแพลทฟอร์ม “Management Cockpit” ขึ้นตั้งแต่ปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ในการบูรณาการข้อมูลเพื่อการบริหารงานโดยเฉพาะ เปิดทางให้เสียงสะท้อนของลูกค้าได้รับการรับฟังและนำเสนอเป็นภาพที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินธุรกิจทั่วโลกของบริษัทฯ แบบเรียลไทม์ เพื่อการปรับตัวและตอบสนองที่รวดเร็ว
- ความคิดเห็นจากลูกค้าช่วยให้ ฟาสต์ รีเทลลิ่ง พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ ผ้าถักแบบใหม่ “Souffle Yarn Knit” ที่ได้รับการจดลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทฯ แล้ว รวมถึงเสื้อชั้นในที่ปรับให้ใช้งานได้ดีขึ้น ตลอดจนนวัตกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกางเกงผ้าถักลายนูนที่ซักได้ หรือ PUFFTECH ซึ่งสร้างสรรค์มาเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า
- ในปีงบประมาณ 2567 คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจผลิตภัณฑ์ของลูกค้าอยู่ในระดับสูง โดยผลิตภัณฑ์จากคอลเลคชัน Spring/Summer และ Fall/Winter ได้รับคะแนน 4.5 จาก 5
- จำนวนแบบผลิตภัณฑ์หลักที่จำหน่ายได้ทั่วโลก ซึ่งสร้างรายได้หลักให้แก่ฟาสต์ รีเทลลิ่ง มีมากกว่า 50 แบบในปีงบประมาณที่เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 หรือปีที่โครงการอาริอาเกะเปิดตัวถึง 3 เท่า ดังนั้น ฟาสต์ รีเทลลิ่งจึงสามารถลดหรือป้องกันการผลิตสิ่งที่ไม่จำเป็นได้ ตลอดจนค่อย ๆ พัฒนาการดำเนินธุรกิจแบบที่เน้นผลิตเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุดเท่านั้น
- เนื่องจากฤดูร้อนมีระยะเวลายาวนานขึ้นและฤดูหนาวมีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ฟาสต์ รีเทลลิ่งจึงขยายหมวดผลิตภัณฑ์หลักที่เหมาะสมสำหรับใช้งานตลอดปีเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น แทนที่จะเน้นผลิตสินค้าตามฤดูกาลแบบดั้งเดิม ฟาสต์ รีเทลลิ่งกำลังหันมายกระดับส่วนประสมผลิตภัณฑ์ด้วยการเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมตลอดปี
-จัดทำระบบผลิตและโลจิสติกส์เน้นผลิต ขนส่งและขายเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ณ เวลาที่เหมาะสมและปริมาณที่ตรงตามความต้องการที่สุด
- ระบบคาดการณ์ความต้องการที่อิงตามอัลกอริทึมช่วยให้การวางแผนจำหน่ายแม่นยำถูกต้องยิ่งขึ้น ระบบใหม่เน้นการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายผลิตเพื่อให้แผนผลิตปรับตามความต้องการได้รายสัปดาห์
- การแจ้งให้โรงงานต่าง ๆ ทราบแผนการผลิตหรือความคืบหน้าต่าง ๆ ช่วยให้มีการสต็อกวัตถุดิบที่จำเป็น พร้อมรองรับการผลิตแม้เวลาที่ได้รับแจ้งล่วงหน้าจะสั้นลง ในด้านโลจิสติกส์ ฟาสต์ รีเทลลิ่งจับมือกับพันธมิตรด้านการขนส่งเพื่อขับเคลื่อนให้การจัดส่งไวขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นแม้เวลาที่ได้รับแจ้งล่วงหน้าจะสั้นลงด้วยเช่นกัน
- ระบบคลังสินค้าอัตโนมัติช่วยให้สามารถจัดส่งผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นให้ร้านค้าได้ตามปริมาณที่ต้องการ ถือเป็นการยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานและการบริหารสินค้าคงคลังสู่ระดับสูงสุด
-ความคืบหน้าตามเป้าหมายของปีงบประมาณ 2573 ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้านค้าและสำนักงาน ได้ 69.4%
- ในปีงบประมาณ 2566 ฟาสต์ รีเทลลิ่ง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 69.4% ในส่วนที่ตนเองควบคุมได้โดยตรง (ร้านค้าหรือสำนักงาน) เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2562 ถือเป็นความคืบหน้าสู่เป้าหมายที่บริษัทฯ ตั้งใจจะลดลงให้ได้ 90% ภายในปีงบประมาณ 2573 นอกจากนี้ การจัดซื้อเพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ ยังเพิ่มขึ้นเป็น 67.6% ณ ปีงบประมาณ 2566 จากเป้าหมาย 100% ภายในปีงบประมาณ 2573
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานลดลง 10% ณ ปีงบประมาณ 2566 และมีแนวโน้มว่าจะลดลงในอัตราที่เร็วขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไปจากการเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงงานและการขยายการใช้งานวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
- สัดส่วนของวัตถุดิบที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ อาทิ วัสดุรีไซเคิล เพิ่มสูงขึ้นสู่ 18.2% สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ในปี 2567 จาก 8.5 % ในปี 2566 ความคืบหน้าในหมวดผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโพลีเอสเตอร์ เพราะสัดส่วนการใช้วัตถุดิบที่เป็นวัสดุรีไซเคิลนั้นสูง 47.4%
– แนวคิดหลักด้านผลิตภัณฑ์และการบริการ ทดลองขายสินค้ามือสอง
- RE. UNIQLO STUDIO ที่เปิดตัวในปี 2565 ขยายสู่ร้านค้า 51 แห่งใน 22 ประเทศทั่วโลกแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยฟาสต์ รีเทลลิ่ง ตั้งใจจะให้มีบริการนี้ในอย่างน้อย 60 ร้านค้าภายในเดือนธันวาคมนี้
- ฟาสต์ รีเทลลิ่ง เริ่มทดลองขายเสื้อผ้ามือสองเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2566 โดยร้าน UNIQLO Maebashi Minami IC ในญี่ปุ่นเป็นร้านที่ 3 ที่มีบริการนี้โดยเริ่มเปิดให้บริการเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนอีก 2 ร้านที่มีบริการนี้เช่นกัน คือ ร้าน UNIQLO Setagaya Chitosedai และ UNIQLO Tenjin ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกบริการดังกล่าว
- เครื่องแบบทางการของคณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งชาติสวีเดนเป็นเสื้อผ้าชุดแรกที่ผลิตจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลจากวัตถุดิบรีไซเคิลที่ยูนิโคล่จัดเก็บเอง ปัจจุบัน ฟาสต์ รีเทลลิ่ง กำลังเดินหน้าทำการวิจัยและพัฒนาระบบรีไซเคิลเสื้อผ้าเก่าเพื่อผลิตเสื้อผ้าใหม่โดยตรงอย่างจริงจัง
-แนวคิดหลักด้านซัพพลายเชน เดินหน้าเครือข่ายวัสดุยั่งยืน
- ฟาสต์ รีเทลลิ่ง เดินหน้าขยายเครือข่าย “วัสดุยั่งยืน” และการใช้งานวัสดุดังกล่าวสำหรับผลิตภัณฑ์ของ
บริษัทฯ ตลอดจนคำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้น้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิมนุษยชนและสวัสดิการสัตว์ในทุกกิจกรรมของบริษัทฯ ในปีงบประมาณ 2567 บริษัทฯ เริ่มจัดทำกรอบการดำเนินงานใหม่เพื่อกำหนดมาตรฐานสำหรับวัสดุแต่ละชนิดทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยการจัดทำมาตรฐานสำหรับฝ้ายเสร็จสิ้นแล้วและจะนำไปใช้ในการผลิตตั้งแต่ปีงบประมาณ 2569 เป็นต้นไป นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ประกาศให้ฝ้ายช่วยฟื้นฟูดินเป็นวัสดุเพื่อความยั่งยืนตั้งแต่ปีงบประมาณนี้เป็นต้นไป - ยกระดับการตรวจสอบที่มาย้อนกลับอย่างต่อเนื่อง: ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ริเริ่มยกระดับการตรวจสอบที่มาย้อนกลับกับฝ้ายก่อน และกำลังเริ่มขยายการยกระดับสู่วัตถุดิบชนิดอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแคชเมียร์หรือ
ขนสัตว์ โดย ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จัดทำหลากหลายโครงการเพื่อสร้างความร่วมมือระยะยาวกับโรงงานต้นน้ำ อาทิ โรงงานเส้นด้าย ทั้งนี้ ฟาสต์ รีเทลลิ่งเริ่มตรวจสอบที่มาแคชเมียร์ย้อนกลับ สำหรับผลิตภัณฑ์แคชเมียร์ทั้งหมดตั้งแต่คอลเลคชันฤดูกาล 2024 Fall/Winter เป็นต้นไป ด้วยการตรวจสถานที่ล้างและปั่นเส้นใยเป็นระยะ ๆ ปัจจุบัน บริษัทฯ กำลังจัดทำกรอบการดำเนินงานในลักษณะเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขนสัตว์ด้วย