เฟรนช์ฟรายส์สัญชาติไทยมาแล้ว ผลิตจากถั่วเขียว เจ้าแรกของโลก

เฟรนช์ฟรายส์สัญชาติไทยมาแล้ว ผลิตจากถั่วเขียว เจ้าแรกของโลก

ลบภาพเฟรนช์ฟรายส์จากอาหารขยะ ไอเดียนักธุรกิจรุ่นใหม่ ผุด “เฟรนช์ฟรายส์สัญชาติไทย” เจ้าแรกของโลก ผลิตจากถั่วเขียว คัดสรรจากเกษตรกรอินทรีย์ 100% คุณค่าโภชนาการสูง สร้างเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนเติบโตไปพร้อมกัน

 

 

เมนูเฟรนช์ฟรายส์ (French Fries) กลายเป็นเครื่องเคียงและอาหารทานเล่นที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่เต็มไปด้วยฟาสต์ฟู้ดเฟรนไชส์อย่างสหรัฐอเมริกา ที่มักจะมาคู่กับแฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า หรือไก่ทอด จนถึงเมนูอื่น ๆ ตามร้านอาหารในทุกประเทศ 

โดย Fortune Business Insights รายงานว่า ขนาดตลาดเฟรนช์ฟรายส์ทั่วโลกมีมูลค่า 16,600 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023 และคาดว่าจะเติบโตจาก 17,120 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2024 เป็น 26,560 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2032 ซึ่งแสดงอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 5.6% ในช่วงระยะเวลาคาดการณ์ อเมริกาเหนือครองตลาดเฟรนช์ฟรายส์ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 43.37% ในปี 2023 

นอกจากนี้ ขนาดตลาดเฟรนช์ฟรายส์ในสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะมีมูลค่าประมาณ 8,530 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2032 ซึ่งขับเคลื่อนโดยการเพิ่มขึ้นของการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารสะดวกซื้อและพร้อมรับประทาน และจำนวนร้านอาหารจานด่วนที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา 

 

 

 

 

ไทยนำเข้าเฟรนช์ฟรายกว่า 100% 

สำหรับเฟรนช์ฟรายส์ เป็นมันฝรั่งหั่นแท่งทอดในน้ำมันท่วมแบบกรอบหรือนุ่มด้านใน โรยเกลือแล้วเสิร์ฟขณะร้อน เป็นขนมขบเคี้ยวหรืออาหารจานด่วนที่ทานกับซอสมะเขือเทศ มายองเนส น้ำส้มสายชู หรือซอสบาร์บีคิว

ตลาดเฟรนช์ฟรายส์ในประเทศไทยถือเป็นตลาดที่ใหญ่เช่นเดียวกัน แต่ยังเป็นการนำเข้าเกือบ 100% โดยประเทศที่นำเข้า ส่วนใหญ่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม จีน และอินเดีย เป็นต้น

ทรรศิน อินทานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สไมล์ฟาร์ม ฟู๊ด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ในฐานะเอสเอ็มอีไทยผู้พัฒนาเฟรนช์ฟรายส์แบรนด์ไทยรายแรก ๆ ที่้ถั่วเขียวแทนมันฝรั่ง กล่าวว่า มูลค่าตลาดของเฟรนช์ฟรายส์ในไทยมีมากกว่าหมื่นล้านบาท ในขณะที่ภาพรวมมูลค่าตลาดทั่วโลกมีมากกว่า 2 ล้านล้านบาท และในประเทศไทยเชื่อว่ามีการนำเข้ามันฝรั่งแท่งทอดกรอบเข้ามาเกือบ 100% ยังไม่มีธุรกิจหรือเอสเอ็มอีไทยแม้แต่รายเดียวเข้าไปแย่งแชร์ตลาดนี้ได้ 

 

 

 

 

นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้บริษัทสไมล์ฟาร์ม ได้เข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้ โดยเลือกนำถั่วเขียวมาแปรรูปผลิตเฟรนช์ฟรายส์ในชื่อแบรนด์ ZENFRY วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำของไทยและส่งออกต่างประเทศ รวมถึงเปิดหน้าร้านกว่า 5 สาขาในประเทศ 

 

ทำไมเฟรนช์ไฟล์ต้องเป็นมันฝรั่ง?

ทรรศิน กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อขายตามพื้นที่ของเมืองราชบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง จนวันนึงได้เกิดแนวคิดกับตนเองว่าอยากจะเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าเกษตรมากขึ้น และอยากทำให้ใหญ่ขึ้น เพื่อแข่งขันกับต่างประเทศได้ แล้วตั้งคำถามกับตนเองว่าจะใช้สินค้าอะไร แปรรูปอะไร แล้วจุดหมายปลายทางคืออะไร? 

จนกระทั่งได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลในฐานะนักพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร ก็พบว่าเฟรนช์ฟรายส์ที่วางขายในปัจจุบัน เป็นผลผลิตนำเข้ามันฝรั่งมาจากต่างประเทศทั้งหมด ทำให้เรามีแนวคิดทำเฟรนช์ฟรายส์ของคนไทย แล้วก็เกิดความสงสัยอีกว่า ทำไมเฟรนซ์ฟรายต้องเป็นมันฝรั่ง? ในเมื่อปัจจุบันคนเรามีอาหารทางเลือกมากมาย แต่ยังไม่มีธุรกิจไทยรายไหนเข้ามาแย่งแชร์ในตลาดนี้เลย

ความคิดทำเฟรนช์ฟรายสัญชาติไทยจึงเกิดขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังมีแนวคิดที่อยากจะลบภาพอาหารขยะ (junk food) เพราะทุกคนมีความเชื่อว่ากินเฟรนช์ฟรายส์ไม่ดี แต่คนก็ยังกินเป็นอาหารทานเล่นอันดับหนึ่งของโลก ก็เลยใช้ถั่วเขียว เพราะถั่วเขียวไม่มีสารก่อมะเร็ง 

 

 

 

 

ถั่วเขียวถูกแปรรูปน้อย

“ผมเลือกถั่วเขียว ด้วยความที่คิดว่าทำไมถั่วเขียวมันแปรรูปน้อยจังเลย ถั่วงอกเอาไปทำเป็นวุ้นเส้น ทำเป็นแป้ง เราจึงรู้สึกว่าอยากทำอะไรแปลกใหม่ ที่ไม่มีคนเคยทำ ก็เลยเอาถั่วเขียวมาทำเฟรนช์ฟรายส์ มุ่งมั่นมากว่า 3 ปี ทำผิดพลาดบ้าง ทดสอบตลาดบ้าง กว่าจะทำได้ ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นถั่วเขียว เพราะเป็นพืชที่มีไขมันต่ำที่สุด ถั่วเหลืองถูกนำไปแปรรูปเยอะที่สุดเพราะไขมันสูง ซึ่งอาหารที่มีไขมันต่ำ จะไม่อร่อย จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมถั่วเขียวถึงแปรรูปยากมาก”

ทรรศิน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผมสร้างแบรนด์เฟรนช์ฟรายส์ ผลิตจากถั่วเขียวทอง ปลอดสารเคมี 4 สายพันธุ์ จากไร่ถั่วเขียวคุณภาพปลูกในรูปแบบของอินทรีย์ จากจังหวัดเพชรบูรณ์ ผลิตออกมาในรูปแบบแช่แข็ง ขายในห้างประเทศไทยแล้ว และเป็นหนึ่งในไม่กี่แบรนด์ในโลกนี้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการระบุอยู่ข้างหลังผลิตภัณฑ์เฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียว นอกจากนั้นก็ยังได้เปิดหน้าร้าน ซึ่งตั้งแต่ต้นปีมาก็เปิดที่เซ็นทรัลเวสเกต เซ็นทรัล นครศรีธรรมราช และโรบินสันศรี และจะเปิดที่ราชบุรี และลำบางเพื่อปักหมุดทางภาคเหนือ และปีหน้าอาจจะขยายเข้ามาในเมืองมากขึ้น 

 

 

 

 

การตลาดสีเขียว

สร้างแบรนด์ ด้วย 4 แกน 

เกษตรอินทรีย์ เศรษฐกิจ สังคม และชุมชน

ทรรศิน กล่าวอีกว่า วันนี้ผมอยากจะแชร์ด้วยความจริงใจว่าผมยังไม่ได้สำเร็จ เพียงแต่เป็นก้าวแห่งการเริ่มต้นเพื่อไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งหัวใจสำคัญยึดหลัก 4 แกน คือ เกษตรอินทรีย์ เศรษฐกิจ สังคม และชุมชน

แกนแรกคือเกษตรอินทรีย์ ผมเริ่มต้นจากการเข้าไปหาเกษตรกรที่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเขามีการปลูกถั่วเขียวปริมาณมาก ผมไปขอรับซื้อมา ผมให้ความเชื่อมั่นเกษตรกรว่าผมประกันราคาให้ และขออย่างเดียวต้องเป็นถั่วเขียวอินทรีย์ และนำมาสู่แกนที่สองสร้างเศรษฐกิจที่ดี เพื่อธุรกิจเติบโตก็จะทำให้เกิดรายได้และอาชีพแก่พี่น้องเกษตรกร ผมตั้งใจว่าปี 2568 ยอดขายผมจะโตมากขึ้นกว่า 300% 

แกนที่สามและสี่คือสังคม และชุมชน น้อง ๆ หน้าร้าน โรงงาน น้อง ๆ ที่ทำงานอยู่ ผมจ้างคนไทย 100% เพราะผมเชื่อมั่นในฝีมือของคนไทย ผมเชื่อมั่นในความคิดของคนไทย ผมเชื่อมั่นว่าเด็กไทยมีแนวความคิดที่ดี อยากให้โอกาสเขา และเขาก็ไม่เคยทำให้ผมผิดหวังแม้แต่สาขาเดียว เขาตั้งใจทำงานกันมาก พอมียอดขาย มีการสั่งซื้อ ก็ทำให้เกิดรายได้แก่ทุกคนที่ทำงาน

“สุดท้าย ผมจะบอกว่า เวลาเอาไปขายที่ไหนก็ตาม โดยเฉพาะในต่างประเทศเขาจะถามกลับมาว่า วัตถุดิบเอามาจากไหน วัตถุดิบมีคุณภาพไหม ก่อสารเคมีไหม ปลูกที่ไหน นี่คือสตอรี่ที่ใรฐานะเป็นเอสเอ็มอีแบรนด์เล็ก ๆ ที่ขอมายืนยันว่า การให้ความสำคัญกับแหล่งวัตถุดิบ การใช้วัตถุดิบอินทรีย์ เกษตรสีเขียว สำคัญมากในต่างประเทศจริง ๆ อย่างสวิซเซอร์แลนด์ เยอรมัน ออสเตรเลีย ผมไปมาแล้ว เขาถามว่าวัตถุดิบมาจากไหน เขาขอรีเช็ก ขอเอกสารผมเลย ผมส่งเยอะมาก จนสุดท้ายแล้วผมก็รู้สึกว่าเริ่มต้นถูกที่ผมไปทำงานกับเกษตรกร และถั่วเขียวที่เกษตรกรปลูกนั้นเป็นอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็น”

 

เขียนโดย : บุษกร สัตนาโค

เครดิตภาพจาก : Facebook ZENFRY THAILAND