เชอรี่–เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงชื่อดังที่ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจเพื่อสังคม และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากแรงบันดาลใจศาสตร์พระราชา ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลกใบนี้ ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชน ฟื้นฟูผืนป่า และขับเคลื่อนโครงการที่ยั่งยืน
เรื่องโดย : จุฑาทิพย์ สมสุข
การก้าวเข้าสู่วงการสิ่งแวดล้อมของนักแสดงสาว เชอรรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 9 ปีก่อน ตอนนั้นใจเริ่มเข้ามาก่อน แล้วโอกาสก็พาตัวให้ก้าวตามเข้ามา
ในปี 2559 เชอรี่เริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง หลังเห็นผลกระทบจากภัยแล้งและการบุกรุกป่าอย่างหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ต่อมา เธอได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการ ‘คนยืนได้ ไม้ยืนต้น’ ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ที่มุ่งแก้ปัญหาภูเขาหัวโล้นในจังหวัดน่าน
ความโล้นแล้งของน่าน ป่าเสื่อมโทรมและแห้งแล้ง จุดประกายให้นักแสดงอย่างเชอรี่ไม่กลัวความยากลำบากและความท้าทายในการฟื้นฟูพื้นที่ป่า จนฟื้นฟูป่าน่านได้สำเร็จในบางพื้นที่ โดยเธอหวังสร้างโมเดลต่อยอด ขยายแนวทางฟื้นฟูป่า ผ่านความร่วมมือระหว่างอาสาสมัครและชุมชน ประสานงานร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้องผืนป่าให้ยั่งยืน
เป้าหมายตั้งแต่วันแรก คือเรื่องป่าไม้
ที่สอดคล้องกับทุกเรื่องของความยั่งยืน
ย้อนกลับไปในวันแรกที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูป่าไม้เมื่อ 9 ปีก่อน เป้าหมายเริ่มต้นของเชอรี่เน้นไปที่การแก้ปัญหาภัยแล้งเท่านั้น แต่เมื่อได้เข้ามาลงมือทำจริง กลับพบว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นซับซ้อนและเชื่อมโยงกัน หากต้องการแก้ปัญหาภัยแล้ง ก็จำเป็นต้องฟื้นฟูป่าไม้ที่มีส่วนช่วยควบคุมอุณหภูมิโลก นอกจากนี้ยังต้องใส่ใจเรื่องขยะอาหาร การคัดแยก และการรีไซเคิล เพราะทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกันหมด
“เราเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นสูงที่จะทำ ต่อให้เรายังไม่เห็นผลสำเร็จในวันนี้ เราก็ยังจะทำอยู่ แล้วก็หวังว่าในอนาคต เราจะเห็นมันทันก่อนให้เราจะไม่อยู่บนโลกนี้แล้วอย่างน้อยที่สุด ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ผลกระทบทางลบด้านสิ่งแวดล้อมลดลงมากที่สุด เท่าที่เราจะสามารถทำได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง”
ย่างก้าวเปลี่ยนผ่านนักแสดงสู่นักอนุรักษ์
เกมเพิ่มพลัง อัพเลเวลผ่านด่านโหดหิน
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องเริ่มจากเป้าหมายเล็ก ๆ เพื่อให้มีกำลังใจ เมื่อทำสำเร็จทีละขั้นจะช่วยให้เราก้าวต่อไปได้เรื่อย ๆ จากความสำเร็จเล็ก ๆ เหมือนเป็นแรงผลักดันที่ช่วยให้เห็นว่าทำได้จริง และรู้สึกว่าปัญหาไม่ได้ใหญ่จนเกินไปขนาดที่ต้องรอ 10 หรือ 100 ปีกว่าจะเห็นผล
“ทุกก้าวที่เชอรี่ทำเปรียบเหมือนการเล่นเกมที่ค่อย ๆ เพิ่มพลังและอัพเลเวลไปเรื่อย ๆ ก่อนผ่านด่าน เรื่องความท้อแท้เกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะในช่วงแรกเมื่อเราเริ่มทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อ 9 ปีก่อน เพราะเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยสนใจ มองว่าไกลตัว และยากที่จะสื่อสารให้คนเข้าใจความสำคัญ”
การข้ามสายงานจากนักแสดงสู่การดูแลสิ่งแวดล้อม ยังถือเป็นงานที่ยังใหม่มากสำหรับเธอ จึงต้องเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายและเผชิญกับความท้าทายอยู่เสมอ แม้จะยากแต่สนุก เพราะเราไม่เคยทำงานแบบนี้มาก่อน
“บางครั้งคนรอบข้างก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราท้อ แต่เราไม่เคยคิดจะเลิกทำ มีแค่ช่วงที่ต้องกลับมาทบทวนและเยียวยาตัวเองเล็กน้อย ก่อนที่จะลุกขึ้นสู้ใหม่อีกครั้ง ทดลองวิธีใหม่ ๆ และคิดหาวิธีการทำงานที่ดียิ่งขึ้น”
ต้นแบบ และหลักคิดในการขับเคลื่อนหนทางแก้ไขสิ่งแวดล้อม
ต้นแบบที่สำคัญของเชอรี่ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะวิธีคิดและการใช้ชีวิตของพระองค์ รวมถึง ศาสตร์พระราชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่กระตุ้นให้อยากทำสิ่งดี ๆ เพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง
เรื่องของหลักคิด ถ้าเกิดว่าสนใจปัญหาใดปัญหาหนึ่ง อาจจะต้องลองถอยออกมาดูภาพรวมกว้างๆ ให้ดูว่าสิ่งที่เรากำลังทำในชีวิตของเราช่วยแก้ไขอะไรได้บ้าง และช่วยให้เรื่องที่กำลังทำอยู่ดีขึ้นได้อย่างไร
“สิ่งนี้เองทำให้เชอรี่ ไม่เบื่อกับการทำงานและยังรู้สึกสนุก เมื่อรู้สึกว่าสิ่งที่ได้ทำมีผลกระทบเชิงบวกกว้างขึ้น โดยเฉพาะกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับผู้คนและชุมชน เพราะว่าจริงๆปัญหาสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงกับคนเชื่อมโยงกับชุมชน แล้วก็เรื่องของ ESG (Environmental, Social, Governance) ที่เป็นส่วนสำคัญมาก ๆ ในการพัฒนาที่ยั่งยืน”
สร้างแบรนด์ สิริไท
ที่เริ่มต้นจากความยั่งยืนแบบ ESG
แบรนด์ สิริไท แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมที่เกิดจากเชอรี่ เริ่มต้นเมื่อปี 2563 โดยเน้นการช่วยเหลือเกษตรกรไทยและการรักษาสิ่งแวดล้อม จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ เช่น ข้าวออร์แกนิก ชาข้าวคั่ว และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอื่นๆ แบรนด์นี้มุ่งเน้นการสนับสนุนชาวนาที่ปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมีและดูแลสิ่งแวดล้อมรอบๆ นาข้าว
เมื่อพูดถึงแบรนด์สิริไทกับแนวคิด ESG เราเริ่มต้นจากตัว “E” หรือ Environmental (สิ่งแวดล้อม) เป็นอันดับแรก ตามมาด้วย “S” หรือ Social (สังคม) ซึ่งเน้นการสนับสนุนชุมชน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืนผ่านความร่วมมือกับเกษตรกร เพื่อให้ชุมชนเติบโตไปพร้อมกัน จากนั้นจึงเป็น “G” หรือ Governance (ธรรมาภิบาล) โดยให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในการบริหารจัดการ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล รวมถึงการคำนึงถึงคุณภาพและความเท่าเทียมในทุกด้าน สิ่งเหล่านี้คือแกนหลักในการดำเนินธุรกิจของสิริไท
“เราไม่ได้เพียงนำแนวคิดนี้เข้ามาปรับใช้ แต่เราเริ่มต้นธุรกิจด้วยแนวคิดนี้และค่อย ๆ พัฒนาไปอย่างยั่งยืน แม้ว่าหลายองค์กรอาจเน้นสร้างความยั่งยืนก่อนแล้วจึงค่อยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่เรากลับเริ่มจากการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคมก่อน แล้วจึงพัฒนาสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน”
Eco Friendly Shopping
จากธุรกิจ อาชีพ สู่ไลฟ์สไตล์ยั่งยืน
คิดก่อนเลือกซื้อสินค้าเพื่อชีวิตยั่งยืน
เชอรี่ เล่าว่า จากการร่วมฟื้นฟูป่า จนถึงพัฒนาธุรกิจ จนมาถึงหลักคิดในการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ที่ยั่งยืน ทุกครั้งก่อนจะเลือกใช้ หรือซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ ขั้นตอนแรกต้องหันมาถามตัวเองว่าควรบริโภคอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด การบริโภคมีหลายมิติ ตั้งแต่อาหาร ผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงเสื้อผ้า มาดูกันว่าเราจะลดผลกระทบเชิงลบให้ได้มากที่สุดอย่างไร
“เมื่อถึงเวลาเลือกซื้อของ เราก็ต้องดูก่อนว่าผู้ผลิตมีความรับผิดชอบแค่ไหน ถ้าเราสนับสนุนสินค้าในท้องถิ่น หรือดูวิธีการเพาะปลูกให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็จะช่วยได้ หรือธรรมาภิบาลของบริษัทดีแค่ไหน โดยรวมแล้วมีรายละเอียดมากมายที่ผู้ผลิตอาจต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน ”
ที่สำคัญที่สุด ผู้ที่จะขับเคลื่อนจากต้นน้ำ (ผู้ผลิต) มีนโยบาย ต้องการขับเคลื่อนตลาดไปในทิศทางใด จนถึงผู้บริโภค
“ผู้ผลิตมีบทบาทสำคัญมาก แต่ผู้บริโภคก็มีหน้าที่ต้องเลือกเช่นกัน หากผู้ผลิตไม่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ก็เหมือนกับว่าทางเลือกของผู้บริโภคจะหายไป นั่นหมายความว่าเราต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน”
ในความเป็นจริง ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานจะระบุไว้ข้างกล่องอยู่แล้วว่ามีมาตรฐานใดบ้างที่รองรับ แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นจำนวนมากที่ไม่มีสัญลักษณ์รองรับ จึงต้องอาศัยความไว้วางใจ ซื่อสัตย์และความจริงใจของผู้ผลิตว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งนี้เข้าถึงผู้บริโภคได้ในแบบที่เขาต้องการ
“หากผู้บริโภคไว้วางใจ และทำให้ผู้ผลิตสามารถสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากชุมชนได้อย่างแท้จริง ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโตได้ เริ่มต้นด้วยการลดการสร้างขยะ ไม่ว่าจะเป็นขยะใช้ครั้งเดียว ขยะอาหาร หรือช่วยคัดแยกขยะ เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพพอที่จะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล”
อิทธิพลความโด่งดัง ชื่อเสียง ปลุกความสนใจคน
ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม
การเป็นคนมีชื่อเสียงช่วยดึงความสนใจให้ผู้คนตั้งคำถามว่า ทำไมจากชีวิตที่สบายจึงหันมาสนใจเรื่องปลูกต้นไม้ สร้างฝาย และทำนา ซึ่งการเป็นคนดังอาจสร้างความสงสัยในความรู้และความตั้งใจของเรา จึงเป็นหน้าที่ที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเราทำอย่างจริงจัง หากมีเรื่องที่เราไม่รู้ เราก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตนเอง ‘เชอรี่’ เล่า
“สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน และเชอรี่เชื่อว่าผู้ที่สนใจจริงๆ ลงมือทำจริงๆ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าพวกเขาจะมีอาชีพอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ผู้ผลิต ผู้บริโภค หรือทำงานอะไรก็ตาม ถ้าเป็นคนจริงและทำจริง การพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ การบอกคนอื่น จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจและสร้างความรู้ให้กับคนที่ไม่รู้วิธีทำ เราแค่ต้องทำจริงๆ”
การลงมือทำจริงสำคัญเสมอ
สิ่งที่เชอรี่เน้นย้ำสม่ำเสมอ ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการลงมือทำ พูดจริง ทำจริง คือสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่น และทำให้เกิดการเรียนรู้จากกระบวนการทำงาน
‘เราจะไม่มีวันเข้าใจสิ่งใดอย่างแท้จริงได้เพียงแค่อ่านหรือฟังมา แต่เมื่อได้ลงมือทำจริง เราจะเห็นปัญหา รู้ว่าติดขัดตรงไหน และต้องแก้ไขอย่างไร จึงจะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ด้วยนิสัยที่ชอบเรียนรู้ ความท้าทายเหล่านี้แม้จะไม่ง่าย แต่ก็กระตุ้นให้รู้สึกอยากก้าวต่อและทำให้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นความสนุกในอีกรูปแบบหนึ่ง”
ปี 2573 ไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30%
สามารถทำได้จริงหรือไม่?
ปี 2573 ที่ประเทศไทยตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% หรือในอีก 6 ปีข้างหน้า
“เชอรี่รู้สึกว่าปีนี้มีการลงมือทำอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเอกชน ก็อาจจะลดได้จริงตามที่ตั้งเป้าไว้ มองว่าเป็นความท้าทาย ซึ่งต่อให้ปี 2573 แม้ประเทศไทยไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่ถือว่าได้เริ่มมองในภาพรวมว่า มีความตั้งใจทำงานไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไปเกิน 2 องศาเซลเซียส มีการวางแผนกรอบดำเนินงาน ลดคาร์บอนในส่วนไหนบ้าง ซึ่งทุกภาคส่วนได้เริ่มดำเนินการไปทางทิศทางเดียวกัน ถ้าเกิดผิดทางก็ต้องดูว่าจะเดินต่อไปอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายและพูดได้เต็มปากว่ามาถูกทางแล้ว” นักแสดงสาวหัวใจรักษ์โลก ทิ้งท้าย