‘มณีสุดา ศิลาอ่อน’ ฝ่าความอดทนอินเนอร์ ESG จากใจไม่ใช้เงิน จนบอร์ดหนุนเป็นหัวขบวนหลักเคลื่อนS&P

‘มณีสุดา ศิลาอ่อน’ ฝ่าความอดทนอินเนอร์ ESG จากใจไม่ใช้เงิน จนบอร์ดหนุนเป็นหัวขบวนหลักเคลื่อนS&P

เส้นทางของการทำ ESG วันที่ ‘มณีสุดา ศิลาอ่อน’ ลุยเดี่ยว คนไม่เข้าใจ ต้องลุยอยู่คนเดียว ในการเขียนเปเปอร์เอง กรอกข้อมูลจนสำเร็จ ยกให้ S&P เป็นต้นแบบ Green Restaurant จนตลาดหลักทรัพย์ฯ เชิญมาแชร์ประสบการณ์สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการ บอร์ดสนับสนุนเงินลงทุน เพื่อความยั่งยืนธุรกิจ

 

 

ESGuniverse เริ่มต้นบทสนทนากับ มณีสุดา ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่ สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคทจำกัด (มหาชน) เผยถึงการที่มาของการเป็นต้นแบบของธุรกิจร้านอาหารที่มีอายุยาวนานกว่า 50 ปี ที่ขับเคลื่อนความยั่งยืนจากองค์กร จนเป็นต้นแบบให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs)  นำมาสร้างแรงบันดาลในการเปลี่ยนผ่านสู่วันที่โลกต้องการธุรกิจสีเขียว เธอมีเคล็ดลับอะไรในการสร้างความยั่งยืนให้กับเอสแอนด์พี จนคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) สนับสนุนเกิดเป็นนโยบายหลักของธุรกิจ 

 

 

 

มณีสุดา พูดออกมาอย่างมั่นใจว่า 

“เราเริ่มต้นจากกิจกรรมที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายก่อน แต่อาศัยการสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการทำกิจกรรมที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายและลดต้นทุน เราไม่สามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญได้ เพราะบอร์ดไม่อนุมัติเราต้องทำอย่างลูกทุ่ง กรอกแบบสอบถามตามที่เขาเสนอมาทุกประเภท มีรายละเอียดเยอะมาก”

บริษัทฯ มีเป้าหมายความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของสหประชาชาติคือ เป้าหมายที่ 12 Responsible Consumption and Production: สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 13 Climate Action: ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 (พ.ศ.2593) และเป้าหมายสูงสุดคือ การมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 (พ.ศ.2608) จึงปรับตัวพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า

 

 

เริ่มต้นจากกิจกรรมไม่ลงทุน แต่ลดต้นทุน

การทำ ESG ของเอสแอนด์พี ยึดโยงกับการทำธุรกิจ โดยเริ่มต้นจากจุดที่ง่าย ๆ ด้วยการลดต้นทุน เพิ่มรายได้ก่อน โดย มณีสุดา ศิลาอ่อน กล่าวว่า การลดคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นเรื่องของการคิดค้นวิธีการบริการจัดการ มีทั้งการปรับเปลี่ยนกระบวนการเล็ก ๆ โดยไม่ต้องใช้เงิน ที่สร้างผลกระทบ เรื่อยไปจนถึงการลงทุนที่จำเป็นต้องใช้เงิน ขึ้นอยู่กับความพร้อมขององค์กร

 “หลายคนคิดว่าการทำ ESG ต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร แต่ถ้าหากเราเริ่มต้นจากจุดที่ไม่ใช้เงิน แต่เกิด impact สิ่งเหล่านี้จะเป็นผลงานที่ทำให้ผู้บริหาร และพนักงานฝ่ายต่าง ๆ ให้ความร่วมมือมากขึ้น” 

ตัวอย่าง เช่น การลดปริมาณขยะเป็นงานที่สามารถเริ่มได้เลย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ตอนนี้ยอดขายเบเกอรี่ของเอสแอนด์พี ในแต่ละปีประมาณ 7,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายว่า จะต้องลดขยะให้ได้ 3% ของยอดขาย แต่ไม่สามารถลดปริมาณขยะได้จนเหลือศูนย์ ทั้งนี้เนื่องจากทางร้านมีการผลิตทุกวันเป็นการผลิตล่วงหน้า ไม่สามารถคาดการณ์ว่าในแต่ละวันจะมียอดขายเท่าไร ยกตัวอย่างเช่น บางวันฝนตก รถติด คนเข้าร้านน้อย แต่ออเดอร์ได้สั่งตั้งแต่เมื่อวานแล้ว มันจึงมีของเหลือ สั่งน้อยก็ขายได้น้อย เป็นการเสียโอกาส 

 

 

 

“เอสแอนด์พีมีโครงการการแยกขยะมานานแล้ว ซึ่งโครงการในลักษณะนี้ ได้สร้างความประทับใจให้กับพนักงานในร้าน เด็กรุ่นใหม่ที่อยู่ในร้าน เขาเห็นว่าเราใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการลดขยะ ลดพลาสติก เด็กก็จะมีความภูมิใจในแบรนด์ บางครั้งมีคนมาเขียนหรือมาบ่นว่าเปลี่ยนเป็นหลอดกระดาษ ทำให้ดื่มไม่สะดวก แล้วก็มีพนักงานมาช่วยตอบ เราเห็นว่ามีการแสดงความภูมิใจ แม้ว่าในการขายหลอดกระดาษ ทำให้การดื่มไม่อร่อย ตัวอย่างเช่นหลอดพลาสติก เราก็จะเป็นหลอดพลาสติกที่เป็นการย่อยสลายได้ ผลิตจากชีวภาพ (Biodgradable) เป็นบรรจุภัณฑ์ในร้าน ซึ่งมีราคาที่แพงกว่าเปลี่ยนแล้วมากกว่า 95% ในรอบ 4 ปี”

“ส่วนที่เหลือในการปล่อยคาร์บอนอีก 5 – 6% ยังไม่สามารลดได้ แต่สามารถลดการหมดอายุ จาก 5 เดือน เหลือ 1 เดือน เพื่อให้ตอบโจทย์ทางธุรกิจ จึงยังต้องใช้พลาสติกในบางการบริการ แต่พลาสติกก็ไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป พลาสติกที่นำมาใช้ เน้นพลาสติกรีไซเคิลเป็นหลัก พยายามไม่นำพลาสติกที่ผลิตใหม่มาใช้” 

วันที่เริ่มต้นทำการลดคาร์บอนตั้งแต่ปี 2559 เป็นวันที่จะต้องเข้าไปทำความเข้าใจ ขออนุมัติจากบอร์ดและผู้บริหาร ซึ่งในวันนั้น คำว่า ESG ยังเป็นภาคสมัครใจ แต่สามารถโน้มน้าวบอร์ดให้เห็นด้วย เพราะมันคือทางรอด และคืออนาคตที่ยั่งยืน และเป็นไปตามพันธสัญญาที่รัฐบาลไปลงนามไว้ในการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ.2608) แม้จะต้องทำในเส้นทางที่ยากลำบาก ถึงกับต้องยอมกรอกรายงานตัวชี้วัดระดับสากล และจากมาตรฐานหลายแห่งด้วยตัวเองก็ต้องทำ 

“เราเป็นเอสเอ็มอี ไม่ใช่บริษัทใหญ่ สิ่งที่ยากที่สุดคือการโน้มน้าวบอร์ดให้ร่วมมือในการลงทุนลักษณะนี้ ในปีแรกๆ ทางเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของบอร์ดได้ เพราะไม่เข้าใจและใช้เงินเยอะ คนที่จะทำเรื่องนี้ จึงเริ่มต้นทำอย่างลูกทุ่ง กรอกเอง ต้องจริงจัง แต่ก็ค่อย ๆ เห็นด้วยมาเรื่อย ๆ จากไม่ใช้เงิน จนเริ่มขยายการลงทุน เพราะเห็นความเปลี่ยนแปลง”  

จนในที่สุดผลลัพธ์ที่ได้ ทำให้เป็นองค์กรต้นแบบได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนมากมาย อาทิ 5 Star Rating จาก Sustainability Tourism ทำให้บอร์ดภาคภูมิใจได้ว่าตัดสินใจไม่ผิด จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยกให้เป็นต้นแบบในการทำดี  (Best Practice) เชิญไปเล่าประสบการณ์การทำให้ประสบความสำเร็จ  

“ปัจจุบันบอร์ดมีคำสั่งที่เน้นเรื่องความยั่งยืน เป็นเคพีไอของทุกโรงงาน ทุกคนจะต้องมีเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนอยู่ในหน่วยงานของตัวเอง  มีการตั้งบอร์ดด้านความยั่งยืน จะมีประธาน เอ็ม(มณีสุดา)เป็นเลขา และมีหัวหน้าจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมเช่นฝ่ายบุคคล สายการผลิต เป็นต้น เราจะมีการประชุมทุกไตรมาสต้องพยายามติดตาม เป้าหมายความยั่งยืน ที่ได้ประกาศไปแล้ว ในตลาดหลักทรัพย์ว่าเป็นไปอย่างไร และต้องรายงานต่อบอร์ดใหญ่ว่า ตอนนี้ไปถึงไหน ประสบอุปสรรคปัญหาอะไร ยกตัวอย่างเช่นการรีไซเคิลพลาสติกไม่ได้อีก 6% เป็นสาเหตุอะไร แล้วให้ฝ่ายไปคุยกับซัพพลายเออร์ว่าจะมี การแก้ไขได้อย่างไรในการจัดการขยะ” 

 

 

จัดทัพ ปรับกระบวนการขนส่ง

ส่วนสิ่งที่ต้องลงทุนระดับพันล้าน คือการติดตั้งโซลาร์เซลล์พลังงานสะอาดในโรงงานกว่า 3 แห่ง  คือ โรงงานผลิตเบเกอรี่ที่บางนา-ตราด กม.23.5, โรงงานผลิตเบเกอรี่ที่ จ.ลำพูน, และโรงงานผลิตอาหารลาดกระบัง สามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้  2,285,531 กิโลวัตต์ต่อชัวโมงต่อปี ลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1,092 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่ากับปลูกต้นไม้ 33,980 ต้น 

อีกทั้งยังมีการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะ ลงทุนไป 500 ล้านบาทในช่วงโควิด เพื่อบริหารจัดการการขนส่งระบบโลจิสติกส์ใหม่ วางแผนเส้นทาง และเวลาในการเดินทางเพื่อให้ลดคาร์บอนให้มากที่สุด สามารถลดค่าน้ำมันได้ถึง 9 ล้านบาทต่อวัน 

ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2566 ที่ผ่านมา เอส แอนด์ พี  ได้เริ่มนำรถบรรทุกขนส่งสินค้ามาใช้ขนส่งวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ S&P จากคลังสินค้ากระจายไปยังหน้าร้าน S&P พร้อมกับมีการนำรถไฟฟ้ามาใช้ 1 คันเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงปีละประมาณ 20 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยในปี 2567 จะเพิ่มเป็น 4 คัน 

“ในกระบวนการขนส่งสินค้า จากต่างคนต่างส่ง เปลี่ยนมาเป็นมีศูนย์กระจายสินค้า ‘สมาร์ทดิสทริบิวชั่น’ เอสแอนด์พี ลงทุนในช่วงโควิด ปรับเปลี่ยนระบบโลจิสติกส์ใหม่ จัดเส้นทางการส่งสินค้าในแต่ละเส้นทางใหม่หมด ด้วยความที่ธุรกิจเป็นร้านเบเกอรี่สด รถจะต้องออกตั้งแต่ตี 3 แล้วออกไปไม่น้อยกว่า 5 สาขา สาขาสุดท้ายจะต้องถึงก่อน 9 โมงเช้า การจัดเส้นทางขนส่งใหม่ ทำให้ลดค่าน้ำมันได้ถึงเดือนละ 9 ล้านบาท ประหยัดมากขึ้น แต่ก่อนเราใช้ลังกระดาษ ซึ่งการผลิตกระดาษ ก็ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์สูง เปลี่ยนเป็นลังพลาสติก พอถึงจุดส่งสินค้าก็เช็กสินค้าแล้วนำลังกลับ” 

ทั้งนี้ ภายในศูนย์กระจายสินค้า S&P ได้ติดตั้งหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 594 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 785,712 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 390 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ถึง 12,104 ต้น

“การลดคาร์บอนจะตรวจสอบเข้าไปในทุกรายการสินค้า ตั้งแต่เค้กกล้วยหอม หรือ เส้นทางการขนส่ง ทุกอย่างต้องมีการตรวจสอบวัดผลได้ (Audit) ในทุกๆ  3 ปี ต้นทุน 3 แสนบาท ต้องเริ่มต้นทำเพื่อวัดผล และให้ผู้บริโภตตระหนักรู้” 

 

 

ทำจากใจ ปลุกแรงใจพนักงาน 

หลังจากได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนในหลากหลายมาตรฐานทำให้พนักงานมีพลังใจในการทำงานเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ด้วยความภาคภูมิใจ เพราะเริ่มเข้าใจ 

“ เป็นการทำงานที่เรียนรู้ไปทำไป (Learning by doing) ไต่เต้ามาเรื่อย ๆ จนได้รางวัล ตลาดหลักทรัพย์ บอกว่าเธอเยี่ยมมากนะ น้ำตาเกือบจะไหล ต่อมาเมื่อคุยกับบอร์ดฉลุยมาก จนกระทั่งมาตั้งเป็นบอร์ดด้านความยั่งยืน (Sustainability) เมื่อไปเล่าให้เอสเอ็มอีฟัง เหมือนสร้างแรงบันดาลใจ และให้กำลังใจในการลงมือทำจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงคนรอบข้างเรา และจะก่อให้เกิดประโยชน์ ตลอดซัพพลายเชนทุกคนต่างดีไปด้วยกัน แม้จะรู้ว่เริ่มต้นทำ ESG ยังไม่มีกำไร แต่ได้รับผลตอบแทนด้านจิตใจมากกว่า” 

สิ่งที่เห็นชัดเจน เมื่อปรับมาสู่ ร้านอาหารเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Restuarant) คือการปรับเมนู ลดเค็ม เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดี ไม่เป็นโรคไต มีทางเลือกมากขึ้น เป็นการสร้างสมดุลระหว่าง เมนูสุขภาพก็ต้องมี ‘เมนูอร่อยก็ต้องได้’ จนได้รับรางวัลจากกรมควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

“การทำร้านอาหารกรีนไม่ง่ายเลย ตรวจทุกอย่าง ตั้งแต่การใช้น้ำ การใช้ไฟวัตถุดิบ พฤติกรรมคนในองค์กร การเปิดปิดสวิตช์ การล้างผัก เป็นต้น เมื่อเราได้รางวัลร้านอาหารกรีนจึงเป็นความภาคภูมิใจ” 

 

 

ลด Food Waste ส่งอาหารแด่น้องผู้หิวโหย

ได้เข้าร่วมกับรัฐบาลโครงการบริหารจัดการของเหลือเศษอาหาร (Food Waste) โดยการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ มูลนิธิสโกลาร์ส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ  เอสโอเอส ไทยแลนด์ (Scholars of Sustenance Foundation) องค์กรที่มารับอาหารแล้วเอาไปกระจายต่อให้ชุมชนที่ขาดแคลน ที่ร่วมมือกันรับอาหารในพื้นที่ 4  จังหวัด มีเครือข่าย เอสแอนด์พี 52 สาขา

เป็นโครงการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯชมมาก การบริหารจัดการขยะจากอาหารได้ดี อีกทั้งยังร่วมกันพัฒนากล่องสุ่ม โดยมีเมนูราคาถูกขายให้กับชุมชน ผ่านแอปยินดีช่วยลดต้นทุนขยะได้อาหารได้ถึง 240 ล้านบาทต่อปี 

“ช่วงโควิดเป็นช่วงที่เราปรับเปลี่ยนทุกอย่าง ระบบเดิม ผู้จัดการสาขา สั่งวัตถุดิบ โดยใช้ประสบการณ์ของตัวเอง แต่พอเราเปลี่ยนมาเป็นการใช้ข้อมูลสะสม ที่เกิดจากการตรวจสอบแล้ว ทำให้การสั่งวัตถุดิบแม่นยำยิ่งขึ้น ลดขยะหรือ ส่วนเกินอาหารเหลือมากขึ้น ส่วนการป้องกันของเสียหน้าร้าน เราก็ใช้วิธีการการส่งต่ออาหารเหลือให้กับชุมชน”

โดยรวมโครงการส่งต่ออาหารให้กับกลุ่มเปราะบาง ในปีที่ผ่านมาสามารถส่งต่ออาหารไปได้ 48 ตัน กระจายให้คนมากกว่า 200,000 คน ในพื้นที่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ สิ่งที่จะต้องบริหารจัดการต่อคือ ขยายจาก 51 สาขาเป็น มีจำนวน 500 สาขา ให้มีการควบคุมปริมาณอาหารเหลือในสาขาส่วนใหญ่ให้น้อยที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ในแต่ละปีจึงมีส่วนที่ยังไม่สามารถจัดได้ได้มูลค่าถึง 168 ล้านบาท 

“เป็นเรื่องยากกับการจะส่งต่ออาหารที่เสียง่าย ไปให้กับองค์กรมูลนิธิไปกระจายต่อ หากนำไปจำหน่ายต่อก็เน้นอาหารแห้งที่เก็บไว้ได้นาน แต่ส่วนที่ยังจัดการไม่ได้เพราะอายุอาหารสั้น” 

 

 

 

ตั้ง ‘สำนักพัฒนาความยั่งยืน’ ขับเคลื่อน SDGs 

ส่งสุขภาพดีสู่ครอบครัว โลกมีความสุขยิ่งขึ้น  

มณีสุดาเล่าถึง ภายหลังจากมีการพัฒนาสร้างกระบวนการความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายทางบอร์ดได้อนุมัติให้มีการจัดตั้ง ‘สำนักพัฒนาความยั่งยืน’ ซึ่งจัดตั้งเมื่อปี 2018 (พ.ศ.2561) เพื่อเป็นหน่วยงานดูแลรับผิดชอบและผลักดันกระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้เกิดความยั่งยืนทั้งระบบ ทางบริษัทได้เริ่มเห็นความสำคัญของการสร้างธุรกิจภายใต้หลักการ ESG และความยั่งยืน นำไปสู่การช่วยปรับเปลี่ยน ตั้งแต่กระบวนทัศน์ของผู้บริหารด้วยการลงมือทำอย่างจริงจัง โดยมีคำมั่นสัญญาเพื่อความยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs

ปัจจุบันนี้ เอสแอนด์พีได้ดำเนินการภายใต้คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ว่า ครอบครัวมีสุขภาพดี โลกมีความสุขมากขึ้น  “Healthier Family, Happier World” เพื่อให้ผู้บริโภค คู่ค้า พันธมิตรได้มาซึ่งสุขภาพดีและมีความสุขไปพร้อมกับการเติบโตของเอส แอนด์ พี สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ ทั้ง 7 ข้อ ได้แก่

 

  1. เป้าหมายที่ 2 Zero Hunger: ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
  2. เป้าหมายที่ 3 Good Health and Well-Being: สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย
  3. เป้าหมายที่ 4 Quality Education: สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  4. เป้าหมายที่ 8 Decent Work and Economic Growth: ส่งเสริมการติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน
  5. เป้าหมายที่ 12 Responsible Consumption and Production: สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
  6. เป้าหมายที่ 13 Climate Action: ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ
  7. เป้าหมายที่ 17 Partnerships for the Goals: ร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

 

 

 

สุขภาพดี ชีวิตดี เกิด Brand Loyalty 

มณีสุดาหรือคุณเอ็มพูดต่อว่า เรื่องของสุขภาพก็เป็นสิ่งจำเป็น ทางบริษัทมีความตั้งใจดูแลสุขภาพของลูกค้าและผู้บริโภคผ่านการดำเนินธุรกิจอาหารและเบเกอรี่ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี เพราะเราเชื่อว่าการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ อุดมด้วยโภชนาการที่ดีเป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพดี จึงมีลูกค้าประจำเป็นกลุ่มครอบครัว มีการพัฒนาโครงการ S&P Wellness Menu ได้คัดสรรเมนูจานอร่อยและเครื่องดื่ม ที่มีจุดเด่นด้านโภชนาการและมีสารอาหารสำคัญ อุดมด้วยโปรตีนสูง ไขมันต่ำ คลอเรสเตอรอลต่ำ เป็นแหล่งของใยอาหารและวิตามิน ปราศจากวัตถุกันเสีย โดยมีเมนูยอดนิยม ได้แก่ 

สลัดแซลมอนย่าง โปรตีนสูง คลอเรสเตอรอลต่ำ เป็นแหล่งของโอเมก้า3 วิตามินเอ และสารต้านอนุมูลอิสระ  ข้าวคีนัว คั่วกลิ้ง ผักสดโปรตีนสูง เป็นแหล่งของใยอาหารและวิตามินเอ และสารต้านอนุมูลอิสระจากผักสด

แกงเหลืองยอดมะพร้าวอ่อนปลากะพง โปรตีนสูง ใยอาหารสูง โอเมก้า3 อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระจากพริกแกง รวมทั้งเมนูของว่างคลายร้อนแบบไทย ๆ เช่น 

ปลาแห้งแตงโม โปรตีนสูงไขมันต่ำ เป็นแหล่งของใยอาหารและวิตามินเอ 

นอกจากนี้ เครื่องดื่มบลูคัพ 9 รายการยังได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกเพื่อสุขภาพ (Healthier Choice Logo) เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค ได้แก่ อเมริกาโน่ เอสเปรสโซ่ กาแฟโคลด์บรูว์ จัสมินและดอกไม้ร้อน อู่หลงดอยช้างร้อน คาโมมายส์มิ้นท์ร้อน แครนเบอรี่แอปเปิ้ลร้อน ชาโคลด์บรูว์แครนเบอรี่แอปเปิ้ล และชาโคลด์บรูว์อู่หลงออร์แกนิกอีกด้วย 

ในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังออกเบเกอรี่สุขภาพ (Healthy Bakery) หลากหลายรายการ เพื่อเป็นทางเลือกแก่ลูกค้าผู้รักสุขภาพ ได้แก่ ขนมปังธัญพืชซีเรียลบัน คุกกี้ผสมธัญพืชและคอร์นเฟลกส์ คุกกี้ผสมธัญพืชและข้าวโอ๊ต รวมถึงขนมปังธัญพืช มัลติเกรนโลฟเบรด ขนมปังข้าวกล้องงอก ขนมปังโฮลวีท ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

 

คัดสรรวัตถุดิบจากเกษตรกรโดยตรง 

สร้างรายได้ที่มั่นคงแก่ชุมชน

มณีสุดา บอกว่า เอส แอนด์ พี มีการคัดเลือกวัตถุดิบจากเกษตรกรโดยตรงตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อให้ได้คุณภาพตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อพัฒนาคู่ค้าให้สามารถผลิตวัตถุดิบด้วยคุณภาพที่ดีที่สุด เช่น 

โครงการการสนับสนุน ‘ส้มอินทรีย์สีทอง จ.น่าน’  เอส แอนด์ พี สนับสนุนส้มอินทรีย์จากเกษตรกรที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (SDGs PGS) จากสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนน่านร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์น่านในระยะปรับเปลี่ยน เพื่อนำส่งผลผลิตสด สะอาด ปลอดสารเคมี สามารถตรวจสอบแหล่งที่มา โดยรับซื้อผลผลิตมาตั้งแต่ปี 2563-2566 มียอดสนับสนุนแล้วกว่า 2.48 ล้านบาท 

สำหรับส้มสีทองอินทรีย์ ถือเป็นผลผลิตบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจ.น่าน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินและสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเติบโตของผลผลิตทำให้ส้มเขียวหวานที่ได้มีเปลือกเป็นสีเหลืองทองและบาง บนผิวเปลือกมีลายตามธรรมชาติ และมีรสชาติหวาน จึงเหมาะที่จะนำมาคัดสรรมาเป็นวัตถุดิบของเมนูเครื่องดื่มหอม หวาน ชื่นใจ ได้แก่ เมนูน้ำส้มออร์แกนิกคั้นสด น้ำส้มออร์แกนิกสดปั่น และกาแฟโคลด์บรูว์น้ำส้มออร์แกนิกคั้นสด สำหรับจำหน่ายตามฤดูกาล คือช่วงเดือนธันวาคม 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 ณ ร้านเอส แอนด์ พี ที่ร่วมรายการ

 

 

 

โครงการพัฒนา ‘ทุเรียนใต้ จ.นราธิวาส’  ด้วยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อการเติบโตของวัตถุดิบที่ลดน้อยลง หรืออาจขาดแคลนในอนาคต เอส แอนด์ พี ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว จึงมีการวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดจากภัยธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุมได้ จึงได้วางแผนคัดสรรแหล่งวัตถุดิบสำรองและพัฒนาผลผลิตทุเรียน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของขนมไหว้พระจันทร์ 3 ไส้ยอดนิยม คือ ไส้หมอนทองไข่1 ไส้หมอนทองล้วน และไส้หมอนทองไข่2 ที่มียอดขายสูงถึง 1.2 ล้านชิ้นต่อปี เอส แอนด์ พีจึงค้นหาแหล่งวัตถุดิบสำรองแห่งใหม่เพื่อรองรับการผลิตขนมไหว้พระจันทร์ไส้หมอนทองที่มีจำหน่ายตลอดทั้งปี จนกระทั่งพบแหล่งปลูกทุเรียนสำหรับนำมาผลิตทุเรียนกวนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ซึ่งเกษตรกรทั้ง 3 จังหวัดได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ชุมชนขาดรายได้ โดยทีมพัฒนาคุณภาพของบริษัทฯ เข้าไปร่วมพัฒนาการปลูกทุเรียนจนได้ทุเรียนที่มีรสชาติและคุณภาพใกล้เคียงกับทุเรียนภาคตะวันออกตรงตามมาตรฐานของบริษัทฯ

นอกจากนี้ เอส แอนด์ พี ยังร่วมทุนกับ บริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ๊ต จำกัด ก่อตั้งโรงงานแปรรูปทุเรียนกวน และยังได้สนับสนุนอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานของจัดตั้งโรงงานแก่ผู้ประกอบการ เพื่อผลิตทุเรียนกวนคุณภาพดีตรงตามาตรฐาน จากการสนับสนุนทุเรียนจากเกษตรกรในครั้งนี้ เอส แอนด์ พี ช่วยสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนด้วยรายได้ที่มั่นคงและเป็นธรรม โดยในปี 2566 กระจายรายได้แก่ชุมชนได้ถึง 14.99 ล้านบาท 

 

 

 

เอสแอนด์พีมีนโยบายที่จะสร้างโรงงานขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2559 ตั้งโรงงานตัวอย่างขึ้นมา 1 โรงก่อน  ตอนนี้ทุกโรงงานใช้พลังงานทางเลือกหมดแล้ว ทุกโรงงานเป็นพลังงานโซลาร์เซลล์หมดแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าพลังงานเหล่านี้จะได้ใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะกำลังการผลิต 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นในบางช่วงที่พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไม่ทัน ก็ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากภายนอก 

ตอนนี้มี 4 โรงงาน โรงงานแรกอยู่ที่สุขุมวิท 62 หลังคาโรงงานรับน้ำหนักไม่ได้ เราก็ใช้โซล่าไลท์แทน ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกอื่น โรงงานที่ลำพูน โรงงานอาหารในนิคมอุตสาหกรรม ก็ทำหมดแล้ว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ราคาไฟฟ้าอยู่ที่ 20 ถึง 25%  ทางเราไม่มีเครื่องกักเก็บพลังงานเพราะราคาแพงมาก

 

 

 

climate action

หมุดหมาย ลดคาร์บอน 50% ในปี 2573 

แนวทางการขับเคลื่อนตามพันธสัญญาที่สอดคล้องกับภาครัฐ ที่ประเทศจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยมีการปรับใช้พลังงานทางเลือก มีการซื้อขายคาร์บอนโปร่งใส พร้อมกันกับมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เข้ามาช่วยลดคาร์บอน 

“ประเทศไทย มีเกษตรกรรมประมาณ 70 ถึง 80% มีการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก อยู่ในสัดส่วนที่สูง พวกที่ใช้พลังงานถ่านหิน พลังงานฟอสซิล ประมาณ 70% ของประเทศ จะต้องหาวิธีการ ในการจัดการเรื่องคาร์บอนเครดิต จึงอาจจะต้องอัดลงดิน”  

สำหรับเอสแอนด์พี เป็นธุรกิจอาหาร ก็มีการทำคาร์บอนเครดิต แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนเล็ก ในอีก 10 ปีข้างหน้า มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยนำพลังงานสะอาดมาใช้ ภายใน 10 ปี ข้างหน้าจะมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตภายใน ให้ลดคาร์บอนเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าหมายลด 50 % ภายในปี 2573 และเป็นศูนย์ในปี 2608  ปัจจุบันนี้ซื้อคาร์บอนเครดิตประมาณ 13,000 ยูนิต เพื่อมาเสริมชดเชย การปล่อยก๊าซคาร์บอนในธุรกิจ ที่ปล่อยไปประมาณ13,000 ยูนิต 

“เมื่อประกาศเป็นกฎหมาย จะต้องหาวิธีการปรับปรุงกระบวนการผลิตในธุรกิจอาหาร ให้เป็นร้านอาหารรักษ์โลก บอร์ดเริ่มเข้าใจ สนับสนุนการเดินหน้าทำให้ไม่ย่อท้อที่จะดำเนินการแผนปฏิบัติการภายใน”

เอสแอนด์พีเป็นร้านอาหารสัญชาติไทยอายุยาวนานกว่า 50 ปี ได้ประกาศวิสัยทัศน์ ต้งการเป็นร้านอาหารไทย เค้ก และเบเกอรี่ เป็นแบรนด์ที่ส่งมอบสินค้าและบริการที่ตอบสนองความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัวในทุกโอกาส ในรุ่นที่ 2 เริ่มให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน เพื่อให้แบรนด์เป็นร้านอาหารคู่สังคมไทยต่อไป ในยุุคหน้าที่ผู้บริโภคและโลกใส่ใจเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม รวมถึงหลักธรรมาภิบาล 

 

 

เส้นทาง 50 ปี ซัพพลายเชนความสุข 

เส้นทาง 50 ปีของเอส แอนด์ พี ที่อยู่สังคมไทยจนเป็นส่วนหนึ่งที่มีเป้าหมายของแบรนด์ต้องการส่งต่อครอบครัวสุขภาพสู่คนไทย ดูแลลูกหลานให้สามารถเติบโตไปอย่างยั่งยืนในทุกๆ วัน เพราะทุกคนล้วนเป็นห่วงโซ่อุปทานเรา ให้เติบโตไปด้วยกัน ไม่มีคำว่า ‘คู่แข่ง’  ทุกคนล้วนเป็นพันธมิตรทางการค้า เมื่อขายดี ทุกคนก็จะเติบโตไปด้วยกัน 

“หากทั้งซัพพลายเชนที่เกี่ยวช้องดีด้วยกันทั้งหมด ทุกชีวิตก็จะมีความยั่งยืน อยากให้ทุกคนคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตเรา อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องยาก  แม้กระทั่งการทำธุรกิจอย่าคิดว่าทำเรื่องของความยั่งยืน เป็นเรื่องของต้นทุน เพราะจริง ๆ แล้วเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากในระยะยาว ได้ไปจนถึงลูกหลาน คนเห็นการทำกิจกรรมของเราทำให้แบรนด์แข็งแรง ใครที่เริ่มทำขออย่าได้ท้อถอยมันจะยากในช่วงแรก การทำดีย่อมใช้เงินแน่นอน แต่ให้ทำ ในส่วนเล็ก ๆ ก่อน เพราะมีรางวัลในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะเห็นคุณค่าและมีการสนับสนุนตามมา”

ผ่านช่วง โควิดแม้จะยากลำบาก สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส จากขาดทุนสูงสุดในรอบเกือบ 49 ปี มูลค่า 100 ล้านบาทในปี 2562 ปรับพื้นที่ในร้านใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ขายสินค้าทำให้มียอดคืนกลับมา สิ่งสำคัญคือการรักษาคนในวันที่ลำบาก ให้อยู่ร่วมกัน ผู้บริหารลดเงินเดือนครึ่งหนึ่ง ใช้เวลาปรับปรุง 4 เดือน เริ่มมีกำไร จ่ายโบนัสพนักงานได้ เพราะร่วมเสี่ยงมาเปิดร้าน มาขายอาหารให้ 

ปิดท้ายเส้นทางการทำESG เธอเล่าเหตุผลที่ยอมอดทนทำตั้งแต่วันที่ไม่มีใครเข้าใจ จนมาสู่การสนับสนุนร่วมมือร่วมใจ  ทุกอย่างเกิดขึ้นจาก ‘ความตั้งใจจริง’ มีใจกับเรื่อง ESG เพราะเคยทำงานด้าน CSR มาก่อน และมีโอกาสลงพื้นที่ ไปพบกับชาวบ้าน จึงรู้ว่าความสุขจากการทำงานกับชุมชนเมื่อเห็นรอยยิ้มพวกเขา มันมีค่ามากกว่ากล่องรางวัลและเงินหลายเท่า 

 

“ใจเราฟูมันได้มากกว่าเม็ดเงินได้มากกว่ากล่อง และชื่อเสียง เราเป็นคนชอบทำแบบนี้มานานแล้ว แล้วเวลาทำก็ต้องทำให้ได้ ทำให้สำเร็จ เดิมทีเราทำเล็ก ๆ น้อย ๆ กระจายไปตามจุดต่าง ๆ เรียกอีกอย่างหนึ่ง ว่าการทำเพื่อสังคมแต่ตอนนี้มารวมเป็นก้อนเดียวกันทำให้มันชัดเจนขึ้น  เกิดมามีชีวิตครั้งหนึ่ง ควรมีคุณค่ากับโลก แม้เป็นสิ่งเล็กน้อย ทำอะไรก็ได้ ที่เป็นประโยชน์ต่อโลก และสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยพอเราตายไป คุณค่าก็ยังอยู่กับเรา ลูกหลานก็จะได้ภูมิใจว่าปู่ย่าตายายของเราทำเพื่อคนอื่น”