ท่องเที่ยวไทยปรับตัวสอดคล้องกับแนวคิดความยั่งยืนของโลก ที่พักในไทยก้าวเป็นผู้นำได้ สิ่งสำคัญ ต้องร่วมมือกับชุมชน ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน เพิ่มประสบการณ์ที่น่าจดจำให้กับนักท่องเที่ยว เชื่อมโยงเข้ากับชุมชน แหล่งทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ปลุกเสน่ห์ สร้างจุดขาย เส้นทางกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น
เมื่อเราเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ การเลือกที่พักกลายเป็นส่วนสำคัญของการท่องเที่ยว แต่การใช้เวลาหนึ่งคืนในโรงแรมก็หมายถึงการใช้ทรัพยากร ตั้งแต่ สบู่ ยาสีฟัน ไปจนถึงผ้าเช็ดตัวผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนที่เราใช้เพียงคืนสองคืน ก็ต้องซักล้าง
ด้วยเหตุนี้ โรงแรมที่มองเผินๆว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องกลับมาทบทวนแนวทางการดำเนินงานใหม่ และร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อผลักดันโลกไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว
โรงแรมจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยสามารถบริหารจัดการทรัพยากร รวมถึงการจัดการขยะอย่างมีระบบ นอกจากนี้ โรงแรมยังสามารถสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นได้ผ่านการใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรในพื้นที่และการจ้างงานจากชุมชน การให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการสร้างประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติและวัฒนธรรม
สุดท้าย โรงแรมจะกลายเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและสร้างผลกระทบเชิงบวก
การท่องเที่ยวไทยร่วมสร้างผลกระทบเชิงบวกด้วยความยั่งยืน
ผศ.ดร. จุฑามาศ วิศาลสิงห์ ประธานกรรมการบริหาร Perfect Link Consulting Group ที่ปรึกษาการจัดการแบบยั่งยืน เปิดเผยว่า ในยุคที่การท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย การสร้างผลกระทบเชิงบวกในทุก ๆ ด้านจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นใครหรือในรูปแบบใด “ความยั่งยืนคือหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวไทย” เธอ กล่าว
โดย Perfect Link Consulting มีการจัดตั้ง “Social Labs” ซึ่งเป็นกระบวนการนำผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ มาทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีความยั่งยืนต่อหลากธุรกิจ รวมถึงธุรกิจโรงแรม
จุฑามาศ ระบุว่า การจัดการอย่างยั่งยืนต้องคิดเชิงระบบ โดยเริ่มจาก
- มองทั้งระบบ การทำงานด้านความยั่งยืนต้องมีมุมมองที่กว้างขวางและเป็นองค์รวม
- เชื่อมโยงบทบาท ต้องเข้าใจว่าบทบาทของเราจะเชื่อมโยงกับใครบ้าง และสร้างความร่วมมือกับคู่ค้า ระบบการตลาด เพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้
- การวัดผล หากไม่สามารถวัดผลได้ ก็จะไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ไม่เป็นอุปสรรค ไม่ว่าธุรกิจจะเล็กหรือใหญ่ ก็สามารถมองหาทางออกและร่วมกันพัฒนาความยั่งยืนได้
“แนวทางเหล่านี้ องค์กรต่าง ๆ ควรตรวจสอบว่าตนเองมีความคิดเช่นนี้อยู่หรือไม่ เพราะการจัดการที่ยั่งยืนไม่ใช่สิ่งที่แยกออกไปจากการท่องเที่ยวทั่วไป แต่เป็นการบริหารธุรกิจที่ต้องนำไปปฏิบัติในทุกระดับ การเข้าใจระบบห่วงโซ่และการทำงานแบบยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องให้ความสำคัญ”
ก้าวสู่ความยั่งยืนในโลกที่เปลี่ยนแปลง
จุฑามาศ ยังบอกว่า โลกได้ทำการบ้านเกี่ยวกับการจัดการที่ยั่งยืนมานานกว่า 50-60 ปี โดยเริ่มมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2511ซึ่งเป็นยุคของเบบี้บูมเมอร์ ที่ทำให้ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และในปี 2530 แนวคิดการจัดการที่ยั่งยืนได้รับการยอมรับในฐานะวาระระดับโลก โดยเรียกว่า ‘Agenda 2001’ ซึ่งกำหนดให้ทุกประเทศต้องวางแผนอนาคตในทุก 100 ปี
ปัจจุบันเหลือเวลาเพียง 6 ปีในการดำเนินการให้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) หากยังคงเริ่มต้นช้า อาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการ ประเทศไทยเองได้เดินทางมาไกลตั้งแต่ปี 2593-2503 โดยเชื่อว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ปล่อยคาร์บอนฯได้ เนื่องจากไม่มีโรงงานผลิต แต่เมื่อถึงปี 2513 พบว่าโรงแรมและการท่องเที่ยวเริ่มก่อให้เกิดมลพิษมากมายจากการใช้ทรัพยากร
จนในปี 2523 แนวคิดการท่องเที่ยวจำนวนมากไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป และเริ่มมองหาทางเลือกใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการท่องเที่ยวเชิงชุมชน โดยมุ่งหวังลดผลกระทบด้านลบ และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกให้ได้มากที่สุด
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 หรือ พ.ศ. 2608 โดยคาดว่ากฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2567 การปรับตัวและเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับประเทศไทยเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในอนาคต
เส้นทางสู่อนาคตที่ต้องตระหนัก
ดังนั้นทุกประเภทของธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงโรงแรม ฟาร์ม และโฮมสเตย์ จะต้องมุ่งสู่การจัดการแบบยั่งยืน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ในการนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพในระยะยาว ได้แก่
- ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้: ธุรกิจต้องมีกระบวนการปรับตัว เช่น การออกแบบโครงสร้างโรงแรมให้สามารถรับมือกับปัญหาสภาพอากาศ เช่น น้ำท่วม
- มาตรการที่จำเป็น: ต้องมีแผนปฏิบัติการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการติดตามตรวจสอบคู่ธุรกิจ
- โปร่งใสในการสื่อสาร: การสื่อสารข้อมูลอย่างชัดเจนและโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญ
- การดูแลพนักงาน: ต้องให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและดูแลพนักงาน
- ต่อต้านการทุจริต: ต้องมีมาตรการเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน
ความร่วมมือเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
จุฑามาศ ระบุว่า การท่องเที่ยวยั่งยืนไม่เพียงแต่เป็นแนวทางในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสและความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ที่จะสามารถฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและพัฒนาเมืองที่สร้างสรรค์และยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลในอนาคต
ขอบคุณภาพจาก Creative Citizen
ด้าน ผศ.ดร.แก้วตา ม่วงเกษม อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการท่องเที่ยวและบริการจากมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเป็นแนวทางที่ต้องวางแผนร่วมกัน โดยมีการทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และหน่วยงานภาครัฐในระดับจังหวัด เพื่อสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย
หลักการสำคัญของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนคือการลดผลกระทบเชิงลบและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกในด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยประเทศไทยมีเป้าหมายในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และหวังว่าจะติดอันดับ TOP 100 แหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนทั่วโลก ซึ่งในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ส่งแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการยอมรับจำนวน 6 แห่งเข้าสู่การประกวด โดยความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงเทศบาลเล็ก ๆ เช่นจากอุทัยธานี
“เราเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงในด้านการท่องเที่ยวควรเป็นไปแบบองค์รวม โดยเน้นการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ที่เสื่อมโทรม รวมถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น การรักษาพื้นที่สีเขียวที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า การตัดสินใจที่รอบคอบเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะส่งผลต่อความอยู่รอดของสัตว์และระบบนิเวศ”
การสนับสนุนการศึกษาในด้านการท่องเที่ยวก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในการสร้างความรู้และการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2570 เป้าหมายของเราคือการมีเมืองและชุมชนที่สร้างสรรค์และมีวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลไม่น้อยกว่า 15 แห่ง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์ต่อไป
แนวทางโปรโมทการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
ผศ.ดร.แก้วตา ยกตัวอย่างการท่องเที่ยวต้องผลักดันให้นักท่องเที่ยวเห็นและถูกชูขึ้นเป็นอันดับต้น ๆ จากการโปรโมทด้วย เช่น เว็บไซต์การท่องเที่ยวของสวิตเซอร์แลนด์นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนในการเดินทาง อาหาร และแหล่งท่องเที่ยว โดยไม่เพียงแต่โปรโมทโรงแรม แต่ยังให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้พลังงานน้ำและการเดินทางด้วยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการเดินทาง เช่น การลงจากเครื่องบินจนถึงที่พักที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ และชูจุดเด่นของสิ่งแวดล้อมและอากาศในช่วงฤดูกาลต่าง ๆ
ชณัฐ วุฒิวิกัยการ Content Creator จากช่อง KongGreenGreen เสริมตัวอย่าง หมู่บ้าน Kamikatsu ที่อยู่ห่างจากโอซาก้าประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นที่รู้จักในด้านการจัดการขยะ โดยสามารถรีไซเคิลได้ถึง 80% จากก่อนหน้านี้ ชาวบ้านพึ่งพาการฝังกลบและการเผาขยะ จนกระทั่งเกิดปัญหาขยะล้นเมือง จึงคิดค้นศูนย์แยกขยะแบบละเอียดเพื่อส่งขยะไปรีไซเคิล ซึ่งทำให้หมู่บ้านนี้กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ผู้สูงวัยในชุมชนก็มีรายได้จากการท่องเที่ยว ทำให้ทุกคนในชุมชนได้รับประโยชน์จากการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์จากแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค
พรธิชา วงศ์ยานนาวา ผู้จัดการด้านความยั่งยืนของโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค เน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการลดขยะ โดยมีแนวคิดว่าขยะสามารถกลับมาเป็นทรัพยากรได้หากเรามีการจัดการที่ถูกต้อง ตัวอย่างกลยุทธ์ที่โรงแรมดำเนินการ ได้แก่
- การอบรมพนักงาน เพื่อสร้างชุมชนที่ดีขึ้น
- การจัดการขยะอาหาร ทั้งจากการปนเปื้อนและเศษอาหารที่เหลือ
- การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และความร่วมมือกับเขตคลองเตยในการทำปุ๋ยหมัก
- การทำแคมเปญ เพื่อกระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมในการลดขยะอาหาร
วิชการ ปลอดกระโทก CEO แพลตฟอร์ม Wake Up Waste ยังกล่าวถึงการรีไซเคิลวัสดุขยะ เช่น ขวดน้ำ PET เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง การลดการใช้ทรัพยากรอาจทำให้ลูกค้ารู้สึกไม่สะดวก แต่จำเป็นต้องหาความพอดีในการจัดการ เช่น การไม่เปลี่ยนผ้าเช็ดตัวบ่อยหรือการปรับแรงดันน้ำ และการให้ความรู้แก่พนักงานสามารถช่วยสร้างรายได้จากการขายขยะรีไซเคิล