หยุดความฟุ่มเฟือยช่วงเทศกาล เทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรงใน TikTok

หยุดความฟุ่มเฟือยช่วงเทศกาล เทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรงใน TikTok

หยุดความฟุ่มเฟือยช่วงเทศกาล กระแสใหม่ใน TikTok ปรับพฤติกรรมลดซื้อสินค้า หันใช้ชีวิตเรียบง่าย เน้นช้อปอย่างมีสติ ใช้ของเก่าให้คุ้ม และเปลี่ยนของขวัญเป็นประสบการณ์ที่มีค่ากว่าสิ่งของ 

 

 

คริสต์มาสกับการให้ของขวัญเหมือนจะเป็นของคู่กัน แต่เราเคยคิดไหมว่ามันต้องเป็นแบบนั้นจริงหรือ? ปีนี้ หลายคนเริ่มหันมาทบทวนการใช้จ่ายของตัวเอง ด้วยกระแส “ซื้อเท่าที่จำเป็น ใช้ซ้ำอย่างมีคุณค่า” ที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากประหยัด และใส่ใจสิ่งแวดล้อม

กระแสนี้ดังมากบน TikTok โดยเฉพาะในอังกฤษและอเมริกา ที่ยอดพูดถึงเพิ่มขึ้นเกือบ 40,000% ในปีนี้ ผู้คนเริ่มคิดว่าแทนที่จะซื้อของเยอะๆ เพื่อแจกวันคริสต์มาส เราควรหาวิธีเฉลิมฉลองที่เน้นคุณค่ามากกว่าความฟุ่มเฟือย แบบนี้ทั้งกระเป๋าสตางค์และโลกก็แฮปปี้ไปพร้อมกัน

 

 

 

 

เทศกาลแบบใหม่ น้อยแต่ใช่ ไม่ต้องเยอะก็สุขได้

ในช่วงเทศกาลที่เราคุ้นเคยกับการให้ของขวัญแบบจัดเต็ม ไม่ว่าจะเป็น แลกเปลี่ยนของขวัญ ถุงของขวัญในถุงเท้า หรือของใต้ต้นคริสต์มาส แนวคิดอย่าง underconsumption core หรือ “การบริโภคให้น้อยลง” กำลังได้รับความสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญทั้งวิกฤตค่าครองชีพและปัญหาสิ่งแวดล้อม 

แนวทางนี้จึงเข้ามาเน้นย้ำ ให้เราซื้อของน้อยลง ใช้สิ่งที่มีให้คุ้มค่า และเลี่ยงการจับจ่ายฟุ่มเฟือย ซึ่งกลายเป็นไวรัลใน TikTok เพราะสวนทางกับภาพลักษณ์ช่วงเทศกาล หรืองานคริสต์มาสในช่วงใกล้ปีใหม่ ที่เต็มไปด้วยความหรูหรา 

แต่การบริโภคอย่างพอประมาณ อาจขัดแย้งกับความฟุ่มเฟือยที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติในช่วงเทศกาล ซึ่งเต็มไปด้วยโฆษณา การแลกของขวัญ รวมถึงสินค้าลดราคาที่กระตุ้นการจับจ่าย

 

 

วิธีลดความฟุ่มเฟือย คำนึงก่อนซื้อ

ชาร์ลี กิลล์ อินฟลูเอนเซอร์สายรักษ์โลกจากแมนเชสเตอร์ แชร์ไอเดียเรื่องความยั่งยืนมานานกว่า 6 ปี เล่าว่าช่วงหลังๆ คนให้ความสนใจเนื้อหาของเธอมากขึ้น โดยเฉพาะแนวคิดการลดการบริโภคลง

พอถึงช่วงเทศกาล ชาร์ลีเลยปรับโฟกัสไปที่การลดวัสดุต่างๆ ทั้งของตกแต่ง กระดาษห่อของขวัญ และอาหารมื้อใหญ่ “เริ่มจากเรื่องง่ายๆ เลยค่ะ คิดดีๆ ก่อนซื้ออาหาร อย่าซื้อเยอะจนกินไม่หมด แล้วก็อย่าทิ้งของเหลือทิ้งขว้าง”

เธอใช้วิธีทำของตกแต่งเอง อย่างต้นคริสต์มาสจากนิตยสารเก่า หรือดาวจากแกนกระดาษชำระ แม้บางคนจะมองว่าสไตล์โฮมเมดแบบนี้ไม่สวย แต่เธอก็ไม่ซีเรียส

“ฉันเชื่อว่าการฉลองคริสต์มาสในแบบที่แตกต่างออกไปไม่ใช่เรื่องผิด เราสามารถมอบของขวัญและสร้างความสุขได้โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรเกินจำเป็น” ชาร์ลีเน้นย้ำ “ทุกอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำเพื่อความยั่งยืน มันมีผลเสมอ” พร้อมชวนให้ทุกคนเริ่มปรับเปลี่ยนทีละเล็กละน้อยตั้งแต่วันนี้

 

 

 

 

แนวคิดดั้งเดิมแต่ทันสมัย

ศาสตราจารย์แคโรไลน์ โมราเอส จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ชี้ให้เห็นว่าแนวคิดการบริโภคน้อยหรือ underconsumption ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวคิดที่มีมานานในหลายรูปแบบ อย่างการเคลื่อนไหว ใช้ชีวิตเรียบง่าย ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ที่ปฏิเสธการใช้ชีวิตตามกระแสบริโภคนิยม

ในปี 2024 แนวคิดนี้ถูกพูดถึงมากขึ้นเพราะคนหันมาใส่ใจปัญหาในยุคนี้ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการตั้งคำถามถึงจริยธรรมของแบรนด์ต่างๆ

“คนจำนวนมากเริ่มมองเห็นว่าตัวเองมีส่วนช่วยแก้ปัญหาเรื่องความยั่งยืนและวิกฤตสภาพอากาศได้” ศาสตราจารย์แคโรไลน์กล่าว พร้อมเน้นว่าแนวทางนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังสำคัญเสมอในปัจจุบัน

การบริโภคน้อยไม่ใช่แค่ผลพวงของปัญหาค่าครองชีพหรือของแพง แต่ยังให้ความรู้สึกควบคุมชีวิตตัวเองได้มากขึ้น เวลาอะไรๆ ในชีวิตมันดูยุ่งเหยิง คนเราก็มักจะอยากกลับไปหาสิ่งที่เรียบง่ายและช้าลง  ศาสตราจารย์แคโรไลน์เสริมว่า อินฟลูเอนเซอร์ที่นำเสนอไอเดียนี้กำลังช่วยเปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อการบริโภคแบบล้นเกิน ทำให้หลายคนเริ่มหันมาใช้ชีวิตที่สมดุลมากขึ้น

 

 

คนไทยยังอินเทศกาล

จากผลสำรวจพฤติกรรมช้อปปิ้งช่วงปีใหม่ของคนไทย พร้อมลุยช้อปปิ้งแบบจัดเต็ม โดยส่วนใหญ่วางงบของขวัญไว้ที่ 500–1,500 บาทต่อชิ้น กลุ่ม Gen Z (อายุ 18–26 ปี) เป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากที่สุด สูงถึง 45% เลยทีเดียว

สำหรับของขวัญยอดฮิตที่ขายดีสุดๆ ก็มีตั้งแต่ของเล่น (+120%) หูฟัง (+70%) น้ำหอม (+70%) สกินแคร์ (+50%) กระเป๋า (+80%) ไปจนถึงเครื่องประดับแฟชั่น (+85%) ซึ่งสะท้อนถึงไลฟ์สไตล์และความนิยมในสินค้าสวยๆ เก๋ๆ

นอกจากของขวัญแล้ว การจัดบ้านรับปีใหม่ก็เป็นอีกเรื่องที่มาแรง ยอดขายของแต่งบ้าน เครื่องครัว และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเพิ่มขึ้น 60% ส่วนเฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องนอนและห้องน้ำก็มียอดขายเพิ่มถึง 40%

อีกหนึ่งไฮไลต์ของช่วงนี้คือปาร์ตี้ส่งท้ายปี ที่มาพร้อมกับยอดขายของตกแต่งปีใหม่และคริสต์มาสพุ่งกระฉูดกว่า 1,000% รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างวิสกี้ บรั่นดี ไวน์ และเบียร์ที่เพิ่มขึ้นถึง 120%

คนไทยมักเลือกซื้อของขวัญให้กับพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ เพื่อน เพื่อนร่วมงาน และลูกหลาน โดยเน้นของที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม ส่วนการใช้จ่ายปลายปีโดยรวมก็เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติถึง 30% เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าคนไทยพร้อมฉลองปีใหม่ด้วยความสุขและเต็มที่กับการให้ของขวัญทั้งกับตัวเองและคนใกล้ตัว

 

 

 

 

ปีใหม่ 2568 กับกระแสการช้อปแบบพอดีๆ ของคนไทย

ช่วงปีใหม่ 2568 นี้ การจับจ่ายในประเทศไทยยังคงคึกคัก ตลาดของขวัญและของชำร่วยคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 46,000 ล้านบาท สะท้อนถึงการสั่งซื้อและมอบของขวัญที่เพิ่มขึ้นในเทศกาลสำคัญนี้

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสการบริโภคน้อยลง (underconsumption) ที่กำลังมาแรงในต่างประเทศ คนไทยก็เริ่มมีแนวคิดในการซื้อของขวัญที่ “พอดีและมีคุณค่า” มากขึ้น โดยเลือกของที่ใช้ได้จริงและสร้างความหมาย เช่น ช็อกโกแลตและบิสกิต ซึ่งยังคงเป็นตัวเลือกยอดนิยมในทุกปี

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังจัดงาน “พาณิชย์ลดราคา New Year Mega Sale 2025” กับสินค้ากว่า 40,000 รายการ ลดสูงสุดถึง 80% ตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2567 ถึง 31 มกราคม 2568 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจ

ถึงแม้จะมีการส่งเสริมการขายและโปรโมชั่นสุดคุ้ม แต่หลายคนก็คาดหวัง “ของขวัญปีใหม่” จากรัฐบาล เช่น มาตรการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการในการลดภาระค่าครองชีพในภาพรวม

ปีใหม่นี้ แม้การช้อปปิ้งยังเป็นสีสันที่คนไทยขาดไม่ได้ แต่การเลือกใช้จ่ายอย่างมีสติก็กลายเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในยุคที่ความยั่งยืนเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน

 

 

เปลี่ยนพฤติกรรมทั้งปีด้วยพลังของการใช้ชีวิตเรียบง่าย

ไม่เพียงแค่ช่วงเทศกาลเท่านั้น แต่เราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งปีด้วยพลังการซื้อของ ที่ไม่ต้องมารู้สึกผิดทีหลังได้ ลองใช้ 3 วิธีง่ายๆ ในการลดการซื้อของฟุ่มเฟือย เพื่อช่วยลดโลกร้อน

  1. ช้อปอย่างมีสติ
    ก่อนซื้อของ ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า จำเป็นหรือไม่ และ ใช้ได้คุ้มค่าหรือเปล่า คิดให้รอบคอบถึงปริมาณที่ซื้อ โดยเฉพาะอาหารหรือของใช้ที่มักเหลือทิ้ง
  2. หาของที่มีอยู่แล้วมาใช้ใหม่
    ดัดแปลงสิ่งของที่มี เช่น ทำของตกแต่งจากวัสดุเหลือใช้ หรือแลกเปลี่ยนของใช้กับเพื่อนๆ เพื่อลดการซื้อใหม่ ซึ่งการใช้ไอเดีย DIY ช่วยลดขยะและสร้างสเน่ห์ให้ของที่เรามีอยู่
  3. เปลี่ยนการให้ของขวัญเป็นประสบการณ์
    แทนที่จะซื้อของแพง ลองมอบประสบการณ์ที่จดจำได้ เช่น การทำอาหารมื้อพิเศษหรือการพาไปเที่ยว การให้สิ่งเหล่านี้ช่วยลดการใช้ทรัพยากรและยังสร้างความประทับใจไม่รู้ลืม

 

ที่มาข้อมูล : When TikTok’s underconsumption trend meets festive excess – By Riyah Collins BBC