เอสซีจี แก้เกมโลกผันผวน 4 วิธีเอาตัวรอดระยะสั้น 5 กลยุทธ์ข้ามทุกวิกฤติโตยั่งยืน

เอสซีจี แก้เกมโลกผันผวน 4 วิธีเอาตัวรอดระยะสั้น 5 กลยุทธ์ข้ามทุกวิกฤติโตยั่งยืน

เศรษฐกิจโลกผันผวนเกินต้าน เอสซีจี กำไรไตรมาส 3 ลดลงจากปิโตรเคมีขาลง จึงต้องตัดสินใจหยุดเดินเครื่องผลิต โรงงานใหม่ที่เวียดนาม 6 เดือน วาง 4 กลยุทธ์แก้เกมระยะสั้น 5 กลยุทธ์แข็งแกร่งสู้ทุกวิกฤติ เผยปรับไลน์การผลิตปิโตรฯจากแนฟทาเป็นอีเทน หวังลดความผันผวนด้านราคา พลิกผลิตสินค้าจากโภคภัณฑ์ราคาต่ำ สู่พลาสติกมูลค่าสูง เร่งบริหารเงินสด ขายสินทรัพย์ ยังคงปรับโครงสร้างผลิต มุ่งสู่ยั่งยืน Inclusive Green Growth  

 

 

ภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวนรุนแรง ได้ส่งผลกระทบต่อวัฏจักรปิโตรเคมีทั่วโลก ทำให้ราคาอ่อนตัวลากยาว ประกอบกับ สงครามตะวันออกกลาง รวมถึงมีปัจจัยรุมเร้าต่างๆ มากมาย อาทิ สินค้าจากจีนเข้ามาแข่งขันภายในประเทศมากขึ้น ตลอดจนค่าเงินบาทผันผวน 

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลต่อผลการดำเนินงานของ เอสซีจี ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ปรับตัวลดลง โดย EBITDA (กำไรก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย โดยรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) อยู่ที่ 38,768 ล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 


ขณะที่กำไรอยู่ที่ 6,854 ล้านบาท ลดลง 75 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายการเดินเครื่องโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ประกอบกับ ส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง ทำให้กำไรจากบริษัทร่วมลดลง 46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับผลการดำเนินงานเฉพาะไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 128,199 ล้านบาท โดย EBITDA 9,879 ล้านบาท กำไร 721 ล้านบาท ลดลง 81 % เป็นผลจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ และส่วนแบ่งกำไรลดลง   

 

 

จากผลการดำเนินการดังกล่าว ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เผยถึงแผนกลยุทธ์เพื่อรองรับสถานการณ์ธรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเคมี ในระยะสั้นและระยะยาวว่า สถานการณ์ในไตรมาส 3 ปีนี้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้ความต้องการลดลง ราคาลดลง และการแข่งขันสูง จากกำลังการผลิตที่สูงกว่าความต้องการ (Oversupply) 

สถานการณ์ปิโตรเคมีขาลง จึงผลกระทบต่อกำลังการผลิตของโรงงานปิโตรเคมีของเอสซีจีที่เปิดตัวใหม่ คือ โครงการ Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่ประเทศเวียดนาม มูลค่าการลงทุน  5.2 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ (ประมาณ 170,000 ล้านบาท) ซึ่งดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ 30 กันยายน 2567 ผลิตและจำหน่ายสินค้าสู่ตลาดในช่วงเดือนที่ผ่านมา ต้องประสบปัญหาขาดทุน

“ไตรมาส3 ปีนี้ถือว่าหนักหน่วง กลุ่มธุรกิจ เคมีคอลส์ หลังจากเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ LSP ได้รับผลกระทบ ปิโตรเคมีขาลง จึงต้องแก้เกม”

 

 

4 วิธีการแก้เกม ในอยู่รอดจากถึงปีหน้า 

ท่ามกลางสภาวะโลกผันผวน 

โดยกลยุทธ์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จึงต้อง “แก้เกมระยะสั้น” เพื่อประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด ก่อนนำไปสู่การเติบโตที่มั่นคงในระยะยาว โดยโครงการ LSP จะต้องหยุดเดินเครื่องผลิตเป็นเวลา 6 เดือน (ตุลาคม 2567 -มีนาคม 2568) เพื่อรอดูสถานการณ์ราคา ที่มีความหวังว่า ทิศทางจะดีขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลจีน ทำให้เศรษฐกิจทั้งภูมิภาคกลับมาฟื้นตัว 

พร้อมกันนี้เอสซีจียังต้องบริหารจัดการลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กร และเพิ่มกระแสเงินสด ผ่าน 4 วิธีการ ได้แก่

 

  1. มุ่งลดต้นทุนภาพรวมองค์กร 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2568  
  2. ลดเงินทุนหมุนเวียนลง 10,000 ล้านบาท ภายในไตรมาส 1 ปี 2568 
  3. ยกเลิกกิจการที่ไม่ทำกำไร เช่น SCG Express และธุรกิจด้านดิจิทัลเทคโนโลยี OITOLABS ในประเทศอินเดีย นอกจากนี้ยังมีกิจการที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณายกเลิกอีกจำนวนหนึ่ง
  4. ขายสินทรัพย์ (Asset Divestment) เพิ่มความคล่องตัวและมุ่งเน้นรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

 

 

5 กลยุทธ์ ข้ามพ้นทุกวิกฤติในระยะยาว 

สำหรับแผนระยะยาว ภายใน 3 ปี (ปี 2567- 2570) จะต้องยกระดับการผลิตปิโตรเคมี เพื่อรองรับความผันผวนของราคา โดยการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง (High Value Added-HVA) โดยปรับไลน์การผลิตในส่วนของวัตถุดิบการผลิตเพื่อรองรับก๊าซอีเทน โดยใช้งบประมาณลงทุนรวมมูลค่า 700 ล้านดอลลาห์สหรัฐ ( 23,000 ล้านบาท) เพื่อสร้างระบบจัดการและถังเก็บรักษาวัตถุดิบก๊าซอีเทน

1.เร่งเดินหน้าโครงการอีเทน มีความผันผวนน้อยกว่าแนฟทา ช่วยให้การผลิตออกแบบให้ยืดหยุ่นในการใช้วัตถุดิบประเภทก๊าซอยู่แล้ว โดยมีการนำเข้าก๊าซอีเทนจากสหรัฐ มีราคาถูกกว่า แนฟทา และโพรเพน สัดส่วนอีเทน คิดเป็น  2 ใน 3 ของวัตุดิบ LSP ทั้งหมด ซึ่งก๊าซอีเทน จะช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

2.บริหารจัดการการผลิตระหว่าง 3 โรงาน ให้มีประสิทธิภาพ  ประกอบด้วย โรงงานระยองโอเลฟินส์ (ROC) โรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) และโรงงาน LSP ) ให้เหมาะสมกับราคาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เพื่อให้มีศักยภาพการแข่งขันสูงสุดโรงงาน LSP หยุดการเดินเครื่อง เพื่อบริหารต้นทุนธุรกิจโดยภาพรวม พร้อมกันกับติดตามประเมินสถานการณ์เพื่อกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง ในเวลาที่เหมาะสม    

3.ส่งมอบนวัตกรรมพลาสติกมูลค่าสูงสู่ตลาดเวียดนาม จากฐานการผลิตเดิมเป็นCommodity

4.ยกระดับห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ลดต้นทุนการขนส่ง 

5.ใช้เทคโนโลยี ปัญญาประดิษ (AI-Artificial Intelligence) พัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ 

 

 

วางรากฐานเติบโตมั่นคงแข็งแกร่ง รอดพ้นทุกวิกฤติ 

“หลังจากวางกลยุทธ์การแก้เกมระยะสั้นเพื่อให้อยู่รอด และนำไปสู่การรับมือกับความผันผวน เติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว เป็นเรื่องที่จำเป็นในสภาวะแบบนี้ จึงต้องหยุดการผลิต เพื่อลดการขาดทุน และเก็บเงินสด 15,000 ล้านบาท  พร้อมกับเตรียมพัฒนา อีเทนเพื่อรองรับการผลิตพลาสติกนวัตกรรมมีคุณภาพสูง เราต้องทำให้ได้ในปีนี้และผ่านไปให้ได้ถึงปีหน้า เพื่อให้วัฏจักรการผลิตมีความเข้มเข็งขึ้น และมีกำไรดีขึ้น คือโจทย์ที่กำลังทำ เพื่อระยะยาว เดินหน้า HVA โดยการแก้เกม ปรับฐานการผลิต มีเทนใน เวียดนามให้ได้ไปต่อจากสินค้า โภคภัณฑ์ (Commodity) อย่างเดียวสู่สินค้าHVA”

 

 

 

HVA สินค้ารักษ์โลก ตอบโจทย์ Inclusive Green Growth 

ธรรมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า แม้จะต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผันผวนในระยะสั้น แต่ก็ยังเดินตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ในระยะยาว คือการเติบโตอย่างยั่งยืนไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง Inclusive Green Growth ที่ยังคงดำเนินการต่อไป ทั้งการพัฒนาสินค้ามูลค่าสูง เป็นสินค้ารักษ์โลกในรูปแบบต่างๆ อาทิ ปูนคาร์บอนต่ำ และการพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด เป้าหมาย 3,500 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2573 และพลาสติกรักษ์โลก  มีการใช้เชื้อเพลิงทดแทนสัดส่วน  46% และช่วยลดต้นทุนถูกกว่าถ่านหิน รวมถึงการลงทุนพัฒนา พลังงานสะอาด เช่น โซลาร์ ตลอดจนการพัฒนาปูนลดโลกร้อน ที่มาทดแทนปูนพอร์ตแลนด์ ที่ใช้เดิมในตลาด ซึ่งปัจจุบัน มีสัดส่วนปูนลดโลกร้อน 86% 

ขณะเดียวกันยังพร้อมให้การช่วยเหลือสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ต้องเข้าไปสนับสนุนให้เกิดการเร่งปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้พร้อมรับมือกับกฎเกณฑ์ มาตรการที่เกี่ยวกับโลกร้อน  ผ่านโปรแกรม เปิดบ้านผ่านโปรแกรม Go Together ที่มีการอบรมให้ความรู้ 20 รุ่น ผ่านไปแล้ว 5 รุ่น มีการให้ความรู้ข้อมูลเชิงลึกการเตรียมตัวในการวางแผนรองรับกฎระเบียบการค้าของโลก ที่ก้าวเข้าสู่ Net Zero สังคมคาร์บอนต่ำ และเป็นศูนย์ในอนาคต 

“แม้ปีนี้เอสซีจี จะประสบปัญหาพอสมควร แต่ยังคงตั้งใจพัฒนาด้านความยั่งยืนต่อเนื่อง ทั้งการผลิตโลว์คาร์บอน และ Inclusive Green Growth แม้จะต้องแก้ปัญหาให้ทุกอย่างผ่านไปได้ แต่เราก็ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งคนในแวลูเชน ที่เชื่อมต่อกันกับธุรกิจ จึงสนับสนุน SMEsต่อไป”

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและที่อยู่อาศัย ภาพรวมยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้างของไทยยังชะลอตัวจากงานโครงการที่ชะลอตัว และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 

 

 

 

ค้าปลีก วัสดุก่อสร้าง ตกแต่งบ้าน 

ตลาดตลาดใหม่ มุ่งตอบโจทย์สังคมคาร์บอนต่ำ 

เอสซีจี ซีเมนต์ แอนด์กรีนโซลูชันส์ เร่งต่อยอดเทคโนโลยีก่อสร้างด้วย 3D Printing และพัฒนาวัสดุที่สามารถแข็งตัวและให้กำลังอัดคล้ายกับปูนซีเมนต์ชนิดพิเศษ (Special Cementitious Materials) รองรับการผลิตขึ้นรูปในตลาดโลก ล่าสุด ลงนามร่วมกับบริษัท Samsung E&A ประเทศเกาหลีใต้ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว แม่นยำ ลดต้นทุนและวัสดุเหลือใช้จากงานก่อสร้าง รวมทั้งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะการนำ 3D Printing Mortar 
ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นด้านคุณภาพ ด้วยวัสดุที่พัฒนาและจดสิทธิบัตรมากว่าสิบปี พร้อมสนับสนุนด้านคำปรึกษา (Technology Consultation) สามารถขึ้นรูปชิ้นงานที่มีความซับซ้อนสูง ไปจนถึงรูปแบบอาคารก่อสร้างหลายชั้น สำหรับใช้ในการก่อสร้างในประเทศซาอุดิอาระเบีย ล่าสุด SCG International ได้ส่งมอบปูนมอร์ตาร์ล็อตแรกไปยังประเทศซาอุดิอาระเบีย พร้อมแผนขยายตลาดไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (SAMEA) รองรับภาคธุรกิจและการก่อสร้างในภูมิภาค นอกจากนี้ ผลักดันโซลูชันตอบโจทย์ อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยรักษ์โลก 

“รถโม่เล็ก CPAC” เหมาะกับงานก่อสร้างในพื้นที่จำกัด ช่วยลดเสียงรบกวน และคอนกรีตคาร์บอนต่ำซีแพค ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5  ร่วมมือกับ AP Thailand ใช้สำหรับงานก่อสร้างโครงการบ้านแนวราบกว่า 56 โครงการภายในปี 2567  ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,112,600 กิโลกรัมคาร์บอน (Kg CO2) เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 117,116 ต้น”

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ เอสซีจี ยังได้รับการรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อมระดับสากล (Environmental Product Declaration – EPD) ในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์สำเร็จรูปเสือมอร์ตาร์ ถือเป็นรายแรก ครอบคลุมปูนมอร์ตาร์ 10 ผลิตภัณฑ์ ปูนซีเมนต์เอสซีจีและเสือ รวม 8 ผลิตภัณฑ์  และคอนกรีตผสมเสร็จซีแพค 27 ผลิตภัณฑ์ (คอนกรีตผสมเสร็จ จะได้รับการรับรองในเดือน พ.ย. 2567)

เอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล รุกตลาดค้าปลีกศักยภาพสูงสำหรับสินค้าและบริการเรื่องบ้านที่โตต่อเนื่อง ล่าสุด
เร่งขยายโมเดิร์นเทรด Mitra 10 ในประเทศอินโดนีเซีย เปิดเพิ่มอีก 2 สาขาที่เมืองจาบาเบกา และซามารินดา โดยยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 4 แห่งภายในปี 2567 พร้อมเดินหน้าเสิร์ฟกลุ่มสินค้า House Brand ที่หลากหลาย ราคาเข้าถึงได้ ในช่องทางจัดจำหน่ายภายในประเทศ อาทิ กลุ่มสินค้าตกแต่ง แบรนด์ UNIX  กลุ่มสินค้าเหล็ก แบรนด์ TOPSTEEL และกลุ่มอุปกรณ์เครื่องมือช่าง TOPPRO 

นอกจากนี้ คิวช่าง (Q-Chang) เเพลตฟอร์มศูนย์รวมช่างคุณภาพและบริการดูแลบ้านครบวงจร เติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเครือข่ายช่างผู้เชี่ยวชาญกว่า 10,000 ราย ให้บริการลูกค้ามากกว่า 300,000 รายทั่วประเทศ รุกเสริมเเกร่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยครอบคลุมทุกความต้องการ พร้อมเปิดรับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่พร้อมร่วมมือสร้างศักยภาพการขยายธุรกิจ และเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต 

เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง รุกนวัตกรรมวัสดุตกแต่งภูมิทัศน์ ร่วมสร้าง จ.ร้อยเอ็ด แลนด์มาร์คภาคอีสาน ด้วยการออกแบบ
ชูวัฒนธรรมสร้างอัตลักษณ์ เลือกใช้บล็อกและกระเบื้องปูพื้นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิต 40 % ได้รับรอง SCG Green Choice และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทย อาทิ บล็อกปูพื้น กระเบื้องปูพื้นเอสซีจี รุ่น Pavement, Serena และกระเบื้องปูพื้นเอสซีจีเทคโนโลยีใหม่ รุ่น UVT เป็นต้น ทั้งยังผลักดันสินค้าสำเร็จรูป และระบบติดตั้ง ตอบโจทย์ก่อสร้างรวดเร็ว เพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้าที่ต้องการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม อาทิ ไม้เชิงชายรุ่นพร้อม ไม้ฝาและไม้ตกแต่งทำสีสำเร็จ และวัสดุต่อเติมที่ทำงานง่าย ทนน้ำทนชื้น อย่างแผ่นสมาร์ทบอร์ด เอสซีจี เป็นต้น

เอสซีจี เดคคอร์ (SCGD) มุ่งลดต้นทุน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ติดตั้ง Hot Air Generator ที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมหนองแค ลดต้นทุนได้ 16.8 ล้านบาทต่อปี พร้อมเดินหน้ารุกตลาดเวียดนามสร้างการเติบโตต่อเนื่อง ล่าสุดเร่งปรับไลน์ผลิตกระเบื้องเซรามิกเป็นกระเบื้องพอร์ซเลนขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 2.5 ล้านตารางเมตร ทั้งยังขยายช่องทางจัดจำหน่าย พร้อมเสิรฟ์สินค้าหลากหลายตอบโจทย์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เปิดร้านจำหน่ายกระเบื้องเซรามิกและสุขภัณฑ์  V-Ceramic ร้านแรกทางภาคใต้ของเวียดนาม

 

 

พลังงานสะอาด บรรจุภัณฑ์ ชูสินค้านวัตกรรม 

เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ เติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการและผลักดันการใช้พลังงานสะอาดภายในประเทศมากขึ้น ทำให้มีกำลังผลิตรวม 526 เมกะวัตต์ จากโครงการภาครัฐและภาคเอกชน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย ลงนามการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการ Solar Private PPA (Power Purchase Agreement) สำหรับการลงทุนติดตั้งโซลาร์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้กับองค์กรและบริษัทต่าง ๆ โดยมีกำลังผลิตรวม 88.5 เมกะวัตต์ อีกทั้งการเชื่อมต่อด้วยระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Microgrid) มีแผนขยายผลในกลุ่มโรงงานบริษัทโตโยต้า ในนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี สำหรับแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานความร้อนจาก

พลังงานสะอาด Rondo Heat Battery มีความคืบหน้าโครงการติดตั้งที่โรงงานปูนซีเมนต์ เอสซีจี จ.สระบุรี แล้วกว่าร้อยละ 45 ซึ่งดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จ และได้เริ่มการผลิตวัสดุกักเก็บความร้อน  (Thermal Media) เก็บความร้อนของแบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานสะอาด (Heat Battery) โดยคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องจักรได้ประมาณไตรมาส 2 ของปี 2568

เอสซีจีพี รุกขยายในธุรกิจบรรจุภัณฑ์และโซลูชันที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีศักยภาพเติบโตสูง ล่าสุดร่วมมือกับ Once Medical Company Limited พัฒนาโซลูชันเข็มฉีดยาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูงอื่น ๆ เพื่อเสริมศักยภาพการผลิตของ VEM Thailand และขยายเครือข่ายลูกค้าได้อย่างแข็งแกร่งและครอบคลุมยิ่งขึ้น อีกทั้ง มุ่งบริหารต้นทุนและเพิ่มความสามารถทำกำไร ด้วยการปรับพอร์ตเพิ่มยอดขายสินค้ามูลค่าสูง เพิ่มสัดส่วนส่งออกกระดาษบรรจุภัณฑ์ไปประเทศที่มีความต้องการ บริหารต้นทุนค่าขนส่ง เพิ่มการใช้กระดาษรีไซเคิลภายในประเทศ และขยายเครือข่ายการจัดหากระดาษ
รีไซเคิลเพิ่มขึ้น รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดต้นทุนพลังงานอย่างต่อเนื่อง

ธรรมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ ทุกภาคส่วนต้องรวมพลัง ช่วยเหลือกันและกัน  สำหรับเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา เอสซีจีร่วมกับภาคีเครือข่ายให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมอบถุงยังชีพ 1,140 ถุง สุขากระดาษ 3,600 ชิ้น เตียงกระดาษ 20 หลัง ห้องน้ำสำเร็จรูป 6 ห้อง ตั้งโรงครัว ทำอาหารให้ชุมชน 8 แห่ง สนับสนุนวัสดุซ่อมแซมโรงเรียน 15 แห่งในพื้นที่ประสบภัย ส่วนภาคธุรกิจต้องเร่งปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้พร้อมรับมือกับกฎเกณฑ์ มาตรการที่เกี่ยวกับโลกร้อน นอกจากเอสซีจีจะจัดโครงการ Go Together ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อยกระดับความสามารถผู้ประกอบการ SMEs ให้ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้จัดหลักสูตร NZAP (NET ZERO Accelerator Program) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้บริหารภาครัฐรุ่นใหม่ ให้เข้าใจนโยบายภาครัฐ กลไกการค้า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อติดอาวุธ ลดต้นทุน เพิ่มกำไร และเกิดอุตสาหกรรมสีเขียวควบคู่กับการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ”