เปิดภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ ปี 2567 ภาคผลิตไฟฟ้าปล่อยสูงที่สุด

เปิดภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ ปี 2567 ภาคผลิตไฟฟ้าปล่อยสูงที่สุด

เปิดภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ เฉพาะ 6 เดือนแรกของปี 2567 ภาคการผลิตไฟฟ้าปลดปล่อยคาร์บอนฯ สูง เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสภาพอากาศร้อนจัด

 

 

แม้ว่าประเทศไทย จะเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1% ของทั้งโลก แต่กลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ต้องแบกรับความเสี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระยะยาว 

รายงานจาก Utility Bidder บริษัทที่ปรึกษาและประเมินราคาด้านพลังงานจากประเทศอังกฤษ ระบุว่า ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 7.43% ต่อปี ในช่วงเวลา 60 ปีที่ผ่านมา (1959-2019) โดยมีจำนวนการเพิ่มขึ้นคิดเป็นอันดับสองของโลก หรือในอัตรา 3.7 MtCO2 (ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์) ต่อปี เนื่องจากการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ  

 

 

ภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย 

รายงานแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573 (NDC Action plan on mitigation 2021-2030) โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ระบุว่า ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของประเทศ รวมสาขาป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งเป็นสาขาที่มีการดูดซับก๊าซเรือนกระจกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2543 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ 200,455.96 กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และในปี 2562 เพิ่มเป็น 280,728.34 กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.79 

และเมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยรายสาขาในปี 2543 และ 2562 แสดงให้เห็นว่า สาขาพลังงาน (รวมการผลิตไฟฟ้าและการใช้พลังงานในภาคส่วนต่างๆ) เป็นสาขาหลักที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด

โดยในปี 2543 สาขาพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จำนวน 165,092.40 กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าและในปี 2562 จำนวน 260,772.69 กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.96 รองลงมาเป็นสาขาเกษตร ปี 2543 ปล่อยจำนวน 49,065.40 กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และในปี 2562 จำนวน 56,766.32 กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพิ่มขึ้น 15.70%

และสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU) ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2543 จำนวน 21,274.82 กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และในปี 2562 จำนวน 38,301.21 กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 

เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.03 และสำหรับสาขาของเสียปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2543 จำนวน 10,466.94 กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และในปี 2562 จำนวน 16,876.64 กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพิ่มขึ้น 61.24%

 

 

ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสาขา 

“สาขาพลังงานปล่อยมากอันดับหนึ่ง”

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาขาพลังงานส่วนใหญ่มาจากการเผาไม่เชื้อเพลิง จากกิจกรรมการผลิตไฟฟ้าและความร้อน คิดเป็น 36.63% รองลงมาคือการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากภาคขนส่ง คิดเป็น 29.50% ขณะที่การเผาไหม้เชื้อเพลิง ในสาขาอุตสาหกรรมการผลิต และการก่อสร้างคิดเป็น 20.38% และสาขาอื่นๆ คิดเป็น 6.47%

ส่วนสาขาเกษตร การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีสัดส่วนสูงเป็นลำดับที่สอง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมการปลูกข้าว คิดเป็น 50.58% และกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ การปล่อยมีเทนจากปศุสัตว์ คิดเป็น 18.97%

การปล่อยไนตรัสออกไซด์ทางตรงและทางอ้อมจากดินเกษตร คิดเป็น 14.20% และ 5.37% ตามลำดับ การปล่อยมีเทนและไนตรัสออกไซด์จากมูลสัตว์ คิดเป็น4.68% การใช้ปุ๋ยยูเรีย คิดเป็น 2.62% การเผาชีวมวลในพื้นที่เพาะปลูกคิดเป็น 2.50% และการใส่ปูนในพื้นที่เพาะปลูกเพื่อปรับปรุงดินคิดเป็น 0.04%

ต่อมาเป็นสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ IPPU การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นอกเหนือจากการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตแล้วยังมาจากกระบวนการผลิตต่างๆ ในอุตสาหกรรมได้แก่ อุตสาหกรรมอโลหะ คิดเป็น 40.63% อุตสาหกรรมเคมี คิดเป็น 34.58% เครื่องปรับอากาศ และสารทำความเย็น คิดเป็น 12.93% การผลิตโลหะคิดเป็น 0.89% ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงที่เป็นตัวทำละลาย คิดเป็น 0.74% และการผลิตและการใช้อื่นๆคิดเป็น 0.23%

สาขาของเสียการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสาขาของเสียมาจากกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การบำบัดน้ำเสียและการระบายน้ำทิ้งคิดเป็น 48.67% การกำจัดขยะมูลฝอยคิดเป็น 49.44% การกำจัดขยะด้วยการเผาในเตาเผา และเผากลางแจ้ง คิดเป็น 0.98% และการบำบัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีทางชีวภาพคิดเป็น 0.91%

 

 

อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลัง 6 เดือนแรกของปี 2567

เมื่อมาดูข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ซึ่งมีอัตราการปลดปล่อยสูงที่สุด

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า จากการใช้พลังงาน 6 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม – มิถุนายน 2567) พบว่า การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงาน อยู่ที่ระดับ 121.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน 

โดยในภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่นๆ มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ลดลงที่ 16.8%, 1.2% และ 1.5% ตามลำดับ ในขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 5.8%

 

 

 

 

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานแยกภาคเศรษฐกิจ และรายชนิดเชื้อเพลิง ในช่วงหกเดือนแรก ปี 2567 พบว่าภาพรวมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงจากทุกชนิดเชื้อเพลิง โดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำมันสำเร็จรูปมีสัดส่วนการปล่อยสูงที่สุดอยู่ 43% รองลงมาคือก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน /ลิกไนต์ มีสัดส่วน 33% และ 24% ตามลำดับ

ทั้งนี้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน /ลิกไนต์ ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 1.1%, 0.3% และ 7.9% ตามลำดับ

ส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานแยกรายภาคเศรษฐกิจในช่วงหกเดือนแรกจะพบว่าภาพรวมมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงในภาคการขนส่งภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจกิจอื่นๆ

ขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้ามีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น ภาคการขนส่งซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 34% การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 1.2% ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 21% มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดลง 16.8% และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยน้อยที่สุด ที่ 5% มีการปล่อยก๊าซลดลง 1.5% ในขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้าซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซสูงที่สุด 40% มีการปล่อยเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ภาคการผลิตไฟฟ้าปล่อยก๊าซสูง

เพราะการขยายตัวเศรษฐกิจและสภาพอากาศร้อนกว่าปกติ

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ภาคการผลิตไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซในช่วงหกเดือนแรกของปีที่ระดับ 48.1 ล้านตันคาร์บอน เพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามการผลิตไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้น 9.1% จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ

โดยก๊าซธรรมชาติยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลัก ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของไทย รองลงมาก็คือถ่านหิน/ลิกไนต์ ไฟฟ้านำเข้า แลกเปลี่ยนพลังงานพลังงานหมุนเวียนพลังงานน้ำและน้ำมันตามลำดับ 

ทั้งนี้การปล่อยก๊าซจากการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนที่สูงที่สุดที่ 60- 64% มีการปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้น 5.0% ส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการใช้ถ่านหินถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 7.3% ในขณะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการใช้น้ำมันเซลล์สำเร็จรูปลดลง 3.1%

ส่วนภาคการขนส่งจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในช่วงหกเดือนแรกที่ระดับ 41.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคขนส่งลดลงจากทั้งการใช้น้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ NGV ที่ลดลง 0.7% และ 16.4% ตามลำดับ

 

 

ภาคขนส่งปล่อยก๊าซฯ ลดลง 

จากนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า

สอดคล้องกับการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล น้ำมันกลุ่มเบนซินและ NGV ที่ลดลง การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของยานยนต์ไฟฟ้ามีผลต่อความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปและ NGV ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซในภาคขนส่งลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 

โดยข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกและเดือนมิถุนายน 2567 ระบุว่ายานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV ที่จดทะเบียนสะสมอยู่ที่ 183,236 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีเพียง 74,998 คันโดยประมาณ 70% เป็นประเภทรถยนต์และรถกระบะ

ส่วนภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซคาร์บอน ในช่วงหกเดือนแรกอยู่ที่ระดับ 25.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ลดลง 16.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งลดลงในทุกชนิดเชื้อเพลิง สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการใช้กำลังผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 59% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 61% เนื่องจากการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกที่หดตัวไตรมาสแรกของปี 2567 

โดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ สัดส่วนการปล่อยอยู่ที่ร้อยละ 46 ลดลงถึง 23.6% ซึ่งสอดคล้องกับการใช้ถ่านหินถ่านหิน/ลิกไนต์ ภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง 23.6% ทั้งนี้ในส่วนของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันสำเร็จรูปลดลง 14.2% และ 3.1% ตามลำดับ

 

 

ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ปล่อยก๊าซฯ 

จากการใช้น้ำมันสำเร็จรูป

ส่วนภาคเศรษฐกิจษฐกิจอื่นๆ การปล่อยก๊าซในภาคนี้ ได้แก่ ภาคครัวเรือนเกษตรกรรม พาณิชยกรรมและกิจกรรมอื่นๆ มาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียวโดยในช่วงหกเดือนแรกมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้น้ำมันเสร็จสำเร็จรูปในภาคเกษตรในภาคเศรษฐกิจอย่างอื่นรวม 6.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยข้างต้น จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนการลดการเรือนกระจกจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับภาคพลังงานและภาคคมนาคมขนส่งเป็นหลัก โดยเฉพาะในสาขาการผลิตไฟฟ้า การเผาไหม้เชื้อเพลิงในภาคคมนาคมขนส่ง การใช้พลังงานทั้งจากการเผาไม่เชื้อเพลิง และการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม และการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนเนื่องจากมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงอีกทั้งภาคพลังงานและคมนาคมขนส่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาต่างๆ เช่นการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและบริการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองคาร์บอนที่มีความยั่งยืน เป็นต้น