ไทยพาณิชย์ ส่งแรงบันดาลใจการทำธุรกิจครอบครัว จัด Bootcamp “Next-Gen Business Leaders: ต่อยอดธุรกิจสำหรับผู้สืบทอด กรณีศึกษาสถานีบริการน้ำมันต่างจังหวัด แนะปรับรูปแบบกิจการสู่ธุรกิจตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักเดินทางนอกเหนือจากธุรกิจปั๊มน้ำมัน ส่งต่อกิจการสู่เจนเนอเรชั่นถัดไปอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่เพียงต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ กระทบยอดขาย แต่ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ตามพฤติกรรมผู้บริโภค และเทรนด์ธุรกิจโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นอีกความท้าทายสำคัญ ในการนำพาธุรกิจเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างยั่งยืน ส่งไม้ต่อกิจการไปยังทายาทธุรกิจรุ่นถัดไป
ทั้งนี้ธนาคาร ไทยพาณิชย์ ได้ส่งแรงบันดาลใจการทำธุรกิจครอบครัว จัด Bootcamp “Next-Gen Business Leaders: ต่อยอดธุรกิจสำหรับผู้สืบทอดในหลากหลายธุรกิจ ล่าสุดเป็น กรณีศึกษาสถานีบริการน้ำมันต่างจังหวัด แนะปรับรูปแบบกิจการสู่ธุรกิจตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักเดินทางนอกเหนือจากธุรกิจปั๊มน้ำมัน ส่งต่อกิจการสู่เจนเนอเรชั่นถัดไปอย่างยั่งยืน
เอสเอ็มอีไทย ส่งต่อธุรกิจรุ่น 2 สัดส่วนเพียง 30%
พิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า เอสเอ็มอีในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัว แต่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ ในรุ่นที่ 2 เพียง 30% และลดลงเหลือเพียง 12% ในรุ่นที่ 3 และ 3% ในรุ่นที่ 4 ด้วยเหตุดังกล่าวธนาคารฯจึงสนับสนุนลูกค้าส่งต่อธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากกลุ่มธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน เนื่องจากพบว่าเป็นธุรกิจที่กำลังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปพร้อมกับการส่งต่อธุรกิจให้ทายาท
แชร์ไอเดียต่อยอดธุรกิจ ผ่านเครื่องมือการตลาด TikTok
ธนาคารจึงจัดสัมมนา Bootcamp “Next-Gen Business Leaders: การต่อยอดธุรกิจสำหรับผู้สืบทอด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ การแชร์ไอเดียการต่อยอดธุรกิจ รวมถึงแนะนำเครื่องมือทางการตลาดรูปแบบใหม่ ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสานต่อกิจการจากรุ่นสู่รุ่น โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย นำผู้ประกอบการและทายาทธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน เข้าร่วมฟังการสัมมนาจำนวน 62 บริษัท
รุกธุรกิจนอนออยล์ไลฟ์สไตล์ในปั๊มน้ำมัน ผสานเครื่องมือทางการเงิน
“สถานีบริการน้ำมันเป็นธุรกิจที่ต้องปรับโมเดลธุรกิจสู่ Less Brown เพื่อเพิ่มยอดการเข้าใช้บริการในสถานีบริการให้มากขึ้น นอกเหนือจากธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และตอบโจทย์นักเดินทาง เช่น บริการนวด สปา รองรับลูกค้าที่มีระยะเวลารอคอยการชาร์จรถอีวีในสถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรบริหารกิจการให้เกิดประสิทธิภาพ ด้วยการนำเครื่องมือทางการเงินมาใช้ปรับปรุงและขยายกิจการสู่ความยั่งยืน”
นางพิกุล ยังกล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ได้จัดเตรียม ‘สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน’ เพื่อการปรับตัว ด้วยวงเงินกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% 1 ปีแรก ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี เพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟ, การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน, ติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย และมลพิษ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมี สินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถประหยัดพลังงานวงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 5 ปี และวงเงินกู้หมุนเวียนในธุรกิจสูงสุด 50 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารพร้อมเสริมแกร่งให้เจ้าของธุรกิจสถานีบริการน้ำมันด้วยวงเงินกู้สินเชื่อสำหรับสถานีบริการน้ำมันและร้านแฟรนไชส์ภายในสถานีบริการ และยังแนะนำบริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตเพื่อธุรกิจ (Business Anywhere) เพื่อให้ซื้อง่ายขายคล่อง วงเงินหนังสือค้ำประกัน และช่วยเจ้าของกิจการลดต้นทุนด้วยการจ่ายเงินเดือนพนักงานผ่านบัญชี SCB Payroll ฟรีค่าธรรมเนียม และไม่มีจำนวนพนักงานขั้นต่ำ เป็นต้น
ไม่ขายแค่น้ำมัน ต้องสร้างจุดขายใหม่ในปั๊มน้ำมัน
พัฒนา ตั้งกิติกุล นายกสมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย กล่าวว่า ปัจจุบันโครงสร้างกำไรของสถานีบริการน้ำมันเปลี่ยนไปจากเดิมที่มีรายได้จากการจำหน่ายเป็นน้ำมันเป็นหลัก ไปเป็นการสร้างกำไรจากธุรกิจเสริมมากขึ้น
ขณะที่โครงสร้างธุรกิจเสริมภายในสถานีบริการน้ำมันเปลี่ยนไปเช่นกัน เช่น จากเดิมที่มีร้านเสื้อผ้า แต่ปัจจุบันเผชิญปัญหา เพราะคนหันไปใช้บริการออนไลน์แทน เมื่อสถานีบริการน้ำมันถูกสานต่อโดยคนอีกรุ่น จึงต้องอาศัยความคิดคนรุ่นใหม่ในการนำกลยุทธ์และไอเดียใหม่ๆ มาดึงดูดให้คนเข้าใช้บริการ โดยเน้นการนำจุดเด่นและความแตกต่างแต่ละพื้นที่เข้ามาผสมผสานการให้บริการ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของลูกค้าและนักเดินทางทั้งขาประจำและขาจร
สมาคมฯ จึงเห็นพ้องกับแนวทางของธนาคารไทยพาณิชย์ในการถ่ายทอดความสำเร็จของผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เข้ามาบริหารสถานีบริการน้ำมัน ในงานสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสถานีบริการน้ำมันให้ยั่งยืน
ทบทวนกลยุทธ์ ทำธุรกิจเสริมในปั๊มน้ำมัน
เฉลิมเกียรติ เป็นศิริ ผู้ก่อตั้งสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ลุงเท่งชะอำ จ. เพชรบุรี เล่าว่า ทำเลที่ตั้งของปั๊มน้ำมัน ปตท. ลุงเท่ง ชะอำ อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว จึงมีคู่แข่งจำนวนมาก เดิมเคยวิธีจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้าใช้บริการ แต่พบว่ายิ่งลงทุนมากเท่าไร กำไรยิ่งน้อยลง จึงต้องกลับมาทบ ทวนกลยุทธ์ด้วยการทำธุรกิจเสริมในปั๊มน้ำมัน โดยดึงร้านค้าในชุมชนเข้าร่วมขายในปั๊ม และสร้างสรรค์ให้ทุกพื้นที่ในปั๊มเป็นทำเลค้าขาย เป็นแหล่งสินค้าของฝากสำหรับนักเดินทาง พบว่าสามารถผลักดันยอดขายให้เพิ่มมากขึ้น
ด้าน การันย์ พฤกษ์รังสี ผู้บริหารรุ่นสอง สถานีบริการน้ำมัน PTT กัลปพฤกษ์ จ. พังงา กล่าวว่า ปั๊มน้ำมันแห่งนี้ก่อตั้งมา 40 ปี โดยผู้เป็นพ่อ ซึ่งความโชคดี คือ ทำเลที่ตั้งอยู่ในถนนเส้นหลักและติดกับแหล่งท่องเที่ยว แต่การทำการตลาดจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเนื่องจากจำนวนรถที่เข้ามาใช้บริการลดลง ยอดขายน้ำมันที่ลดลงยังเกิดจากพฤติกรรมการเดินทางที่เปลี่ยนจากการใช้รถขนาดใหญ่มาเป็นรถขนาดเล็ก ทำให้ต้องมองหาธุรกิจเสริมด้วยการนำสินค้าที่เป็นแบรนด์ดังเข้ามาให้บริการลูกค้า และปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็น Food Truck อีกทั้งจัดทำห้องละหมาดและร้านอาหารภายในปั๊มน้ำมันต้องเป็นฮาลาล เพื่อรองรับลูกค้าหลักที่เดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย
สื่อสารระหว่างคนในครอบครัว
เข้าใจแนวคิดการบริหารงานยุคใหม่
ขณะที่กุญแจสำคัญที่ทำให้การสืบทอดกิจการประสบความสำเร็จ คือ การสื่อสารระหว่างคนในครอบครัวให้เห็นภาพและเข้าใจตรงกันถึงแนวคิดของการบริหารงานยุคนี้ ในช่วงแรกที่เข้ามาสานต่อกิจการ มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากเพื่อพัฒนาปั๊มน้ำมันให้เป็นมากกว่าการขายน้ำมัน จนถึงปัจจุบัน ก็ได้พิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นว่า การปรับโมเดลธุรกิจสู่นอนออยล์มากขึ้นนั้น ทำให้รายได้ภายในปั๊มน้ำมันเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับอดีต
ปั๊มน้ำมันถนนเส้นรอง ผลักดันยอดขาย
ผ่านการยกระดับแบรนด์สินค้า
ภูเบศร์ สมประสงค์ ผู้บริหารรุ่นสอง สมาชิกสถานีบริการน้ำมัน PTT อ. ด่านช้าง จ. สุพรรณบุรี กล่าวว่า ปั๊มน้ำมันแห่งนี้ตั้งอยู่ในถนนเส้นรอง ผู้ใช้บริการไม่มากเท่าถนนหลัก จึงต้องหาจุดเด่นเพื่อผลักดันยอดขาย จนมาพบว่าธุรกิจไก่ย่างส้มตำที่ดำเนินการโดยปั๊มน้ำมันแห่งนี้ สามารถพัฒนาไปสู่แบรนด์ได้ จึงสร้างแบรนด์ “แซ่บ สเตชั่น” ขึ้นมาให้เป็นที่จดจำของนักเดินทางและลูกค้าใกล้เคียงสามารถแวะมารับประทานอาหารได้บ่อยครั้ง
อย่างไรก็ดี อุปสรรคของการทำแบรนด์ คือ ค่าใช้จ่าย และความคิดในการทำงานระหว่างรุ่นเขากับคนรุ่นพ่อที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญ คือ การหาจุดกึ่งกลางเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นระหว่างคนสองเจนเนเรชั่น และการรักษาแรงบันดาลใจ ไฟในการทำงาน เพื่อให้กิจการครอบครัวดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงยั่งยืน