รมว.แรงงาน ชงไอเดียสร้างแรงจูงใจแรงงานไทย ‘มีลูก’ เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร 3 เท่าตัว 7 ปี

รมว.แรงงาน ชงไอเดียสร้างแรงจูงใจแรงงานไทย ‘มีลูก’ เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร 3 เท่าตัว 7 ปี

รมว.แรงงาน ชงแนวคิด เสนอบอร์ดประกันสังคมพิจารณา สร้างแรงจูงใจให้แรงงานไทย ‘มีลูกเพิ่ม’ ด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร เพิ่มจาก 1,000 เป็น 3,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 7 ปี หวังแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนในอนาคต ที่ไทยเข้าสังคมผู้สูงอายุ

 

 

‘คนเสียชีวิตมากกว่าเกิดใหม่’ เป็นประโยคที่สะท้อนถึงวิกฤตโครงสร้างประชากร ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในอีกไม่ช้า 

ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แสดงให้เห็นว่า ในช่วงครึ่งปีแรก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2567 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 221,933 คน ซึ่งยังน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 ที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 249,703 คน 

 

 

ส่องนโยบายส่งเสริมคนไทยมีลูก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐ-เอกชน ได้ส่งเสริมให้คนไทยมีลูกเพิ่มขึ้น โดยที่ ปี 2562 ได้เปิดตัวแคมเปญการให้วิตามินฟรี รวมถึงธาตุเหล็กและโฟลิก เพื่อส่งเสริมผู้หญิงที่มีสุขภาพดีและเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ พอมาถึงปัจจุบัน 

นอกจากนี้ รัฐบาลมีมาตรการให้เงินอุดหนุนสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก เป็นเงินสงเคราะห์บุตร 600 บาทต่อเดือน สำหรับครัวเรือนยากจน (รายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี) จนถึงอายุ 6 ปี หรือ 800 บาท สำหรับบุตรคนทำงานตามสิทธิประกันสังคม (จำกัด 3 คน) 

รวมถึงมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ครอบครัวที่มีบุตร เช่น การลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตร การสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กโดยการให้การศึกษาฟรีตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา การพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พ่อที่เป็นข้าราชการสามารถลาหยุดเพื่อช่วยดูแลบุตรได้ 15 วัน รวมทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คุ้มครองการคลอดบุตรในโรงพยาบาลจดทะเบียน หรือเงินก้อนกรณีคลอดบุตร 13,000 บาท สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนประกันสังคม

ขณะที่ภาคเอกชน ได้ส่งเสริมสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อเอื้อให้พนักงานหญิง มีสิทธิลาไปเลี้ยงดูบุตร 

ทว่ามาตรการเหล่านี้จะเพียงพอต่อการส่งเสริมการมีบุตรของคนไทยหรือไม่ 

 

 

รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเสนอไอเดีย

เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรเป็น 3,000 บาท 

ล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การสงเคราะห์บุตร ของสำนักงานกองทุนประกันสังคม ก่อนหน้านี้รัฐสนับสนุนให้ 800 บาทต่อเดือน แต่ในปี 2568 จะให้เพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม(บอร์ด) เรียบร้อยแล้ว แต่ส่วนตัวต้องการจะเพิ่มแรงจูงใจในการให้ผู้ใช้แรงงาน ตามมาตรา 33 มีบุตรเพิ่มอีก

“ตัวผมเองมีแนวความคิดที่จะเพิ่มประชากรให้กับประเทศไทยโดยคนไทย ขอเน้นย้ำนะครับว่าเฉพาะคนไทย เพราะผู้ใช้แรงงาน ปัจจุบันนี้มีความกังวลว่าเมื่อคลอดบุตรออกมาแล้วจะมีภาระการเลี้ยงดูบุตร เป็นภาระที่ยิ่งใหญ่มาก โดยเฉพาะในสังคมเมือง 

เพราะการที่จะต้องส่งลูกหรือส่งบุตรหลานไปเข้าโรงเรียนหรือเข้าสถานศึกษามีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ตัวผมเองมีแนวความคิดซึ่งฝากให้ท่านปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม นําเข้าไปหารือกับบอร์ดประกันสังคม

ใครที่เป็นผู้ใช้แรงงานตามมาตรา 33 เมื่อมีบุตรเพิ่มขึ้น และไปเลี้ยงดูในชนบท หรือในต่างจังหวัดจะให้ค่าสงเคราะห์บุตร จากเดือนละ 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็นเดือนละ 3,000 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลา 7 ปี” 

 

เชื่อสร้างความมั่นคงแรงงานไทยมีลูกเพิ่ม

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ตามแนวคิดดังกล่าว แม้สำนักงานประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินค่าสงเคราะห์บุตรเพิ่ม แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแรงงาน ส่งเสริมการมีบุตรเพิ่มให้กับแรงงานไทย แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต  

“มาตรการนี้ คือแนวความคิดที่ตกผลึกว่าการที่จะสร้างให้ประเทศไทยสร้างประชากรเพิ่มขึ้น สำนักงานประกันสังคมเป็นส่วนที่สําคัญที่สุดและอยากจะเชิญชวนให้ผู้ใช้แรงงานได้มีบุตรเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับแรงงานของประเทศไทย”

 

ทำไม ? ต้องส่งบุตรไปเลี้ยงในชนบท

นายพิพัฒน์ อธิบายสาเหตุที่ต้องส่งบุตรของแรงงานไปเลี้ยงในชนบท เนื่องจากเห็นว่า สังคมชนบทมีต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรถูกกว่า เพราะฉะนั้นต้องสร้างคนจากชนบทกลับเข้ามาสู่เมือง โดยผ่านผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งอยู่ทํางานในเมือง แต่ขอให้มีบุตรและนําบุตรไปให้กับปู่ย่าหรือตายายเลี้ยงในสังคมชนบท ก็จะได้สิทธิในการเลี้ยงดูบุตรทันที

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ รมว.แรงงาน ย้ำว่า เป็นเพียงแนวความคิด เพื่อจะนําเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการประกันสังคมต่อไป 

“ส่วนตัวไม่มีอํานาจ ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปประชุมในบอร์ดประกันสังคม ต้องฝากปลัดกระทรวงแรงงาน (ประธานบอร์ดประกันสังคม) ไปหารือกันในบอร์ดประกันสังคม ว่าเป็นไปได้หรือไม่” รมว.แรงงาน กล่าว