ยุโรปรณรงค์ลดบริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์ ลดโลกร้อน โดยหันมาเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช ขณะที่งานวิจัยจาก Madre Brava ชี้ หากไทยเปลี่ยนผ่านใช้ (ผลิตและบริโภค) โปรตีนจากพืชได้ 50% ในปี 2050 ช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มงาน 1.15 ล้านตำแหน่ง พร้อมลดก๊าซเรือนกระจก 35.5 ล้านตันต่อปี สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมสำหรับประเทศ ยกระดับเป็น ‘ครัวแห่งอนาคต’
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนทั่วโลกเริ่มตระหนักและหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองมากขึ้น ผ่านการออกกำลังกาย หรือปรับเปลี่ยนวิธีการบริโภค มีคนบางกลุ่มที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลย บางคนเลือกอาหารเจ ขณะที่บางคนเลือกมังสวิรัติ และบางคนเลือกวีแกน ด้วยการรับสารอาหารประเภทโปรตีนจากพืชผักทดแทนไม่ว่าจะเป็นถั่ว ควินัว ผักใบเขียว เต้าหู้ ฯลฯ
สอดคล้องกับงานวิจัยล่าสุดจาก Madre Brava ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรทำหน้าที่สื่อสารให้ความรู้ การสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน ที่ได้เผยแพร่เรื่อง ‘ครัวแห่งอนาคต: ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หากประเทศไทยสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีน’ ที่จัดทำร่วมกับ Asia Research and Engagement บริษัทให้คำปรึกษาด้านการลงทุนอย่างยั่งยืนมากว่า 10 ปี โดยมีสำนักงานใหญ่ที่จีนและสิงคโปร์
งานวิจัยนี้ชี้ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางโปรตีนที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเปลี่ยนจากการผลิตโปรตีนจากสัตว์ไปสู่โปรตีนจากพืช โดยการเปลี่ยนผ่านนี้สามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
เพิ่มสัดส่วนการใช้โปรตีนจากพืช ลดเนื้อสัตว์
วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผู้คนต้องเผชิญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมหนักในหลายจังหวัดภาคเหนือของไทยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ชุมชน เกษตรกรได้รับความเสียหาย ในขณะที่ก่อนหน้านี้ก็เผชิญกับภาวะอากาศที่ร้อนจัด ทุบสถิติจากปีที่ผ่าน ๆ มา ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศที่จะได้รับความเสี่ยงจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องร่วมกันลดปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะระบบการผลิตอาหาร ด้วยการสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคการผลิตโปรตีน เพิ่มสัดส่วนการใช้ (ผลิตและบริโภค) โปรตีนจากพืช เป็น 50% ให้ได้ภายในปี 2050 ควบคู่ไปกับการลดสัดส่วนการใช้โปรตีนจากสัตว์
การผลิตเนื้อสัตว์ มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร?
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่คนจะนึกถึงพลังงานฟอสซิลเพราะเป็นแหล่งใหญ่ แต่ที่จริงแล้วการผลิตอาหารก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่คนทั่วไปคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์ เมื่อดูปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก จะพบว่ามาจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ราว 15% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก
นอกจากนี้ เมื่อนำมาเทียบกับการผลิตโปรตีนชนิดอื่น ๆ เช่น ถั่ว ธัญพืช เต้าหู้ พบว่า เนื้อสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 1 กิโลกรัมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อวัว ซึ่งเป็นสัตว์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมาก แต่ประเทศไทยไม่ค่อยนิยมบริโภคเนื้อวัวกันมากถ้าประเมินจากระดับการผลิตและการบริโภค เมื่อเทียบกับชนิดอื่น ๆ แล้วถือว่าน้อยมาก โดยเนื้อสัตว์ที่คนไทยนิยมบริโภคกันมากส่วนใหญ่จะเป็น กุ้ง หมู ไก่ แต่ก็ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าโปรตีนจากพืชชนิดอื่น ๆ อยู่ดี
สร้างสมดุลความหลากหลาย
โปรตีนจากพืชและสัตว์
สร้างระบบอาหารยั่งยืน
นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เมื่อประเมินจากปริมาณพลังงานที่เป็นกิโลแคลอรี่ ที่จะได้จากการบริโภคเนื้อสัตว์ พบว่า การทำปศุสัตว์ ทั้งโลกใช้พื้นที่เกือบ 80% แต่ผลิตพลังงานที่เป็นกิโลแคลอรี่ได้ไม่ถึง 20% แปลว่า พลังงานที่เป็นแคลลอรี่ส่วนใหญ่ มนุษย์ได้รับจากพืช
ดังนั้น Madre Brava จึงเห็นว่า ระบบอาหารจะต้องสร้างสมดุลให้เกิดความหลากหลาย ซึ่งไม่ได้บอกว่าการผลิตปศุสัตว์จะต้องหมดไป แต่จะต้องมีพืชมาสร้างสมดุล ก็คือจากที่ปลูกพืชเป็นอาหารสัตว์ ก็เน้นปลูกพืชเพื่อผลิตและบริโภคกันเองมากขึ้น ทำให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งโปรตีนให้คนได้เลือก เชื่อว่าการสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีน ให้มีทั้งจากพืช และสัตว์ จะเป็นระบบอาหารที่ยั่งยืน
เชื่อมั่นศักยภาพไทย
‘ครัวของโลก’ ฮับผลิตโปรตีนโลก
วิชญะภัทร์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตโปรตีนชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นผู้ส่งออกโปรตีนสุทธิเพียงรายเดียวในทวีปเอเชีย ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม ความเชี่ยวชาญในการผลิตอาหาร และชื่อเสียงในฐานะ ‘ครัวของโลก’ ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางโปรตีนที่ยั่งยืนของโลกในอนาคต
“ในขณะนี้ ประเทศไทยยังคงพึ่งพาการนำเข้าสัตว์และวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในด้านราคาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนไปใช้โปรตีนจากพืชอาจลดการพึ่งพาวัตถุดิบที่นำเข้า ลดการตัดไม้ทำลายป่า และบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการศึกษานี้จำลองสถานการณ์สามแบบ ได้แก่ 1.การดำเนินการตามปกติ ไม่มีการเพิ่มโปรตีนพืช หรือลดโปรตีนเนื้อสัตว์ 2.การใช้โปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากสัตว์ให้ได้ 30% และ 3.เพิ่มสัดส่วนโปรตีนพืชให้ได้ 50% ภายในปี 2050
โดยสถานการณ์ที่สองและสาม หมายความว่าจะมีโปรตีนจากพืช ค่อย ๆ แทรกเข้ามา เพิ่มสัดส่วนขึ้นเรื่อย ๆ จนปี 2050 มีโปรตีนจากพืชขึ้นมา 50% ทำให้มีเวลาอีก 25 ปีที่จะค่อย ๆ เปลี่ยนระบบการผลิตโปรตีน โดยไม่ได้หมายความว่าระบบโปรตีนจากเนื้อสัตว์จะหายไปเลย แต่เพียงแค่เพิ่มสัดส่วนโปรตีนพืชเข้ามา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่สามารถเกิดขึ้นในด้านสภาพภูมิอากาศ การใช้ที่ดิน และการสร้างงาน”
ประโยชน์ที่จะได้จากการเปลี่ยนผ่านสู่โปรตีนจากพืช 50%
วิชญะภัทร์ กล่าวต่อว่า หากเปลี่ยนไปบริโภค หรือผลิตโปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากสัตว์ในประเทศไทย สัดส่วน 50% ภายในปี 2050 สามารถนำมาซึ่งประโยชน์หลายด้าน ได้แก่
1.การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้ถึง 1.3 ล้านล้านบาทและเพิ่มความพึ่งพาตนเอง
2.การสร้างงานสูงสุด 1.15 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมโปรตีนจากพืช
3.การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 35.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการลดจำนวนรถยนต์ 8.45 ล้านคันในสหรัฐอเมริกา
4.การประหยัดพื้นที่การผลิตถึง 21,700 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับจังหวัดนครราชสีมา
“สรุปแล้ว การสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีนนี้มีศักยภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในประเทศไทย”
เร่งสร้างความเท่าเทียมในตลาด
ผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอาหารจากพืชแห่งเอเชีย จำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนส่งเสริมโปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากสัตว์ โดยสามารถดำเนินการได้ดังนี้คือ
สร้างความเท่าเทียมในตลาด: รัฐบาลควรพิจารณานโยบายภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการจำหน่ายโปรตีนจากพืช และทำให้อาหารจากพืชเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อสนับสนุนการเลือกอาหารที่มีสุขภาพดีและยั่งยืน
การจัดซื้อของภาครัฐ: ส่งเสริมการจัดเมนูอาหารที่เน้นพืชในกิจกรรมของหน่วยงานรัฐบาล และเพิ่มตัวเลือกเมนูอาหารจากพืชในโรงอาหารของรัฐ โรงเรียน และโรงพยาบาล
การเปลี่ยนผ่านด้านโปรตีนอย่างเป็นธรรม: พัฒนาแนวทางสนับสนุนทางการเงินและโครงการพัฒนาศักยภาพสำหรับเกษตรกรไทย เพื่อให้สามารถเปลี่ยนมาผลิตพืชผลสำหรับโปรตีนจากพืชได้
โดยการดำเนินการตามมาตรการเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของโปรตีนจากพืชในประเทศไทยและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาคอีกด้วย
นอกจากนั้น ภาคเอกชนสามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเข้าถึงโปรตีนที่ยั่งยืนสำหรับผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารขนาดใหญ่ บริการจัดหาอาหาร และผู้ผลิตอาหาร โดยจากงานวิจัยมีข้อเสนอแนะสำหรับแต่ละกลุ่มมีดังนี้
ซูเปอร์มาร์เก็ต: ควรตั้งเป้าหมายเพื่อเพิ่มยอดขายโปรตีนที่ยั่งยืน โดยลดราคาผลิตภัณฑ์จากพืชให้เทียบเท่ากับโปรตีนจากสัตว์ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงอาหารสุขภาพ รวมถึงลดค่าเชลฟ์วางจำหน่ายสินค้า จึงเป็นหน้าที่ผู้ประกอบการจะต้องหารือกับซูเปอร์มาเก็ตว่ามีแนวทางใดบ้างที่จะทำให้ราคาของโปรตีนพืชลดลงได้อีก ให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ และจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากพืชในตำแหน่งที่เด่นชัด พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเตรียมอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ เพราะจากการสำรวจผู้บริโภคเกี่ยวกับทัศนคติการลดบริโภคเนื้อสัตว์ หันมาบริโภคโปรตีนจากพืช พบว่าผู้บริโภคจาก 1 ใน 3 อยากลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และบริโภคโปรตีนพืช เช่น เต้าหู้ ถั่ว ต่างๆ แต่เท่าที่พบยังกังวลเรื่องสุขภาพ จึงต้องให้ข้อมูลความรู้ และวิธีเตรียมอาหาร เป็นต้น
ผู้ผลิตอาหาร: ควรปรับใช้กลยุทธ์ความหลากหลายของแหล่งโปรตีนในแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความยั่งยืน โดยลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกให้มีรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น พร้อมราคาเหมาะสม
บริษัทให้บริการอาหาร: ควรเพิ่มเมนูที่ทำจากพืชและแสดงให้เห็นควบคู่กับเมนูปกติ โดยควรตั้งราคาเมนูจากพืชให้เทียบเท่ากับเมนูปกติเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการเลือกซื้อ
“เราอยากจะเห็นอนาคตที่มีพืชมาเป็นทางเลือกให้คนรับประทาน เป็นอนาคตสำหรับคนไทยที่มีโปรตีนจากพืชที่ดีต่อสุขภาพ ที่ยั่งยืนกว่า หาซื้อได้ง่าย ไม่ต้องเสียสละ ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม เราอยากจะเห็นสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่ทุกคนสามารถทำเพื่อสิ่งแวดล้อมได้โดยที่ไม่ลำบากเกินไป”
บทบาทของ Madre Brava คือการสร้างองค์ความรู้และผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีความยั่งยืน และราคาเข้าถึงได้ 100% โดยการศึกษาวิจัยและประยุกต์ข้อมูลที่มีอยู่แล้วให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ต่างๆ รวมถึงสื่อสารองค์ความรู้ และสร้างบทสนทนากับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้ตระหนักถึงโอกาสและเห็นความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ผลิตและบริโภคโปรตีนที่ยั่งยืน ซึ่งตอนนี้ก็มีการหารือร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ที่สนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมอาหารที่ยั่งยืน
ภูมิภาคนี้ยังไม่มีใครเด่นด้านการผลิตโปรตีนพืช
วิชญะภัทร์ กล่าวว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังไม่มีประเทศไหนที่มีการส่งเสริมการผลิตและบริโภคโปรตีนจากพืช แต่มีสิงคโปร์ที่ทำเนื้อที่ผลิตจากเซลล์สัตว์ในห้องทดลอง และอนุญาตให้มีการขาย เพราะมีเทคโนโลยี แต่เชื่อว่าศักยภาพประเทศไทยค่อนข้างพร้อม ซึ่งหมายความว่าเอกชนรายใหญ่หลายราย เริ่มทำเรื่องแพลนต์ เบส (Plant based) และมีเครื่องมือการผลิต มีโรงงานที่พร้อม เชื่อว่าหากประเทศไทยเดินหน้าตั้งแต่ตอนนี้ เวลาที่เหลืออีก 25 ปีจากนี้ น่าจะเพิ่มสัดส่วนโปรตีนจากพืชได้ 50% ตามที่งานวิจัยระบุ ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาให้โปรตีนพืชมีรสชาติถูกปากคน
ในขณะที่ฝั่งยุโรป ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแบรนด์ประกาศนโยบายจะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็นโปรตีนจากพืชมากขึ้น ให้มีส่วนแบ่งระหว่างสัตว์กับพืช เป็น 40:60 เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้บริโภคเนื้อสัตว์กันมาก จึงตระหนักถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากภาคปศุสัตว์ จึงหันมาบริโภคโปรตีนพืชเพิ่มขึ้น ลดการกินเนื้อสัตว์ จึงมองว่ายุโรปมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก