เส้นทางเติบโตของ ไบเออร์สด๊อรฟ ประเทศไทย ผู้ผลิตแบรนด์นีเวีย-ยูเซอรีน ปรับตัวในวันที่ทุกอย่างต้องยั่งยืน เดินหน้ากระบวนการผลิตรักษ์โลก ด้วยการตั้งโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกในไทย ลดใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมในสังคมหลากมิติ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำด้านผิวพรรณ
การเติบโตของตลาดเครื่องสำอางมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจากตลาดอีคอมเมิร์ซที่ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ง่ายขึ้นไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (Skincare) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ตกแต่งใบหน้า และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่งผลให้แบรนด์ต่าง ๆ รายเล็กรายใหญ่ต้องแข่งขันสูงขึ้น เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด ด้วยการลงทุนด้านต่าง ๆ งัดกลยุทธ์การตลาดสารพัด
ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคจากวัตสัน ประเทศไทย Trend Online Survey 2024 พบว่า คนส่วนใหญ่สนใจเครื่องสำอางที่มาพร้อมกลุ่มบำรุง และสนใจสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่ผลิตจากธรรมชาติ และที่สำคัญที่สุดคือ ‘ความน่าเชื่อถือของแบรนด์มีผลต่อการเลือกซื้อ’ อย่างมาก
กรณีศึกษาแบรนด์ระดับโลกที่เป็นที่รู้จักมาหลายศตวรรษ อย่าง นีเวีย (NEVEA) และยูเซอรีน (Eucerine) เป็นแบรนด์สกินแคร์และเวชสำอางที่ใครต่างก็รู้จัก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พยายามคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ความยั่งยืนกลายเป็นประเด็นสำคัญ นอกจากพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว ยังต้องพัฒนา และบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยลดขยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลือกใช้แหล่งพลังงานทดแทน การดูแลแหล่งกำเนิดวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ แหล่งดิน ผืนป่า ฯลฯ รวมถึงการดูแลชุมชนและท้องถิ่นนั้น ๆ
จุดเริ่มต้น พื้นฐานมาจากบริษัทยา
นีเวีย และยูเซอรีน จากการวิจัยและพัฒนาของ ‘ไบเออร์สด๊อรฟ’ ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นที่ประเทศเยอรมนี โดยมี ‘พอล ไบเออร์สด๊อรฟ’ เป็นผู้เริ่มต้นจากการคิดค้นพลาสเตอร์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2425 และในปี พ.ศ. 2433 ได้มี ‘ดร.ออสการ์ โทรโพลวิตซ์’ เภสัชกรอีกคนเข้ามาเป็นผู้ช่วยสร้างพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ ทั้งยา สกินแคร์ เวชสำอาง ค้นพบสารที่ชื่อ ยูเซอริท (Eucerit) มีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งสกัดมาจากขนแกะ สามารถบำรุงผิวพรรณให้เรียบเนียน จึงได้จดสิทธิบัตร กลายเป็นสารตั้งต้นของนิเวียและยูเซอรีนที่เป็นที่นิยมจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งไบเออร์สด๊อรฟยังเป็นเจ้าของแบรนด์สกินแคร์อื่นอีกมากมายที่มีชื่อเสียงในยุโรป อเมริกา
สำหรับประเทศไทย ได้นำเข้านีเวียครีมตลับสีฟ้า (NIVEA Cream) เข้ามาขายครั้งแรกในปี พ.ศ.2469 ก่อนที่จะก่อตั้งบริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ ประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2515 และตั้งโรงงานผลิตขึ้นในปี พ.ศ. 2530 นับจากนั้นมาบริษัทได้พัฒนาจนกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของไบเออร์สด๊อรฟในทวีปเอเชีย ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
การสร้างความน่าเชื่อถือแบรนด์
ขายของอย่างเดียวไม่พอ
ต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม
วราพร ลิขิตจรรยากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ไบเออร์สด๊อรฟ ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมสกินแคร์มาก ภายใต้แนวคิดของการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตามวัตถุประสงค์การมีอยู่ของแบรนด์ คือ ‘Care Beyond Skin’ แต่พันธกิจของบริษัทไม่ใช่แค่ขายของอย่างเดียว เพราะมองว่าทุกการผลิตของเรามีผลกระทบหลายด้านเหมือนกัน ดังนั้นแค่ขายสินค้าอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่ต้องคิดด้วยว่าจะสร้างสินค้าอย่างไรให้มีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ดังนั้นเป้าหมายด้านความยั่งยืน ของไบเออร์สดอ๊อรฟ จะแยกออกมาจากเป้าหมายทางธุรกิจ ที่เป็นรายได้ กำไร ให้อยู่คนละส่วน
ผลิตภัณฑ์ต้องแก้ปัญหาผิว
มีความโปร่งใส สูตรที่ใช้
น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้
วราพร กล่าวต่อว่า ความยั่งยืนในมิติแรก คือผลิตภัณฑ์ของไบเออร์สด๊อรฟ ทั้งนีเวีย และยูเซอรีน ต้องแก้ปัญหาเรื่องผิวแก่ผู้บริโภค นอกจากนั้นต้องมีความโปร่งใส ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้ว่า ผลิตภัณฑ์พัฒนาจากสูตรอะไร น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน บรรจุภัณฑ์ที่ใช้เป็นอย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของแบรนด์
สอดคล้องกับมิติที่สอง การสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม ตั้งแต่พนักงาน ตลอดจนผู้คนที่อยู่ในสังคม เพราะบริษัทตระหนักดีว่า การผลิตสินค้า ขายสินค้า ย่อมมีผลไม่มากก็น้อยต่อสิ่งแวดล้อม แล้วจะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน โลกใบนี้อยู่กับเราได้นานแสนนาน เช่น การสร้างความปลอดภัยในสถานที่ทำงานแก่พนักงาน การทำให้พนักงานมีความภาคภูมิใจในองค์กร มีการนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ มาปรับใช้ ฯลฯ
ในขณะที่คนในสังคมวงกว้างออกไป ก็เน้นสร้างผลกระทบเชิงบวกในเรื่องของความหลากหลาย (Diversity) การอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร คนแบบไหน ลักษณะแบบไหน
ไบเออร์สด๊อรฟ ให้ความสำคัญกับ ‘Care for Social’ เช่น การผลักดันโครงการพัฒนาศักยภาพ และความสามารถของผู้หญิงในหลายภูมิภาคซึ่งต้องยอมรับว่าในสังคมบางแห่งยังมีความเหลื่อมล้ำ ทั้งเรื่องชนชั้น ความสามารถต่าง ๆ การโปรโมทผู้หญิงที่มีความสามารถก็เป็นหนึ่งในพันธกิจของบริษัท ที่พยายามพัฒนาเพื่อความเท่าเทียมในการใช้ชีวิต โดยโปรแกรมนี้เรียกว่า Empowering girls มีเป้าว่าจะสร้างพลังผู้หญิงไม่ต่ำกว่า 5 แสนคนทั่วโลก ภายในปี 2025
นอกจากนี้ยังมีโครงการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอื่น ๆ อีกมาก เช่น โครงการที่เกิดจากความคิดที่ว่าคนที่มีปัญหาผิวบางครั้งอาจมีความยากลำบาก หรืออาจจะมีคุณภาพชีวิตที่ไม่เท่าเทียมกับคนที่มีปัญหาผิวน้อยกว่า จะทำอย่างไรที่ทำให้คนมีคุณภาพผิวที่ดีขึ้น ดังนั้นในระดับแบรนด์ยูเซอรีน ได้สร้างโปรเจกต์ที่เรียกว่า Social mission ใน 15 ประเทศ ที่ไปช่วยเหลือให้ความรู้ พัฒนาเรื่องปัญหาผิว เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ใช้ชีวิตในสังคมได้ อย่างมีความสุข เช่น โครงการที่ร่วมกับสมาคมแพทย์ผิวหนัง ดูแลแม่และเด็ก ที่เผชิญภูมิแพ้ในเด็ก ฯลฯ
กระบวนผลิต ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่
ขณะที่มิติด้านสิ่งแวดล้อม วราพร กล่าวว่า จะเน้นที่ 4 ด้านหลักๆ ได้แก่ 1.สภาพอากาศ 2.ต้นกำเนิดวัตถุดิบ 3.การใช้พื้นที่ต้นกำเนิดส่วนประกอบวัตถุดิบพัฒนาผลิตภัณฑ์ 4.แหล่งน้ำ ทั้ง 4 ด้านนี้เป็นประเด็นสำคัญ
เนื่องจากบริษัทตั้งเป้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030 รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Reduction) ตลอดทั้งห่วงโซ่ (Scope 1-3 ) ลงได้ 90% ในปี 2045 โดยวางระยะแรกไว้ที่ 30% ภายในปี 2025 ดังนั้น จึงต้องการสร้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต ทั้งตัวผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ สำหรับผลิตภัณฑ์ ต้นกำเนิดวัตถุดิบต้องมาจากแหล่งที่สามารถหมุนเวียนได้ รวมถึงกระดาษ ไม่ได้ไปเอามาจากแหล่งตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์นีเวียที่ปลอดไบโอพลาสติก 100% นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 และผลิตภัณฑ์กันแดดที่ไม่มีสารที่ทำร้ายปะการัง เป็นต้น
พร้อมทั้งมุ่งลดใช้พลาสติกใหม่ในการผลิตลงมากกว่า 50% ในปี 2026 การผลิตบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิลให้มากกว่า 30% รวมทั้งผลิตบรรจุภัณฑ์ทั้ง 100% ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในรูปแบบการผลิตบรรจุภัณฑ์รีฟิลแบบถุงเติม การนำกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งผลิตจากวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมดภายในปี 2025 รวมทั้งการลดการใช้พลังงานภายในกระบวนการผลิตลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไทยฐานผลิตหลักของเอเชีย
สุเรขา วันเพ็ญ ผู้อํานวยการศูนย์การผลิต บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ ประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับโรงงานไบเออร์สด๊อรฟ ประเทศไทย (PC Thailand) มีฐานการผลิตที่สำคัญของทวีปเอเชีย มีความเคลื่อนไหวเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สอดรับกับกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน ล่าสุดทางโรงงานได้เปิดใช้โรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสีเขียว 100% บนพื้นที่กว่า 5,610 ตารางเมตร(14 ไร่) ด้วยกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ 999 กิโลวัตต์สูงสุด
“ถือเป็นโซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับโรงงานของไบเออร์สด๊อรฟทั่วโลก ซึ่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองได้มากถึง 25% โดยเป็นพลังงานจากโซลาร์ฟาร์ม 10% นั่นทำให้บริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้มากถึง 800 ตันต่อปี เทียบเท่ากับการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)โดยต้นไม้ถึง 50,000 ต้น”
เปิดโซลาร์ฟาร์ม ใหญ่สุดของไบเออร์สด๊อรฟทั่วโลก
สุเรขา กล่าวอีกว่า กระบวนการผลิตของ PC Thailand ยังลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในมิติอื่น ๆ ทั้งสามารถลดปริมาณขยะในกระบวนการผลิตลงได้มากกว่า 445 ตัน ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลงได้ 57% หรือเกือบ 8 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อปี
ทั้งนี้ การจะเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในระยะยาวนั้น จะต้องทำงานร่วมกันกับพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกันอย่างเครือข่ายซัพพลายเออร์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้วยเช่นกัน สามารถทําให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความยั่งยืนมากขึ้นโดยการเลือกใช้วัตถุดิบและขั้นตอนการผลิตที่มีความเกี่ยวข้องกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้น้อยลง
ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องของวัตถุดิบก็มีความสำคัญ ภายในปี 2568 วัตถุดิบ 65 % จะเป็นวัตถุดิบทางเลือกจากธรรมชาติ ประเทศไทยยังมีการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตสกินแคร์ของบริษัทเกินครึ่ง เช่น ปาล์มออยล์ ซึ่งยังต้องนำเข้าจากหลาย ๆ ประเทศ ที่มีการรับรองมาตรฐาน ความปลอดภัยต่าง ๆ หรือแม้แต่การใช้เส้นทางการจัดส่งที่ใกล้ขึ้นหรือสั้นลง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลแทนพลาสติกใหม่ (Virgin plastic) ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยลดการปล่อยมลพิษทั้งสิ้น