สหราชอาณาจักรสั่งแบนบุหรี่ไฟฟ้าใช้แล้วทิ้ง พิษทั้งต่อสุขภาพวัยรุ่น-ทำลายสิ่งแวดล้อม

สหราชอาณาจักรสั่งแบนบุหรี่ไฟฟ้าใช้แล้วทิ้ง พิษทั้งต่อสุขภาพวัยรุ่น-ทำลายสิ่งแวดล้อม

หลังจากพบขยะบุหรี่ไฟฟ้าใช้แล้วทิ้งถึง 5 ล้านชิ้นเกลื่อนกลาดตามเมืองต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักร รัฐบาลจึงสั่งตัดตอนห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวตั้งแต่  1 มิถุนายน 2568 เป็นต้นไป เพื่อสุขภาพทั้งต่อเยาวชน และดูแลโลก 

 

 

บุหรี่ไฟฟ้าได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีบุหรี่ไฟฟ้าหลากหลายชนิดวางขายตามท้องถนน เพื่อนำไปใช้ในงานปาร์ตี้ ทำให้ปีที่แล้ว บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งประมาณ 5 ล้านชิ้นถูกทิ้งเกลื่อนกลาดหรือโยนทิ้งทุกสัปดาห์ในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ, สก๊อตแลนด์, เวลส์, ไอร์แลนด์เหนือ) รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงร่วมกันออกกฎเหล็กควบคุม ตามกฎหมาย เริ่มห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวในสหราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป โดยอังกฤษและเวลส์ตกลงว่าจะบังคับใช้พร้อมกัน รัฐบาลอังกฤษกล่าวว่าได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศที่แยกตัวออกไป โดยสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือก็คาดว่าจะดำเนินการตามเช่นกัน

ฮิว อิร์รันกา-เดวีส์ รองหัวหน้าคณะรัฐมนตรีเวลส์ กล่าวว่า การห้ามใช้มาตรการดังกล่าวในวันเดียวกันทั่วประเทศ จะทำให้ “มีการปฏิบัติตามในระดับสูง” และมีแนวทางบังคับใช้กฎหมายที่สอดคล้องกันทั่วสหราชอาณาจักร

เวส สตรีทติ้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จะมีการเสนอร่างกฎหมายเพื่อบังคับใช้การห้ามดังกล่าวต่อรัฐสภาก่อนวันคริสต์มาส

 

เยาวชนเริ่มใช้มากขึ้น

กระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหาร และกิจการในชนบท (Defra) เปิดเผยว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอังกฤษเติบโตขึ้นมากกว่า 400% ระหว่างปี 2012 (พ.ศ. 2555) ถึง 2023 (พ.ศ. 2566) โดยชาวอังกฤษ 9% ซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว

จำนวนคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าโดยไม่เคยสูบบุหรี่จริงเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นเยาวชน 

“เป็นสิ่งผิดกฎหมายที่จะขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งซึ่งมักขายในบรรจุภัณฑ์ที่เล็กและมีสีสันมากกว่าแบบเติมได้นั้นเป็น ปัจจัยสำคัญเบื้องหลังการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจของจำนวนบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่นจำเป็นต้องออกมาตรการมาควบคุม” ตามที่รัฐบาลชุดก่อนเคยกล่าวไว้

 

 

 

 

มาตรการดังกล่าวช่วยให้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ตกสู่กลุ่มเปราะบาง

แอนดรูว์ กวินน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งจะลดความดึงดูดใจของบุหรี่ไฟฟ้าในสายตาเด็ก ๆ และช่วยให้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ไปอยู่ในมือของกลุ่มเยาวชนที่เปราะบาง

แม้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา แต่ยังไม่มีการประเมินความเสี่ยงในระยะยาว

ทั้งนี้ที่ผ่านมาการสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้รับการยกย่องว่าเป็นทางเลือกที่ส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา แต่ปัจจุบันมีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบ ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

 

 

 

ขยะบุหรี่ไฟฟ้าใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทุกวินาทีมีทิ้ง 8 อัน

จากตัวเลขของรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในสหราชอาณาจักรประมาณ 5 ล้านชิ้นถูกทิ้งเกลื่อนกลาดหรือทิ้งเป็นขยะทั่วไปทุกสัปดาห์ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วเกือบ 4 เท่า และเท่ากับว่าบุหรี่ไฟฟ้า 8 ชิ้นถูกทิ้งต่อวินาที

กว๊อก หยาน มัน (Kwok Yan Man) ซีอีโอขององค์กรไม่แสวงหากำไรโครงการกรีนวิงส์ (Green Wings Project) กล่าวว่า มลพิษจากบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

“บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียว มีส่วนประกอบของวัสดุที่มีค่า เช่น อะลูมิเนียม ลิเธียม และสเตนเลสสตีล ซึ่งวัสดุเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้ เช่น การผลิตรถยนต์ นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้ายังหุ้มด้วยพลาสติก อีกด้วย ”

ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลกำลังเร่งดำเนินการเพื่อรับมือกับปัญหาขยะรูปแบบใหม่ที่ซับซ้อนนี้ หลายประเทศกำลังดำเนินการอยู่เพื่อแก้ไขปัญหานี้

ทั้งนี้รัฐบาลอังกฤษเสนอแผนการแก้ไขปัญหาการกำจัดบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกฎระเบียบ เกี่ยวกับ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ครอบคลุมกับทุกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์

 

ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

โดยเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา แมรี่ เครก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวในแถลงการณ์ว่า บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นการสิ้นเปลืองอย่างมากและทำลายสุขอนามัยในเมือง นั่นเป็นเหตุผลว่าเหตุใดจึงห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อยุติวัฒนธรรมการทิ้งขว้างของประเทศนี้   

“นี่คือก้าวแรกบนเส้นทางสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งเราจะใช้ทรัพยากรได้นานขึ้น ลดขยะ เร่งกระบวนการสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และสร้างงานหลายพันตำแหน่งทั่วประเทศ”

 

 

 

ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าถึงรีไซเคิลยาก?

จากการวิจัยในปี 2023 (พ.ศ.2566) ของโครงการกรีนวิงส์ผู้ใช้ในสหราชอาณาจักร 75% ยอมรับว่า “ไม่เคย” รีไซเคิล อุปกรณ์ที่ใช้แล้วของตนเลย

เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าต้องทำอย่างไรกับบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งซึ่งประกอบด้วย แบตเตอรี่ ลิเธียมที่ติดอยู่กับตลับ และบรรจุด้วยพลาสติก

เมื่อแบตเตอรี่และแผงวงจรของบุหรี่ไฟฟ้าเสื่อมสภาพ สารเคมีที่เป็นพิษ เช่น พลาสติก ตะกั่ว และปรอท จะรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม ในขณะที่ตัวกล่องจะค่อย ๆ สลายตัวจนกลายเป็นไมโครพลาสติกที่เป็นอันตราย หากแบตเตอรี่ลิเธียมได้รับความเสียหายเมื่อถูกทิ้ง อาจทำให้เกิดไฟไหม้ที่โรงงานกำจัดขยะได้

ไม่เพียงแต่บุหรี่ไฟฟ้าเท่านั้นที่กินพื้นที่ในหลุมฝังกลบและทำลายสิ่งแวดล้อม การไม่รีไซเคิลลิเธียมและชิ้นส่วนที่มีค่าอื่น ๆ เช่น ทองแดงภายในบุหรี่ไฟฟ้ายังถือเป็นการสิ้นเปลืองอีกด้วย เนื่องมาจากความต้องการโลหะเหล่านี้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โดยเฉลี่ยแล้วบุหรี่ไฟฟ้าจะมีลิเธียม 0.15 กรัม ในปี 2022 (พ.ศ.2565) ลิเธียมจากบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมากกว่า 40 ตันถูกทิ้งในสหราชอาณาจักร ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า 5,000 คัน

ในทางทฤษฎี ผู้ค้าปลีกมีหน้าที่ช่วยคุณกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์เช่น บุหรี่ไฟฟ้า

ภายใต้กฎหมายของสหราชอาณาจักร ร้านค้ามีหน้าที่รับคืนและรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กทั้งหมดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าคุณจะซื้อบุหรี่ไฟฟ้าจากร้านของพวกเขาหรือไม่ก็ตาม ร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ด้วยตนเองจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อนำสินค้าเหล่านี้กลับคืน จัดเก็บ และบำบัดเมื่อสินค้าเหล่านี้กลายเป็นขยะ

อย่างไรก็ตาม สมาคมบุหรี่ไฟฟ้าแห่งสหราชอาณาจักร (UK Vape Association) ได้ออกมาเตือนว่า การรับคืนหรือรีไซเคิล ยังคงไม่ชัดเจนนักสำหรับผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมโดยรวม

 

ยิ่งห้ามยิ่งเข้า‘ตลาดมืด’

จอห์น ดันน์ ผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้าแห่งสหราชอาณาจักร บอกว่า การห้ามการขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างผิดกฎหมายอาจจะ”กระตุ้น” ให้เกิดการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในตลาดมืด

“เรามีตลาดมืดของผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าอยู่แล้วซึ่งทางการไม่สามารถตามทันได้” เขากล่าว

ดันน์ ยังกล่าวว่า สมาคมฯได้เรียกร้องให้รัฐบาลนำเสนอโครงการออกใบอนุญาตให้กับผู้ค้าปลีกและผู้จัดจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะรวมถึงสิ่งต่าง ๆ เช่น กระบวนการตรวจสอบอายุภาคบังคับของผู้ซื้อ

รัฐบาลมีแผนจะออกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2025 เพื่อให้ผู้ค้าปลีกมีเวลาขายสินค้าคงเหลือในสต๊อก กฎหมายนี้จะครอบคลุมบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทั้งหมด ไม่ว่าจะนำเข้ามาจากที่ใดก็ตาม

 

 

ที่มา: https://www.bbc.com/news/articles/cd7n3zyp114o

https://www.euronews.com/green/2024/10/01/planet-of-the-vapes-how-big-a-problem-are-e-cigarettes-and-where-can-they-be-recycled