ภิพัชรา แก้วจินดา จากคนที่หลงใหลในงานฝีมือ สู่แบรนด์ PIPATCHARA สร้างแฟชั่นเพื่อชุมชน

ภิพัชรา แก้วจินดา จากคนที่หลงใหลในงานฝีมือ สู่แบรนด์ PIPATCHARA สร้างแฟชั่นเพื่อชุมชน

เส้นทาง 6 ปี ของแบรนด์ PIPATCHARA แบรนด์ไทยที่ดังไกลระดับโลก จากความหลงใหลในงานศิลปะ และงานฝีมือของ “เพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา” สู่การสร้าง Fashion for Community ร่วมกับพี่สาว ทำงานกับชุมชนแม่ฮ่องสอน-เชียงราย ต่อยอดยกระดับพลาสติกกำพร้าสู่แฟชั่นทันสมัย 

โดย: บุษกร สัตนาโค

 

 

ก่อนหน้านี้ แบรนด์ PIPATCHARA กลายเป็นกระแสทั่วบ้านทั่วเมือง หลังจากที่ลิซ่า ลลิษา มโนบาล BLACKPINK ได้สวมใส่ชุดของแบรนด์เข้าร่วมอาฟเตอร์ปาร์ตี้ Monaco F1 Grand Prix 2024 บนเรือยอชท์ของ Tag Heuer ที่จัดขึ้นในโมนาโก 

โดยชุดดังกล่าวเป็นเดรสสีทองสวยงามสะกดตา แต่ที่น่าสนใจคือมันถูกดีไซน์มาจากฝาขวดพลาสติกและกล่องข้าวพลาสติกสีใส ที่เป็นขยะรีไซเคิลกว่า 1,800 ชิ้น ที่ต้องบอกว่าเป็นคอลเลกชันพิเศษสนับสนุนความยั่งยืนดีไซน์ขึ้นเพื่อลิซ่าโดยเฉพาะ ไม่มีวางจำหน่าย ทำให้สปอตไลต์ทั่วโลกต่างส่องมาที่แบรนด์นี้  

ล่าสุดชุดของ PIPATCHARA ได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อ โอปอล – สุชาตา ช่วงศรี Miss Universe Thailand 2024 ได้หยิบชุดคอลเลกชั่นพิเศษของแบรนด์ที่ได้แรงบันดาลใจจากชุดไทย ห่มสไบ ผลิตจากพลาสติกกำพร้า ไปสวมใส่ในการเก็บตัวการประกวด Miss Universe 2024 ณ ประเทศเม็กซิโก 

ต้องบอกว่าไม่ใช่ปีแรกที่แบรนด์ของ PIPATCHARA ดังไกลถึงเวทีโลก เพราะก่อนหน้านี้มีศิลปินหญิง คนดัง อีกหลายคนที่เลือกชุดจากแบรนด์ไปสวมใส่ในงานสำคัญๆ  นับว่าเป็นการตอกย้ำชื่อเสียงของแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในหมู่เซเลบริตี้ 

 

 

 

 

-สองพี่น้องผู้มีความหลงใหลในงานศิลปะ และอยากทำงานร่วมกับชุมชน 

สำหรับแบรนด์ PIPATCHARA เกิดขึ้นด้วยแนวคิดของสองพี่น้องอย่าง ‘เพชร ภิพัชรา แก้วจินดา’ และ ‘ทับทิม จิตริณี แก้วจินดา’ ที่ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2018 (พ.ศ.2561) โดยที่ภิพัชรา สนใจในงานศิลปะและงานฝีมือ ในขณะที่จิตริณี สนใจเรื่องของความยั่งยืน จึงทำให้ทั้งสองเกิดไอเดียร่วมกันว่าอยากจะทำงานร่วมกับชุมชนด้วย ดังนั้นสองพี่น้องจึงได้สร้างแบรนด์แฟชั่นที่มีจุดยืนคือ “สร้างแฟชั่นเพื่อชุมชน” (Fashion for Community) นั่นหมายถึงทุก ๆ ผลงานของ PIPATCHARA จะไม่ได้เน้นแค่งานดีไซน์อย่างเดียว แต่เบื้องหลังคือได้ทำงานร่วมกับชุมชน ทำให้เกิดจุดเด่นคือ ทุกอย่างถูกทำขึ้นในไทย โดยคนไทย เพื่อที่จะทำให้โลกใบนี้เห็นว่า คนไทยก็มีศักยภาพสามารถทำได้จริงๆ

 

 

 

 

-ความสำเร็จแบรนด์เกิดที่ต่างประเทศมาก่อน 

ภิพัชรา เรียนจบด้านการออกแบบจากสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นเมืองแห่งแฟชั่น หลังจากที่เรียนจบก็มีโอกาสได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลกมากมายอย่าง Vanessa Bruno, Givenchy และ Jaspal ทำให้มีประสบการณ์ด้านการออกแบบ รู้จักวัสดุที่แบรนด์เหล่านั้นใช้ แหล่งที่มาวัสดุ ตลอดจนแนวคิดการออกแบบต่าง ๆ กระทั่งเมื่อเธอและพี่สาวได้รู้จักกับงานศิลปะถักทอเชือกที่เรียกว่า ‘มาคราเม่’ จากการได้ไปท่องเที่ยวที่โมร็อกโก จากนั้นก็เลยเกิดไอเดียนำมาต่อยอดสร้างผลงานตัวเองขึ้นมาเป็นกระเป๋าหนังลวดลายเชือกถักแบบมาคราเม่ ต่อยอดสู่ รองเท้า และเครื่องแต่งกาย ซึ่ง ภิพัชราย้ำว่า “งานทุกชิ้นต้องทำด้วยมือ” 

 

 

-สร้างชุมชน PIPATCHARA ที่แม่ฮ่องสอน เชียงราย

ภิพัชรา เล่าให้ฟังว่า เราอยากทำงานในลักษณะ Fashion for Community ถ้าเป็นสมัยนั้น คนอาจจะงงว่ามันคืออะไร แต่จริง ๆ แล้วมันคือการที่เราอยากจะจับคำว่าแฟชั่นกับชุมชนเข้าด้วยกัน ก็เลยเป็นที่มาที่เราได้ไปสอนคุณครูที่อยู่แม่ฮ่องสอน และเชียงราย เกี่ยวกับการถักทอ ซึ่งเป็นพื้นฐานของแฟชั่นเลย ไปสอนเขาว่าทำอย่างไรบ้าง 

“หลายคนถามว่าทำไมต้องเป็นคุณครู พวกเรามองว่าเพราะคุณครูมีความรับผิดชอบ เพราะการทำแบรนด์แฟชั่นสิ่งสำคัญคือไทม์ไลน์ การส่งสินค้าต้องตรงเวลา เราเลือกคุณครูจากชุมชนต่าง ๆ มารวมตัวกันจนกลายเป็น ‘ชุมชน PIPATCHARA’ เพื่อสอนวิธีถักทอซึ่งก็จะช่วยเราควบคุมไทม์ไลน์หรือคุณภาพการผลิตได้ เป็นการสร้างอาชีพให้คุณครู นอกเหนือจากการสอนหนังสือ จนกลายเป็นกระเป๋าคอลเลกชั่นแรกที่เกิดจากฝีมือถักของชุมชน เอามาดีไซน์เพิ่มเติม และวางจำหน่ายทางออนไลน์”

จนที่สุด PIPATCHARA ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ทำมาเรื่อย ๆ ก็ออกคอลเลกชั่นใหม่ ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า เครื่องประดับ รองเท้า ฯลฯ ทั้งยังได้ร่วมคอลแลปกับแบรนด์ดังมากมายทำคอลเลกชั่นพิเศษ และยังได้รับเลือกเปิดตัวโชว์ในงานมิลานแฟชั่นวีค จากนั้นทำตลาดที่อิตาลี ก่อนเข้ามาในไทย และขยายไปยังญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมถึงดูไบ ในภายหลัง ไม่เท่านั้นยังได้ร่วมแฟชั่นโชว์หลายประเทศ ทั้งลอนดอนแฟชั่นวีค ดูไบแฟชั่นวีค 

 

 

 

 

-ต่อยอดสู่การนำพลาสติกกำพร้ามาดีไซน์ 

พอมาถึงปี 2022 (พ.ศ.2565) ซึ่งเป็นช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ภิพัชรา เล่าว่า เป็นช่วงที่เราอยากให้แบรนด์ของเราเข้าใกล้กับความยั่งยืน (Sustainable) มากขึ้น เลยตัดสินใจทดลองทำเรื่องพลาสติกกำพร้าดู ขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ รวมถึงไม่มีกระบวนการกำจัดที่เป็นระบบด้วย ดังนั้น ขยะเหล่านี้จึงมักจะมีจุดจบอยู่ที่การโดนฝังกลบเป็นซากขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ หรือหากจะถูกนำมารีไซเคิลเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ ก็ยังไม่ค่อยพบเห็นการต่อยอดเป็นไอเทมแฟชั่นสุดลักชัวรี่ ในรูปแบบนี้มากนัก

 

 

 

 

“ใช้เวลากว่า 2 ปีในการศึกษาเกี่ยวกับนำพลาสติกกำพร้ามารีไซเคิลและดีไซน์ออกมาชุด เพชรและทีมงานหลังบ้านต้องคลุกคลีกับโรงงานแยกขยะ และคลุกคลีกับชุมชน จนได้นำฝาขวดน้ำ ขวดยาคูลท์ ทัพเพอร์แวร์พลาสติกสีต่าง ๆ รวมถึงช้อนส้อมที่ไม่ได้แข็ง แต่ยืดๆ ได้ มาปั๊มขึ้นรูปใหม่ ก่อนนำชิ้นส่วนต่างๆ มาร้อยเรียงถักกับห่วงสีทอง กลายเป็นเป็นกระเป๋าดีไซน์สวยงาม ห่อหุ้มภายในเป็นหนังวัวแท้นำเข้าจากอิตาลี แล้วก็ตั้งชื่อให้คอลเลกชั่นนี้ว่า Infinitude มาจากคำว่า Infinite ที่แปลว่า นิรันดร์ ซึ่งทางแบรนด์เน้นขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก” 

 

 

 

-ความท้าทายมีอยู่ในทุกอาชีพ คิดถูกที่ไม่ล้มเลิกไปเสียก่อน 

คอลเลกชั่นนี้ใช้เวลาศึกษา ทดลองอยู่ 2 ปี  ภิพัชรา มองว่าความท้าทายมันมีอยู่แล้วในทุกอาชีพ แต่ความท้าทายหลักของ PIPATCHARA มีอยู่ 2 เรื่องคือหนึ่ง เราทำงานร่วมกับชุมชน เราไม่ได้ออกคอลเลกชั่นตามซีซั่น เพราะเราใช้เวลาในการทำงานกว่าจะได้แต่ละคอลเลกชั่นค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องบริหารจัดการให้ได้ว่า เราจะทำงานกับชุมชนอย่างไร ให้เขายังอยู่ได้ยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2018 จนถึงวันนี้ ซึ่งทุกผลงานของเราก็ยังคงจุดยืนว่าชุมชนต้องมีส่วนร่วม

“เพชรอยากบอกว่าการดูแลกันและกันไม่ว่าจะคนในชุมชนหรือเราเอง การให้ข้อมูลความรู้ ในสิ่งที่เขาต้องรู้ เช่น สิ่งที่เขาทำอยู่วันนี้ เขาทำเพื่ออะไร ทำอย่างไร และแผนของ PIPATCHARA จะมีคอลเลกชั่นอะไรต่อ ทำอย่างไรบ้าง เราต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับชุมชน อันนี้เป็นเรื่องแรกที่เพชรคิดว่ามันท้าทายมาก ๆ อีกอย่างคือ แบรนด์ของเรามีคอลเลกชั่นแยกกัน คือคอลเลกชั่นถัก และคอลเลกชั่นที่เป็นพลาสติกรีไซเคิลจากพลาสติกกำพร้า จึงจำเป็นต้องจัดการให้ได้ว่างานในส่วนของชุมชนต้องไม่หายไป  ทั้ง ๆ ที่คอลเลกชั่นพลาสติกรีไซเคิลมันขายได้มากกว่าในช่วงนี้ เป็นความท้าทายแรกที่เกิดขึ้นกับ PIPATCHARA ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา”

 

 

 

 

ภิพัชรา กล่าวต่อว่า ความท้าทายที่สองคือ ตั้งแต่ปี 2022 ที่แบรนด์มีคอลเลกชั่นทำจากพลาสติกกำพร้าขึ้นมา สิ่งที่เป็นความท้าทาย หลัก ๆ เลยคือเราจะทำอย่างไรให้คนเห็นคุณค่าของสิ่งของที่นำมารีไซเคิล ให้มันมีคุณค่ามากขึ้น เพราะว่าสิ่งที่เราใช้ เป็นคีย์หลักคือพลาสติกกำพร้า 

 

 

 

 

“เพชรคุยกับพี่สาวว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ มันทำให้เกิดมูลค่าได้ มันมาจากขยะก็จริง แต่กระบวนการพัฒนา ในการที่ PIPATCHARA ทำงานเฉพาะคอลเลกชั่นนี้มา 2 ปีเต็ม มันใช้แรง และกำลังค่อนข้างเยอะมาก ๆ เช่น เราต้องเอาฝาขวดน้ำ ไปทำงานร่วมกับชุมชน เพราะเราไม่ได้เป็นคนผลิตเอง เราก็ต้องไปเรียนรู้ว่าพวกฝาขวดน้ำ อันไหนใช้ได้บ้าง อันไหนใช้ไม่ได้บ้าง ก็อยู่ในระยะเวลา 2 ปีเต็มช่วงโควิดที่เราเข้าไปศึกษา เราไม่คิดว่าคอลเลกชั่นมันจะออกมาได้จริง แต่พอออกมาแล้ว ก็ต้องมาสื่อสารเรื่องราวการทำงานอีกว่า พลาสติกพวกนี้ไม่ได้ราคาต่ำนะ ในสิ่งที่เราทำ มันมีการส่งขึ้นไปเชียงราย แม่ฮ่องสอน ที่เราทำงานด้วย ให้ชุมชนช่วยต่อพลาสติกให้ เพื่อให้ได้กระเป๋าแต่ละใบ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องของขยะแปรรูปอย่างเดียว แต่เราได้ส่งพลาสติกไปให้ชุมชนช่วยทำ”

“การันตีว่าเสื้อผ้าหรือกระเป๋าเป็นงานฝีมือ 100% เป็นความท้าทายมาก ๆ ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย แต่ด้วยแพสชั่นค่อนข้างเยอะ มีความตั้งใจสูงมาก ก็เลยไม่ได้ยอมแพ้เรื่องนี้ไปซะก่อน” 

 

 

 

 

-ไม่ถนัดอะไร ให้เอาตัวเองเข้าไปอยู่ตรงนั้นเพื่อเรียนรู้ และมีที่ปรึกษาที่ดี

ภิพัชรา กล่าวอีกว่า แฟชั่นมีความเกี่ยวโยงกับธุรกิจค่อนข้างเยอะ เราไม่ได้มีความรู้เรื่อง Sustainability มาก แต่สิ่งที่ตัวเราทำคือได้ไปศึกษา หาความรู้กับคนที่เขาทำเรื่องนี้ และสิ่งสำคัญคือ เราต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสังคมแบบนั้น ไปอยู่ในสิ่งที่เราอยากจะรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง พอเราได้ฟังจากหลาย ๆ คน ก็จะได้แรงบันดาลใจจากเขามากขึ้น 

การทำธุรกิจขึ้นมาสักอย่าง ถ้าใครอยากจะทำอะไร เราอาจจะมองหาที่ปรึกษาที่ดี อย่างเพชรไม่ได้เก่งเรื่องธุรกิจก็ไปหาที่ปรึกษาธุรกิจ เพชรไม่เก่งบัญชี ไม่รู้เรื่อง Sustainable หรือ Community เรื่องเหล่านี้ถ้าเราอยากจะรู้มากขึ้น เชื่อว่าสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ เชื่อว่าต้องมีคนอยากจะพัฒนาอะไรบางอย่างไปด้วยกันแน่นอน เราโชคดีที่มีพี่สาวเป็นที่ปรึกษาด้านชุมชนด้วย ถ้าเราได้ปรึกษาพูดคุยกับหลาย ๆ คน จะทำให้เกิดการต่อยอดแรงบันดาลใจ 

 

 

 

 

“การเดินทางตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นกับแบรนด์ PIPATCHARA มันเกินกว่าที่เราคิดไว้เสียอีก จากจุดเริ่มต้นทีมงานแค่ 4 คน ตอนนี้มี 20 กว่าคนแล้ว เราก็ตั้งใจที่จะทำแบรนด์ออกมาให้ดีควบคู่ไปกับการช่วยชุมชนมีอาชีพ ได้อยู่เบื้องหลังร่วมกับแบรนด์ และก็ตอบโจทย์ในเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วย เป้าหมายต่อไป ก็จะทำแบรนด์ให้ดีขึ้น และเข้าใกล้กับคำว่า Sustainable มากขึ้น ซึ่งก็ต้องยกเครดิตให้คุณทับทิม พี่สาว ที่ร่วมเป็นที่ปรึกษา เดินทางมาด้วยกันตลอด เพราะพี่ทับทิมเขามีความสนใจที่จะทำงานร่วมกับชุมชนอยู่แล้ว และต้องยกความดีให้ตัวเองที่ไม่ท้อไปซะก่อน เพราะกว่าจะผลิตผลงานออกมาได้แต่ละชิ้นค่อนข้างใช้เวลาและความพยายามมาก”  ภิพัชรา กล่าวทิ้งท้าย  

 

ที่มาภาพจากอินสตาแกรม : Pipatchara Kaeojinda

หมายเหตุสัมภาษณ์ในงาน gc sustainable living symposium 2024