‘ลมปราณ’ พลังแห่งการฝึกหายใจ เยียวยาปมชีวิต ฉลาดทางอารมณ์ พบความสงบภายใน

‘ลมปราณ’ พลังแห่งการฝึกหายใจ เยียวยาปมชีวิต ฉลาดทางอารมณ์ พบความสงบภายใน

รู้วิธีการหายใจอย่างมีสติ ฝึกฝนการควบคุมลมหายใจสร้าง “พลังชีวิต” ผลลัพธ์มหัศจรรย์ เยียวยาฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ปลดล็อกปม บาดแผลชีวิต พบความปกติสุข เปลี่ยนภาวะกดดันที่ควบคุมไม่ได้ สู่ชีวิตที่ออกแบบได้ ด้วยการควบคุมกำหนดลมหายใจ 

โดย: ประกายดาว แบ่งสันเทียะ

 

 

ในโลกที่เร่งรีบตั้งแต่เช้าตื่นนอนตอนเช้า ยันจรดเย็น กับ ภาระหน้าที่ที่ต้องทำงานให้กับคนอื่น คิดถึงการบริการ ลูกค้า คนมีครอบครัวก็ต้องเพิ่มภารกิจในการดูแลลูก สามี ส่วนคนไม่มีภาระอาจจะชอบเชื่อมต่อกับสังคม และบริหารความสัมพันธ์ สร้างความพึงพอใจให้คนรอบข้าง  ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนตอบสนองสิ่งเร้าจากภายนอก จนเราลืมดูแลความต้องการจากภายใน 

หากภายในหัว ความคิดของเราขุ่นมัว เฝ้าแต่คิดถึงคนอื่น ใส่ใจแต่ภารกิจตรงหน้าเช่น คำสั่งหัวหน้า, เพื่อน ครอบครัว ตลอดเวลา จะส่งผลมาถึงภาวะแวดล้อมภายในจิตใจของเรา ที่นำไปสู่อารมณ์ความรู้สึกแกว่งไปมาตามปัจจัยที่เข้ามารุมเร้า ทั้งร้ายและดี 

หากจะสร้างการตระหนักรู้ และดูแลจิตใจได้ดีที่สุด เริ่มต้นที่ “ลมหายใจ” จริงอยู่ ทุกคนล้วนหายใจอยู่ทุกขณะไม่งั้นก็ไม่มีชีวิตอยู่มาได้ แต่รู้ไหมว่า การหายใจที่แท้จริง พร้อมด้วยการตระหนักรู้อยู่กับสิ่งที่จำเป็น ถือเป็น “เครื่องมืออันทรงพลัง” ในการดำเนินชีวิต

เราจึงต้องกลับมาทบทวน ตรวจสภาพเช็กลมหายใจ ไปพร้อมจิตใจจดจ่ออยู่กับปัจจุบันวันหนึ่งทำได้ถึง 20 ลมหายใจหรือไม่?? 

หมั่นสังเกตุตัวเอง ลมหายใจจะเริ่มไม่ต่อเนื่องและไม่รู้ตัวทุกครั้งหรือไม่ เมื่อหันไปทำอย่างอื่น และคิดถึงคนอื่น ทำให้หายใจไม่เป็นจังหวะ นำลมไปหล่อเลี้ยงพลังชีวิตในร่างกาย จิตใจเราให้สมดุล นี่คือ เข็มทิศเริ่มต้นให้เราใช้ชีวิตอย่างมีสติ และพาเราไปสู่เส้นทางที่เราปรารถนา  เพราะเกิดจากความสงบภายในจิตใจ 

 

ลมหายใจ มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ว่าหากควบคุมออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไปกระจายในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ถือเป็นศาสตร์ในการสร้างสุขภาวะดี เป็นรากฐานที่มีการปฏิบัติมาแต่โบราณ สามารถฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกของภายในตัวเราได้ และหากฝึกฝนได้อย่างลึกซึ้ง จะช่วยชำระล้างความเจ็บปวดสะสม และจัดการความเครียด แม้จะเผชิญกับเหตุการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่ปรารถนาจะเผชิญ ทำให้อารมณ์เราสวิงไปมา การหายใจจะช่วยทำให้เรามีความยืดหยุ่น รู้เท่าทันอารมณ์ของเราได้ 

 

ก่อนอื่นจึงต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจกับการควบคุมลมหายใจ มีเทคนิคและวิธีปฏิบัติได้หลากหลาย หากฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้หายใจด้วยสติ ซึ่งเป็นศาสตร์ของการฟื้นฟูร่างกายด้วยตัวเราเอง ในแบบเดียวกันกับ โยคะ การทำสมาธิ และจิตบำบัด ผลลัพธ์ทำให้การใช้ชีวิตประจำวัน เราผ่านไปแบบปกติสุข แม้จะเจอเรื่องหนัก แย่แค่ไหนก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะเบาเมื่อเราหายใจขจัดพิษเหล่านี้ออกไปจากตัวเรา 

นี่คือประโยชน์จากลมหายใจที่ช่วยฟื้นฟูเยียวยาสภาวะทางอารมณ์ให้นิ่ง และมีความสงบจากภายใน ที่โดยปกติแล้วอารมณ์คนเราจะไม่นิ่ง แกว่งไปมาทุกวันอยู่แล้ว บางวันมีความสุข บางวันหดหู่ บางวันเศร้า เหงา แปรเปลี่ยนตามสิ่งเเร้าที่เกิดขึ้นได้ เช่น สภาพอากาศ ร้อนหนาว 

 

 

การหายใจช่วยในการเยียวยาอารมณ์ได้อย่างไร

 

1  ช่วยปลดปล่อยบาดแผลในชีวิตและฟื้นฟูเยียวยาจากความทรงจำที่เจ็บปวด

ความเจ็บปวดจากประสบการณ์และฝังความทรงจำที่เราเคยผ่านเรื่องร้าย ๆ หนักหนาในชีวิตทำให้เราจดจำ ความเจ็บปวดมาฝังในร่างกายโดยเราไม่รู้ตัว และสิ่งนั้นจะเริ่มแสดงอิทธิฤทธิ์ออกมาทำให้เราเกิดภาวะความตึงเครียด ยิ่งสะสมความเจ็บปวดเรื้อรัง จนทำให้เรารู้สึกชาตามตัว หากเรากลับมาฝึกควบคุมลมหายใจสามารถช่วยปลดปล่อยความทรงจำที่เจ็บปวดนี้ เมื่อเราอยู่ในภาวะนิ่งที่สุด จะช่วยให้เราย้อนกลับมาประมวลผลระหว่างการหายใจ หลายคนได้ก้าวข้ามเอาชนะอารมณ์ทางลบ ช่วยปลดปล่อยอารมณ์ ผ่านการแสดงความรู้สึก เช่น  การร้องไห้ การหัวเราะ หรือความโกรธที่พุ่งขึ้นมา หลังจากร่างกายเก็บกดความรู้สึกเหล่านี้ไว้มายาวนาน 

 

2.ช่วยในการควบคุมดูแลระบบประสาท

การหายใจแต่ละครั้ง เป็นการเชื่อมต่อกับระบบประสาท การรับรู้ความรู้สึก ที่เป็นเสมือนพลังชีวิตเคลื่อนไปสู่ระบบประสาทอัตโนมัติ คอยทำหน้าที่ควบคุมการตอบสนองต่อสิ่งเร้า ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้หรือหนี รวมถึงด้านของการพักผ่อน และระบบย่อยอาหาร จุดเริ่มต้นของการควบคุมลมหายใจให้เคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ ภายในร่างกาย ทำให้เราผ่อนคลาย สามารถช่วยกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System)  ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานภายในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อกลับสู่ภาวะปกติได้อย่างสมดุล

 ระบบประสาททำงานสมดุลกัน มี 2 ด้าน คือ ระบบประสาทสร้างการตื่นตัว  (Sympathetic) ทำหน้าที่ทำให้เกิดการตื่นตัว ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน  และหากระบบประสาททำงานปกติ ส่วนอีกด้าน ระบบประสาทการผ่อนคลาย (Parasympathetic) ก็จะเริ่มทำงาน ทำให้เราพักผ่อน ผ่อนคลาย นอนหลับ กลับสู่ภาวะปกติ  แต่เมื่อระบบประสาททำงานไม่ปกติ ไม่มีโหมดผ่อนคลายกลับมาเมื่อเร่งรีบทำงาน โหมดการทำงานประสาทไม่สมดุล เช่น เกิดภาวะความเครียดสะสม มีความวิตกกังวล 

 

3.การเพิ่มความตระหนักรู้เท่าทันทางอารมณ์

เมื่อเราฝึกหายใจจะช่วยส่งเสริมการมีสติและการตระหนักรู้อยู่กับปัจจุบัน ทำให้ง่ายต่อความเข้าใจรู้เท่าทันอารมณ์ในแต่ละช่วงเวลา สร้างพื้นที่ในการสังเกตความรู้สึกของตัวเอง โดยไม่ตัดสิน เมื่อรู้ทุกขณะที่อารมณ์แปรเปลี่ยน จะทำให้เราเกิดการตระหนักรู้ในตัวเอง ช่วยให้เกิดความฉลาดทางอารมณ์ เกิดความตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้น รับรู้รูปแบบอารมณ์ เข้าใจฟื้นฐานภาวะต้นกำเนิดอารมณ์เหล่านี้ ทำให้เราเลือกการตอบสนองอย่างมีสติ

 

 

4.การสร้างความยืดหยุ่นทางอารมณ์ 

การฝึกการหายใจอย่างสม่ำเสมอสามารถนรับมือกับอารมณ์ที่สวิงไปมาได้เท่าทัน โดยไม่หวั่นไหว ช่วยให้ยังคงนิ่ง รักษาความสงบและความสมดุลในช่วงเวลาคับขัน และท้าทาย ผ่านการใช้พลังลมปราณจากการหายใจ ทำให้ได้เรียนรู้พายุอารมณ์ โดยไม่ถูกครอบงำ ไม่ต้องเก็บกดหรือข่มอารมณ์ แต่เป็น “ทักอารมณ์”แต่ละช่วง ไม่ตอบสนองอย่างหุนหันพลันแล่น จนเกิดผลเสียต่อตัวเรา 

 

5.หาวิธีการรับมือ จึงรู็จักการให้อภัย และรู้จักการปล่อยวาง 

ทุกครั้งที่เราหายใจ จะเข้าใจวัฏจักรชีวิต เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นสัจธรรมชีวีต ที่เราทำความเข้าใจ ที่เป็นความจริงทุกคนต้องเผชิญกับความไม่จริงแท้และแน่นอน จึงเรียนรู้กับการปล่อยวางได้ง่ายกว่าการเกาะกุมไว้ทำให้เราเกิดทุกข์ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ไม่พาตัวเองไปจมอยู่กับความทุกข์ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยทำให้ไม่ตกหลุมกับดักทางอารมณ์ 

เมื่ออยู่กับลมหายใจก็ทำให้ารู้เท่าทันกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ จนทำให้เรา เกิดความโกรธ แค้น เศร้า อารมณ์เหล่านี้ทำให้เราหายใจไม่เป็นจังหวะ ดังนั้นหากไม่ตอบสนองอารมณ์และหันกลับมาสำรวจ ควบคุมลมหายใจ ก็ทำให้อารมณ์ทางลบ เสื่อมสลายไปจากเรา ทำให้เราเป็นอิสระ เบาสบาย ความสุขสงบร่มเย็นก็เกิดขึ้นภายในจิตใจ โดยที่ไม่ต้องไปหาความบันเทิง สร้างความสุขจากภายใน 

 

วิธีการหายใจในการเยียวยาปรับสภาวะอารมณ์

 

1.การหายใจเชื่อมต่ออย่างมีสติ (Conscious Connected Breathing – CCB)

เป็นเทคนิคการหายใจอย่างต่อเนื่องในการหายในเข้าและออกยาวๆ ไม่หยุดหายใจ มักใช้ในการปลดปล่อยอาอารมณ์ความรู้สึกลึกๆ หรือ บาดแผลที่เคยถูกกดทับไว้

 

2การหายใจแบบโฮโลทรอปิก (Holotropic Breathwork)

พัฒนาโดย สตานิสลาฟ กรอฟ (Stanislav Grof) แพทย์ด้านภาวะจิตใจชาวอเมริกัน เป็นวิธีการหายใจที่เข้มข้นและรวดเร็ว บังคับลมหายใจผสานกับการบรรเลงเพื่อกระตุ้นอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงแต่ละสภาวะช่วงเวลา ทำให้ช่วยสำรวจอารมณ์และจิตวิญญาณเชิงลึก ช่วยให้ผู้ที่ต้องการฟื้นฟูบาดแผลที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและบรรลุความเข้าใจที่ลึกซึ้ง

 

3.ปราณยามะ (Pranayama)

การฝึกลมหายใจ หรือ ฝึกลมปราณ จากศาสตร์โยคะ ปราณยามะรวมถึงการฝึกหายใจต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมการไหลของปราณ คือ พลังชีวิต ในร่างกาย เทคนิคเช่น การหายใจสลับจมูก (Nadi Shodhana) และ การหายใจแบบกระบอกสูบลม ( Bhastrika) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการทำให้จิตใจสงบ สมดุลอารมณ์ และขจัดการอุดตันของพลังงาน

4.การหายใจเพื่อการเกิดใหม่ (Rebirthing Breathwork)

เทคนิคการหายใจนี้ เป็นการหายใจเรียกสติ ย้อนกลับไปสำรวจประสบการณ์ในอดีต เพื่อช่วยเยียวยาจากบาดแผลในอดีต มีพื้นฐานมาจากแนวคิดที่ว่าการเกิดใหม่ เป็นประสบการณ์แรกที่เราได้สัมผัสความเจ็บปวดในชีวิตของเรา  การหายใจเพื่อย้อนกลับไปเผชิญหน้ากับประสบการณ์ความเจ็บปวดทำให้เราแก้รอยอดีตที่ทิ้งไว้ในจิตใจและยังค้างคาให้ชำระล้างได้อย่างไม่มีทุกข์เมื่อคิดถึงสิ่งที่คล้ายกันนั้น เหมือนเราได้เกิดใหม่โดยปราศจากร่องรอยในอดีต 

 

5.การหายใจแบบกล่อง (Box Breathing)

การหายใจแบบกล่องสี่เหลี่ยม เทคนิคนี้เกี่ยวข้องกับการหายใจเข้า การกลั้นหายใจ เพื่อเก็บกักออกซิเจน และเมื่อการหายใจออก ก็ค่อยกลั่นหายใจอีกรอบ การทำต่อนเื่องหลายๆ ครั้ง จะทำให้เราสบายตัวขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้ปลดปล่ยอความเครียดและความวิตกกังวล  นำกลับไปสู่ความสงบและความมั่นคงทางอารมณ์

 

เทคนิคและกระบวนการการฝึกการหายใจ

ผลลัพธ์การหายใจที่เกิดขึ้นกับตัวเราอย่างมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากเพียงแค่เริ่มต้นด้วยการควบคุมลมหายใจ หากเริ่มต้นฝึกฝน ควรเริ่มต้นหายใจอย่างช้าๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยแนะนำ

 

  • หา สถานที่เงียบสงบ และสบายที่ไว้วางใจได้ว่าจะไม่ถูกรบกวน
  • ตั้งใจและมีเจตนาที่แน่วแน่ ในการเยียวยาตัวเอง ก่อนเริ่มต้น ตั้งเจตนาที่ชัดเจนสำหรับการฝึกของคุณ เช่น “ฉันต้องการปลดปล่อยความวิตกกังวล” หรือ “ฉันต้องการเชื่อมต่อกับความสงบภายในของฉัน”
  • เริ่มต้นจากการเรียนรู้เทคนิคง่ายๆ เช่น การหายใจลึกจากกระบังลมหรือการหายใจแบบกล่อง เมื่อรู้สึกสบายขึ้น ค่อยขยับไปเรียนรู้การควบคุมลมหายใจในระดับขั้นสูงได้
  • ฟังเสียงร่างกายของคุณ คอยสำรวจใส่ใจว่าร่างกาย รู้สึกอย่างไรระหว่างการฝึก หากคุณรู้สึกไม่สบายหรือมีอารมณ์รุนแรง สามารถหยุดพักได้
  • สรุปผลลัพธ์สะท้อนหลังการฝึก ใช้เวลาสักครู่เพื่อเรียบเรียงประสบการณ์ เช่น ผ่านการการเขียนบันทึก ช่วยให้มีการประมวลผลอารมณ์หรือความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในร่างกายได้ 

 

การหายใจเป็น แหล่งพลังงานสร้างพลังชีวิต ที่ช่วยเยียวยาอารมณ์ พาเราเดินทางไปสู่เส้นทางการสำรวจตรวจสอบตัวเอง สร้างการตระหนักรู้ตัวเรามากขึ้น ช่วยทำให้เท่าทันและยืดหยุ่นทางอารมณ์ ค้นหาความสงบภายใน ผ่านการหายใจอย่างมีสติ ช่วยปลดปล่อยบาดแผลที่ถูกเก็บไว้ และช่วยควบคุมอารมณ์ เชื่อมต่ออย่างลึกซึ้งกับตัวเรายังส่งผลต่อการช่วยลดความเครียด เยียวยาจากบาดแผลในอดีต เป็นการฝึกรับมือกับความเปลี่ยนแปลงการเยียวยาอารมณ์ภายในตัวเราเอง ทำให้เราได้เรียนรู้และเติบโตขึ้น เมื่อมีความฉลาดทางอารมณ์